22 มี.ค. 2565 เครือข่ายภาคประชาสังคม-ประชาชน
ยื่นฟ้องศาลปกครองกลาง ให้หน่วยงานรัฐปฏิบัติหน้าที่

“แก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5”
เพื่อคุ้มครองสิทธิการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี และปลอดภัยต่อสุขภาพของประชาชน

ภาพโดย ชนะจิต (EnLAW)

มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กรีนพีซ ประเทศไทย มูลนิธิบูรณะนิเวศ สภาลมหายใจเชียงใหม่ สภาลมหายใจภาคเหนือ และนักกิจกรรมทางสังคมอย่าง นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท และนันทิชา โอเจริญชัย ผู้ร่วมก่อตั้ง Climate Strike Thailand ร่วมฟ้องคดีปกครอง ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อให้หน่วยงานรัฐปฏิบัติหน้าที่ในการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่นละออง PM2.5 “เพื่อคุ้มครองสิทธิการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและปลอดภัยต่อสุขภาพของประชาชน”

เนื่องจากสถานการณ์ปัญหามลพิษทางอากาศฝุ่นละออง PM 2.5 ตั้งแต่ช่วงปี 2557 – 2563 พบว่าหลายพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานครและพื้นที่ภาคเหนือของไทยมีค่าฝุ่นละออง PM 2.5 สูงกว่าค่ามาตรฐานฝุ่นละออง PM 2.5 ในบรรยากาศโดยทั่วไปมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประชาชนไทยต้องประสบกับปัญหามลพิษทางอากาศที่รุนแรงต่อสุขภาพอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลายาวนานกว่า 8 ปีแล้ว หน่วยงานรัฐจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อเป็นการดูแลรักษาสุขภาพประชาชนในประเทศให้มีสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อมที่ดี แต่หน่วยงานรัฐละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร คือ

  • คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรในการออกหรือแก้ไขประกาศกำหนดมาตรฐานฝุ่นละออง PM 2.5 ในบรรยากาศทั่วไป ให้เข้มงวดและมีความปลอดภัยต่อประชาชนมากยิ่งขึ้น ตามกฎหมาย และแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ทั้งๆที่ กรมควบคุมมลพิษได้เสนอเรื่องให้ปรับค่ามาตรฐานตามระดับที่ 3 ของ องค์การอนามัยโลกแล้ว ตั้งแต่ ปี 2564
  • คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรในการออกหรือแก้ไขประกาศค่ามาตรฐานควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสีย ประเภทฝุ่นละออง PM 2.5 จากโรงงานอุตสาหกรรมและกิจการประเภทอื่น ๆ ที่เป็นแหล่งกำเนิด ตามมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล โดยปัจจุบันมีแต่ค่ามาตรฐานฝุ่นรวม โดยมิได้ตรวจวัดฝุ่นละออง PM 2.5 จากโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นแหล่งกำเนิดที่สำคัญ เป็นอุปสรรคในการบรรลุเป้าหมายการควบคุมฝุ่นละออง PM 2.5 ในบรรยากาศให้มีความปลอดภัยต่อประชาชน
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรในการออกหรือแก้ไขประกาศกำหนดค่าปริมาณของสารเจือปนในอากาศที่ระบายออกจากโรงงานให้มีค่าปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 ให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล ตามกฎหมาย และแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ซึ่งปัจจุบันมีแต่ค่ามาตรฐานฝุ่นรวม โดยมิได้ตรวจวัดฝุ่นละออง PM 2.5 จากโรงงานอุตสาหกรรมตามกฎหมายโรงงาน และยังปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรในการออกประกาศรายละเอียดกำหนดประเภทสารมลพิษหรือสารเคมีที่โรงงานต้องจัดทำรายงานข้อมูล ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 27 (พ.ศ. 2563) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 โดยมีฝุ่นละออง PM 2.5 อยู่ในบัญชีมลพิษและสารเคมีเป้าหมาย ทั้งๆที่มีการออกกฎกระทรวงให้โรงงานต้องรายงานตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว ทำให้ไม่สามารถจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register: PRTR) เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลและมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการปล่อยมลพิษและฝุ่นละออง PM 2.5 จากโรงงานอุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพทันต่อสถานการณ์

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) และกรีนพีซ ประเทศไทยเข้ายื่นหนังสือต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐทั้งสองแห่งปฎิบัติตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ปี 2562

ต่อมากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ตอบกลับ และแจ้งเพียงว่าได้มีการวัดค่ามาตรฐานฝุ่นละอองจากโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว ซึ่งเป็นการวัดฝุ่นละอองโดยภาพรวม ไม่ได้ระบุเฉพาะเจาะจงถึงฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน แต่อย่างใด รวมถึงกรณีแผนการแก้ปัญหาฝุ่นละออง ปี พ.ศ.2563 ได้แจ้งว่าดำเนินการร่างยังไม่แล้วเสร็จ แม้ปัจจุบันจะเป็นปี พ.ศ.2565 แล้วก็ตาม สำหรับกระทรวงอุตสาหกรรมนั้นได้แจ้งว่า การกำหนดค่ามาตรฐานการปล่อยทิ้งอากาศเสียประเภท PM2.5 จากโรงงาน อยู่ระหว่างการศึกษาและเตรียมจะปรับค่าให้เป็นมาตรฐานสากลต่อไป

