เปิดคำฟ้องเพิกถอน “ผังเมือง EEC”
: การพัฒนาของรัฐที่ทิ้งประชาชนไว้ข้างหลัง
1.ที่มาของ EEC “เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC คืออะไร ?
เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC (Eastern Economic Corridor) เป็นหนึ่งในนโยบายหลักของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาเมือง เพื่อดึงดูดนักลงทุนในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ระยอง และชลบุรี ซึ่ง คสช. ใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ออกคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 2/2560 เรื่องการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเพื่อให้การดำเนินการในพื้นที่ 3 จังหวัดดังกล่าว และออกคำสั่งหน้าคสช. ที่ 47/2560 เปิดทางให้มีการจัดทำนโยบายและแผนภาพรวม แผนการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และอื่นๆ ให้เสร็จภายใน 6 เดือน ซึ่งการทำดังกล่าวนั้น มีการยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมือง ทั้งนี้เพื่อเดินหน้าโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกในระหว่างที่กำลังจัดทำพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561
2. “ผังเมือง EEC เปลี่ยนพื้นที่เกษตรกรรม เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม ทำลายระบบนิเวศและวิถีชีวิตประชาชน”
เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 มีผลบังคับใช้ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกจึงครอบคลุมพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ระยอง และชลบุรี และนำมาสู่การกำหนดแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินขึ้นใหม่ ส่งผลให้แผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินเดิมถูกยกเลิกไปทั้งหมด (มาตรา 32) จากเดิมที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมก็ถูกปรับเปลี่ยนให้รองรับอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น โดยการออกประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2562 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2562 ทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง เนื่องจากไม่สอดคล้องกับลักษณะสภาพภูมิประเทศ ระบบนิเวศ ทรัพยากรธรรมชาติ และวิถีชีวิตของประชาชนหลายพื้นที่
อย่างไรก็ตาม กระบวนการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ “ผังเมือง EEC” นั้น พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 กำหนดว่า “ให้ยึดหลักการคุ้มครอง เคารพ และเยียวยาให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบตามหลักการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในบริบทของการประกอบธุรกิจ และสิทธิตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย” (มาตรา 29) และ “ต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์กับชุมชน สุขภาวะของประชาชน สภาพแวดล้อม และระบบนิเวศตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน และสร้างความรับรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชนในพื้นที่ และรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้มีส่วนได้เสีย ประชาชน และชุมชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาด้วย” (มาตรา 30) แต่ในทางปฏิบัติของกระบวนการจัดทำผังเมือง EEC กลับไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่กำหนดไว้แต่อย่างใด
3. “ยกเลิกผังเมืองเดิม เดินหน้าบังคับใช้ผังเมือง EEC ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและระบบนิเวศน์ ท่ามกลางเสียงคัดค้านของประชาชน”
เมื่อการจัดทำและประกาศใช้บังคับผังเมือง EEC ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2562 ที่ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ระยอง และชลบุรี เป็นการกำหนดผังเมืองขึ้นใหม่มายกเลิกและบังคับใช้แทนที่ผังเมืองเดิม
