SEC กฎหมายยึดภาคใต้ ? : เปิดวงเสวนาว่าด้วยการตั้งคำถามกับร่างกฎหมาย พ.ร.บ. ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้

SEC กฎหมายยึดภาคใต้ ? : เปิดวงเสวนาว่าด้วยการตั้งคำถามกับร่างกฎหมาย พ.ร.บ. ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้

.

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2567 เวลา 13:30 – 16:00 น. มูลนิธิภาคใต้สีเขียวร่วมกับ ปกป้องแผ่นดินใต้ No-SEC  มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม Beach for life Thailand  และ SEC Junction ได้จัดพื้นที่เสวนาเพื่อเสนอให้เห็นถึงประเด็นต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับร่าง พ.ร.บ.ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridors: SEC) ซึ่งเป็น พ.ร.บ. ที่มีเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมเป็นหลักในพื้นที่ภาคใต้

.

ภายในงานเสวนาแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงถอดบทเรียน EEC ก่อนจะเกิด SEC และช่วงเสวนา “ภาคใต้จะถูกยึดด้วย พ.ร.บ. SEC ? ” ทั้งสองช่วงดังกล่าวเสนอให้เห็นผ่าน 4 มุมมองด้วยกัน คือ มุมมองจากประชาชนในพื้นที่โครงการพัฒนาเขตพิเศษภาคตะวันออก มุมมองจากนักวิจัยในพื้นที่ EEC มุมมองทางด้านนิติศาสตร์ และมุมมองด้านกฎหมายกับสิ่งแวดล้อม

 

จาก Eastern Seabord สู่ EEC

ย้อนกลับไปในช่วงปี 2524-2525 ได้มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมฉบับที่ 5 ที่มีแผนการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกหรือที่เรียกว่า Eastern Seaboard ให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม โดยโครงการพัฒนาดังกล่าวมุ่งเน้นพัฒนาเศรษฐกิจเป็นเป้าหมายสำคัญ ทว่าขาดการคำนึงในมิติด้านสังคม มิติด้านสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามโครงการพัฒนานี้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาเรื่อย ๆ

.

จนกระทั่งช่วงปี พ.ศ.2557 ในยุครัฐบาลรัฐประหารนำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีการริเริ่มการพัฒนาโครงการ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” โดยกำหนดพื้นที่ชายแดนทั้งหมด 10 พื้นที่ ได้แก่ ตาก มุกดาหาร สระแก้ว ตราด สงขลา เชียงราย หนองคาย นครพนม กาญจนบุรี แต่โครงการนี้กลับไม่ประสบผลสำเร็จ ถึงแม้จะเป็นเช่นนั้นโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าวก็ยังคงเดินหน้าต่อ โดยเปลี่ยนพื้นที่การพัฒนาไปยังภาคตะวันออกและใช้รูปแบบการพัฒนาจากโครงการ Eastern Seaboard มาเป็นตัวอย่างและต่อยอดให้เกิดเป็นโครงการ“เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก” (Eastern Economic Corridor: EEC) มีพื้นที่อยู่ใน 3 จังหวัด คือ จังหวัดฉะเชิงเทรา ระยอง และชลบุรี

ผลกระทบซ้ำแล้วซ้ำเล่า?

อมรศักดิ์ ปัญญาเจริญศรี นายกสมาคมพื้นบ้านจังหวัดชลบุรี ซึ่งถือว่าเป็นคนในพื้นที่โครงการ Eastern SeaBorad กล่าวว่า โครงการนี้ได้สร้างผลกระทบให้กับคนและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด แม้ว่าจะเป็นเช่นนั้นก็ไม่ได้รับการฟื้นฟูหรือแก้ไขจากหน่วยงานหรือเจ้าของโครงการเลย และที่สำคัญไปกว่านั้นพื้นที่การพัฒนาดังกล่าวกลับมีปัญหาเพิ่มขึ้นเมื่อมีโครงการ EEC เข้ามา เพราะโครงการนี้ไม่ได้มีส่วนร่วมของประชาชนอยู่เลย อย่างไรก็ตามทั้งสองโครงการดังกล่าวที่เป็นโครงการพัฒนาในลักษณะเดียวกันเช่นนี้ ส่งผลกระทบให้กับพื้นที่อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบด้านขยะ อากาศ น้ำ กากอุตสาหกรรมอันตราย ตลอดจนอาชีพประมงของคนในพื้นที่มีการออกเรือน้อยลง เพราะพื้นที่ทางทะเลลดน้อยลงเมื่อโครงการเหล่านี้เข้ามา

.

อย่างไรก็ตามผลกระทบเหล่านี้ยังคงอยู่และไม่ได้รับการฟื้นฟูหรือแก้ไขใด ๆ จนถึงทุกวันนี้จะมีก็แต่แค่ค่าเยียวยาที่ไม่ได้สร้างความยั่งยืนให้กับคนในพื้นที่ สิ่งสำคัญไปกว่านั้น คือ ไร้ซึ่งความรับผิดชอบจากโครงการพัฒนา EEC แม้ว่าในทางกลับกันตามกฎหมายโครงการนี้ควรเป็นผู้รับผิดชอบหลักก็ตาม

.

แม้ว่าโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC จะประกาศใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัดที่กล่าวไปข้างต้น แต่ข้อค้นพบที่แท้จริงมีพื้นที่ในจังหวัดอื่นถูกนำมาเกี่ยวข้องและเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาด้วยเช่นกัน อาทิ การใช้น้ำในโครงการนี้ที่ต้องนำน้ำจากจังหวัดจันทบุรีมาใช้ ซึ่งจังหวัดจันทบุรีไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือเป็นหนึ่งในจังหวัดที่อยู่ในโครงการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนี้  นี่เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงอำนาจของโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษที่สามารถขยายฐานอำนาจหรือขยายพื้นที่ไปมากกว่าในขอบเขตการพัฒนาที่กำหนดเอาไว้ และยิ่งไปกว่านั้นคือถ้าโครงการพัฒนาในลักษณะนี้ทำให้เกิดผลกระทบ นั่นหมายความว่าผลกระทบจะเกิดขึ้นมากกว่าในพื้นที่ที่ถูกกำหนดเอาไว้ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ

จากภาคตะวันออก สู่ภาคใต้: เมื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษขยายวงกว้าง

 ในวันที่ 20 กันยายน 2565 ร่างพระราชบัญญัติระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridors: SEC)  ถูกเสนอขึ้นมาจำวนวน 2 ร่าง โดย นายอนุทิน ชาญวีรกุล และนายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง จากพรรคภูมิใจไทย พ.ร.บ.ดังกล่าวถูกเสนอมาเพื่อผลักดันพื้นที่ภาคใต้ใน 4 จังหวัดนำร่อง คือ จังหวัด ชุมพร จังหวัดระนอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช ตลอดจนพื้นที่อื่น ๆ ที่จะประกาศตามมาในภายหลัง พื้นที่เหล่านี้ถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะเน้นเรื่องของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ  พาณิชยกรรม อุตสาหกรรมขั้นสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเชื่อมโยงการค้าและโลจิสติกส์

.

หาก พ.ร.บ. ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ผ่าน หน่วยงานในประเทศไทยทุกหน่วยงานมีหน้าที่ผลักดันให้ทุกภารกิจจากโครงการนี้สำเร็จ นอกจากนี้การพัฒนาภายใต้โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีความจำเป็นจะต้องทำการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ได้มีการรวบรัดเวลาให้การประเมินแล้วเสร็จเร็วขึ้นภายในระยะเวลา 120 วัน ตลอดจนสามารถแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ ได้ เพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อไปอย่างราบรื่นและไม่ล่าช้า

.

