มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ชวนย้อนมองสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องและมีความสำคัญที่ผ่านมาตลอดทั้งปี 2565 กับ “5 เรื่องเด่น ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพ กฎหมาย คดีสิ่งแวดล้อม” ได้แก่

1.ข้อมูลมลพิษ คือสิทธิที่ประชาชนต้องเข้าถึงได้ ภาคประชาชนเตรียมรวบรวม 10,000 รายชื่อ เสนอกฎหมาย PRTR”

2.ศาลปกครองเชียงใหม่สั่งคุ้มครองชั่วคราว คดีสิ่งแวดล้อม “ชาวอมก๋อยฟ้องเพิกถอน EIA เหมืองถ่านหิน” สร้างบรรทัดฐานในการรับรองสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี

3.เมื่อรัฐละเลยและกฎหมายมีช่องโหว่ ปัญหาการจัดการขยะที่ไม่ได้มาตรฐานจึงยังคงรุนแรง

4.เมื่อการลุกขึ้นปกป้องสิ่งแวดล้อม-ยืนยันสิทธิการมีชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ดี ถูกมองว่าเป็นอาชญกรรม นำมาสู่การข่มขู่คุกคามนักป้องป้องสิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อม

5.APEC 2022 กับการฟอกเขียวภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เอื้อทุนใหญ่ ทำลายฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

1- ข้อมูลมลพิษ คือสิทธิที่ประชาชนต้องเข้าถึงได้ ภาคประชาชนเตรียมรวบรวม 10,000 รายชื่อ เสนอกฎหมาย PRTR”


เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 ครบรอบ 1 ปี เหตุการณ์อุบัติภัยเหตุระเบิดและเพลิงไหม้โรงงานหมิงตี้เคมีคอล จ.สมุทรปราการ อุบัติภัยครั้งนั้นเกิดสารพิษอันตรายลอยฟุ้งในอากาศ โดยเฉพาะสารสไตรีนโมโนเมอร์ที่เมื่อถูกเผาไหม้จึงกลายเป็นก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) จำนวนมาก มีอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ และเมื่อเดือนกันยายน 2565 ก็ได้เกิดเหตุการณ์เกิดเหตุสารเคมีรั่วไหล จากโรงงานอินโดรามา จ.นครปฐม ซึ่งในขณะเกิดเหตุนั้นก็ยังไม่ทราบสาเหตุการรั่วไหลรวมถึงไม่ทราบว่าสารเคมีที่รั่วไหลนั้นเป็นสารเคมีชนิดใด แต่เกิดกลิ่นเหม็นรุนแรงและฟุ้งกระจายเป็นวงกว้าง แม้การรายงานข่าวในเวลาต่อมาจะระบุว่า เป็นการรั่วไหลของสารเคมีกลุ่มอะโรเมติก เบนซีน ไดฟีนิลออกไซด์ (Diphenyl Oxide) และไบฟีนิล (Biphenyl) หากสูดดมเข้าไปในปริมาณมากอาจทำให้เกิดอาการคลื่นใส้ วิงเวียนศรีษะและส่งผลกระทบต่อทางเดินหายใจ ทั้งสองกรณีนี้ต่างก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนเป็นวงกว้าง และเนื่องจากในช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์ระเบิดหรือการรั้วไหลของสารเคมี ประชาชนแทบไม่รู้เลยว่ามีสารมลพิษชนิดใดบ้างและสารมลพิษดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไร

กรณีหมิงตี้และอินโดรามาเป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่สะท้อนว่า ประเทศไทยจะต้องมีกฎหมายที่ให้โรงงานซึ่งมีสารอันตรายต้องรายงานข้อมูลของสารนั้น และเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวแก่ประชาชนได้ทราบ เพื่อที่จะได้นำข้อมูลนี้ไปใช้ในยามฉุกเฉิน ไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ประชาชน โดยการนำกลไกทางกฎหมายที่เรียกว่า “PRTR” มาเป็นแนวทางแก้ไขปัญหา

ขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายนี้ แม้ว่ากว่า50 ประเทศทั่วโลกมีการใช้ “กฎหมาย PRTR” หรือกฎหมายกฎหมายการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Registers) เพื่อควบคุมแก้ไขปัญหามลพิษ คุ้มครองสุขภาพ ประชาชนและสิ่งแวดล้อม รับรองสิทธิของชุมชนและประชาชนในการเข้าถึง รับรู้และตรวจสอบข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม และสารเคมีอันตราย ประชาชนสามารถรู้ข้อมูลแหล่งที่มาของมลพิษและประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้จากทุกที่

ที่ผ่านมามีการเสนอ “ร่างกฎหมาย PRTR” โดยพรรคก้าวไกลเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรช่วงเวลาหลังจากเกิดเหตุการณ์อุบัติภัยหมิงตี้เคมีคอล เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 แต่นายกรัฐมนตรีปัดตกโดยวินิจฉัยว่าเป็นร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน ทั้งที่เป็นกฎหมายที่จะมาช่วยจัดการปัญหาเกี่ยวกับสารมลพิษและสารเคมี ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่านายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ไม่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาการจัดการมลพิษอันจะเป็นทางออกหนึ่งของปัญหาและเป็นการคุ้มครองประชาชนและสิ่งแวดล้อม

แม้นายกรัฐมนตรีจะปัดตกกฎหมาย PRTR แต่องค์กรภาคประชาสังคมอย่างมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) และกรีนพีซ ประเทศไทย (Greenpeace Thailand) ภาคีเครือข่ายภาคประชาชนที่ทำงานร่วมกันเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม ยังคงเดินหน้าผลักดันให้มีกฎหมาย PRTR เพื่อรับรองสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลและการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและปลอดภัย

โดยเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 ได้มีการยื่นริเริ่มเสนอร่างพระราชบัญญัติการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ พ.ศ…. (PRTR) ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อดำเนินการรวบรายชื่อ 10,000 รายชื่อในการเสนอร่างกฎหมายภาคประชาชนเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติของรัฐสภา นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ “กฎหมาย PRTR ภาคประชาชน”

ร่วมกันติดตามและร่วมกันเข้าชื่อ ผลักดันกฎหมาย PRTR ให้ออกมาเป็นกฎหมายที่สามารถใช้งานได้จริง เพื่อให้ประชาชนได้มีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีได้ที่ https://thaiprtr.com

อ่านเพิ่มเติม

2- ศาลปกครองเชียงใหม่สั่งคุ้มครองชั่วคราว คดีสิ่งแวดล้อม “ชาวอมก๋อยฟ้องเพิกถอน EIA เหมืองถ่านหิน” สร้างบรรทัดฐานในการรับรองสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี

เมื่อต้นปี 2565 ชาวอมก๋อยได้ยื่นฟ้องเพิกถอนรายงาน EIA โครงการเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย(รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อยจังหวัดเชียงใหม่) ต่อศาลปกครองเชียงใหม่ เป็นคดีสิ่งแวดล้อมคดีแรกของศาลปกครองเชียงใหม่ของปี 2565


ในคดีนี้ตัวแทนชุมชนได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านเหมืองแร่และอุตสาหกรรมถลุงแร่หรือแต่งแร่(คชก.) และ สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) โดยในการยื่นฟ้องครั้งนี้นอกจากชุมชนจะมีคำขอให้เพิกถอนรายงาน EIA แล้ว ยังมีการขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวโดยให้มีผลว่าในระหว่างที่มีการพิจารณาว่า EIA ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ห้ามมิให้บริษัทฯนำรายงาน EIA ไปประกอบคำขอเพื่ออกประทานบัตรได้


เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2565 ศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว (คำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา) ซึ่งถือว่าเป็นคำสั่งที่สร้างบรรทัดฐานสำคัญในการรับรองสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ด การมีส่วนร่วม และการป้องกันความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม


โดยการที่ศาลปกครองเชียงใหม่มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ทุเลาการบังคับตามมติคณะกรรมการผู้ชำนาญการที่ให้ความเห็นชอบรายงาน EIA เหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย ส่งผลให้กระบวนการออกประทานบัตรโครงการเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อยต้องยุติลงเป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ซึ่งเนื้อหาโดยสรุปของคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในคดีที่ชุมชนอมก๋อยฟ้องเพิกถอนรายงาย EIA เหมืองถ่านหิน มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมมีความเห็นและข้อสังเกต 3 ประการ ดังนี้

1. ศาลปกครองยืนยันรับรองสิทธิในการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและรับรองการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายของชุมชนตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งสอดคล้องกับมติคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

2. ความเข้มแข็งของชุมชนในการร่วมมือกับองค์กรพัฒนาเอกชน(NGOs) และนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดการรวบรวมข้อมูลโดยใช้กระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน(CHIA) เพื่อตรวจสอบกระบวนการจัดทำรายงาน EIA เหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย

3. คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองเชียงใหม่ อ้างเหตุตามหลักการป้องกันหรือหลักข้อควรระวังความเสียหายอย่างร้ายแรงงที่จะก่อให้เกิดแก่ชุมชนและสิ่งแวดล้อม

การต่อสู้ของชุมชนในครั้งนี้เป็นมากกว่าการต่อสู้เพื่อปกป้องบ้านเกิดแต่ยังเป็นการต่อสู้เพื่อสร้างบรรทัดฐานการรับรองสิทธิชุมชน การมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย และสิทธิในการมีชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ดี

อ่านเพิ่มเติม

3- เมื่อรัฐละเลยและกฎหมายมีช่องโหว่ ปัญหาการจัดการขยะที่ไม่ได้มาตรฐานจึงยังคงรุนแรง

ปัญหาการจัดการขยะที่ไม่เหมาะสมและไม่ได้มาตรฐานยังคงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและยาวนานในสังคมไทย ซึ่งสาเหตุของปัญหามีทั้งมาจากช่องโหว่ทางกฎหมาย หรือการปล่อยปละละเลยของภาครัฐ โดยจากการรวบรวมข้อมูลในปี 2565 พบว่า มีปัญหาจากโรงงานรีไซเคิลขยะและธุรกิจการจัดการขยะที่ส่งผลเสียต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้น อย่างน้อย 5 กรณี ได้แก่

หนึ่ง กรณีโรงไฟฟ้าขยะ RDF หนองไข่น้ำ

หรือ “โครงการกำจัดขยะมูลฝอยเทศบาลเมืองพระพุทธบาทด้วยวิธีแปรสภาพเป็น RDF และนำไปใช้การผลิตไฟฟ้า ณ ต.หนองไข่น้ำ อ.หนองแค จ.สระบุรี กำลังการผลิตไฟฟ้า 9.5 เมกะวัตต์” โดยการนำขยะชุมชนมาคัดแยกและแปรสภาพเป็นเชื้อเพลิง ก่อนนำไปเผาเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งถือว่าเป็นโครงการที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะปัญหามลพิษทางอากาศ
โดยโรงไฟฟ้าขยะแห่งนี้ เกิดขึ้นหลังการแก้ข้อบัญญัติท้องถิ่นที่อนุญาตให้ให้สามารถอนุญาตการก่อสร้างอาคารโรงงานผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนในพื้นที่ได้ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 4/2559 ที่กำหนดให้ยกเว้นกฎหมายผังเมืองไม่ให้บังคับแก่กิจการโรงงานไฟฟ้าและกิจการเกี่ยวกับขยะมูลฝอยและส่งผลให้ประกอบกิจการดังกล่าวได้โดยไม่ต้องสนใจว่าผังเมืองนั้นกำหนดให้เป็นพื้นที่ประเภทใด

