ในวันที่จาการ์ตากลายเป็นเมืองหลวงแห่งมลพิษทางอากาศ
เมื่อคุณภาพอากาศเลวร้ายอย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นระยะเวลาหลายปี จึงไม่น่าแปลกใจที่เมืองนี้จะถูกจัดให้เป็นหนึ่งในเมืองที่มีมลพิษทางอากาศหนาแน่นแห่งหนึ่งของโลก และเรากำลังพูดถึงเมืองหลวงจาการ์ตา (Jakarta) แห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตามมลพิษทางอากาศที่เลวร้ายดังกล่าวไม่ได้ปกคลุมอยู่แค่ในเขตเมืองหลวงเท่านั้น ทว่ามันยังกระจายไปในหลายพื้นที่โดยรอบ คือ เบกาซี โบกอร์ เดปก ตังเกรังใต้ และตังเกรัง จนกระทั่งในช่วงเดือนกรกฎาคม ปี 2019 มีประชาชนจำนวน 32 คน ทั้งหมดเป็นผู้ประสบภัยโดยตรงจากสภาพอากาศที่เลวร้ายในจาการ์ตา พวกเขาทั้ง 32 คน ได้รวมกลุ่มกันโดยใช้ชื่อกลุ่มว่า Clean Air Initiative Coalition และทำการยื่นฟ้องประธานาธิบดีโจโค วิโดโด และเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่นๆของอินโดนีเซีย ในข้อหาล้มเหลวในการปกป้องชาวจาการ์ตาจากมลพิษทางอากาศที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และประมาทเลินเล่อต่อการควบคุมมลพิษในอากาศ ถือเป็นการละเมิดสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพตามรัฐธรรมนูญ นำมาสู่คดีคุณภาพอากาศจาการ์ตา (Jakarta Air case)
การที่จาการ์ตาตกอยู่ในสถานะเมืองหลวงแห่งมลพิษเช่นนี้มีหลายปัจจัย เช่น การปล่อยมลพิษจากภาคอุตสาหกรรม การจราจรที่คับคั่ง การทำโรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ทำให้ทั้งจาการ์ตาและพื้นที่ใกล้เคียงเต็มไปด้วยละอองฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเป็นมลพิษหลักที่ทำให้ประชากรทั้งในจาการ์ตาและพื้นที่ใกล้เคียงกลายเป็นผู้ประสบภัยขั้นวิกฤต ในปี 2020 อินโดนีเซียมีปริมาณความเข้มข้นของ PM 2.5 สูงเป็นอันดับ 9 ของโลก และจากดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index) พบว่าบ่อยครั้งอากาศในจาการ์ตาอยู่ในระดับอันตราย โดยมีความเข้มข้นของ PM 2.5 ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงสูงกว่า 250.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ คือ ไม่ควรเกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หากเกินจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เกินค่าเฉลี่ยมาตรฐานของจาการ์ตาทำให้ คาลิซาห์ คาลิด กลายเป็นหนึ่งในผู้ฟ้องคดีนี้ เธอกล่าวว่าสุขภาพที่ย่ำแย่ของลูกชายคนเล็กของเธอทำให้เธอตัดสินใจเป็นหนึ่งใน 32 คนที่เป็นผู้ร่วมฟ้อง โดยสุขภาพที่ย่ำแย่ของลูกชายเธอเป็นผลกระทบโดยตรงจากมลพิษทางอากาศในจาการ์ตา เธอกล่าวว่าลูกชายของเธอป่วยเป็นโรคภูมิแพ้และบ่อยครั้งที่ลูกของเธอมีเลือดกำเดาไหลออกมา ขณะเดียวกันสุตานุชจาจา อีกหนึ่งในผู้ร่วมฟ้องที่กล่าวว่าตอนเธอตั้งครรภ์เธอกังวลว่าผลกระทบจากมลพิษทางอากาศของเมืองนี้จะตกอยู่กับลูกของเธอ จึงตัดสินใจร่วมฟ้องในครั้งนี้ นอกจากข้อกังวลและผลกระทบโดยตรงจากผู้ฟ้องที่นำมาสู่คดีคุณภาพอากาศจาการ์ตาแล้วนั้น ความเลวร้ายของสภาพภูมิอากาศที่เป็นอันตรายต่อชีวิตจากเมืองหลวงแห่งนี้ยังสะท้อนออกมาให้เห็นผ่านรายงานในปี 2019 จาก Lowy Institute (สถาบันวิจัยนโยบายระหว่างประเทศ) ว่ามลพิษทางอากาศของจาการ์ตาเป็นสาเหตุที่ทำให้ในแต่ละปีมีจำนวนประชากรต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ทั้งนี้ยังพบอีกว่าน้ำหนักของเด็กแรกเกิดที่นี่ที่ต่ำกว่าเกณฑ์นั้นมีความเชื่อมโยงกันกับมลพิษทางอากาศ คุณภาพชีวิตที่เลวร้ายจากสภาพภูมิอากาศเช่นนี้ทำให้คดีนี้ถูกศาลสูงพิจารณาด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 28H(1) ที่ว่าบุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและดีต่อสุขภาพ
ศาลได้ตัดสินคดีนี้โดยให้ผู้ฟ้องเป็นผู้ชนะ และมีคำสั่งให้จำเลย คือ ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด กำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศระดับชาติที่เข้มงวดยิ่งขึ้น และกำหนดให้ผู้ว่าการกรุงจาการ์ตาจัดทำรายการการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รายงานสถานะคุณภาพอากาศในจาการ์ตาเป็นประจำทุกปี และดำเนินการ แผนการควบคุมมลพิษทางอากาศ (โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน)
ท้ายที่สุดแล้วคดีนี้นับเป็นคดีมลพิษครั้งประวัติศาสตร์ของอินโดนีเซีย เพราะไม่มีใครคาดคิดว่าประชาชนจะเป็นผู้ชนะในคดีนี้ กลุ่มประชาชนผู้ฟ้องคดีกล่าวว่าชัยชนะที่ไม่คาดคิดนี้เป็นก้าวเล็กๆ แห่งความหวังของประชาชนที่อยากมีคุณภาพชีวิตอยู่ในอากาศและสิ่งแวดล้อมที่ดี สิ่งสำคัญหลังจากนี้ที่ประชาชนต้องการมากไปกว่าชัยชนะ คือ รัฐบาลจะต้องปฏิบัติตามหน้าที่ของตนในการควบคุมมลพิษให้ลดลงตามคำสั่งศาล
อ้างอิงข้อมูลจาก: https://www.aljazeera.com/news/2021/9/17/indonesians-hail-unexpected-win-in-jakarta-pollution-case
https://www.iqair.com/newsroom/2021-decision-jakarta-air-pollution-lawsuit