มนทนา ดวงประภา
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
กุมภาพันธ์ 2559
II) มาตรการคุ้มครองด้านสิ่งแวดล้อมสุขภาพเพื่อการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมและรับรองสิทธิของประชาชนและชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและการมีสุขภาวะที่ดี
ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติและการคิดค้นเทคโนโลยีตอบสนองความต้องการของมนุษย์ในทุกอิริยาบถ ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ทำให้เราทุกคนร่วมกันออกกฎระเบียบเพื่อจัดสรรการใช้ทรัพยากรนี้ โดยมีรัฐเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวกและดำเนินการ
หนึ่งในหลักการสากลที่ถือกำเนิดมาโดยมีปรัชญาเน้นไปที่การใช้มาตรการป้องกัน คือ “หลักการระวังไว้ก่อน”[1] (Precautionary Principle) โดยมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่การป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแม้จะยังไม่มีข้อพิสูจน์หรือหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อย่างชัดเจน ต่อมาหลักการได้ถูกพัฒนาในชุมชนวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพถึงการป้องกันกิจกรรมใด ๆ ที่อาจก่อให้เกิดความน่ากลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพของมนุษย์จะต้องดำเนินมาตรการระวังไว้ก่อน แม้จะยังไม่มีข้อยืนยันอย่างชัดเจนว่ากิจกรรมนั้นเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดผลเสียหายนั้นก็ตาม ไทยเราก็นำหลักการระวังไว้ก่อนมาใช้ใน พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ว่าด้วยเรื่องการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการบางประเภท
หาก“รัฐไทย” เคารพในหลักการระวังไว้ก่อนนี้ การใช้มาตรการ “สร้างไปก่อน” หรือ “รอดูไปก่อน” ว่าจะเกิดความเสียหายจากกิจกรรมนั้นๆ หรือไม่ รอให้เกิดความเสียหายขึ้นก่อนแล้วค่อยแก้ไขทีหลัง หรือการ “ลดมาตรการ” ป้องกันทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพลงอย่างไม่สอดคล้องเหมาะสมหรือได้สัดส่วนกับขนาด ความเสียหาย ย่อมจะต้องไม่เกิดขึ้น
ปรากฏการณ์ที่หน่วยงานอนุมัติอนุญาตชี้แจงประชาชนถึงการรอดูไปก่อน หรือการที่หน่วยงานรัฐแก้ไขกฎหมายเพื่อลดมาตรการป้องกันทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจให้การประกอบกิจการอุตสาหกรรมเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและหละหลวม จึงเป็นการจงใจของรัฐในการละเมิดสิทธิของเราทุกคนผู้เป็นหุ้นส่วนทรัพยากรธรรมชาติร่วมกัน
เป้าหมายสำคัญประการหนึ่งของการออกกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากการจัดสรรการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติให้ทั่วถึงกันผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายแล้ว ยังรวมถึงการสงวนรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ทุกคนสามารถมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ที่แม้จะไม่ถึงขั้นมีสิ่งแวดล้อมที่สะอาดบริสุทธิ์ แต่อย่างน้อยภาวะแวดล้อมนั้นต้องมีมาตรฐานไม่ต่ำกว่าที่จะเอื้ออำนวยให้สามารถดำรงชีวิตอย่างไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ หรือเป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่า “สิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี”[2] นั่นเอง
III) การตรวจสอบการแก้ไขกฎหมายที่ลดมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ: หนึ่งทางเดินที่ต้องยืนหยัด
ความบิดเบี้ยวที่เกิดขึ้นในกระบวนการจัดระเบียบมาตรการบริหารจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายตามแผนแม่บทการจัดการขยะมูลฝอยที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นชอบแล้วนั้น คาดการณ์ได้ว่าอาจจะส่งผลให้เกิดวิกฤตสิ่งแวดล้อมครั้งสำคัญอีกครั้ง โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่ใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิงจะเกิดขึ้นกระจายทั่วประเทศโดยปราศจากการคัดกรองจากมาตรการป้องกันด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหรือการประเมินศักยภาพพื้นที่ที่เหมาะสม และอาจรวมไปถึงการปนเปื้อนมลพิษจากกระบวนการผลิตไฟฟ้าที่ที่บกพร่องได้ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2558 มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการตรวจสอบการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าขยะโดยการทำหน้าที่เป็นผู้รับมอบอำนาจจากผู้ฟ้องคดีมูลนิธิบูรณะนิเวศและเครือข่ายประชาชนศึกษาและติดตามปัญหาขยะ 7 จังหวัด (ปทุมธานี ชลบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา สระบุรี) ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้ยกเลิกประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฯ ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2558 ลงในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 9 กันยายน 2558
สาระสำคัญของคดีที่ทุกฝ่ายต้องการส่งผ่านไปยังผู้แก้ไขกฎหมายที่เป็นการลดมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพนี้โดยสรุป[3] คือ 1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในฐานะหน่วยงานรัฐผู้ออกประกาศกระทรวงฯ ฉบับดังกล่าวออกประกาศโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นการใช้อำนาจที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
2. การออกประกาศกระทรวงฯ ดังกล่าวเป็นการยกเลิกมาตรการหรือกลไกที่สำคัญในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชน ปิดกั้นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการร่วมแสดงความคิดเห็นและติดตามตรวจสอบโครงการโรงไฟฟ้าขยะทั้งของรัฐและเอกชน
และ 3. ในกระบวนการออกประกาศกระทรวงฯ ฉบับดังกล่าว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังมิได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียก่อนที่จะออกประกาศฯ ทั้งที่เป็นการออกกฎที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนทั้งประเทศ ขัดต่อหลักการที่รัฐธรรมนูญกำหนดคุ้มครองไว้กรณีมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างจะต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียก่อน
นอกจากการตรวจสอบในกระบวนการยุติธรรมแล้ว ทางมูลนิธิเรียกร้องให้รัฐกลับไปใช้มาตรการที่เป็นหลักประกันการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพให้เพิ่มมากขึ้นเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหากมีความจำเป็นต้องอนุมัติอนุญาตให้มีการประกอบการโรงไฟฟ้าขยะจริงรัฐควรกำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมและมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดอย่างเหมาะสมเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมให้เสื่อมโทรมลงน้อยที่สุด กับทั้งต้องสนับสนุนการจัดการขยะเชิงบูรณาการโดยการใช้เทคโนโลยีที่หลากหลาย และสร้างระบบรองรับให้ผู้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตและการทิ้งขยะจากความเคยชินที่ปัจจุบันมีมากอย่างล้นเกิน
[1][2] กอบกุล รายะนาคร, หลักการระวังไว้ก่อน, เอกสารทางวิชาการหมายเลข 25 พัฒนาการของหลักกฎหมายสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชน, โครงการ “การมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำร่างแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” สนับสนุนโดยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
[3]คดีหมายเลขดำที่ ส.47/2558 ศาลปกครองกลาง ระหว่างมูลนิธิบูรณะนิเวศ ที่ 1 กับพวกรวม 20 คน กับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่1 , คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่ 2