ข้อเรียกร้องต่อร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิทางสิ่งแวดล้อม (Draft ASEAN Declaration on Environmental Rights)

มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)

เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2567 คณะทำงานสิทธิทางสิ่งแวดล้อมอาเซียน (ASEAN Environmental Rights Working Group) ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights หรือ AICHR) ได้เผยแพร่และเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิทางสิ่งแวดล้อม (Draft ASEAN Declaration on Environmental Rights) กำหนดสิ้นสุดการรับข้อเสนอความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567 [1]  

การมีพันธกรณีทางกฎหมายหรือข้อตกลงระดับภูมิภาคเพื่อรับรองสิทธิทางสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญอย่างมาก ทั้งในฐานะเจตจำนงร่วมกันของรัฐสมาชิก และเป็นกรอบกฎหมายระหว่างประเทศที่จะนำไปสู่การพัฒนาการออกกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมเพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนและสิ่งแวดล้อมในแต่ละประเทศ ตัวอย่างข้อตกลงระดับภูมิภาคว่าด้วยสิทธิทางสิ่งแวดล้อม คือ อนุสัญญาว่าด้วยการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การมีส่วนร่วมสาธารณะในการตัดสินใจ และการเข้าถึงความยุติธรรมในคดีสิ่งแวดล้อม ค.ศ.1998 (พ.ศ.2541) หรืออนุสัญญาอาร์ฮูส (Aarhus Convention) ของภูมิภาคยุโรป และข้อตกลงระดับภูมิภาคว่าด้วยการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การมีส่วนร่วมของประชาชนและความยุติธรรมในเรื่องสิ่งแวดล้อมในลาตินอเมริกาและแคริบเบียน ค.ศ.2018 (พ.ศ.2561) หรือข้อตกลงเอสคาซู (Escazú Agreement) ของภูมิภาคอเมริกากลางและอเมริกาใต้ [2]

การจัดทำร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิทางสิ่งแวดล้อมฉบับนี้ริเริ่มโดย คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) ในปี 2564 AICHR ได้เริ่มศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำตราสารระดับภูมิภาค จนนำมาสู่แนวคิดในการจัดทำ “กรอบแนวคิดระดับภูมิภาคว่าด้วยสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม” (ASEAN Environmental Rights Framework)[3] และพัฒนาออกมาเป็นร่างปฏิญญาฉบับที่เปิดรับฟังความคิดเห็น โดยคาดหวังให้เป็นเครื่องมือทางกฎหมายเพื่อยกระดับการรับรองสิทธิทางสิ่งแวดล้อมในภูมิภาค และจะเป็นหมุดหมายสำคัญก้าวหนึ่งของรัฐสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ที่แสดงถึงการให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสิทธิมนุษยชน ในห้วงเวลาสำคัญที่ประเทศในภูมิภาคอาเซียนต่างเผชิญกับสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมในระดับวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์โลกร้อน มลพิษทางอากาศหรือน้ำ การปล่อยของเสีย อุตสาหกรรม ขยะ หรือการแย่งชิงทรัพยากร เป็นต้น ขณะเดียวกันสถานการณ์ความขัดแย้งในด้านทรัพยากรธรรมชาติระหว่างรัฐ เอกชน และชุมชนในภูมิภาคนี้ก็มีความรุนแรงเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม องค์กรภาคประชาสังคมด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมทั้งในไทยและประเทศอื่นๆ มีข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางทั้งในส่วนเนื้อหาของร่างปฏิญญาฯ และกระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็น เช่น สถานะผูกพันทางกฎหมาย ความหนักแน่นชัดเจนในการตระหนักถึงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม การรับรองคุ้มครองสิทธิของคนชาติพันธุ์ หลักการทางกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่ขาดหายไปอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงอุปสรรคในการรับรู้ทำความเข้าใจร่างปฏิญญาและการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในระยะเวลาที่จำกัด

ทั้งนี้ ภาคประชาสังคมหลายกลุ่มได้เข้าร่วมเสนอความเห็นในการเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิในสิ่งแวดล้อม ที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับ ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.อมรา พงศาพิชญ์) และภาคีเครือข่าย เมื่อวันที่ 25-26 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา[4] รวมถึงได้จัดทำความเห็นต่อร่างปฏิญญาเสนอเข้าสู่ระบบการรับฟังความคิดเห็นผ่านช่องทางออนไลน์ โดยหลังจากปิดรับฟังความคิดเห็นแล้วเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567 คณะทำงานของ AICHR จะมีการประมวลสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมของคณะทำงานในช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 ซึ่งต้องติดตามกันต่อไปว่าจะมีการรับฟังและนำเอาข้อคิดเห็นไปพิจารณาปรับแก้ร่างปฏิญญามากน้อยเพียงใด รวมถึงจะมีการขยายระยะเวลารับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมหรือไม่

สำหรับในส่วนของมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ได้จัดทำและนำส่งความเห็นและข้อเรียกร้องต่อร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิในสิ่งแวดล้อม ในประเด็นหลัก ๆ 6 ประการ ดังนี้

1. ระยะเวลาในการรับฟังความคิดเห็น

ขอเรียกร้องให้ขยายระยะเวลาการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างปฏิญญา โดย AICHR ควรเคารพหลักการการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย และเป็นตัวอย่างที่ดีในการปฏิบัติตามหลักการดังกล่าว เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียได้มีเวลาเพียงพอในการศึกษาทำความเข้าใจร่างปฏิญญาและปรึกษาหารือกัน และสามารถมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างปฏิญญาได้อย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพมากที่สุด 

2. ข้อจำกัดด้านภาษา

ร่างปฏิญญาดังกล่าวไม่มีการจัดทำคำแปลเป็นภาษาท้องถิ่นต่างๆ ของประเทศสมาชิกอาเซียนเผยแพร่ ทำให้เป็นอุปสรรคสำหรับผู้ที่ไม่เข้าใจภาษาอังกฤษ ทำให้ไม่สามารถมีส่วนร่วมรับรู้ทำความเข้าใจและแสดงความคิดเห็นต่อร่างปฏิญญาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขัดขวางกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย

3. สถานะความผูกผันทางกฎหมาย

ปัจจุบันสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมได้รับการยอมรับโดยนานาชาติแล้วว่าเป็นสิทธิมนุษยชนสากล และในขณะเดียวกันภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อมนุษยชาติโดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ อายุ เพศ ประเทศ หรือระบอบการเมืองการปกครอง ดังนั้นในโอกาสที่ AICHR ได้ริเริ่มผลักดันให้อาเซียนมีกรอบข้อตกลงระดับภูมิภาคเพื่อรับรองสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม AICHR และอาเซียนควรแสดงความมุ่งมั่นตั้งใจจริงให้ความพยายามครั้งนี้มีผลผูกพันรัฐสมาชิกให้ต้องเคารพและปฏิบัติตาม ผ่านการเสนอและรับรองข้อตกลงระดับภูมิภาคว่าด้วยสิทธิทางสิ่งแวดล้อมในรูปแบบที่มีสถานะผูกพันทางกฎหมายทั้งในระดับระหว่างประเทศและภายในประเทศที่สูงกว่าปฏิญญา  

4. นักปกป้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม

เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่านักปกป้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมมีบทบาทสำคัญในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม นักปกป้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมจำนวนมากในประเทศอาเซียนพบว่าตัวเองตกอยู่ในสถานการณ์ที่อันตรายและเผชิญกับการคุกคามในรูปแบบต่างๆ ดังนั้น AICHR และอาเซียนควรแสดงความมุ่งมั่นอย่างจริงใจที่จะตระหนักถึงสถานะและคุณค่าของนักปกป้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมในตราสารนี้ในลักษณะที่เข้มแข็งและตรงไปตรงมา นอกจากนี้ ควรเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกให้ความสำคัญกับการกำหนดมาตรการเพื่อปกป้องความปลอดภัยของนักปกป้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมจากการคุกคามทุกรูปแบบ รวมถึงการฟ้องร้องเชิงยุทธศาสตร์เพื่อต่อต้านการมีส่วนร่วมของสาธารณะ (SLAPP) หรือการคุกคามโดยใช้กระบวนการยุติธรรมด้วย