โดยที่ผังเมือง EEC ฉบับใหม่นี้ มีข้อกำหนดที่เปิดกว้างสำหรับการประกอบกิจการอุตสาหกรรม อนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เช่น โรงงานเกี่ยวกับการกำจัดและหรือทำลายขยะได้ในเกือบทุกพื้นที่ ทำให้สิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกมีความเสี่ยงที่จะทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากมลพิษจากอุตสาหกรรม มลพิษจากปัญหาขยะอุตสาหกรรมที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น และกระทบถึงการจัดสรรทรัพยากรน้ำในภาคตะวันออกที่ต้องเอื้อมาหนุนภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มมากขึ้นทั้งที่ในปัจจุบันการบริหารจัดการน้ำในภาคตะวันออกก็ยังทำได้ไม่ทั่วถึง โดยรวมทั้งหมดย่อมส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและการใช้ประโยชน์ในที่ดินและกระทบถึงอาชีพและคุณภาพชีวิตของประชาชนจำนวนมาก
หนึ่งในกระบวนการสำคัญของการจัดทำผังเมือง EEC คือหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่และหลักการตามหลักวิชาการผังเมือง แต่ปรากฎว่ากระบวนการจัดทำผังเมือง EEC ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2562 เดิม ไม่ได้เป็นไปตามหลักการที่พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 กำหนดไว้ โดยไม่มีการให้ข้อมูลอย่างเปิดเผยต่อสาธารณะ ไม่มีการรับฟังความคิดเห็นภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างมีความหมาย ไม่ยึดหลักการตามหลักวิชาการผังเมือง ไม่ได้ดำเนินการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment Guideline : SEA)
แม้ว่าในระหว่างดำเนินกระบวนการจัดทำผังเมือง EEC ที่ผ่านมา เครือข่ายชุมชนและตัวแทนประชาชนหลายพื้นที่ใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก ได้มีการรณรงค์ ใช้สิทธิร้องเรียนและคัดค้านการจัดทำร่างผังเมือง EEC พร้อมทั้งเสนอแนะให้ดำเนินการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ และปรับเปลี่ยนข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินต่อคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกมาโดยตลอด แต่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกก็ไม่ได้นำไปพิจารณาก่อนออกประกาศฯ ดังกล่าวแต่อย่างใด
เมื่อกระบวนการจัดทำผังเมือง EEC ไม่เป็นไปตามหลักการที่พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 ที่กำหนดให้ต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์กับชุมชน สุขภาวะของประชาชน สภาพแวดล้อม และระบบนิเวศตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน และสร้างความรับรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชนในพื้นที่ และรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้มีส่วนได้เสีย ประชาชน และชุมชนที่เกี่ยวข้อง ทำให้ผังเมือง EEC ที่บังคับใช้อยู่ในขณะนี้ ไม่สอดคล้องกับระบบนิเวศ ศักยภาพและลักษณะด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต และภูมิปัญญาอันหลากหลายของชุมชนและสังคม
4.“เมื่อการจัดทำผังเมือง EEC ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เครือข่ายชุมชนและตัวแทนประชาชนหลายพื้นที่ใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก ที่ได้รับผลกระทบ จึงร่วมกันยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุด”
เครือข่ายชุมชนและตัวแทนประชาชนหลายพื้นที่ใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก ที่ได้รับผลกระทบความเสียหายจากบังคับใช้ผังเมือง EEC จึงใช้สิทธิการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง โดยได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ในฐานะที่ออกประกาศเรื่องแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ “ผังเมือง EEC” และคณะรัฐมนตรี ในฐานะที่อนุมัติแผนผังดังกล่าว ต่อศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2563 โดยขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2562 โดยกำหนดเงื่อนไขให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกและคณะรัฐมนตรี ดำเนินการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) และให้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยให้ผู้ฟ้องคดีและชุมชนมีส่วนร่วมในกระบวนการอย่างมีความหมาย ก่อนการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินและแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
5. “ความล่าช้าของการพิจารณาคดี ส่งผลต่อการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการดำรงอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและการปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อม”
แม้ว่าเครือข่ายชุมชนและตัวแทนประชาชนจะได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 แต่กระบวนการพิจารณารับคำฟ้องของศาลปกครองสูงสุดมีระยะเวลายาวนานมาก โดยเครือข่ายชุมชนและตัวแทนประชาชนซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดี ได้มีการติดตามและสอบถามข้อขัดข้องและเร่งรัดการพิจารณาคดีโดยการยื่นหนังสือถึงประธานศาลปกครองสูงสุด เนื่องจากเห็นว่าเป็นคดีสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบในวงกว้าง ซึ่งหากระยะเวลาการพิจารณาคดีมีความล่าช้า จะมีผลต่อการอำนวยความยุติธรรมเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและการปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อม
จนท้ายที่สุดศาลมีคำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณาในเดือนเมษายน 2564 เมื่อนับระยะเวลาตั้งแต่วันที่ยื่นฟ้องก็เป็นเวลานานถึง 9 เดือน กว่าที่ศาลจะมีคำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณา
ปัจจุบัน แม้ว่าศาลปกครองสูงสุดจะรับคำฟ้องไว้พิจารณาแล้ว แต่การพิจารณาคดียังต้องเป็นไปตามลำดับขั้นตอนและต้องเปิดโอกาสให้ผู้ถูกฟ้องคดี คือ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และคณะรัฐมนตรีได้โต้แย้งคัดค้านโดยการจัดทำคำให้การยื่นต่อศาล ซึ่งเมื่อเดือนเมษายน 2564 ศาลได้มีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทำคำให้การยื่นต่อศาลแล้ว แต่ปรากฎว่าผู้ถูกฟ้องคดีได้ยื่นขอขยายระยะเวลาทำคำคำให้การออกไปถึง 3 ครั้ง หากนับระยะเวลาถึงเดือนกันยายน 2564 ก็เป็นเวลากว่า 6 เดือนแล้ว ทั้งที่ผู้ถูกฟ้องคดีเองก็เป็นหน่วยงานรัฐที่มีข้อมูลและมีการจัดทำเอกสารต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำผังเมือง EEC อยู่แล้ว แต่ยังมีความล่าช้าในการทำคำให้การ
หากกระบวนการทำคำให้การและกระบวนการพิจารณาคดีของศาลปกครองสูงสุดยังคงมีความล่าช้าอยู่ในระหว่างที่พื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออก ฉะเชิงเทรา ระยอง และชลบุรี ยังคงมีการเดินหน้าจัดทำผังเมืองระดับชุมชน และการเดินหน้าของโครงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในหลายพื้นที่อยู่อย่างต่อเนื่อง ย่อมจะเกิดเกิดความเสียหายต่อสิทธิการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและการปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังสะท้อนถึงปัญหาการพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมที่ล่าช้าและไม่นำไปสู่การป้องกัน แก้ไข และเยียวยาความเดือดร้อนเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย
________________________________________________________
อ่านเพิ่มเติม
สรุปประเด็นการยื่นคำฟ้องเพิกถอนประกาศแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ฯ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ต่อศาลปกครองสูงสุด
https://enlawfoundation.org/eeccityplancase-inbrief/
เปิดไทม์ไลน์สถานะคดีฟ้องเพิกถอน “ผังเมือง EEC”
https://enlawfoundation.org/timeline-eec-11-2563/
เครือข่ายประชาชน 3 จังหวัด ฉะเชิงเทรา ระยอง ชลบุรี ยื่นหนังสือถึงประธานศาลปกครองสูงสุด เร่งรัดการพิจารณารับฟ้อง คดีขอเพิกถอน “ผังเมือง EEC”
https://enlawfoundation.org/eeccityplancase-23-11-2563/
Eastern local communities filed lawsuit to revoke EEC land use planning
https://enlawfoundation.org/eastern-local-communities-filed-lawsuit-to-revoke-eec-land-use-planning/
เปิดผลกระทบ “ผังเมือง EEC” : ทำลายระบบนิเวศ และวิถีชีวิตของประชาชน
https://enlawfoundation.org/recap-eec-2564-02/
________________________________________________________
ข้อมูลอ้างอิง
- ข้อมูลเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินภายหลังบังคับใช้ผังเมือง EEC ในพื้นที่ 3 จังหวัด: https://enlawfoundation.org/eec-cityplancompare/
- สรุปประเด็นคำฟ้อง : https://enlawfoundation.org/eeccityplancase-inbrief/
- ไทม์ไลน์สถานะคดี : https://enlawfoundation.org/timeline-eec-11-2563/
- เครือข่ายประชาชนยื่นหนังสือขอให้เร่งรัดการพิจารณาคดี : https://enlawfoundation.org/eeccityplancase-23-11-2563/
- เมื่อผังเมือง EEC มีผลใช้บังคับ https://www.facebook.com/Enlawthai2001/photos/3257127564360352 https://www.facebook.com/Enlawthai2001/photos/3321179451288496
- ท่ามกลางเสียงคัดค้านของภาคประชาชน พ.ร.บ.อีอีซี มีผลใช้บังคับแล้ว https://www.facebook.com/Enlawthai2001/photos/1951473291592459