ความเสี่ยงทางสุขภาพในวันที่กรุงเทพมหานครและอีกหลายจังหวัดจมฝุ่น PM2.5 อย่างต่อเนื่อง
“เมืองหลวงควันและฝุ่นมากมาย พี่สูดดมเข้าไปร่างกายก็เป็นภูมิแพ้” บรรยากาศที่ปกคลุมไปด้วยฝุ่นของกรุงเทพ ณ ตอนนี้ ย้อนชวนให้ใครหลายคนนึกถึงเพลงฮิตอย่าง “ภูมิแพ้กรุงเทพ” ของพี่ป้าง นครินทร์ ที่เคยมีกระแสในช่วงปี ค.ศ. 2014 ซึ่งมีเนื้อร้องกล่าวอ้างถึงสถานการณ์ฝุ่นในกรุงเทพมหานคร โดยเนื้อเพลงและ บทบาทสมมติใน MV ได้เล่าถึงตัวชายหนุ่มที่ต้องย้ายหนีฝุ่นจากกรุงเทพไปอยู่ต่างจังหวัด เพราะต้องการรักษาตัวจากโรคภูมิแพ้
อย่างไรก็ตามแม้ว่าบทเพลงนี้จะเข้ากับบรรยากาศของกรุงเทพ ณ ตอนนี้ แต่สถานการณ์ฝุ่นในความเป็นจริงของทุกวันนี้ไม่ได้มีแค่ในกรุงเทพ ทว่ากลับมีหลายพื้นที่และหลายจังหวัดที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น พื้นที่ในจังหวัดสมุทรปราการ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง เชียงใหม่ เชียงราย เป็นต้น แม้ในหลายพื้นที่จะเผชิญกับปัญหาฝุ่นมาหลายปีแล้ว แต่รัฐบาลก็ยังไม่สามาถแก้ไขปัญหานี้ได้ ทำให้ประชาชนในหลายพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบต่อสุขภาพกันไปเต็มๆ ที่เลวร้ายไปกว่านั้น ฝุ่นดังกล่าวคือฝุ่น PM2.5 เพราะมีงานวิจัยหลายชิ้นต่างยืนว่าPM2.5 เป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคต่างๆและทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร
ผลกระทบทางสุขภาพจากPM2.5
ในปัจจุบันมีการวิจัยจากหลากหลายสถาบันที่ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 โดยผลการวิจัยต่างยืนยันถึง PM 2.5 ที่เป็นต้นตอของโรคต่าง ๆ และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร อีกทั้งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มีจำนวนคนเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลที่เกี่ยวกับโรคทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น โดยตัวอย่างผลการวิจัยในประเทศสหรัฐอเมริกา จาก Children’s Health Study กล่าวถึงกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงมีผลกระทบทางสุขภาพที่เกิดจาก PM 2.5 คือ เด็กและเด็กทารก เนื่องจากมีอัตราการหายใจเข้ามากกว่าผู้ใหญ่ นั่นหมายความว่าเด็กจะหายใจเข้าและได้รับมลพิษจาก PM 2.5 มากกว่า นอกจากนี้เด็กมีระบบภูมิคุ้มกันยังไม่มากพอ ในขณะที่ CARB (California Air Resources Board) พบว่าเด็กที่อาศัยอยู่ในชุมชนที่มีปริมาณ PM2.5 ในอากาศสูงจะทำให้ปอดของเด็กมีการเจริญเติบโตช้าและมีขนาดที่เล็กกว่าปกติ ขณะเดียวกันกลุ่มเสี่ยงอีกกลุ่ม คือ กลุ่มคนสูงวัยที่มีโรคประจำตัวอย่างโรคหัวใจและโรคปอดเรื้อรัง ตลอดจนกลุ่มของคนที่มีโรคประจำตัวอย่างโรคหอบหืด กลุ่มคนเหล่านี้จะอยู่ในภาวะเสี่ยงได้รับผลกระทบจาก PM2.5มากกว่ากลุ่มคนปกติทั่วไป อย่างไรก็ตามกลุ่มของคนปกติเองก็เสี่ยงที่จะเกิดโรคภัยชนิดต่างๆเพิ่มขึ้นเช่นกัน