อ่านเพิ่มเติม

สอง กรณีศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช กรุงเทพฯ

เดิมทีโรงกำจัดมูลฝอยเพื่อผลิตไฟฟ้าที่อ่อนนุชเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 การดำเนินการโดยบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด โดยเป็นศูนย์คัดแยกวัสดุสำหรับรีไซเคิลและทำ RDF ออก ส่วนมูลฝอยอินทรีย์จะเอาไปหมักเพื่อผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อนำไปใช้ผลิตไฟฟ้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อชุมชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงโดยเฉพาะหมู่บ้านอิมพีเรียล ปาร์ค หมู่บ้านจัดสรรขนาดใหญ่ที่อยู่ห่างไปไม่ถึง 100 เมตร ที่ได้รับผลกระทบจากกลิ่นเหม็นและ มลพิษทางอากาศ และมลพิษจากการเผาไหม้ขยะ โดยที่ผ่านมามีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนกระทั่งเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2565 กรมโรงงานอุตสาหกรรมมีคำสั่งให้หยุดกิจการจากกรณีเรื่องมลภาวะ และยังรวมถึงเรื่องความปลอดภัยเกี่ยวกับที่เก็บก๊าซด้วย

อ่านเพิ่มเติม

สาม ผลกระทบการปนเปื้อนมลพิษจากโรงงานแวกซ์กาเบจ จ.ราชบุรี

เป็นโรงงานกำจัดขยะอุตสาหกรรม และสร้างความเดือดร้อนต่อชาวบ้านมานานกว่า 20 ปี ตั้งแต่เปิดทำการเมื่อปี 2544 ซึ่งเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2565 เกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงาน เกิดกลุ่มควันฟุ้งกระจายในบริเวณกว้าง และเกิดการปนเปื้อนสารเคมีมากขึ้นจากการฉีดน้ำดับเพลิงในพื้นดินและแหล่งน้ำบริเวณรอบๆ มีการตรวจสอบข้อมูลพบว่าเป็นโรงงานประเภทรีไซเคิลกากอุตสาหกรรมที่อยู่ระหว่างการปิดปรับปรุงโรงงาน ที่ผ่านมามีการร้องเรียนของชาวบ้าน “เครือข่ายคนรักษ์ต้นน้ำจังหวัดราชบุรี” ผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษคัดแยกและรีไซเคิลของเสียอุตสาหกรรมโรงงานแห่งนี้ โดยมีประเด็นสำคัญว่าการดำเนินการของโรงงานทำให้สภาพแวดล้อมและแหล่งน้ำสาธารณะทั้งแหล่งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินได้รับการปนเปื้อนสารมลพิษ จนเสื่อมโทรมและไม่สามารถใช้การได้ และยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนในพื้นที่ จนนำมาซึ่งการฟ้องคดีแพ่งแบบกลุ่มเพื่อให้โรงงานรับผิดชอบเยียวยาความเสียหายและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม เมื่อปี 2560 จนกระทั่งศาลพ่งมีคำพิพากษาเมื่อปี 2563 แต่แต่ผ่านไปร่วม 2 ปี ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ เกิดขึ้น กากอุตสาหกรรมอันตรายในโรงงานก็ยังไม่มีการกำจัดอย่างถูกต้องและปลอดภัย และยังไม่มีการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด

อ่านเพิ่มเติม

สี่ ผลกระทบบ่อฝังกลบขยะ กิจการรีไซเคิลกากอุตสาหกรรม อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์

กว่า 4 ปีที่ชาว อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ต่อสู้เรื่องมลพิษในชุมชน จนนำมาสู่การฟ้องศาลปกครองนครสวรรค์เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 เนื่องจากชาวบ้านได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ปี 2561 มีการรวมตัวกันร้องเรียนให้หน่วยงานรัฐเข้ามาแก้ไขปัญหามลพิษ แต่ชาวบ้านยังประสบปัญหามลพิษอยู่ จนกระทั่งมีการเข้ามาตรวจสอบโดยกรมควบคุมมลพิษและกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเมื่อปี 2564 ที่ได้ตรวจสอบบ่อน้ำใต้ดินของชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงโรงงาน ผลการตรวจของกรมควบคุมมลพิษพบการปนเปื้อนของสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง นอกจากนี้ยังพบการปนเปื้อนของแมงกานีส นิกเกิล สารหนู และแบเรียม ที่มีค่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพน้ำใต้ดิน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การประกอบกิจการของบริษัท ก่อให้เกิดการปนเปื้อนในน้ำใต้ดิน ส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำสาธารณะและบริเวณใกล้เคียง และเมื่อพบว่าบริษัทยังขนส่งกากอุตสาหกรรมจำนวนมากเข้ามาฝังกลบในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทำให้มีกลิ่นเหม็นของสารเคมีรุนแรงเป็นระยะๆ ซึ่งทำให้ประชาชนเจ็บป่วยมากขึ้น ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ไม่สามารถอดทนต่อไปได้ ตัวแทนประชาชนในพื้นที่จึงฟ้องคดีต่อศาลปกครองนครสวรรค์เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้นโดยการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการ และให้มีการร่วมกันฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในพื้นที่ให้กลับมาอยู่ในสภาพปกติดังเดิม จนในที่สุดศาลปกครองนครสวรรค์มีคำพิพากษาให้เร่งฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทั้งในและนอกโรงงานให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน

อ่านเพิ่มเติม

ห้า ผลกระทบต่อชาวบ้าน #หนองพะวา จากโรงงานรีไซเคิลวินโพรเสส จ.ระยอง

เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดระยองมีคำพิพากษาตัดสินให้ บริษัท วิน โพรเสสฯ ชดเชยค่าเสียหายแก่ชาวบ้านที่เป็นผู้ฟ้องคดีและให้ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมกลับคืนสู่สภาพที่ปลอดภัยดังเดิม หากย้อนไปดูการต่อสู่ของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหามลพิษปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมที่กินเวลายาวนาน ตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่ชาวบ้านออกมาคัดค้านการตั้งโรงงานคัดแยกและฝังกลบสิ่งปฏิกูล รวมถึงวัสดุภัณฑ์ที่ไม่ได้ใช้แล้ว เนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่ที่กังวลถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของประชาชน เมื่อปี 2553 ผลจากการตั้งโรงงานนี้ทำให้เกิดปัญหามลพิษและชุมชนได้รับความเดือดร้อนจากกลิ่นเหม็นและการขุดบ่อฝังกลบขยะต่างๆ จนกระทั่งตั้งช่วงหลังปี 2560 เป็นต้นมา ปัญหามลพิษที่หนองพะวาเริ่มรุนแรงขึ้น แหล่งน้ำรอบโรงงานส่งกลิ่นเหม็นเน่า พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย จนท้ายที่สุดประชาชนตัดสินใจยื่นฟ้องบริษัทวิน โพรเสสฯ ในวันที่ 7 มิถุนายน 2564 เพื่อให้โรงงานยียวยาค่าเสียหายต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและทางน้ำสาธารณะให้กลับคืนสู่สภาพเดิม

อ่านเพิ่มเติม

4- เมื่อการลุกขึ้นปกป้องสิ่งแวดล้อม-ยืนยันสิทธิการมีชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ดี ถูกมองว่าเป็นอาชญกรรม นำมาสู่การข่มขู่คุกคามนักป้องป้องสิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อม

นักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อม มักมีความเสี่ยงจากการถูกข่มขู่คุกคาม เพียงเพราะใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญเพื่อปกป้องคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิต เพื่อให้ดำรงอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี แต่กลับปรากฎว่าการใช้สิทธิตามกระบวนการทางกฎหมายโดยปกติที่ประชาชนสามารถใช้สิทธิได้นั้น นำมาสู่การข่มขู่คุกคามและการใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการดำเนินคดีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

หนึ่ง  การรวมตัวปกป้องท้องทะเลและบ้านเกิด #saveจะนะ กับข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

