คำพิพากษา: คดีฟ้องให้หน่วยงานรัฐปฏิบัติหน้าที่และชดใช้ค่าเสียหาย กรณีการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้

ชาวบ้านคลิตี้หน้าศาลปกครอง

สรุปประเด็นคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในสาระสำคัญ
คดีฟ้องให้หน่วยงานรัฐปฏิบัติหน้าที่และชดใช้ค่าเสียหาย กรณีการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้

เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๕๖ ศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่      อ.๕๙๗/๒๕๕๑ คดีหมายเลขแดงที่ อ.๗๔๓/๒๕๕๕ ระหว่างนายยะเสอะ  นาสวนสุวรรณ ที่ ๑ กับพวกรวม ๒๒ คน  ผู้ฟ้องคดี และกรมควบคุมมลพิษ ผู้ถูกฟ้องคดี
ประเด็นที่ ๑  ผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรหรือไม่
กรณีที่หนึ่ง ผู้ถูกฟ้องคดีมีหน้าที่ปฏิบัติงานในการจัดทำแผนหรือกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันหรือแก้ไขอันตรายอันเกิดจากการแพร่กระจายของมลพิษ และสภาวะแวดล้อมเป็นพิษที่มีผลกระทบต่อคุณภาพแหล่งน้ำ แก้ไขอันตรายอันเกิดจากการแพร่กระจายของมลพิษและสภาวะแวดล้อมเป็นพิษไว้ล่วงหน้า อีกทั้งตรวจสอบและบังคับตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ด้านการควบคุมมลพิษ โดยเริ่มตั้งแต่จัดทำแผน ประสานการปฏิบัติตามแผน และติดตามการตรวจสอบการปฏิบัติตามแผน ตลอดจนแก้ไขอันตรายอันเกิดจากการแพร่กระจายของมลพิษและสภาวะแวดล้อมเป็นพิษที่มีผลกระทบต่อคุณภาพแหล่งน้ำ แก้ไขอันตรายอันเกิดจากการแพร่กระจายของมลพิษและสภาวะแวดล้อมเป็นพิษ เนื่องจากการจัดการสารอันตรายและกากของเสียไม่ถูกต้อง ตลอดจนประสานการกำหนดเขตมลพิษ และมีอำนาจหน้าที่แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น  รวมทั้งฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.๒๕๓๔ มาตรา ๒๓ และ ๒๔ ประกอบพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม      พ.ศ.๒๕๓๕ มาตรา ๓
การที่ผู้ถูกฟ้องคดีเห็นชอบให้ดำเนินการฟื้นฟูโดยทำการขุดลอกตะกอนดินท้องน้ำ ซึ่งทำให้เกิดการฟุ้งกระจายของสารตะกั่วในน้ำมากขึ้น ประกอบกับ ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้แสดงว่า ได้จัดทำแผนการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมและมาตรการในการควบคุมป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างไร อีกทั้ง ผู้ถูกฟ้องคดียอมรับว่ากรณีเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นและต้องรอความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ แสดงว่า ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้จัดทำแผนการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมและมาตรการในการควบคุมป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเนื่องจากภาวะมลพิษ และไม่ได้จัดทำแผนปฏิบัติการฉุกเฉิน เพื่อป้องกันและแก้ไขอันตรายอันเกิดจากการแพร่กระจายของมลพิษและสภาวะแวดล้อมเป็นพิษที่มีผลกระทบต่อคุณภาพแหล่งน้ำไว้ล่วงหน้า จึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม พ.ศ.๒๕๓๕ มาตรา ๓ และมาตรา๕
นอกจากนี้ เมื่อบริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์(ประเทศไทย) จำกัด ได้ขุดลอกตะกอนดินออกจากลำห้วยแล้ว ได้มีการวางตะกอนดินไว้ข้างลำห้วย จนต้องมีการสั่งให้ดำเนินการนำไปไว้ในหลุมฝังกลบ และเมื่อไว้ในหลุมฝังกลบก็ปิดหน้าดินเพียงเล็กน้อย เมื่อฝนตก สารตะกั่วจะกลับแพร่กระจายลงลำห้วยอีก จึงเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีปล่อยปละละเลยไม่ประสานให้มีการปฏิบัติตามแผนที่กำหนด แม้ผู้ถูกฟ้องคดีจะสั่งให้แก้ไข แต่เป็นการสั่งภายหลังมีการนำตะกอนดินวางไว้ข้างลำห้วย และมีการปิดหน้าดินแล้ว จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร
แม้ต่อมาผู้ถูกฟ้องได้ประชุมร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและมีมติให้ปล่อยให้ลำห้วยฟื้นฟูตัวเองตามธรรมชาติ แต่การดำเนินการดังกล่าว จะต้องก่อสร้างเขื่อนดักตะกอน ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีได้จัดเตรียมอุปกรณ์ก่อสร้างในปี ๒๕๔๔ จึงเป็นเวลากว่า ๓ ปีนับแต่ทราบเหตุการปนเปื้อนเมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๔๑ ถือว่าผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ในการฟื้นฟูหรือระงับการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ล่าช้าจนเกินสมควร
เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีรู้ว่ามีการปนเปื้อนในปี ๒๕๔๑ แต่ขออนุญาตดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้โดยการขุดลอกตะกอนไปกำจัดต่อกรมป่าไม้ในต้นปี ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นเวลากว่า ๙ เดือน จึงเป็นการดำเนินการล่าช้าเกินสมควร
กรณีที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ ไม่ดำเนินการเรียกค่าใช้จ่ายในการขจัดมลพิษและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมจากบริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์(ประเทศไทย) จำกัด หรือไม่
มาตรา ๙๗ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕ ประกอบข้อ ๓ ของกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ.๒๕๔๕ เป็นบทบัญญัติให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากแหล่งกำเนิดมลพิษที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติ เมื่อผู้ถูกฟ้องคดียื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์(ประเทศไทย) จำกัด เป็นคดีหมายเลยดำที่ ๗๗๗/๒๕๕๑ และศาลจังหวัดกาญจนบุรี ได้มีคำพิพากษา เป็นคดีหมายเลยแดงที่ ๗๒๔/๒๕๕๒ แล้ว ผู้ฟ้องคดีจึงดำเนินการเรียกค่าใช้จ่ายในการขจัดมลพิษและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมจากบริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด แล้ว
กรณีที่สาม ผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ในการให้สิทธิแก่บุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการบำรุงรักษา หรือไม่
เมื่อผู้ถูกฟ้องมีคำสั่งแต่งตั้งผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ประธานกลุ่มอนุรักษ์เมืองกาญจน์ และเลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียวให้เป็นคณะทำงานแก้ไขปัญหามลพิษจากตะกั่วในบริเวณลำห้วยคลิตี้   เพื่อพิจารณาและให้ความเห็นชอบกับแผนปฏิบัติการฟื้นฟูลำห้วยแล้ว ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ละเลยต่อหน้าที่ในการให้สิทธิแก่บุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการบำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.๒๕๔๐     มาตรา ๔๖,๕๖ และ ๗๙
กรณีที่สี่ ผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ไม่เสนอข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อกำหนดให้บริเวณลำห้วยคลิตี้เป็นเขตควบคุมมลพิษหรือไม่
การประกาศให้พื้นที่ใดเป็นเขตควบคุมมลพิษเป็นอำนาจของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ตามมาตรา ๕๙                 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ดังนั้นเมื่อผู้ถูกฟ้องคดีได้เสนอแนวทางการฟื้นฟูของบริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์(ประเทศไทย) จำกัด และการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมทราบ และต่อมาได้เสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อประกาศให้บริเวณลำห้วยคลิตี้เป็นเขตควบคุมมลพิษและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีมติว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตควบคุมมลพิษ ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่ละเลยต่อหน้าที่
ประเด็นที่สอง หากผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าจนเกินสมควรเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบสองคนหรือไม่
เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบสองคนฟ้องว่า บริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์(ประเทศไทย) จำกัด ปล่อยสารตะกั่วและผู้ถูกฟ้องคดีละเลยล่าช้าในการทำให้มีสารตะกั่วปนเปื้อนในลำห้วยคลิตี้ ทำให้ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดีและไม่สามารถนำน้ำในลำห้วยคลิตี้ไปใช้ในการอุปโภคบริโภคได้ เนื่องจากมีสารตะกั่วปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐาน จึงเป็นการฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิด ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบสองคนเสียหาย ตามมาตรา ๔๒๐ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่ใช่การฟ้องตามมาตรา ๙๖ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อม พ.ศ.๒๕๓๕ การที่ศาลปกครองชั้นต้นไม่วินิจฉัยว่าผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบสองคนหรือไม่ ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วย
เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ไม่มีการจัดทำแผนหรือกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันหรือแก้ไขอันตรายอันเกิดจากการแพร่กระจายของมลพิษ และสภาวะแวดล้อมเป็นพิษที่มีผลกระทบต่อคุณภาพแหล่งน้ำ แก้ไขอันตรายอันเกิดจากการแพร่กระจายของมลพิษและสภาวะแวดล้อมเป็นพิษไว้ล่วงหน้า อีกทั้งไม่ทำการควบคุมให้มีการขุดลอกฝังกลบตามแผน ประกอบกับ ผู้ถูกฟ้องคดีได้ให้บริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์(ประเทศไทย) จำกัดเป็นผู้จัดทำแผนการดำเนินการขุดลอกตะกอนดินและขุดหลุมฝังกลบและสร้างเขื่อนเสนอต่อผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งเมื่อดำเนินการตามแผนดังกล่าว การขุดลอกทำให้สารตะกั่วฟุ้งกระจาย และการฝังกลบทำให้สารตะกั่วย้อนกลับเข้ามาในลำห้วย การดำเนินการดังกล่าวจึงไม่ได้ผล ซึ่งหากผู้ถูกฟ้องคดีมีแผนการฟื้นฟูไว้ล่วงหน้าก็จะทำให้การฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้เร็วขึ้น ส่วนการสร้างเขื่อนดักตะกอน แม้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีจะเข้าควบคุมบริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์(ประเทศไทย) จำกัดแล้วก็ตาม แต่กว่าจะลงมือสร้างเขื่อนดักตะกอนก็เป็นเวลาล่วงเลยเกือบ ๓ ปี นับแต่ผู้ถูกฟ้องคดีทราบการปนเปื้อน การละเลยต่อหน้าที่และปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าจนเกินสมควรดังกล่าวทำให้เกิดการแพร่กระจายของสารตะกั่วเป็นระยะเวลานาน   เมื่อผลการตรวจสอบปริมาณสารตะกั่วในตะกอนดินท้องน้ำบางจุดยังมีค่าสูงมาก แม้จะรับฟังตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีอ้างว่า การฟื้นฟูด้วยวิธีธรรมชาติจะเป็นวิธีตามหลักวิชาการที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไป    แต่เป็นวิธีการที่ต้องใช้เวลานานในการฟื้นฟู เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบสองคนและชาวบ้านชุมชนคลิตี้ล่างมีวิถีชีวิตประจำวันที่จำเป็นต้องใช้น้ำจากลำห้วยคลิตี้ในการอุปโภคและบริโภค ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบสองคน หรือหากปล่อยให้สารตะกั่วยังคงปนเปื้อนอยู่ในลำห้วยต่อไป จะส่งผลกระทบเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม จนกระทั่งทำให้ปริมาณของสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้มีการปนเปื้อนสูงและมีอยู่เป็นเวลานาน ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบสองคนไม่สามารถนำน้ำในลำห้วยมาใช้อุปโภคบริโภคได้ จึงเป็นผลโดยตรงจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติและปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
ประเด็นที่สาม ผู้ถูกฟ้องคดีจะต้องทำกระทำการ หรือต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบสองคนหรือไม่ เพียงใด  
เมื่อพิจารณาจากรายงานการประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ และการประชุมอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ ผลการประชุมสรุปได้ว่า การตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมของลำห้วยคลิตี้ในปัจจุบัน พบว่า สารตะกั่วทั้งหมดมีค่าเกินมาตรฐานคุณภาพแหล่งน้ำผิวดิน เป็นบางครั้ง ในบางจุด แต่ตะกอนดินท้องน้ำยังคงมีสารตะกั่วปนเปื้อนอยู่สูง และสารตะกั่วปนเปื้อนในสัตว์น้ำยังคงมีค่าเกินมาตรฐาน จึงมีข้อแนะนำให้ชาวบ้านในชุมชนคลิตี้ล่างปฏิบัติ ดังนี้

  1. การนำน้ำไปใช้เพื่อการอุปโภค ควรทำการกรองก่อน
  2. การนำน้ำไปใช้เพื่อการบริโภค ควรทำการกรองและต้มฆ่าเชื้อโรคก่อน
  3. ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคปลาและสัตว์น้ำอื่นในลำห้วยคลิตี้

เมื่อผู้ฟ้องคดี และชาวบ้านในชุมชนคลิตี้ล่าง ยังคงไม่สามารถนำน้ำในลำห้วยคลิตี้ไปใช้ในการอุปโภคและบริโภคได้ เนื่องจากยังคงมีสารตะกั่วปนเปื้อนในน้ำและในสัตว์น้ำเกินมาตรฐาน และข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่ามีการปนเปื้อนของสารตะกั่วในน้ำ ดิน และตะกอนดินท้องน้ำ สัตว์น้ำและพืชผัก ซึ่งเจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขทำการปิดป้ายงดบริโภคน้ำในลำห้วยคลิตี้ชั่วคราว ส่งผลให้ผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบสองคนต้องซื้อน้ำดื่ม เนื้อ ปลา รวมถึงอาหารโปรตีนทอแทนมาบริโภค พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบสองคนไม่มีแหล่งอาหารโปรตีนอื่น แต่จำเป็นต้องซื้ออาหารจากพ่อค้าที่เข้ามาขายในหมู่บ้านตามราคาท้องตลาดทั่วไป เป็นว่าค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารทดแทนอาหารที่เคยมีอยู่ในสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ เป็นเงิน ๗๐๐ บาท ต่อเดือนนั้นเหมาะสมแล้ว
เห็นควรกำหนดค่าเสียหายให้ผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบสองคน เดือนละ ๗๐๐ บาท ต่อเดือนต่อราย การที่ศาลปกครองชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้กึ่งหนึ่ง เป็นเดือนละ ๓๕๐ บาทต่อเดือนต่อราย ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นด้วย และเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เกิดสารตะกั่วปนเปื้อนเกินกว่ามาตรฐานก่อนเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๕ ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบสองคนจึงได้รับความเสียหายตั้งแต่วันดังกล่าว จนถึงวันที่ยื่นคำฟ้องเพิ่มเติมเป็นเวลา ๒๑ เดือน ๒๗ วัน จึงมีสิทธิได้รับค่าเสียหายเป็นเงิน ๑๕,๓๓๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี เป็นเงินรายละ ๒,๐๖๙.๕๕ บาท รวมเป็นค่าเสียหายแต่ละราย                       เป็นเงิน ๑๗,๓๙๙.๕๕ บาท
ประเด็นที่ผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบสองคนอุทธรณ์ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดี ชดใช้ค่าเสียหายในอนาคต ที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหาร เดือนละ ๗๐๐ บาท และค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการถูกละเมิดสิทธิในการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบสองคน เป็นเงินจำนวน ๑,๐๐๐ บาท ต่อเดือน รวมเป็นเงินจำนวน ๑,๗๐๐ บาท ต่อเดือนต่อราย
เมื่อพิจารณาผลการตรวจวัดปริมาณสารตะกั่วบริเวณคลิตี้ล่าง ในเดือนกันยายน ๒๕๕๔ พบว่าปริมาณสารตะกั่วในสัตว์น้ำเกินค่ามาตรฐานอาหารที่มีการปนเปื้อนตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ ๙๘(พ.ศ.๒๕๒๙) ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีทั้ง    ยี่สิบสองคน และชาวบ้านชุมชนคลิตี้ล่างยังคงไม่สามารถบริโภคสัตว์น้ำได้ เนื่องจากยังคงมีสารตะกั่วปนเปื้อนในสัตว์น้ำเกินเกณฑ์มาตรฐาน และการฟื้นฟูลำห้วยของผู้ถูกฟ้องคดีโดยวิธีการขุดลอกตะกอนดิน ฝังกลบ และสร้างเขื่อนดักตะกอนไม่ได้ผล แต่กลับทำให้สารตะกั่วเกิดการฟุ้งกระจาย ผลของการดำเนินการฟื้นฟูที่ผิดพลาดของผู้ถูกฟ้องคดี ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบสองคนได้รับความเสียหายต่อเนื่อง เป็นระยะเวลายาวนาน อย่างไรก็ดี การปล่อยให้ลำห้วยคลิตี้ฟื้นฟูตัวเองตามธรรมชาติ                โดยหลีกเลี่ยงการกระทำใดๆที่จะไปรบกวนให้เกิดการฟุ้งกระจายของตะกอนดินท้องน้ำนั้น จึงเป็นวิธีการที่เหมาะสม แต่วิธีการนี้ต้องใช้ระยะเวลานาน
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ในปีพ.ศ.๒๕๕๔ ยังคงมีปริมาณสารตะกั่วในสัตว์น้ำเกินเกณฑ์มาตรฐาน จนกระทั่ง              วันนั่งพิจารณาครั้งแรก เห็นว่า ผู้ฟ้องคดียังคงได้รับความเสียหาย นับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ยื่นคำฟ้องเพิ่มเติม คือ วันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๔๗ จนกระทั่งวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๕  จึงเห็นควรกำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบสองคน ที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหาร รายละ ๗๐๐ บาทต่อเดือน นับจากวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๔๗ ไปจนถึงวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๕ เป็นเวลาอีก ๙๔ เดือน รวมเป็นจำนวนเงิน รายละ ๖๕,๘๐๐ บาท นอกจากนี้     กรณีการชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องมาจาก การที่ผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบสองคนถูกละเมิดสิทธิในการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ เมื่อพิจารณาจากมูลค่าสิ่งของต่างๆที่ชุมชนชาวคลิตี้ล่างสามารถได้ประโยชน์จากป่าและลำห้วยคลิตี้ในการดำรงชีวิตที่ต้องพึ่งพิงธรรมชาติ ตามวิถีการดำรงชีวิตดั้งเดิมแล้ว เห็นควรกำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหาย รายละ ๑,๐๐๐ บาทต่อเดือน นับจากวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๔๗ ไปจนถึงวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๕ เป็นเวลาอีก ๙๔ เดือน รวมเป็นจำนวนเงินรายละ ๙๔,๐๐๐ บาท
ผู้ถูกฟ้องคดีจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายในอนาคตที่ผู้ฟ้องคดีต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารและค่าเสียหาย    อันเนื่องมาจากการถูกละเมิดสิทธิในการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพให้แก่ผู้ฟ้องคดี   ทั้งยี่สิบสองคน เป็นเงินรายละ ๑๕๙,๘๐๐ บาท
ประเด็นที่ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ขอให้มีแผนการดำเนินการภายใต้กำหนดเวลาที่ชัดเจน กรณีการฟื้นฟูโดยปล่อยให้ลำห้วยคลิตี้ฟื้นฟูตัวเองตามธรรมชาติ และไม่มีการรบกวนจากกิจการอื่นๆ ซึ่งไม่อาจกำหนดเวลาแล้วเสร็จแน่นอนได้
ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า การฟื้นฟูตัวเองตามธรรมชาติ โดยสภาพไม่อาจกำหนดเวลาที่ชัดเจนได้ จึงไม่อาจกำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการภายใต้เงื่อนเวลาใดๆได้ เมื่อข้อเท็จจริงคือ สารตะกั่วในสัตว์น้ำยังคงมีอยู่เกินค่ามาตรฐาน ผู้ถูกฟ้องคดียังคงต้องดำเนินการฟื้นฟูต่อไป โดยให้ดำเนินการฟื้นฟูทุกฤดูกาล และต้องเปิดเผยผลการดำเนินการให้แก่ผู้เกี่ยวข้องทราบ
พิพากษา

  •  ให้ยกคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นที่พิพากษาว่าผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่กรณีไม่ดำเนินการเรียกค่าเสียหาย หรือค่าสินไหมทดแทนจากบริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด
  • ให้ผู้ถูกฟ้องคดีกำหนดแผนงาน วิธีการ และดำเนินการฟื้นฟู ตรวจและวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำ  ในลำห้วยคลิตี้ ให้ครอบคลุมทุกฤดูกาลอย่างน้อยฤดูกาลละ ๑ ครั้ง จนกว่าจะพบว่าค่าสารตะกั่วในน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำ ในลำห้วยคลิตี้ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน เป็นระยะเวลาอย่างน้อย ๑ ปี และแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบสองคนทราบ       โดยวิธีการเปิดเผย โดยต้องทำการปิดประกาศ ณ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านคลิตี้ ที่องค์การบริหารส่วนตำบลชะแล ที่ว่าการอำเภอทองผาภูมิ
  • ให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบสองคน เป็นเงินรายละ ๑๗๗,๑๙๙.๕๕ บาท
  • คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งสองศาลแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบสองคนตามส่วนของการชนะคดี

ภายใน ๙๐ วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด คำขออื่นนอกจากนี้ขอให้ยก
https://enlawfoundation.org/wp-content/uploads/2013/01/clity_17.1.132.pdf
 

ข่าวสารที่เกี่ยวข้อง
ติดตามเราในช่องทาง Social
ข่าวสารล่าสุด