ในปี ค.ศ. 2024 ที่ผ่านมา ScienceDirect เว็บไซต์วารสาร งานวิจัยทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ของสำนักพิมพ์ Elsevier ได้รวบรวมข้อมูลจากงานวิจัยทางระบาดวิทยาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2007-2024 ที่มีความเกี่ยวข้องกับผลกระทบทางสุขภาพซึ่งสัมพันธ์กันกับ PM2.5 ผลจากการรวบรวมงานวิจัยเหล่านี้ถูกเผยแพร่ไว้ในวารสาร “การอัปเดตผลกระทบทางสุขภาพที่เกิดจาก PM2.5” (An update on adverse health effects from exposure to PM2.5) ในวารสารนี้ได้อธิบายถึงการเกิดโรคที่เกิดจากการได้รับปริมาณ PM2.5 ที่มาสะสมอยู่ในร่างกาย โดยแบ่งโรคออกเป็น 4 ประเภทตามของระบบการทำงานของร่างกาย คือ 1.ระบบทางเดินหายใจและปอด ซึ่งงานศึกษาระบาดวิทยาหลายชิ้นชี้ให้เห็นถึงข้อมูลที่ตรงกันว่าปริมาณของฝุ่น PM2.5 ที่เกินมาตรฐานคุณภาพอากาศนั้นทำให้มีจำนวนผู้ป่วยเข้ารับการรักษาด้วยโรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เพิ่มมากขึ้น ฝุ่น PM2.5 มีอนุภาคขนาดเล็กมากทำให้เมื่อเข้าสู่ระบบหายใจแล้วสามารถเคลื่อนย้ายไปยังกระแสเลือดได้อย่างง่ายดาย ส่งผลให้การทำงานของพังผืดปอดเกิดความเสียหาย นอกจากนี้ยังพบว่าองค์ประกอบทางเคมีของ PM2.5 ส่งผลทำให้เซลล์เกิดความผิดปกตินำไปสู่การเกิดมะเร็งปอดได้
2.ระบบภูมิคุ้มกัน ในกระบวนการทางพิษวิทยาและสรีรวิทยาได้อธิบายถึง PM2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพว่า PM2.5 สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ไปถึงหน่วยแลกเปลี่ยนก๊าซในถุงลมปอด ชั้นเยื่อเมือกของทางเดินหายใจ ของเหลวที่บุทางเดินหายใจ เซลล์เยื่อบุหลอดลมและถุงลม เม็ดเลือดขาวและเซลล์ภูมิคุ้มกันโดยกำเนิด ซึ่งมีการยืนยันออกมาแล้วว่าเมื่อ PM2.5 เข้าไปได้ยังส่วนต่าง ๆ ดังกล่าว จะทำให้เกิดการยับยั้งการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันแย่ลง นำไปสู่การเกิดเซลล์อักเสบและเป็นผลให้เกิดความผิดปกติของเซลล์เป็นสาเหตุให้เกิดการพัฒนาไปเป็นมะเร็ง
3.ระบบหัวใจและหลอดเลือด ด้วยขนาดของ PM2.5ที่มีขนาดเล็กกว่าเส้นผมทำให้สามารถเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิตทั่วร่างกายได้เมื่อไปสะสมก็จะเป็นอุปสรรคต่อการไหลเวียนของเลือดและอากาศ เป็นสาเหตุของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ หัวใจขาดเลือด และเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวและหัวใจวาย ซึ่งจากการรวบผลวิจัยจากหลากหลายประเทศพบว่าการเข้ารับการษาในสถานพยาบาลด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้นมีความเชื่อมโยงกับพื้นที่ที่มีปริมาณ PM2.5 เกินค่ามาตรฐานอย่างต่อเนื่อง
4.ระบบประสาทและจิตเวช ในส่วนของระบบนี้แม้จะมีหลักฐานว่าความผิดปกติของระบบประสาทมีความเชื่อมโยงกันกับ PM2.5 แต่การวิจัยในส่วนนี้ยังไม่ชัดเจนและครอบคลุมมากพอ อย่างไรก็ตามนักวิจัยจากหลายประเทศก็ตั้งความกังวลไว้ว่าองค์ประกอบที่ชื่อว่า Sulfates (SO42-) มีความเกี่ยวข้องกับเกี่ยวข้องกับอัตราส่วนความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อม นอกจากนี้อนุภาคขนาดที่เล็กมากของPM2.5 ที่สามารถเข้าไปในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ ตลอดจนเข้าไปสู่ระบบประสาทกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของระบบประสาทได้ ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้มีหลักฐานว่าช่วงปี ค.ศ.1990-2020 ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน โรคอัลซไฮเมอร์ และโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงมีเพิ่มขึ้น โดยทั้ง 2 โรคนี้เกี่ยวกับการอักเสบของระบบประสาทที่เชื่อมโยงกับ PM2.5 นอกจากนี้ในปีค.ศ.2022 การศึกษาในประเทศเกาหลีใต้และการศึกษาในจีนปี 2024 ที่ผ่านมาพบว่าภาวะซึมเศร้าในผู้เข้ารับษาวัยกลางคนและผู้สูงอายุนั้นต่างมีความเชื่อมโยงกับPM 2.5 ซึ่งอธิบายผ่านพฤติกรรมและความผิดปกติทางจิตที่เกิดขึ้นว่าเมื่อค่าPM2.5 สูงสามารถส่งผลต่อพฤติกรรมและจิตใจให้มีความผิดปกติได้เช่นกัน ทำให้มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเพิ่มขึ้น
