วันที่ 18 มีนาคม 2568 เครือข่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของปลาหมอคางดำ ประมาณ 500 คน จาก 19 จังหวัด ได้เดินทางเข้ามาชุมนุมเพื่อทวงถามและติดตามการแก้ไขปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำ ณ หน้าทำเนียบรัฐบาล จากเดิมที่เคยได้ยื่นหนังสือต่อผู้เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 ต่อ 1. ผู้บริหารบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) และเครือข่ายเจริญโภคภัณฑ์ และ 2. นายกรัฐมนตรี แต่จนปัจจุบันกลับยังไม่ได้รับคำตอบหรือแนวทางแก้ไขปัญหาการระบาดปลาหมอคางดำแต่อย่างใด แม้จะมีกองทุนการยางแห่งประเทศไทยรับซื้อปลาหมอคางดำแต่สถานการณ์ความรุนแรงของปัญหากลับไม่ได้ลดลง
การชุมนุมครั้งนี้ ทางเครือข่ายประชาชนฯ ได้ดำเนินการแจ้งการชุมนุม ต่อสถานีตำรวจนครบาลดุสิต ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 และได้ทวงถาม 4 ข้อเรียกร้อง ที่เคยยื่นให้รัฐบาลก่อนหน้านี้ ดังนี้
1. ให้คณะรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนอิสระเพื่อสืบสวน สอบสวน หาผู้กระทำความผิด
2. เร่งรัดกำจัดปลาหมอคางดำภายใน 1 ปี พร้อมฟื้นฟูระบบนิเวศ
3. ตั้งคณะกรรมการระดับชาติ ประกาศเขตภัยพิบัติทันที
4. ฟ้องผู้กระทำความผิด เพื่อชดใช้เยียวยา ตามหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นรับผิดชอบและเป็นผู้จ่าย (Polluter Pay Principle)
จากการสังเกตการณ์ชุมนุม
เวลาประมาณ 09.00 เครือข่ายฯได้ตั้งขบวนอยู่บริเวณหน้าสำนักงานปฏิรูปที่ดิน
เวลาประมาณ 10.30 เครือข่ายฯได้เคลื่อนขบวนไปยังบริเวณหน้ากระทรวงศึกษาธิการในเวลา ต่อมาเมื่อการเจรจาไม่เป็นผลทางรัฐบาลไม่ได้ส่งตัวแทนฝ่ายบริหารมาเจรจาตามข้อเรียกร้อง เครือข่ายฯจึงเคลื่อนขบวนมายังบริเวณประตู 5 ของทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้นายกฯออกมาเจรจารับข้อเสนอของเครือข่ายฯ
เวลาประมาณ 12.21 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจจากสน.ดุสิต (รองผู้กำกับปราบปราม) ได้อ่านคำสั่งกองบัญชาการตำรวจนครบาลที่ 133/2568 เรื่อง ประกาศห้ามชุมนุมสาธารณะในรัศมีไม่เกินห้าสิบเมตร รอบทำเนียบรัฐบาล ตามมาตรา 7 วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 จากที่เคยขยายระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 8 – 15 มีนาคม 2568 ด้วยเหตุผลว่า การชุมนุมมีแนวโน้มจะเคลื่อนมาปักหลักชุมนุมรอบทำเนียบได้ตลอดเวลา และอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชนผู้สัญจรบนท้องถนน และกีดขวางทางเข้าออกทำเนียบรัฐบาลที่ส่งผลต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน
จึงได้ขยายระยะเวลาห้ามชุมนุมสาธารณะในรัศมีไม่เกินห้าสิบเมตรรอบทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 16 – 22 มีนาคม 2568 โดยมีคำสั่งให้แก้ไขการชุมนุมโดยย้ายไปชุมนุมบริเวณเกาะกลางถนนหน้า UN ภายในเวลา 12.45
เวลาประมาณ 13.00 น.รองผู้กำกับปราบปราม สน.ดุสิตประกาศให้ผู้ชุมนุมแก้ไขการชุมนุมโดยให้ย้ายการชุมนุมไปยังเกาะกลางถนนหน้า UN ภายในเวลา 13.15 ประกาศเป็นครั้งที่สอง จากนั้นทางเครือข่ายฯได้ ทำกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์โดยการเทปลาหมอคางดำบนแผ่นผ้าใบและทำพิธีกรรมเผาพริกเผาเกลือก่อนที่จะยุติการชุมนุม
น่าสังเกตว่า บรรยากาศการชุมนุมเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาจากนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานภาครัฐต่อความล่าช้าที่สร้างหายนะจากกรณีการระบาดของปลาหมอคางดำใน 19 จังหวัด มิได้ขัดต่อความปลอดภัยสาธารณะและความสงบเรียบร้อยแต่อย่างใด แต่เป็นไปเพื่อเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขปัญหาโดยเร็วก่อนที่จะไม่สามารถหยุดยั้งการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำได้ ประกอบกับ การชุมนุมดังกล่าว เป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 44