26 มกราคม 2565 เริ่มต้นปีด้วยพี่น้องเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น 36 คน ต้องเดินทางไกลจากจังหวัดสงขลามากรุงเทพฯ เพื่อมารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ดุสิต ตามหมายเรียก หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ได้เข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นที่ปักหลักตั้ง “หมู่บ้านลูกทะเล” บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อทวงสัญญาจากรัฐบาล ให้มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SEA แบบมีส่วนร่วม เพื่อ #saveจะนะ จากนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่จะนะ เมื่อ 6 ธันวาคม 2564 ทั้งที่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพภายใต้รัฐธรรมนูญฯ เพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันเป็นสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญฯ แต่กลับถูกรัฐใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยอ้างสถานการณ์โควิด เพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากกว่าเป้าหมายการควบคุมการแพร่ระบาดของสถานการณ์โควิดขณะนั้น เนื่องจากหากจะควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดยังมีกฎหมายอื่นที่สามารถมาใช้ควบคุมสถานการณ์ได้ดีกว่านี้ เช่น พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ และกฎหมายที่เกี่ยวกับภัยพิบัติต่าง ๆ เดิมทีพี่น้องเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นมีกำหนดเดินทางเพื่อมารายงานตัวต่ออัยการในวันที่ 23 กันยายน 2565 แต่ท้ายที่สุดแล้ว อัยการศาลแขวงดุสิตมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องพี่น้องเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นทั้ง 36 คน และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไม่คัดค้านความเห็นอัยการที่สั่งไม่ฟ้อง ทำให้การดำเนินคดีนี้เป็นอันยุติ

อ่านเพิ่มเติม

สอง การปกป้องสิ่งแวดล้อมของชุมชนเพื่อลูกหลาน #saveนาบอน นำมาสู่ถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาท

ตามมาด้วยกรณีของ ลุงเอิบ สารนิตย์ หนึ่งในเครือข่ายปกป้องนาบอนจากโรงไฟฟ้าชีวมวล หรือ #saveนาบอน ต้องเดินทางจากจังหวัดนครศรีธรรมราชเพื่อมารายงานตัวตามหมายเรียกและรับทราบข้อกล่าวหา ที่ สน.ปทุมวัน เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565  เนื่องจากถูกแจ้งข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328  โดย พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา หนึ่งในผู้ถือหุ้นของบริษัทเจ้าของโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ จากการที่แสดงความคิดเห็นและให้ข้อมูลกับสาธารณชนเกี่ยวกับผลกระทบจากมลพิษหากมีโรงไฟฟ้าชีวมวลในพันที่ อ.นาบอน จ.นครศรีธรรมราช เพียงเพื่อต้องการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและยืนยันสิทธิในการดำรงชีวิตอยูในสิ่งแวดล้อมที่ดี

ลุงเอิบปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และยืนยันว่าตนเองมีหน้าที่ในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชน และจะขอสู้ต่อไปเพื่อลูกหลาน พร้อมตั้งคำถามว่าการทำสิ่งนี้คือการ SLAPP หรือการฟ้องร้องเพื่อปิดปากไม่ให้เคลื่อนไหวหรือไม่ ยืนยันว่าการมีคดีวันนี้จะไม่มีผลต่อการต่อสู้เพื่อทวงคืนอากาศสะอาด รักษาทรัพยากรไว้ให้ลูกหลานได้

EnLAW ชวนตั้งข้อสังเกตว่า การแจ้งข้อหาหมิ่นประมาทกับลุงเอิบกรณีนี้ เข้าข่ายเป็นการการข่มขู่คุกคามนักปกป้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมโดยการ ฟ้องคดีเพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ หรือที่เรียกกันว่า “ฟ้องปิดปาก” (SLAPP : Strategic Lawsuit Against Public Participation) ซึ่งเป็นการฟ้องคดีโดยผู้มีอำนาจ ต่อคนที่วิพากย์วิจารณ์ถึงประเด็นสำคัญต่อสาธารณชน เพื่อข่มขู่หรือปิดกั้นสิทธิเสรีภพในการแสดงความคิดเห็น ของประชาชนหรือชุมชน แต่อย่างไรก็ตามยังคงต้องติดตามกรณีนี้ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม

สาม การปกป้องพื้นที่เกษตรอินทรีย์จากการปนเปื้อมลพิษ เพื่อการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ดี กลับถูกคุกคามถึงชีวิต

ความเสียงของการข่มขู่คุกคามนักปกป้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อช่วงเดือนกันยายน 2565 สุนทร คมคาย หรือ “แหลม” เกษตรกรกลุ่มเกษตรอินทรีย์เขาไม้แก้ว ถูกข่มขู่คุกคามถึงชีวิต โดยมีแหล่งข่าวแจ้งว่ามีมือปืนกำลังติดตามตัวแหลม หลังจากที่ออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นโรงงานกำจัดขยะลักลอบทิ้งน้ำเสียในพื้นที่ อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี

สุนทร คมคาย หรือ “แหลม” เคยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นการจัดการขยะ โดยเฉพาะปัญหาการจัดการขยะในพื้นที่ภาคตะวันออกและพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่มีแนวโน้มว่าจ.ปราจีนบุรี อาจเป็นปลายทางของขยะที่จะถูกนำเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของคนในชุมชนทั้งจากกลิ่นเหม็นและน้ำจากขยะที่ปนเปื้อนลงแหล่งน้ำและพื้นที่เกษตรอินทรีย์

ย้อนไปก่อนหน้านี้เมื่อปี 2564 ก็เคยมีกรณีการฟ้องคดีปิดปาก“สุเมธ เหรียญพงษ์นาม นักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อม กลุ่มฅนรักษ์กรอกสมบูรณ์ จ.ปราจีนบุรี” จากการที่ชาวบ้านในพื้นที่ชุมชนบ้านกรอกสมบูรณ์ ต.กรอกสมบูรณ์ อ.ศรีมหาโพธิ์ ชุมชนบ้านหนองตลาด ต.ลาดตะเคียน และชุมชนเขาไม้แก้ว อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ได้รับกลิ่นเหม็นจากกองขยะที่มีการนำมาวางกองไว้บริเวณบ้านหนองตลาด ต.ลาดตะเคียน ชาวบ้านจำนวนกว่า 400 คน ได้ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ให้มีการตรวจสอบการดำเนินกิจการโรงงานกำจัดขยะที่ส่งผลกระทบกลิ่นเหม็นรบกวนชุมชนและอาจปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ทำให้โรงงานกำจัดขยะยื่นฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาและเรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท แม้ว่าต่อมาโรงงานกำจัดขยะจะถอนฟ้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อมในคดีนี้ แต่ชุมชนยืนยันใช้สิทธิติดตามตรวจสอบผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการประกอบกิจการของโรงงานต่อไป เพื่อยืนยันสิทธิที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี

อ่านเพิ่มเติม

กรณีเหล่านี้ล้วนเป็นความเสี่ยงที่มักจะเกิดขึ้นกับผู้คนหรือชุมชนที่ลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของการคุมคามโดยการใช้กฎหมาย การคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมหรือการข่มขู่คุกคามถึงชีวิต เพื่อให้เกิดความหวาดกลัวต่อการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อยืนยันสิทธิการมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี และแม้ว่าจะเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพภายใต้รัฐธรรมนูญฯ การข่มขู่คุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อมก็มีแนวโน้มเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง การตระหนักถึงเรื่องนี้จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกคความให้ความสนใจและร่วมกันปกป้องคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทุกคน

5- APEC 2022 กับการฟอกเขียวภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เอื้อทุนใหญ่ ทำลายฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

APEC หรือ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) คือ เวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มีเป้าหมายหลัก คือ การส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าการลงทุน รวมถึงความร่วมมือในด้านมิติสังคมและการพัฒนาด้านอื่น ๆ โดยในปี 2665 นี้ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพในการจัดเวทีการประชุมระดับภูมิภาคนี้ ซึ่งถือเป็นโอกาสให้ประเทศไทยได้นำเสนอและส่งเสริมนโยบายต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ

ในการประชุมครั้งนี้ไม่ได้มีข้อตกลงทางเศรษฐกิจใดเกิดขึ้นเป็นพิเศษแต่อย่างใด แต่เป็นโอกาศให้ไทยได้นำเสนอโมเดลเศรษฐกิจที่เป็นวาระแห่งชาติแก่นานาประเทศ คือ โมเดล BCG หรือ การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model) ที่ต้องมีการเชื่อมโยง เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม ภาคประชาชนได้ให้ข้อสังเกตว่าการประชุม APEC และ โมเดล BCG เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ได้มีประชาชนเข้ามาเป็นส่วนร่วม แต่เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนเท่านั้น จะเห็นได้จากคณะกรรมการAPECของไทยที่มีเฉพาะตัวแทนจากกลุ่มทุนใหญ่ของไทยเท่านั้นเป็นผู้ตัดสินใจแนวทางเศรษฐกิจ

โมเดล BCG เอง ที่มีประเด็นปัญหาที่น่ากังวลจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจชีวภาพ ที่เปิดโอกาสให้มีการพัฒนาพืช GMO โดยที่ผู้พัฒนาไม่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น เศรษฐกิจหมุนเวียน ที่มีการยกเว้นผังเมืองแก่โรงไฟฟ้าชีวมวล และสนับสนุนให้ปลูกเฉพาะพืชที่ป้อนโรงไฟฟ้าได้เท่านั้น และเศรษฐกิจสีเขียว ที่สนับสนุนให้มีการใช้พื้นที่ป่าสำหรับคาร์บอนเครดิต โดยที่พื้นที่ป่าส่วนใหญ่เป็นที่อยู่อาศัยทำกินของชุมชนมาแต่ดั้งเดิม ชุมชนอาจได้รับผลกระทบจากการขับไล่หรืออพยพชุมชนออกจากป่า เพื่อใช้ทำคาร์บอนเครดิต

ภาคประชาชนในนาม “ราษฎรหยุดเอเปค 2022” มีข้อสังเกตว่าการจัดประชุม APEC ที่ไทยเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ ขาดการมีส่วนร่วมประชาชน รัฐบาลไร้ความชอบธรรม จนถึงเนื้อหาที่กระทบกับสิทธิของประชาชนในหลากหลายด้าน จึงรวมตัวกันเพื่อแสดงความคิดเห็นไม่เห็นด้วยต่อการประชุมนี้ และมีข้อเรียกร้อง 3 ประการ ได้แก่

1.ต้องยกเลิกนโยบาย BCG และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากเป็นแนวคิดที่เอื้อประโยชน์กับกลุ่มทุนชั้นนำในประเทศ

2.พลเอกประยุทธ์ ไม่มีความชอบธรรมที่จะลงนามข้อตกลงร่วมกับผู้นำกลุ่ม APEC และต้องยุติบทบาทการเป็นประธานในที่ประชุมโดยทันที

3.พลเอกประยุทธ์ ต้องยุบสภา เปิดทางให้มีการเลือกตั้ง จัดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอย่างแท้จริง อันจะทำให้ได้มาซึ่งผู้นำประเทศที่สง่างาม คู่ควรกับการเป็นเจ้าภาพในการประชุมประชาคมโลกในอนาคต

“ราษฎรหยุดเอเปค 2022”ใช้สิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญรับรองคุ้มครองไว้ แต่กลับมีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) เพื่อสลายการชุมนุม ส่งผลให้ประชาชน และผู้สื่อข่าวบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก แต่มีการใช้กำลังเพื่อสลายการชุมนุม ส่งผลให้ประชาชน และผู้สื่อข่าวบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก การที่รัฐบาลไทยปิดกั้นการแสดงออกของประชาชนและใช้กำลังในการสลายการชุมนุม ที่เรียกร้องสิทธิในการดูแล รักษา จัดการทรัพยากรของตนเอง และปฏิเสธการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายของประชาชนเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ทั้งที่ สิทธิการมีชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็นสิทธิมนุษยชนสากล ตามที่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council) ได้รับรองว่าการมีสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ดีต่อสุขภาพ และยั่งยืนเป็นสิทธิมนุษยชน

อ่านเพิ่มเติม

แต่ละเรื่องล้วนมีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงและสะท้อนถึงนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในภาพรวม และเป็นสิ่งที่ประชาชนและคนทำงานด้านสิ่งแวดล้อมอาจต้องติดตามกันต่อไปในปี 2566

ข่าวสารที่เกี่ยวข้อง