อัตราการเจ็บป่วยจากPM2.5 ในประเทศไทย
ในขณะที่สถานการณ์ในประเทศไทยข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2025 เปิดเผยว่ามีประชาชนราว 38 ล้านคนอยู่ในพื้นที่ฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน และมีกลุ่มเสี่ยงหรือกลุ่มเปราะบางมากถึง 15 ล้านคน โดยกลุ่เช่น กลุ่มผู้ป่วยโรคหอบหืด ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง และ เด็กเล็ก ในขณะที่ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคเปิดเผยว่าเมื่อช่วง 1 ตุลาคม 2023 – 31 ธันวาคม 2024 มีจำนวนผู้เข้ารับการรักษาที่เชื่อมโยงกับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เป็นจำนวนมาก โดยแบ่งผู้เข้าการรักษาออกเป็น 6 โรค คือ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง 226,423 คน โรคตาอักเสบ 357,104 คน โรคผิวหนังอักเสบ 442,073 คน โรคหืด 18,336 คน หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน 4,051 คน และการสัมผัสกับมลพิษทางอากาศ 28 คน รวมทั้งหมด 1,048,015 คน
อย่างไรก็ตามผลงานวิจัยในหลายประเทศข้างต้นที่ชี้ว่าการเกิดโรคต่าง ๆ ถูกกระตุ้นให้เกิดง่ายขึ้นหรือมีแนวโน้มต่อการเกิดโรคได้ง่ายนั้นมีความสัมพันธ์กับPM2.5ที่เข้าไปสู่ร่างกายและปริมาณค่าฝุ่น PM2.5 ที่เกินมาตรฐาน เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ฝุ่นPM2.5 ในประเทศไทยแล้วนั้น มีแนวโน้มว่าจำนวนของผู้เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และประชาชนจะตกอยู่ท่ามกลางอากาศที่เป็นมลพิษเช่นนี้ต่อไป หากสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ยังคงย่ำแย่อยู่อย่างทุกวันนี้ และแม้ว่าไทยจะประกาศให้ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” จะถูกยกให้เป็นวาระแห่งชาติมาตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2019 ซึ่งเป็นระยะเวลาถึง 5 ปีกว่ามาแล้ว และรัฐบาลสูญเสียงบประมาณไปแล้วเกือบสองหมื่นล้านบาทในการแก้ปัญหา PM2.5 แต่ดูเหมือนว่าปัญหาฝุ่นกลับทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลไม่มีมาตรการเชิงป้องกันในระยะยาวที่จะทำให้ทั้งตัวภาครัฐและประชาชน ได้เข้าถึงข้อมูลแหล่งกำเนิดฝุ่นที่ชัดเจนว่าแหล่งกำเนิดฝุ่นเกิดมาจากที่ใด เกิดได้อย่างไร ส่งผลให้ไม่มีฐานข้อมูลมาใช้เพื่อกำหนดแนวทางหรือนโยบายป้องกันฝุ่นในระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงไม่สามารถเข้าถึงการเฝ้าระวังทางสุขภาพได้เลย หากปัญหาฝุ่น PM2.5 ยังไม่ถูกแก้ไขอย่างจริงจังในเร็ววัน แนวโน้มอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตอันเนื่องมาจากฝุ่น PM2.5 ของประเทศไทยเองก็คงเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ข้อมูลจาก:
ELSEVIER: An update on adverse health effects from exposure to PM2.5
Hfocus เจาะลึกระบบสุขภาพ: สธ. เผยคนไทย 38 ล้านคนอยู่ในพื้นที่ฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน พบเป็นกลุ่มเปราะบาง 15 ล้านคน,
Thaiprtr.com: หยุดปกปิดมลพิษ PRTR
กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม: แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง”