เหตุแห่งคดี : นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล และพวก รวม 10 คน ยื่นฟ้อง นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดี ที่1, คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดี ที่2, คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ผู้ถูกฟ้องคดี ที่3, และ คณะกรรมการกำกับตลาดทุน ผู้ถูกฟ้องคดี ที่ 4 ต่อศาลปกครองเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2566 เพื่อให้มีการแก้ไขสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในสภาวะวิกฤตและต้องมีมาตรการป้องกันและรับมือต่อฝุ่น PM2.5 ในระยะยาว
ภายหลังจากที่ศาลปกครองเชียงใหม่มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2567 ให้นายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ต้องใช้อำนาจหรือร่วมกันใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ตามมมาตรา 9 กำหนดมาตรการ หรือจัดทำแผนฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพอย่างบูรณาการและยั่งยืน เพื่อป้องกัน ควบคุม แก้ไข บรรเทา หรือระวังภยันตรายอันเกิดจากฝุ่น PM2.5 ซึ่งเกินกว่าค่ามาตรฐานและอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือให้ทันท่วงที ทั้งนี้ ให้ดำเนินการกำหนดมาตรการ หรือจัดทำแผนฉุกเฉินดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด
คำวินิจฉัย : ในคดีนี้นอกจากศาลปกครองเชียงใหม่จะได้วินิจฉัยเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในสภาวะวิกฤตตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 แล้ว ศาลยังได้รับรองสิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ว่า
“ปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในพื้นที่ภาคเหนือโดยมากจะเกิดขึ้นเป็นประจำในช่วงประมาณเดือนธันวาคมถึงพฤษภาคมของทุกปีอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มว่าจะทวีความรุนแรงขึ้นอันจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพอนามัยของผู้ฟ้องคดีทั้งสิบ ซึ่งอาศัยและเดินทางในพื้นที่ภาคเหนือและโดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 43 กำหนดให้บุคคลและชุมชนมีสิทธิจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืนตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ มาตรา 53 กำหนดให้รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด มาตรา 55 กำหนดให้รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง เสริมสร้างให้ประชาชนมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค และการบริการสาธารณสุขครอบคลุมถึงการรักษาพยาบาล และมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม… กำหนดมาตรการป้องกันและจัดทำแผนบรรเทาเหตุฉุกเฉิน หรือเหตุภยันตรายจากภาวะมลพิษทางอากาศ ด้วยเหตุนี้ เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) อย่างต่อเนื่องอันอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของผู้ฟ้องคดีทั้งสิบ และประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือไว้ก่อนทั้งระยะสั้นและระยะยาวในรอบระยะเวลาข้างหน้า ตามหลักการป้องกันล่วงหน้า (Preventive principle) …”[1]
สถานะคดี : อยู่ในระหว่างการอุทธรณ์ของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติต่อศาลปกครองสูงสุด อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้นายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นโดยไม่ต้องรอจนกว่าคดีจะถึงที่สุด
[1] คดีฝุ่นพิษ PM2.5 ภาคเหนือ คดีหมายเลขแดงที่ ส.1/2567, https://enlawfoundation.org/wp-content/uploads/2024/01/Decision-NorthernPM25Crisis1-2567-CMAdminCourt.pdf.