เสียงของคนไทยพลัดถิ่น ต่อโครงการพัฒนาภายใต้ร่างพ.ร.บ.SEC


                                                                                                          

โครงการพัฒนาต่างๆไม่ว่าจะเป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามแผนดำเนินการบริหารประเทศหรือแนวนโยบายของรัฐหรือเป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อบริการสาธาณะทั่วไป ล้วนต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อหาแนวทางรับมือและเยียวยาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการ ด้วยเหตุนี้จึงเกิดคำถามขึ้นมาว่า บุคคลใดบ้างที่ถูกจัดอยู่ในนิยามของคำว่า “ประชาชน” ที่รัฐจำต้องรับฟัง หากเราพิจารณานัยความหมายที่ซ่อนอยู่ คำว่า “ประชาชน” มักถูกยึดโยงกับสัญชาติและความเป็นพลเมืองอยู่บ่อยครั้ง          ในทัศนะของรัฐ บุคคลที่ถูกจัดอยู่ในนิยามของคำว่า “ประชาชน” จึงเป็นบุคคลที่มีสถานะเป็นพลเมืองเท่านั้น บุคคลที่ไม่มีสถานะเป็นพลเมืองจึงถูกกีดกัน ไม่นับรวมอยู่ในกลุ่มคนที่รัฐจำต้องรับฟัง

บทความชิ้นนี้จึงชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยพลัดถิ่น กลุ่มคนที่ถูกรัฐหลงลืมและไม่ได้รับฟังเสียงของพวกเขา เพื่อสะท้อนความกังวลของพวกเขาที่มีต่อโครงการพัฒนาภายใต้ร่างพระราชบัญญัติระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ที่กำลังจะเกิดขึ้น

                                                       

คนไทยพลัดถิ่น : คนไทยหรือคนอื่นในแผ่นดินไทย

ป้ายไวนิลขนาดใหญ่ที่ประดับบนฉากกั้นสังกะสีบนเรือนไม้ยกสูง ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.ราชกรูด อ.เมือง จ.ระนอง เป็นเสมือนภาพสะท้อนของเส้นทางการต่อสู้ในการผลักดันพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 5)     พ.ศ. 2555 ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 โดยเนื้อหาสาระของพระราชบัญญัติดังกล่าวมีการเพิ่มนิยามคำว่า “คนไทยพลัดถิ่น” เพื่อแยกออกจากบทนิยามคนต่างด้าวกลุ่มอื่นๆ รวมถึงมีการจัดตั้งคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ตลอดจนขั้นตอนกระบวนการในการพิสูจน์สัญชาติที่มีรูปแบบเฉพาะ ความสำเร็จในการผลักดันพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นช่องทางให้คนไทยพลัดถิ่นสามารถได้สัญชาติไทยด้วยการเกิดตามหลักสายโลหิต ไม่ใช่การแปลงสัญชาติ[1] เนื่องจากแต่แรกเดิมทีบุคคลที่ถูกนิยามว่าเป็นคนไทยพลัดถิ่นอาศัยอยู่ในแถบมะริด ทวาย ตะนาวศรี ซึ่งเดิมเคยเป็นดินแดนที่อยู่ภายใต้การปกครองของไทย แต่ภายหลังสงครามพม่า-สยาม เมื่อ พ.ศ. 2336 ดินแดนดังกล่าวจึงตกไปอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า จนกระทั่งพม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ อังกฤษได้เสนอให้มีการสำรวจและปักปันเขตแดนทางบกระหว่าง สยาม กับ มณฑลตะนาวศรี โดยมีการจัดทำอนุสัญญาฉบับวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2411 (ค.ศ. 1868) เพื่อกำหนดเขตพรมแดนระหว่างรัฐ ผลของการกำหนดเส้นพรมแดนตามรัฐชาติสมัยใหม่ทำให้คนไทยบางส่วนที่อาศัยอยู่ในแถบนี้เป็นบุคคลที่อยู่ภายใต้บังคับของประเทศพม่า ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ถูกรับรองสถานะของบุคคลว่ามีสัญชาติพม่า เมื่อบุคคลเหล่านี้โยกย้ายถื่นฐานที่อยู่มาอาศัยในประเทศไทย จึงกลายเป็นบุคคลไร้สัญชาติ จนนำมาสู่การเรียกร้องการกลับคืนมาซึ่งสัญชาติไทยที่ควรมีมาแต่แรก[2]

.

แม้การแก้ไขพระราชบัญญัติสัญชาติ ให้คนไทยพลัดถิ่นสามารถได้สัญชาติไทยโดยการเกิด ดูเหมือนเป็นการเพิ่มโอกาสและช่องทางแก่คนไทยพลัดถิ่นให้สามารถกลับมามีสัญชาติไทยได้มากขึ้น แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น เจ้าของเรือนไม้หลังนี้เล่าให้เราฟังว่า กระบวนการกว่าจะได้มาซึ่งสัญชาติไทยนั้นไม่ง่าย โดยเฉพาะกระบวนการพิสูจน์สัญชาติที่ต้องอาศัยพยานหลักฐานนิติวิทยาศาสตร์ที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ขอสัญชาติกับญาติที่มีสัญชาติไทยโดยการเกิด ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เฉลี่ยประมาณคนละ 6,500 – 8,500 บาท ซึ่งยังไม่นับรวมค่าเดินทาง ค่าเสียเวลาในการประกอบอาชีพ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกจากต้นทุนในเรื่องค่าใช้จ่ายแล้ว การดำเนินการของภาครัฐเองก็ถือเป็นอุปสรรคสำคัญ ทั้งท่าทีของเจ้าหน้าที่ กระบวนการของภาครัฐและระบบราชการที่มีความสลับซับซ้อน ยุ่งยากต่อการทำความเข้าใจ เมื่อกระบวนการในการพิสูจน์สัญชาตินั้นมีต้นทุนที่สูงและเข้าถึงยากเช่นนี้ การได้มาซึ่งสัญชาติจึงเป็นไปได้ยากและแทบไม่เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ

.

คนไทยพลัดถิ่นที่ยังไม่ได้สัญชาติไทยนั้น แม้ว่าในบริบททางวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ การดำเนินชีวิตจะถือได้ว่าเป็นคนไทย แต่ในทางกฎหมายสถานะของบุคคลดังกล่าวยังถือว่าเป็นคนต่างด้าว จึงส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการดำเนินชีวิตหลายประการ อาทิ สิทธิในการรักษาพยาบาล สิทธิในการศึกษาสิทธิในการเดินทาง ซึ่งโดยทั่วไปสิทธิขั้นพื้นฐานเหล่านี้ล้วนเป็นสิทธิที่สงวนไว้สำหรับพลเมืองของรัฐ บุคคลที่ไม่ใช่พลเมืองของรัฐจะมีสิทธิเหล่านี้มากน้อยเพียงไรขึ้นอยู่กับแนวนโยบายแห่งรัฐที่กำหนดไว้ซึ่งมักอยู่ในรูปแบบของมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งมักจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามแนวนโยบายแต่ละรัฐบาล สิทธิของคนไทยพลัดถิ่นจึงมีความไม่ชัดเจนแน่นอน การได้มาซึ่งสัญชาติจึงเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้คนไทยพลัดถิ่นสามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานได้

.

โครงการพัฒนาภายใต้ร่างพระราชบัญญัติระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้

          ท่ามกลางกระแสการถกเถียงที่มีต่อโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย-อันดามัน หรือ แลนบริดจ์ที่ปรากฎให้เห็นผ่านสื่ออย่างอุ่นหนาฝาคั่ง โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่รัฐบาลให้ความสำคัญและพร้อมที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นนั้น ประกอบไปด้วยโครงการพัฒนาที่จะตามมาอีกหลายโครงการด้วยกัน อาทิ โครงการท่าเรือชุมพร (บริเวณแหลมริ่ว อ.หลังสวน) โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกระนอง (บริเวณแหลมอ่าวอ่าง อ.ราชกรูด) และโครงการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) และรถไฟทางคู่ ระยะทาง 90 กิโลเมตร ช่วงจังหวัดชุมพร – ระนอง[3] โดยเฉพาะโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกระนอง ที่พื้นที่ตั้งของโครงการตั้งอยู่บริเวณแหลมอ่าวอ่าง คาบเกี่ยวกับพื้นที่ ต.ราชกรูด ต.เกาะพยาม อ.เมือง ต.ม่วงกลวง อ.กะเปอร์ พื้นที่ขนาดของโครงการเบื้องต้นประกอบไปด้วย พื้นที่ถมทะเลขนาดประมาณ 6,975 ไร่ หน้าท่าเทียบเรือยาว 9.35 กม. เขื่อนกันคลื่น 3 แนว มีความยาว 3.12 กม. 340 ม. และ 290 ม. ขุดร่องน้ำเดินเรือ ยาว 11.5 กม. ที่ความลึกน้ำ 19 ม. ขนาดของโครงการดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของคนไทยพลัดถิ่นและชุมชนโดยรอบพื้นที่ตั้งโครงการในรัศมี 5 กม. ประมาณ 6 ชุมชน รวมทั้งพื้นที่อนุรักษ์และพื้นที่คุ้มครองทางทะเล[4]

.

การดำเนินโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐดังกล่าวล้วนแล้วแต่ต้องดำเนินการตามกรอบวิธีการทางกฎหมายหลายฉบับจึงอาจส่งผลให้การดำเนินโครงการดังกล่าวเกิดความล่าช้าไม่เป็นไปตามยุทธศาสตร์การดำเนินงานของรัฐ ร่างพระราชบัญญัติระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้จึงกลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยผลักดันให้โครงการเหล่านี้เดินหน้าได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งหากพิจารณาเหตุผลและความจำเป็นในการเสนอร่างกฎหมายที่ปรากฎในร่างพระราชบัญญัติระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้นั้น มุ่งหมายที่จะพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การประกอบพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม รวมถึงศูนย์กลางเชื่อมโยงการค้าและโลจิสติกส์ในภูมิภาค เพื่อยกระดับการพัฒนาเมืองให้มีความทันสมัย แต่หากพิจารณาเนื้อหาสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวจะเห็นว่ามีปัญหาอยู่มาก โดยเฉพาะมีการกำหนดให้การอนุมัติ อนุญาตตามกฎหมายในการดำเนินโครงการภายใต้ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ล้วนแล้วแต่เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ซึ่งประกอบไปด้วยรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน การรวมอำนาจในการพิจารณาไว้ที่ราชการส่วนกลางนี้ ส่งผลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีส่วนร่วมในการพิจารณาและตัดสินใจ ลดบทบาทอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่ตามกฎหมาย การดำเนินโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ตามนโยบายของราชการส่วนกลาง และอำนาจในการพิจารณา อนุมัติ อนุญาตโครงการก็ตกอยู่ที่ราชการส่วนกลาง ปราศจากการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นเช่นนี้ จึงอาจส่งผลให้เกิดปัญหาท้องถิ่นตามมาโดยเฉพาะปัญหาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันร่างพระราชบัญญัติระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ถูกเสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 2 ฉบับ ได้แก่ ฉบับที่หนึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะเป็นผู้เสนอ ฉบับที่สองนายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะเป็นผู้เสนอ โดยขณะนี้ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับอยู่ระหว่างการรอคำรับรองจากนายกรัฐมนตรีเพื่อบรรจุวาระพิจารณาในรัฐสภาต่อไป  ขณะเดียวกันสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ก็ได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ เพื่อนำเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบภายในเดือนกันยายน 2567 ซึ่งคาดว่าร่างพระราชบัญญัติระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้จะผ่านการพิจารณาของรัฐสภาในเดือนเมษายน 2568[5]  

.

ความกังวลของคนไทยพลัดถิ่นที่มีต่อโครงการพัฒนาภายใต้ร่างพระราชบัญญัติระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้

ด้านกลับของวาทกรรมว่าด้วยความเจริญทางเศรษฐกิจ การถูกเวนคืนที่ดิน การเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพ ไปจนถึงการย้ายถิ่นฐานที่อยู่ สิ่งเหล่านี้ คือ ผลกระทบโดยตรงที่ประชาชนได้รับจากการเกิดขึ้นของโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ แต่สำหรับกลุ่มคนที่จัดได้ว่าไม่มีต้นทุนทางสังคมและทางการเมืองหรือเป็นกลุ่มเปราะบางอย่างคนไทยพลัดถิ่น ผลกระทบที่มีต่อพวกเขายิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นตามไปด้วย

.

ชุมชนที่นี่มีกันอยู่ประมาณ 15 – 17 ครัวเรือน บนพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ติดกับป่าชายเลนซึ่งกรมป่าไม้อนุญาตให้อยู่อาศัยได้ชั่วคราว ผู้คนที่นี่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านเป็นหลัก  เช้ามืดก็จะออกเรือไปจับสัตว์ทะเลทั่วไป จำพวกเคย กุ้ง หอย ปลาหมึกสาย ปูดำ ปูม้า ปลาทราย เพื่อนำกลับมาขายให้กับนายหัวหรือยี่ปั๊วซึ่งรับซื้อในราคาที่ถูก การออกเรือแต่ละครั้งก็จะพ่วงไปด้วยภาระต้นทุนค่าน้ำมัน ถ้าวันไหนหาปูหาปลามาได้มากก็ถือว่าเป็นกำไรชีวิต ด้วยวิถีชีวิตที่พันผูกอยู่กับท้องทะเล ต้นทุนทางชีวิตของพี่น้องคนไทยพลัดถิ่นที่ยังคงหลงเหลืออยู่คงมีแต่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่หล่อเลี้ยงชีวิตและลมหายใจของพวกเขา การผลักดันโครงการท่าเรือน้ำลึกระนองและโครงการพัฒนาอื่นๆที่อาจตามมา จึงสร้างความกังวลต่อพวกเขาเป็นอย่างมาก หากมีการทำท่าเรือและขุดลอกร่องน้ำลึก ย่อมส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศใต้ท้องทะเล ปู ปลา สัตว์ทะเลที่เคยหาได้ ก็อาจจะหาได้ยากขึ้น พร้อมกับแบกรับภาระค่าใช้จ่ายค่าน้ำมันในการออกเรือที่สูงขึ้น ราคารับซื้ออาหารทะเลอาจถูกกดราคาให้ต่ำลงกว่าเดิม ที่อยู่อาศัยก็อาจจะโดนเวนคืน หากจะให้เปลี่ยนอาชีพจากการทำประมงเป็นอาชีพอื่นก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากบางคนยังไม่ได้สัญชาติ ไม่มีบัตรประชาชน จึงถูกจำกัดสิทธิในการประกอบอาชีพและการเดินทาง นอกจากความกังวลต่อผลกระทบในเรื่องพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยแล้ว เกาะโต๊ะกีเสม ที่ตั้งอยู่บริเวณปากอ่าวอ่าง ซึ่งถือเป็นเกาะศักดิ์สิทธิ์และสถานที่ที่เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนที่นี่ก็อาจได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน

.

เสียงบอกเล่าของพี่น้องคนไทยพลัดถิ่นข้างต้นไม่ใช่ข้อห่วงกังวลที่กล่าวอ้างขึ้นมาลอยๆเพื่อคัดค้านโครงการพัฒนาของรัฐโดยปราศจากเหตุผล ผลกระทบที่เกิดขี้นต่อวิถีชีวิตของผู้คนและสิ่งแวดล้อมภายหลังการเกิดขึ้นของโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ได้เห็นเป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก การเปลี่ยนพื้นที่การเกษตรให้กลายเป็นอุตสาหกรรม ขาดความสอดคล้องกับระบบนิเวศ ศักยภาพสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตของชุมชน เกิดการแย่งชิงทรัพยากรในพื้นที่เพื่อนำไปส่งเสริมอุตสาหกรรม ผลกระทบที่เกิดขึ้นเหล่านี้เป็นผลมาจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งกฎหมายฉบับนี้กลายมาเป็นต้นร่างให้กับร่างพระราชบัญญัติระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ในปัจจุบัน

.

สุดท้ายนี้เราไม่อาจทราบได้เลยว่าเสียงความกังวลของพี่น้องคนไทยพลัดถิ่นที่มีต่อโครงการพัฒนาภายใต้ร่างพระราชบัญญัติระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้นี้ จะดังมากพอที่จะสู้เสียงความคุ้มค่าทางเศรฐกิจและความเจริญที่รัฐใช้เป็นเหตุผลสำคัญในการผลักดันโครงการพัฒนาเหล่านี้ได้หรือไม่ ได้แต่หวังแต่เพียงว่าเสียงของพวกเขาคงจะดังพอที่จะทำให้รัฐหรือผู้มีอำนาจหันกลับมามองถึงผลกระทบต่อวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมของคนในท้องถิ่นบ้าง


โสภิดา สุขเจริญ      


อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นร่างกฎหมาย SEC ได้ที่:

ร่างพระราชบัญญัติระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ…….

https://www.parliament.go.th/section77/manage/files/file_20231018144759_1_319.pdf

เปิดผลกระทบ “ผังเมือง EEC”: ทำลายระบบนิเวศ และวิถีชีวิตของประชาชน

https://enlawfoundation.org/recap-eec-2564-02/

ชวนอ่าน: เมื่อภาคใต้กำลังจะถูกยึดด้วยร่าง พ.ร.บ. SEC

https://enlawfoundation.org/what-is-sec/

ข้อกังวลจาก EnLAW ต่อร่าง พ.ร.บ. SEC : เมื่อประชาชนไร้ส่วนร่วมและอำนาจกำหนดอนาคตตนเอง

https://enlawfoundation.org/concerns-from-enlaw-draft-sec/

SEC กฎหมายยึดภาคใต้? เปิดวงเสวนาว่าด้วยการตั้งคำถามกับร่างกฎหมาย พ.ร.บ. ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้

https://enlawfoundation.org/sec-associate/

อ้างอิงข้อมูลจาก:

[1] iLaw, “ความเคลื่อนไหวจากซอกหลืบ: คนไทยพลัดถิ่นร้องแก้ไข พ.ร.บ.สัญชาติ”, เผยแพร่เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2554, https://www.ilaw.or.th/articles/31680.

[2]กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม, “เขตแดนไทย-พม่า เกิดขึ้นครั้งแรกที่ไหน? ใช้อะไรเป็นสัญลักษณ์?”, เผยแพร่เมื่อวันที่ 15 มีนาคม  2567, https://www.silpa-mag.com/history/article_129067.

[3]สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดระยอง, “แลนด์บริดจ์ กับโอกาสของไทย”, เผยแพร่เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2567, https://rayong.prd.go.th/th/content/category/detail/id/38/iid/260178.

[4]กอง 4 เหตุผล ภาคประชาชน ค้าน “แลนด์บริดจ์” ชุมพร-ระนอง, เผยแพร่เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567, https://www.thaipbs.or.th/news/content/336219.

[5]‘สุริยะ’ เข็น พ.ร.บ.SEC ดันลงทุน ‘แลนด์บริดจ์’ ผ่าน ครม.ปีนี้, เผยแพร่เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2567, https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1133804.

บทความที่เกี่ยวข้อง
ติดตามเราในช่องทาง Social
บทความล่าสุด