แถลงการณ์ร่วม กรณีการรั่วไหลของสารเคมีอันตรายจากโรงงานผลิตโพลีเอสเตอร์ของบริษัทอินโดรามา

จากเหตุการณ์รั่วไหลของสารเคมีที่ส่งกลิ่นเหม็นกระจายออกในวงกว้างจากโรงงานอินโดรามา โพลิเอสเตอร์ อินดัสตรีส์ ใน อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2565 โดยมีประชาชนในพื้นที่แจ้งเหตุไปยังสำนักงานควบคุมมลพิษที่ 5 นั้น มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) และกรีนพีซ ประเทศไทย (Greenpeace Thailand) ซึ่งทำงานร่วมกันเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมและผลักดันให้มีกฎหมายการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ (PRTR) เห็นว่า เหตุการณ์การรั่วไหลของสารเคมีดังกล่าวคือประจักษ์พยานล่าสุดของการที่ชีวิตผู้คนในสังคมไทยต้องเสี่ยงภัยกับสารมลพิษทุกวัน (Living poisons daily)

ในสถานการณ์เช่นนี้ ประชาชนแทบไม่รู้เลยว่ามีสารมลพิษชนิดใดบ้างที่รั่วไหลออกมาจากโรงงาน แม้การรายงานข่าวในเวลาต่อมาจะระบุว่า เป็นการรั่วไหลของสารเคมีกลุ่มอะโรเมติก เบนซีน ไดฟีนิลออกไซด์ (Diphenyl Oxide)และไบฟีนิล(Biphenyl) [1] และกรมควบคุมมลพิษทำการแจ้งเตือนให้ประชาชนในพื้นที่งดออกจากบ้านเรือนเพื่อเลี่ยงสัมผัสสารเคมีและสวมหน้ากากอนามัยป้องกัน แต่ก็สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า สิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชนถูกละเมิดครั้งแล้วครั้งเล่า นอกจากการปนเปื้อนในอากาศที่หายใจ ประชาชนไม่รู้เลยว่าการรั่วไหลของสารมลพิษสามารถตกลงสู่ดินและแหล่งน้ำ ปนเปื้อนอยู่ในอาหารที่กิน และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และสารมลพิษดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไร

มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) และกรีนพีซ ประเทศไทย (Greenpeace Thailand) มีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

  • ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีชั้นนำระดับโลก อินโดรามา เวนเจอร์ส [2] ซึ่งเป็นเจ้าของโรงงานอินโดรามา โพลิเอสเตอร์ อินดัสตรีส์ [3] ใน อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ต้องมีภาระรับผิดชอบ (Accountability) โดยทำงานร่วมกับหน่อยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในการชี้แจงและเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดต่อสาธารณะชนเกี่ยวกับเหตุการณ์รั่วไหลของสารเคมีครั้งนี้ และดำเนินการประเมินความเสียหายและผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนเฉพาะหน้าในระยะสั้น และระยะยาว รวมถึงการชดใช้และเยียวยาความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนที่เกิดขึ้น (Liability)
  • หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมควบคุมมลพิษและกรมโรงงานอุตสาหกรรม ต้องตรวจสอบเหตุการณ์รั่วไหลที่เกิดขึ้น และชี้แจงข้อมูลต่อสาธารณะอย่างรวดเร็วตรงไปตรงมา รวมถึงการดำเนินมาตรการทางกฎหมายกับผู้ก่อมลพิษ และการติดตามรวบรวมข้อมูลและให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ
  • หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องรวมถึงกรมควบคุมมลพิษและกรมโรงงานอุตสาหกรรม ต้องมีบทบาทสำคัญในการติดตามผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นกับประชาชนโดยเฉพาะในกรณีที่มีผู้ป่วยจากการสัมผัสสารเคมีกลุ่มอะโรเมติก เบนซีน ไดฟีนิลออกไซด์ (Diphenyl Oxide)และไบฟีนิล (Biphenyl) ที่อาจส่งผลเสียหายต่อร่างกายในระยะยาว
  • หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องรวมถึงกรมควบคุมมลพิษและกรมโรงงานอุตสาหกรรม ต้องสนับสนุนกฎหมายการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อย และเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม (PRTR) ภาคประชาชนที่รับรองสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน (Community Right-to-Know) และกำหนดให้มีการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเปิดเผยต่อสาธารณชนเกี่ยวกับชนิดและปริมาณของสารเคมีหรือมลพิษที่มีการปลดปล่อยจากแหล่งกำเนิดมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม รวมถึงข้อมูลการนำน้ำเสียหรือของเสียที่มีสารเคมีหรือมลพิษออกจากแหล่งกำเนิด ไปบำบัดหรือกำจัด

นอกจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการรั่วไหลของสารเคมีสามารถใช้ช่องทางและกลไกทางกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันเพื่อเรียกร้องสิทธิของตน มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม มูลนิธิบูรณะนิเวศ และกรีนพีซ ประเทศไทย ขอเชิญชวนประชาชนใช้สิทธิ์ประชาธิปไตยทางตรงในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชน  และการเรียนรู้ร่วมกันของประชาชนในการผลักดันให้เกิดกฎหมายที่ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลมลพิษเพื่อมีส่วนร่วมในการคุ้มครองสิทธิ์ สุขภาพ ของประชาชนและสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง ผ่านพระราชบัญญัติการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ พ.ศ…. (PRTR) ได้ที่ thaiprtr.com

หมายเหตุ :

[1] หากสูดดมสารเคมีกลุ่มอะโรเมติกเบนซีน ไดฟีนิลออกไซด์ (Diphenyl Oxide) และไบฟีนิล (Biphenyl) เข้าไปในปริมาณมากอาจทำให้เกิดอาการคลื่นใส้ วิงเวียนศรีษะและส่งผลกระทบต่อทางเดินหายใจ https://www.thebangkokinsight.com/news/politics-general/politics/952863/ 

[2] อินโดรามา เวนเจอร์สเป็นผู้ผลิต PET โพลีเมอร์ อันดับ 1 ของโลก (1 ใน 5)

ของขวดพลาสติกทั่วโลกผลิตจากเม็ดพลาสติกของอินโดรามา) / ผู้ผลิต PET โพลีเมอร์ อันดับ 1 ในทวีปอเมริกาเหนือ / ผู้ผลิต PET โพลิเมอร์ อันดับ 1 ในทวีปยุโรป /ผู้ผลิต PET รีไซเคิลอันดับ 1 ของโลก/ ผู้ผลิตเส้นใยสั้นโพลีโอเลฟินและเส้นใย bicomponent อันดับ 1 ของโลก /ผู้ผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์ชนิดพิเศษอันดับ 1 ในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ / ผู้ผลิตเส้นด้ายแบบปลายเดี่ยวสำหรับยางรถยนต์ที่มีประสิทธิภาพสูงอันดับ 1 ของโลก / ผู้ผลิตเอทิลีนออกไซด์บริสุทธิ์ อันดับ 1 ในทวีปอเมริกาเหนือ/ ผู้ผลิตเส้นด้าย พอลิเอไมด์ 6.6 สำหรับถุงลมนิรภัยอันดับ 2 ของโลก / ผู้ผลิตเส้นด้ายเรยอนสำหรับยางรถยนต์ อันดับ 2 ของโลก/ ผู้ผลิตสิ่งทอโพลีเอสเตอร์สำหรับยางรถยนต์อันดับ 2 ในประเทศจีน/ ผู้ผลิตสารตั้งต้น IPA อันดับ 2 ของโลก และเพียงผู้เดียวในทวีปยุโรป

[3] โรงงานอินโดรามา โพลีเอสเตอร์ อินดัสตรี้ส์ แรกเริ่มมีกำลังการผลิตติดตั้ง 40,000 ตันต่อปี เป็นการลงทุนครั้งแรกของอินโดรามา เวนเจอร์สในอุตสาหกรรมโพลีเอสเตอร์ โรงงานแห่งนี้รับวัตถุดิบหลัก PTA จากโรงงานอินโดรามา ปิโตรเคมี และโรงงานทีพีที ปิโตรเคมิคอลส์ ในปี พ.ศ. 2554 บริษัทได้ดำเนินการปรับปรุงการผลิตเสร็จสมบูรณ์ ทำให้มีการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 127,000 ตันต่อปี

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ 

โทร.081-611-7473 อีเมล penchom.earth@gmail.com ไลน์: penchom.earth

อัมรินทร์ สายจันทร์ นักกฎหมาย มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

โทร.086-731-1435 อีเมล amarin.enlaw@gmail.com

อัลลิยา เหมือนอบ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านมลพิษทางอากาศ  กรีนพีซ ประเทศไทย 

โทร.089 780 3661 อีเมล amounob@greenpeace.org

สมฤดี ปานะศุทธะ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน กรีนพีซ ประเทศไทย

โทร. 081-929-5747 อีเมล spanasud@greenpeace.org

ที่มาภาพประกอบ: Facebook: มูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ

ข่าวสารที่เกี่ยวข้อง
ติดตามเราในช่องทาง Social
ข่าวสารล่าสุด