เมื่อหน่วยงานรัฐละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรในการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่นละออง PM 2.5 อันส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนจากการได้รับสัมผัสฝุ่นละออง PM 2.5 ในบรรยากาศ ทั้งผลกระทบระยะสั้นและแบบเรื้อรังในระยะยาว โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง รวมถึงทำให้ประชาชนมีอายุขัยเฉลี่ยที่สั้นลงและต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

ภาพโดย ชนะจิต (EnLAW)

เครือข่ายภาคประชาสังคมและประชาชนที่ติดตามและผลักดันรณรงค์การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศมาอย่างต่อเนื่องเพื่อปกป้องสิทธิทางสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย

1) มูลนิธิเพื่อสันติภาพเขียว (Greenpeace Thailand)

2) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)

3) มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH)

4)สภาลมหายใจเชียงใหม่

5) สภาลมหายใจภาคเหนือ

6) นายสุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
ผอ.โรงพยาบาลจะนะและประธานชมรมแพทย์ชนบท

7) นางสาวนันทิชา โอเจริญชัย
นักรณรงค์และนักสื่อสารด้านสิ่งแวดล้อมและ
ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Climate Strike Thailand

ผู้ฟ้องคดีทั้ง 7 ราย จึงดำเนินการยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐ 3 ราย ได้แก่ 1) คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

2) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

3) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ถูกฟ้องคดี

เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง 4 ประเด็นสำคัญ ดังนี้

ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ออกหรือแก้ไขประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง กำหนดมาตรฐานฝุ่นละออง PM 2.5 ในบรรยากาศทั่วไป ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ตามที่ได้มีการรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว คือ ค่าเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมงของฝุ่นละออง PM 2.5 อยู่ที่ 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยรายปีของฝุ่นละออง PM 2.5 อยู่ที่ 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ออกหรือแก้ไขประกาศค่ามาตรฐานควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียประเภทฝุ่นละออง PM 2.5 จากโรงงานอุตสาหกรรมและกิจการประเภทอื่น ๆ ที่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง PM 2.5 ตามมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล

ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ออกหรือแก้ไขประกาศกำหนดค่าปริมาณของสารเจือปนในอากาศที่ระบายออกจากโรงงานสู่สิ่งแวดล้อม ให้มีค่าปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 ไม่เกินกว่ามาตรฐานที่กำหนด และเทียบเท่ามาตรฐานสากล

ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ออกประกาศกำหนดประเภทสารมลพิษหรือสารเคมีที่โรงงานต้องจัดทำรายงานข้อมูล ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 27 (พ.ศ. 2563) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 โดยมีการรายงานฝุ่นละออง PM 2.5 อยู่ในบัญชีมลพิษและสารเคมีเป้าหมาย และจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register) รวมถึงมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะเพื่อให้ประชาชน ภาคประชาสังคม สามารถมีส่วนร่วมตรวจสอบ ป้องกันผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมได้

อ่านสรุปประเด็นคำฟ้อง

เสียงจากภาคประชาสังคมและประชาชนผู้ร่วมฟ้องคดี

  • นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประชาชนและในฐานะประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า

“ค่ามาตรฐานของ PM2.5 ในประเทศไทยยังสูงเกินไปและสูงกว่าค่าแนะนำคุณภาพอากาศโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ถึงเกือบ 5 เท่า เป็นมลพิษที่น่ากลัวที่ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน เพราะก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และออกไซด์ของไนโตรเจนสามารถรวมตัวกันกลายเป็นฝุ่นพิษ PM2.5 ได้ ในทางการแพทย์ แม้โรงงานอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอลซิลอ้างว่าได้ปล่อยมลพิษไม่เกินค่ามาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ แต่ทุกความเข้มข้นที่เพิ่มขึ้นจะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคที่เพิ่มขึ้น แม้คุณภาพอากาศไม่เกินมาตรฐานแต่ประชาชนก็มีอาการป่วยซึ่งเกิดมาจากการรับมลพิษต่ำแต่เป็นระยะเวลานานได้ ซึ่งเรียกว่า chronic low dose exposure”

ประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง “ชื่อหรืออาการสำคัญของโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2563” ที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งกำหนดให้อาการผิดปกติทางสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 เป็นโรคจากสิ่งแวดล้อม ยิ่งย้ำเตือนให้ หน่วยงานรัฐด้านสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรมต้องกยระดับมาตรฐาน PM2.5 ให้เข้มงวดขึ้น ในการดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมผลกระทบจากโรคสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยยังใช้มาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไป และกำหนดเกณฑ์ความเข้มข้น PM2.5 ที่ 91 ไมโครกรัมต่อลูกบากศ์เมตรขึ้นไปว่า “มีผลกระทบต่อสุขภาพ” มาเป็นเวลา 10 ปี กลายเป็นช่องว่างทั้งการเฝ้าระวัง(Surveillance) การแจ้งเตือน(Alert) และการเตือนภัย(Warning) ในช่วงวิกฤตฝุ่น และการป้องกันผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ในเชิงรุกเพื่อลดอัตราการเจ็บป่วยและ การเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรไทยโดยรวม

  • นันทิชา โอเจริญชัย นักรณรงค์และนักสื่อสารด้านสิ่งแวดล้อม
    กล่าวว่า

“ปัจจุบัน เด็กที่เกิดใหม่ในประเทศไทยต่างถูกบังคับให้ต้องสูดหายใจอากาศที่ปนเปื้อนมลพิษเข้าไป เด็กมากมายอาจไม่ได้รู้จักว่าอากาศที่ ‘สะอาด’ นั้นเป็นอย่างไร เราทุกคนล้วนต้องหายใจเพื่อมีชีวิต ซึ่งการเพิกเฉย และการดำเนินงานที่ล่าช้าของหน่วยงานของรัฐทำให้สิทธิขั้นพื้นฐานอย่างอากาศที่สะอาดถูกริดรอนไป”

อัลลิยา เหมือนอบ ผู้ประสานงานรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า

“นอกจากการแก้ไขค่ามาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศโดยทั่วไปแล้ว การแก้ปัญหา PM2.5 ให้ได้ผล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงอุตสาหกรรมมีหน้าที่ต้องกำหนดมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดเพราะการป้องกันไม่ให้ปลดปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิดย่อมจัดการง่ายและใช้ต้นทุนที่ต่ำกว่าการจัดการที่ปลายเหตุ และยังช่วยป้องกันผลกระทบต่อประชาชนทุกคนได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด”

ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติ เมื่อปี 2562 [5] มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามแผนนี้เพิ่มเติมจากหน้าที่ตามกฎหมายที่กล่าวมาแล้วข้างต้นด้วย โดยแผนดังกล่าวได้มีการแบ่งมาตรการออกเป็นมาตรการระยะสั้น (2562-2564) และมาตรการระยะยาว (2565-2567) ซึ่งปี 2564 ที่เป็นปีสุดท้ายของการดำเนินการตามมาตรการระยะสั้นได้ผ่านไปแล้ว และหน่วยงานรัฐต้องเริ่มการดำเนินการตามมาตรการระยะยาวแล้ว แต่ยังมีการดำเนินการของรัฐที่ล่าช้า และไม่เป็นไปตามแผน

  • เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ตามแนวทางการดำเนินงานระยะสั้น (2562-2564) ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ-การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง PM2.5 รัฐบาลต้องมีการจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register: PRTR) ตามแผนแล้ว และควรจะมีการนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยเร็วที่สุด อย่างไรก็ดีร่างกฏหมายการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ (PRTR) ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้จัดทำขึ้นและเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นตามการชี้แจงของกระทรวงอุตสาหกรรมลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 นั้นไม่มีข้อกำหนดให้มีการเผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณะ โดยเฉพาะรายละเอียดเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดมลพิษ ชนิดและปริมาณสารมลพิษที่เกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นหลักการสำคัญของกฎหมาย PRTR ที่ทั่วโลกใช้บังคับอยู่ นอกจากนี้ในร่างกฎหมายดังกล่าวยังไม่มี “ฝุ่น PM2.5” รวมอยู่ใน “บัญชีสารมลพิษและสารเคมีเป้าหมาย” ที่จะต้องตรวจวัดอีกด้วย คำชี้แจงดังกล่าวจึงคลุมเครือมาก”

“ทุก ๆ ปี จังหวัดเชียงใหม่ และอีกหลายจังหวัดในภาคเหนือจะต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่น PM2.5 ในระดับวิกฤต พวกเราไม่สามารถทนได้แล้ว ภาครัฐจำเป็นต้องให้ความจริงจังในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ เพราะประชาชนทุกคนควรมีสิทธิที่จะเข้าถึงอากาศสะอาดอย่างเท่าเทียม ”

  • สุรชัย ตรงงาม เลขาธิการ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
    กล่าวทิ้งท้ายว่า

“เมื่อความล่าช้าในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ยังดำรงอยู่ กระทบต่อสิทธิในการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชน การลุกขึ้นตรวจสอบอำนาจรัฐให้ปฎิบัติหน้าที่ จึงเป็นภารกิจของประชาชนทุกคน การฟ้องร้องคดีนี้มุ่งหวังเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเปลี่ยนแปลงในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายรับรองและคุ้มครองไว้”

อ่านข้อมูลประกอบเพิ่มเติม

(ร่าง) เอกสารประกอบการพิจารณา การปรับปรุงมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศโดยทั่วไป กรมควบคุมมลพิษ

PM 2.5 ฝุ่นพิษที่เป็นภัยคุกคามสุขภาพของคนไทย

ความเห็นของกรีนพีซ ประเทศไทย กรณีประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2563 กำหนดให้โรคหรืออาการที่เกิดจากการสัมผัสฝุ่น PM2.5 เป็นโรคจากสิ่งแวดล้อม

ข่าวสารที่เกี่ยวข้อง