“คำสั่ง คสช. มาตรา 44 … อำนาจที่ศาลไม่ (อาจ) ตรวจสอบ
: กรณีศึกษาคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 เรื่องยกเว้นการบังคับใช้ผังเมืองฯ”
วันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 13.00-17.00 น.
ณ ห้องประชุมจิ๊ดเศรษฐบุตร (LT.1) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ดาวน์โหลดเอกสารประกอบ
- คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559
- คำสั่งศาลปกครองสูงสุดคดีหมายเลขแดงที่ ฟส.8/2559 ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา
- สรุปสาระสำคัญของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559
- ข้อมูลสถิติการออกใบอนุญาตโรงงานในระหว่างมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559
- ข้อมูลโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เข้าข่ายได้รับการยกเว้นผังเมืองโดยผลของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 4/2559
- กรณีตัวอย่างการอ้างคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 ในทางคดี
- บทความผลกระทบจากการยกเว้นผังเมืองรวมตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 โดย ดร.สมนึก จงมีวศิน
- เอกสารสรุปประเด็นคำฟ้อง คำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา และความเห็นต่อคำสั่งไม่รับฟ้องฯ
- Powerpoint นำเสนอประเด็นคำฟ้อง คำสั่งไม่รับฟ้อง และความเห็นต่อคำสั่งศาล โดย สุรชัย ตรงงาม
- Powerpoint นำเสนอเรื่อง “มีศาลไว้ทำไม” โดย ผศ.ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา
- Powerpoint นำเสนอเรื่อง”ศาลและรัฐประหาร” โดย รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล
- บทความ “มาตรา 44 กับการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดย สฤณี อาชวานันทกุล
—————————————————————————————–
หลักการและเหตุผล
สืบเนื่องจากที่ทางเครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัด ร่วมกับมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ได้ยื่นฟ้องหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2559 ขอให้ตรวจสอบทบทวนและเพิกถอนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 4/2559 เรื่องการยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท (กิจการด้านพลังงานและการจัดการขยะ) ด้วยเห็นว่าเป็นการใช้อำนาจออกคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและไม่เคารพต่อเจตจำนงของประชาชนที่แสดงออกผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมในการวางและจัดทำผังเมือง เป็นการเปิดทางให้มีการดำเนินโครงการที่มีความเสี่ยงก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในพื้นที่ไม่เหมาะสมได้ ซึ่งขัดแย้งต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายผังเมืองในการกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินให้สอดคล้องกับความเหมาะสมและศักยภาพของพื้นที่ และในการทำหน้าที่เป็นมาตรการกลไกคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนด้วย คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 4/2559 จึงมิได้เป็นไปเพื่อการปฏิรูปประเทศและการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะดังที่รัฐกล่าวอ้างในการออกคำสั่งและมิได้เป็นไปตามเงื่อนไขในการออกคำสั่งตามรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด และแม้คำสั่งดังกล่าวจะออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ซึ่งบัญญัติให้การออกประกาศคำสั่งหรือการใช้อำนาจใดๆตามมาตรา 44 ถือว่าชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่เครือข่ายภาคประชาชนและมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมเห็นว่า “อำนาจรัฐที่ละเมิดสิทธิประชาชนต้องถูกควบคุมและตรวจสอบได้เสมอ”ตามหลักนิติรัฐและการถ่วงดุลตรวจสอบการใช้อำนาจ
