การแก้ไขกฎหมายให้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพลดลงและหละหลวม: บทสะท้อนจากกรณีโรงไฟฟ้าขยะ (ตอน 1)

มนทนา ดวงประภา
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
กุมภาพันธ์ 2559

I) แผนแม่บทแก้ไขกฎหมายบริหารการจัดการขยะคำถามที่ต้องถามต่อ
การจัดการขยะเป็นวาระแห่งชาติของไทยมาได้ตั้งแต่ปลายปี 2557 หลังเหตุการณ์บ่อขยะไฟไหม้ที่แพรกษา จ.สมุทรปราการ นับแต่นั้นมารัฐบาลก็ขานรับการจัดการอย่างเด็ดขาดกับปัญหานี้ หนึ่งในความพยายามถึงการจัดการที่เราได้เห็นคือการเห็นชอบแผนแม่บทของกรมควบคุมมลพิษ ที่รัฐจัดสรรงบประมาณกว่า 500 ล้านบาทในการแก้ปัญหาพื้นที่นำร่อง 6 จังหวัด[1] ซึ่งกิจกรรมที่จะเกิดตามแผนที่จะกล่าวในที่นี้คือกิจกรรมที่ 3 การจัดระเบียบมาตรการบริหารจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายทั้ง 8 ข้อที่สรุปสาระได้ดังนี้คือ

WastePowerplant-Montana1
https://www.youtube.com/watch?v=bKBibyi9on8


ข้อ1, 2 และ 3 ว่าด้วยการปรับปรุงและการออกกฎระเบียบหรือกฎหมาย เรื่องการจัดการซากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า, เรื่องการเก็บและการขนส่งขยะมูลฝอย, และเรื่องการติดตามตรวจสอบการเก็บขน จำกัดและการขนส่งมูลฝอยติดเชื้อ ตามลำดับ ข้อ 4 ว่าด้วยการเพิ่มบทลงโทษตามพ.ร.บ. วัตถุอันตรายฯ ข้อ5 ว่าด้วยการออกประกาศหลักเกณฑ์วงเงินขั้นต่ำของการลงทุนตามพ.ร.บ. การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ข้อ 6 ว่าด้วยการทบทวนกฎหมายผังเมือง (พื้นที่สีเขียว) เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งโรงกำจัดขยะมูลฝอย และกำหนดมาตรการส่งเสริมอื่น ๆ ข้อ 7 ว่าด้วยการออกมาตรการสนับสนุนการลงทุนก่อสร้างโรงกำจัดขยะ เช่นลดภาษี และ ข้อ 8 ว่าด้วยการประกาศกำหนดพื้นที่ห้ามเทกองขยะมูลฝอย  ซึ่งกล่าวโดยสรุปได้ว่าสาระสำคัญของการจัดระเบียบกฎหมายเพื่อจัดการขยะอยู่ที่การ “คง” การออกระเบียบและกฎหมายจัดการขยะมูลฝอยทั่วไป แต่ “ลด” มาตรการด้านผังเมืองและกฎหมายอื่นเพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนสร้างโรงงานกำจัดขยะ และ“เพิ่ม”การสนับสนุนการประกอบการทั้งการให้เงินอุดหนุนและดำเนินการต่อระบบอนุมัติอนุญาตประกอบกิจการให้มีความรวดเร็ว ลดขั้นตอน
อย่างน้อยตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558 ถึงต้นปี 2559 นี้ มีรูปธรรมที่เห็นชัดเจนที่สุดอันเป็นผลจากแผนแม่บทนี้คือเมื่อ 9 กันยายน 2558 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมออกประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องการกำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการ วิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์วิธีการระเบียบปฏิบัติและแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผล กระทบสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2558[2] แก้ไขเนื้อความจากเดิมที่กำหนดว่าโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทุกประเภทที่มีกำลังการผลิตตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ เป็นโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แก้ไขเพิ่มเติมเป็น “ยกเว้นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิง” ส่งผลให้โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิงทุกขนาดไม่ต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)[3] ทั้งที่เป็นโครงการที่มีความเสี่ยงสูงด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
อีกรูปธรรมหนึ่งคือเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2559 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ได้ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 4/2559[4] เรื่องการยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม สำหรับการประกอบกิจการบางประเภทที่กำหนดไว้คือกิจการคลังน้ำมัน โรงไฟฟ้า โรงผลิตก๊าซซึ่งมิใช่ก๊าซธรรมชาติ โรงงานปรับปรุงคุณภาพของเสียรวม โรงงานคัดแยกและฝังกลบสิ่งปฏิกูล โรงงานรีไซเคิล และห้อยท้ายไว้ให้รวมถึงกิจการอื่นที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการกำจัดมูลฝอย
ถ้อยคำ “กิจการอื่นที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการกำจัดมูลฝอย” นั้นอาจตีความรวมถึง “โรงไฟฟ้าขยะมูลฝอย” ได้  และย่อมหมายถึงกฎหมายผังเมืองอันเป็นกฎหมายที่กำหนดแบ่งเขตประเภทที่ดินและหลักเกณฑ์ควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละประเภทให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ไม่สามารถนำมาบังคับห้ามการสร้างโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่ทั่วประเทศได้ และหากพิจารณาให้เชื่อมโยงกับการแก้ไขประกาศกระทรวง ฯ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2558  ที่กล่าวมาข้างต้น โรงไฟฟ้าขยะทุกขนาดกำลังการผลิตจะถูกถอดมาตรการป้องกันด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่สำคัญทั้งหมดออกไปทั้งกฎหมายผังเมืองและการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)
เหตุใดประชาชนคนไทยจึงไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิให้ดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีได้ถึงเพียงนี้ เหตุใดจึงไม่อาจอยู่ในภาวะที่เอื้อต่อการกินดีอยู่ดีของตนเอง แต่กลับต้องตกอยู่ในความเสี่ยงจากการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าขยะ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งมลพิษจากสารไดออกซินที่เกิดจาการเผาไหม้ขยะที่ไม่สมบูรณ์อันเป็นสารพิษร้ายแรงที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้ ….(โปรดติดตามต่อตอน 2)

——————————————————-
[1]รายละเอียดแผนแม่บทการจัดการขยะของกรมควบคุมมลพิษที่ผ่านการอนุมัติของ คสช.
[2]ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฯ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2558
[3] แต่ต้องไม่ใช่โรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิงที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 และชั้น 2 พื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ หรือพื้นที่ซึ่งมีระดับสารมลพิษทางอากาศสูงเกินกว่าร้อยละ 80 ของค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป
[4] คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 4/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท

บทความที่เกี่ยวข้อง