5. การรับรองหลักการด้านสิ่งแวดล้อม

ร่างปฏิญญาฉบับนี้ถือเป็นความริเริ่มสำคัญเพื่อผลักดันให้อาเซียนมีกรอบทางกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมระดับภูมิภาคเพื่อให้ประเทศสมาชิกนำไปปรับใช้ดำเนินการภายในประเทศทั้งในการตรากฎหมาย การตีความบังคับใช้กฎหมาย และการดำเนินคดีสิ่งแวดล้อม ดังนั้นเพื่อสนับสนุนการดำเนินการของประเทศสมาชิกให้มีผลเป็นการรับรองสิทธิทางสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์หรือในกรณีที่จำเป็นต้องมีการขยายความหรือตีความ AICHR และอาเซียน ควรรับรองหลักการด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญให้ชัดเจนไว้ในเอกสารข้อตกลงว่าด้วยสิทธิทางสิ่งแวดล้อมฉบับนี้ด้วย เช่น

  • หลักการไม่ถดถอย (ในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม) (Principle of non-regression)
  • หลักการป้องกัน (Prevention Principle)
  • หลักการระมัดระวังไว้ก่อน (Precautionary Principle)
  • หลักการความเสมอภาคระหว่างรุ่น (Principle of intergenerational equity)
  • หลักการผู้ก่อมลพิษจ่าย (Polluter Pays Principle)
  • หลักการบูรณาการ (Principle of Integration)
  • หลักการแห่งความเสมอภาคและการไม่เลือกปฏิบัติ (Principle of Equality and Non-Discrimination)
  • หลักการของการเปิดเผยข้อมูลสูงสุด (Principle of Maximum Disclosure)
  • หลักการแห่งความโปร่งใสและความรับผิดชอบ (Principle of Transparency and Accountability)
  • หลักการไม่ก่อให้เกิดผลกระทบอันตรายข้ามพรมแดน (Principle of No Transboundary Harm)

6. สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและกฎหมาย PRTR

การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญต่อการใช้สิทธิด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆโดยเฉพาะการมีส่วนรวมในการตัดสินใจและการจัดการปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการมีกฎหมายว่าด้วยการรายงานการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ (PRTR)[5] จะทำให้ประชาชนมีสิทธิเข้าถึงและรับรู้ข้อมูลการครอบครอง ปลดปล่อย และเคลื่อนย้ายสารมลพิษ ทั้งจากอุตสาหกรรมและแหล่งกำเนิดอื่นๆ และช่วยให้รัฐมีฐานข้อมูลเพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหามลพิษและป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้น AICHR จึงควรกำหนดไว้ในร่างข้อตกลงเรียกร้องให้รัฐสมาชิกต้องออกกฎหมาย PRTR เพื่อบังคับให้มีการเปิดเผยข้อมูลมลพิษและส่งเสริมสิทธิการเข้าถึงข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นต้นทางไปสู่การรับรองคุ้มครองสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี สะอาด และปลอดภัย ของพลเมืองอาเซียนทุกคนต่อไป

 

EnLAW: Comments to the Draft ASEAN Declaration on Environmental Rights (30 April 2024)

 

——————————

[1]  ร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิในสิ่งแวดล้อม ฉบับเผยแพร่วันที่ 7 มีนาคม ฉบับภาษาอังกฤษ โปรดดู: https://drive.google.com/file/d/1otHOcYUu1hLvyjKFfUCrUtH2hDK8b7bO/view.

ร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิในสิ่งแวดล้อม ฉบับแปลภาษาไทย โปรดดู: https://drive.google.com/file/d/1L-Oah2rSIj9QUHc3K_KWn-QPKupiO4Ov/view.

[2] อ่านเพิ่มเติม: เอกสารเผยแพร่ความรู้ว่าด้วยสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีและตราสารด้านสิ่งแวดล้อมในระดับภูมิภาค โดย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (2566) http://lms.nhrc.or.th/ulib/document/Fulltext/F05638.pdf

[3] Guidance: Submission of comments on Draft ASEAN declaration on environmental rights https://unescap.org/sites/default/d8files/event-documents/Guidance_Submission_comments.pdf 

[4] Facebook live เวทีรับฟังความคิดเห็นระดับชาติต่อร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิในสิ่งแวดล้อม จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25-26 เมษายน 2567: https://www.facebook.com/nhrct/videos/1158261385615329 และ https://www.facebook.com/nhrct/videos/961379822294000

[5] อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการรายงานการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ (PRTR) ได้ที่ https://thaiprtr.com/

บทความที่เกี่ยวข้อง