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2559 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา โดยให้เหตุผลว่าคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 4/2559 ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ที่บัญญัติให้ถือว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุด ศาลปกครองสูงสุดจึงไม่อาจรับคำฟ้องไว้พิจารณาเพื่อควบคุมตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายได้อีก ซึ่งทางมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมเห็นว่า แนวทางการตีความตามคำสั่งไม่รับฟ้องของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ทำให้การใช้อำนาจของรัฐตามมาตรา 44 ดังกล่าวซึ่งปัจจุบันมีการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. เป็นจำนวนมาก อยู่เหนือกลไกการควบคุมตรวจสอบทั้งหมด แม้ว่าการใช้อำนาจดังกล่าวจะเป็นการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและเป็นการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายก็ตาม อันเป็นการขัดต่อหลักการถ่วงดุลตรวจสอบการใช้อำนาจอย่างร้ายแรง และทำให้ประชาชนไม่อาจมีหลักประกันคุ้มครองสิทธิเสรีภาพที่มั่นคงชัดเจน ดังเช่นกรณีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 ที่ศาลปกครองสูงสุดไม่รับฟ้องไว้พิจารณา
นอกจากนี้โดยผลของร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ผ่านประชามติ หากมีการประกาศใช้แล้วตามมาตรา 256 กำหนดให้ คสช. สามารถใช้อำนาจออกคำสั่งตามมาตรา 44 เพิ่มเติมได้ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งเข้าปฏิบัติหน้าที่ และมาตรา 279 ให้ประกาศคำสั่ง และการกระทำของ คสช. ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ซึ่งส่งผลให้ประกาศ คำสั่ง คสช. ต่าง ๆ รวมถึงมาตรา 44 จำนวนมากที่มีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมีผลใช้บังคับต่อไป จนกว่าจะถูกยกเลิกเพิกถอนโดยการออกเป็นพระราชบัญญัติหรือมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะมีความยุ่งยากซับซ้อนในการทบทวนแก้ไขเป็นรายฉบับต่อไปในอนาคต
ดังนั้นเพื่อสะท้อนปัญหาทั้งในทางข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน และปัญหาในทางหลักกฎหมายของการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองสำหรับกิจการพลังงานและการจัดการขยะ และการที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา ทางมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน และนักวิชาการ จึงเล็งเห็นความสำคัญในการจัดกิจกรรมเวทีเสวนานี้ขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ในการสื่อสารประเด็นปัญหาและข้อเสนอต่อสาธารณะและผลักดันให้มีกระบวนการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 44 และทบทวนแนวทางการตีความบังคับใช้กฎหมายที่ถูกต้องเหมาะสมตลอดจนแสวงหาแนวทางในการแก้ไขประกาศและคำสั่ง คสช. ต่อไป
วัตถุประสงค์
- เพื่อสื่อสารนำเสนอข้อเท็จจริงต่อสาธารณะเกี่ยวกับผลกระทบจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 เรื่องการยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท และคำสั่งไม่รับคำฟ้องเพื่อขอเพิกถอนคำสั่งคสช.ฯ ของศาลปกครองสูงสุด
- เพื่อเป็นพื้นที่ในการอภิปรายแลกเปลี่ยนมุมมองความเห็นและข้อเสนอต่อกรณีการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559และการที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา ที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมของบุคคลและชุมชน
- เพื่อแสวงหาแนวทางอื่นๆ ในการตรวจสอบประกาศคำสั่ง คสช. ให้ถูกต้องตามหลักกฎหมาย
ดำเนินการจัดงานโดย
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ร่วมกับโครงการประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, และศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
———————————————————————————–
กำหนดการ
12.30-13.00 น. | ลงทะเบียนผู้เข้าร่วม |
13.00-13.15 น. | ชี้แจงวัตถุประสงค์และกล่าวเปิดงาน โดยคุณไพโรจน์ พลเพชร ประธานกรรมการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม |
13.15-14.00 น. | ข้อเท็จจริงว่าด้วยผลกระทบจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559
ดำเนินรายการโดย คุณสุภาภรณ์ มาลัยลอย มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม |
14.00-14.15 น. | อภิปรายซักถามแลกเปลี่ยน (ช่วงที่ 1) |
14.15-16.15 น. | ช่วงที่ 2: มุมมองความเห็นทางกฎหมายและข้อเสนอต่อกรณีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559
ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
16.15-16.45 น. | อภิปรายซักถามแลกเปลี่ยน (ช่วงที่ 2) |
16.45-17.00 น. | สรุปประเด็นและกล่าวปิดการเสวนา |