ไม่เพียงแค่นั้นภายใต้การพัฒนานี้ยังสามารถแก้ไขโครงสร้างผังเมือง เพื่อให้พร้อมกับการรองรับอุตสาหกรรม เช่น การเปลี่ยนพื้นที่เกษตรกรรมให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม ตลอดจนละเว้นกฎหมายเดิมที่มีอยู่ได้เช่นกัน เช่น ยกเว้นภาษีอากร ซึ่งความพิเศษทั้งหลายดังกล่าวเป็นความพิเศษในลักษณะเดิมที่เกิดขึ้นในโครงการพัฒนา EEC ที่สำคัญไปกว่านั้น คือ อำนาจความพิเศษเหล่านี้กำลังขยายวงกว้างมาสู่ภาคใต้ของประเทศไทยเช่นกัน

เมื่ออำนาจความพิเศษของโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ มาจากกฎหมายที่เอนเอียง

จากร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้หรือ พ.ร.บ.SEC ความพิเศษต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นใน พ.ร.บ.นี้ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาทางรัฐธรรมนูญ แบ่งออกเป็น 2 ประเด็น ประเด็นแรก คือ ปัญหาในการรวบอำนาจไว้กับฝ่ายบริหารหรือคณะกรรมการ  ที่ทำให้การตรวจสอบต่อโครงการเป็นไปได้ยาก เพราะมีการละเว้นกฎหมายและละเว้นอำนาจการตรวจสอบเดิมไปให้กับคณะกรรมการ SEC เพียงอย่างเดียว ประเด็นที่สอง คือ การรับรองคุณค่าสิทธิในทางรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวเนื่องกันกับร่าง พ.ร.บ. SEC เช่น สิทธิในทรัพย์สิน สิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพ สิทธิชุมชน เป็นต้น ซึ่งสิทธิต่าง ๆ ในทางรัฐธรรมนูญที่ว่านี้ขัดแย้งกันกับ พ.ร.บ. SEC ทุกประการ เพราะใน พ.ร.บ. SEC ไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิทธิต่าง ๆ ดังกล่าว สิ่งเหล่านี้จึงเป็นปัญหาในทางรัฐธรรมนูญจึงเป็นสิ่งที่ทำให้ พ.ร.บ.SEC มีความเอนเอียงไปในด้านเดียว คือ ด้านของการพัฒนาอุตสาหกรรม และไร้ซึ่งอำนาจจากประชาชนในพื้นที่

จากการมีอำนาจพิเศษ สู่การแย่งยึดทรัพยากร ของประชาชน

 เมื่ออำนาจพิเศษภายใต้การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษไม่ได้หยุดอยู่แค่ในพื้นที่ภาคตะวันออก หรือภาคใต้ แต่อำนาจพิเศษนี้จะแผ่ขยายไปทั้ง 4 ภาคของประเทศไทย ซึ่งคนในพื้นที่อาจไม่เคยได้รับทราบมาก่อน ทว่าร่างการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 4 ภาคดังกล่าวถูกกำหนดพื้นที่ไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หากร่าง พ.ร.บ.ผ่าน จะนำไปสู่การกำหนดผังเมืองและออกระเบียบของแต่ละพื้นที่ เพื่อให้สำเร็จลุล่วงตามแผนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ อย่างไรก็ตามข้อสังเกตในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพพิเศษเหล่านี้จะทำให้เกิดการแย่งยึดทรัพยากรจากประชาชนในพื้นที่ ได้แก่ การแย่งยึดทรัพยากรที่ดิน การแย่งยึดน้ำ โดยการแย่งยึดทรัพยากรที่ดิน จะเกิดขึ้นในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเนื่องจากต้องใช้ที่ดินเป็นทุนในการพัฒนาอุตสาหกรรมตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยการจะได้มาซึ่งที่ดินต้องเปลี่ยนผังเมืองจากพื้นที่เกษตรกรรมไปเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม ตลอดจนออกกฎหมายต่าง ๆที่เอื้อเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินตามแผนพัฒนา ในขณะที่การแย่งยึดน้ำ เกิดขึ้นเมื่อโครงการต่าง ๆ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษเกิดขึ้นและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ จำเป็นจะต้องใช้น้ำในปริมาณมาก จึงทำให้ในหลายพื้นที่ต้องสูญเสียน้ำหรือเกิดการแย่งน้ำไปจากประชาชนเพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรม และที่สำคัญคือระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพในแต่ละพื้นที่จะถูกทำลาย และยากที่จะกลับมาเป็นดังเดิม ตลอดจนอาจรุนแรงไปถึงขั้นสูญเสียระบบนิเวศที่มีความจำเพาะของแต่ละพื้นที่ไปตลอดกาล

             

 

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง