มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ชวนย้อนมองสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องและมีความสำคัญด้านสิทธิเสรีภาพ กฎหมายและคดีสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมาตลอดทั้งปี 2563 จาก “5 เรื่องเด่นแห่งปี 2563”

1. การเดินหน้าโครงการ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC ในพื้นที่ 3 จังหวัด ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง แม้ว่าประชาชนจะส่งเสียงคัดค้าน โดยเฉพาะการจัดทำผังเมือง EEC เปลี่ยนพื้นที่เกษตรกรรมให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม เป็นสิ่งสะท้อนถึงการพัฒนาที่ทิ้งประชาชนไว้ข้างหลัง

2.โครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ จ.สงขลา : เปลี่ยนผังเมืองสีเขียวเป็นสีม่วงเพื่อรองรับนิคมอุตสาหกรรม แต่ทำลายฐานทรัพยากรและความสมบูรณ์ของระบบนิเวศอย่างทะเลจะนะ

3. ปัญหาการจัดการขยะ : หนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมที่อยู่คู่กับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะการทะลักเข้ามาของขยะจากต่างประเทศ การเพิ่มขึ้นของโรงงานรีไซเคิลขยะและธุรกิจจัดการขยะอื่นๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้กิดความเสี่ยงในการก่อมลพิษมากขึ้นตามไปด้วย ปัญหาขยะจึงเป็นอีกหนึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีความรุนแรงมากในปี 2563

4. ศาลจังหวัดสตูลพิพากษายกฟ้อง : กรณีการชุมนุมคัดค้านให้มีการยกเลิกการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโครงการท่าเรือปากบารา โดยเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ สมเหตุสมผลว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นมีอยู่จริงและไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา

5. การฟ้องคดีแบบกลุ่ม (Class Action) เนื่องจากผลกระทบจากมลพิษขอริษัทเอกชน : ศาลแพ่ง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม มีคำพิพากษา ให้ชาว ต.น้ำพุ อ.เมือง จ.ราชบุรี ชนะคดีที่ยื่นฟ้องบริษัทแวกซ์ กาเบ็จฯ หลังต่อสู้มาเกือบ 2 ทศวรรษ โดยสั่งให้บริษัทชดเชยและฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้น

แต่ละเรื่องล้วนมีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงและสะท้อนถึงนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในภาพรวม และเป็นสิ่งที่ประชาชนและคนทำงานด้านสิ่งแวดล้อมอาจต้องติดตามกันต่อไปในปี 2564

ขอบคุณภาพจาก : บางปะกง สายน้ำแห่งชีวิต / 1OFOTOS

1.การเดินหน้าโครงการ EEC ที่ทิ้งประชาชนไว้ข้างหลังการพัฒนา

เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC (Eastern Economic Corridor) โครงการพัฒนาเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออก ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา โดยรัฐได้มีมาตรการในการกระตุ้นการลงทุนจากต่างชาติโดยให้สิทธิพิเศษและมาตรการส่งเสริมต่าง ๆ เพื่อให้ธุรกิจขนาดใหญ่และต่างชาติเข้ามาเช่าพื้นที่เพื่อก่อตั้งโรงงานผลิตในอุตสาหกรรมตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมาย เช่น การลดหย่อยหรือยกเว้นภาษี ให้ชาวต่างชาติสามารถถือครองที่ดินได้ ให้ชาวต่างชาติเช่าที่ดินภายใน EEC เป็นเวลา 50 ปี และสามารถต่ออายุเมื่อได้รับการอนุมัติอีก 49 ปี เป็นต้น ภายใต้การกำกับของกฎหมายเฉพาะ คือ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 ซึ่งได้กำหนดให้ต้องมีการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือเรียกกันสั้นๆว่า “แผนผังฯ EEC” ซึ่งประชาชนในพื้นที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนสีผังเมืองที่กำหนดประเภทการใช้ประโยชน์ในที่ดิน โดยในหลายกรณีเป็นการเปลี่ยนจากพื้นที่เกษตรกรรมให้กลายเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม นำมาสู่ข้อกังวลเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่จะตามมา

ภายหลังการจัดทำและประกาศใช้ แผนผังฯ EEC ครอบคลุมพื้นที่ ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ส่งผลให้ ยกเลิกการบังคับใช้ผังเมืองเดิมที่ใช้อยู่ในพื้นที่ทุกฉบับและให้บังคับใช้แผนผังฯ EEC ซึ่งมีข้อกำหนดที่เปิดกว้างสำหรับการประกอบกิจการอุตสาหกรรม อนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เช่น โรงงานเกี่ยวกับการกำจัดและหรือทำลายขยะได้ในเกือบทุกพื้นที่ในบังคับของแผนผังฯ EEC ทำให้สิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกมีความเสี่ยงที่จะทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากมลพิษจากอุตสาหกรรม มลพิษจากปัญหาขยะอุตสาหกรรมที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น และกระทบถึงการจัดสรรทรัพยากรน้ำในภาคตะวันออกที่ต้องเอื้อมาหนุนภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มมากขึ้นทั้งที่ในปัจจุบันการบริหารจัดการน้ำในภาคตะวันออกก็ยังทำได้ไม่ทั่วถึง โดยรวมทั้งหมดย่อมส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและการใช้ประโยชน์ในที่ดินของประชาชนจำนวนมาก ทั้งผืนดิน อากาศ น้ำ และทะเล กระทบถึงอาชีพและคุณภาพชีวิตของประชาชนจำนวนมา

หนึ่งในกระบวนการสำคัญหลายอย่างของหลักการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินรวมทั้งโครงการของรัฐต่าง ๆ คือหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งแผนผังฯดังกล่าวไม่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลร่างแผนผังและข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียได้รับทราบล่วงหน้า ไม่ได้ดำเนินการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ตามหลักวิชาการผังเมืองและหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง รวมถึงไม่มีการประชาสัมพันธ์การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นและไม่ครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสียที่ใช้ประโยชน์ในที่ดินอยู่เดิม

ทั้งในระหว่างดำเนินกระบวนการจัดทำแผนผังฯEEC เครือข่ายภาคประชาชนยังได้มีการรณรงค์ ร้องเรียน คัดค้านและมีข้อเสนอแนะต่อแผนผังฯอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่พบว่าไม่มีการปรับปรุงแก้ไขแต่อย่างใด ส่งผลให้แผงผังฯที่บังคับใช้อยู่ในขณะนี้ขาดข้อมูลและรายละเอียดที่สอดคล้องกับระบบนิเวศ ศักยภาพและลักษณะด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต และภูมิปัญญาอันหลากหลายของชุมชนและสังคม รวมทั้งโครงขนาดในระดับภูมิภาคเช่นนี้สมควรเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดให้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment Guideline : SEA) เพื่อประเมินและหาทางเลือกที่เหมาะสมในการดำเนินการต่าง ๆ

ในวันที่ 16 ก.ค.63 เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกที่ได้รับผลกระทบความเสียหายจาก “แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินฯ EEC” ได้ยื่นฟ้องคดี คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ในฐานะที่ออกประกาศเรื่องแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินฯ และคณะรัฐมนตรีต่อศาลปกครองสูงสุด นับจากวันยื่นคำฟ้องจนถึงปัจจุบันเป็นเวลามากกว่า 5 เดือน แต่ปัจจุบันศาลปกครองสูงสุดยังไม่มีคำสั่งรับฟ้องคดีนี้แต่อย่างใด เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกจึงได้ยื่นหนังสือถึงประธานศาลปกครองสูงสุดในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 เพื่อขอให้พิจารณาสอบถามข้อขัดข้องและหรือเร่งรัดการพิจารณาคดีนี้โดยเร็ว เพื่อคุ้มครองสิทธิการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีของผู้ฟ้องคดีและประชาชนในพื้นที่ แต่นับจนถึงวันนี้ศาลก็ยังไม่มีคำสั่งใด ๆ

และถึงที่สุดแล้ว คงต้องติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิดว่าศาลปกครองจะมีคำสั่งอย่างไร ต่อคดีที่มุ่งคุ้มครองสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม และตรวจสอบกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินโครงการของรัฐต่อไป

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม :
O ข้อมูลเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินภายหลังบังคับใช้ผังเมือง EEC ในพื้นที่ 3 จังหวัด: https://enlawfoundation.org/newweb/?p=5114

O ภาค ปชช. ยื่นฟ้องศาลปกครองฯ เพิกถอนผังที่ดินEEC : https://news.thaipbs.or.th/content/294641

O สรุปประเด็นคำฟ้อง : https://www.facebook.com/Enlawthai2001/posts/4047717321968035

O ไทม์ไลน์สถานะคดี : https://www.facebook.com/Enlawthai2001/posts/4650495685023526

O เครือข่ายประชาชนยื่นหนังสือขอให้เร่งรัด : https://www.facebook.com/Enlawthai2001/posts/4663250280414733O

O EEC มีอะไรเข้าใจง่ายๆภายใน 5 นาที : https://www.bangkokbanksme.com/en/eec-why

O สิทธิประโยชน์ – ลงทุนใน อีอีซี : https://eeco.or.th/th/incentives-schemes

ขอบคุณภาพจาก : ประชาไท Prachatai.com

2. การรุกคืบโครงการขนาดใหญ่ ที่ทำลายความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ : ทะเลจะนะ ภายใต้โครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ จ.สงขลา

“ทะเลจะนะ” พื้นที่ความอุดมสมบูรณ์ทางระบบนิเวศ แหล่งผลิตอาหารทะเลที่สำคัญของภาคใต้ แหล่งความมั่นคงทางอาหารเชื่อมเส้นทางเศรษฐกิจไปถึงประเทศอาเซียน กำลังถูกเปลี่ยนให้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มอบอำนาจให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นผู้ดำเนินการ ภายใต้ชื่อโครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งพื้นที่กว่า 16,753 ไร่

โครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ จ.สงขลา ถือเป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดของภาคใต้ โดยจะมีการสร้างท่าเรือน้ำลึก รางรถไฟเชื่อมโยงท่าเรือ โรงไฟฟ้า และนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยงสูงที่จะสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศอย่างรุนแรงอย่างที่ไม่อาจเอาคืนกลับมาได้ ไม่ว่าจะใช้เวลาฟื้นฟูอีกกี่ปีก็ตาม ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับประชาชนในพื้นที่ในหลายมิติ เช่น การกัดเซาะชายฝั่งทะเล มลพิษ สูญเสียแหล่งจับสัตว์น้ำของชาวประมงพื้นบ้าน เสียพื้นที่เพาะปลูก รวมถึงสังคมวัฒนธรรมของชุมชนมุสลิมที่จะต้องเปลี่ยนแปลง ทั้งยังขาดความเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งส่วนมากประกอบอาชีพเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ การเกษตร และการประมง ประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการนี้จึงออกมารวมตัวกันคัดค้านในนาม “เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น”

หนึ่งในเรื่องที่สำคัญที่สุดของโครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ จ.สงขลา การที่คือ ศอ.บต. ซึ่งมีหน้าที่ดำเนินการโครงการฯนั้นเป็นหน่วยงานด้านความมั่นคงที่ไม่ได้มีหน้าที่โดยตรงในด้านการดำเนินโครงการพัฒนา ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ และด้านการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนเช่นเดียวกับหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อกำกับดูแลโครงการพัฒนาของรัฐเป็นการเฉพาะ โดยปกติแล้วการดำเนินโครงการที่มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสูงนั้นจำเป็นต้องมีการศึกษา ประเมิน รวมทั้งต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมอย่างรอบด้าน เพื่อตัดสินใจหาทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด

แต่ปรากฏว่าในเวทีรับฟังความคิดเห็นฯของโครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ จ.สงขลา ที่จัดโดย ศอ.บต. มีการตั้งด่านสกัดและเตรียมกำลังพลจากสถานีตำรวจจังหวัดใกล้เคียงพร้อมอุปกรณ์ควบคุมฝูงชน ขวางไม่ให้ประชาชนกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยอย่างเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็นตามสิทธิที่พึงมี

นอกจากนี้ยังมีการแก้ไขผังเมืองรวมจังหวัดสงขลาตามมติครม. เปลี่ยนจากพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่การเกษตรให้กลายเป็นพื้นที่สีม่วงหรือเปลี่ยนเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมเพื่อให้สามารถสร้างนิคมอุตสาหกรรมในอำเภอจะนะได้ ซึ่งกระบวนการแก้ไขผังเมืองรวม ก็ไม่ได้ทำตามที่กฎหมายผังเมืองกำหนดไว้ ซึ่งการแก้ไขผังเมืองนี้ขัดต่อความเหมาะสมของพื้นที่ทั้งด้านเกษตรกรรมและทรัพยากรทางทะเล อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น

การเดินหน้าโครงการฯ โดยไม่ฟังเสียงประชาชน ทำให้เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เดินทางจาก จ.สงขลา มาชุมนุมปักหลักที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 10 ธันวาคม 2563 ข้างทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดโครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ จ.สงขลา พร้อมทั้งรณรงค์ประเด็นสิ่งแวดล้อมและการกำหนดโครงการพัฒนาของรัฐบาลตลอดระยะเวลาชุมนุม จนวันที่ 15 ธันวาคม ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาผลกระทบต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมเพื่ออนาคตจะนะ และดึงทั้งกลุ่มสนับสนุนและกลุ่มคัดค้านโครงการฯเข้ามาร่วมหารือแนวทางการแก้ปัญหาการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ซึ่งเป็นการสั่งให้ชะลอการประชุมแก้ไขผังเมืองรวมจังหวัดสงขลาออกไปก่อน

แม้ว่ากระบวนการแก้ไขผังเมืองรวมจังหวัดสงขลาจะชะลอออกไปตามมติคณะรัฐมนตรี แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าโครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ จ.สงขลา จะถูกระงับไป ยังคงต้องติดตามว่าคณะกรรมการศึกษาผลกระทบฯดังกล่าว จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนชาวจะนะได้มีส่วนร่วมในการออกแบบทิศทางการพัฒนาอำเภอจะนะได้อย่างแท้จริงหรือไม่

ข้อมูลเพิ่มเติม :

O ที่มาของนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา และการเคลื่อนไหวของชาวบ้านจะนะ : https://www.facebook.com/414368681969602/posts/4749738471765913/?extid=0&d=n

O ความเห็นทางกฎหมาย กรณีความไม่ถูกต้องชอบธรรมของกระบวนการแก้ไขเปลี่ยนแปลงผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา : https://enlawfoundation.org/newweb/?p=5186…

O เหตุผลที่ชาวบ้านต้องการหยุด “ผังเมืองสีม่วง” https://www.seub.or.th/bloging/สถานการณ์/นิคมอุตสาหกรรมจะนะ-หาย/

O 5 คำถามต่อเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ. จะนะ จ. สงขลา : https://tdri.or.th/2020/10/chana-industrial-estate/…

O ประชาพิจารณ์นิคมอุตสาหกรรมจะนะ กลุ่มคัดค้านถูกสกัดร่วมเวที : https://themomentum.co/jana-industrial-estate-project/…

O “อำนาจศักดินาไทย ใครเป็นใครที่รุมกินโต๊ะแผ่นดินจะนะ” : https://www.facebook.com/savechana/posts/205897194454421

O กลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นรับทราบมติ ครม. พอใจชะลอเปลี่ยนสีผังเมือง ‘ธรรมนัส’ ยันไม่ได้ยุติ : https://www.matichon.co.th/politics/news_2485993

ขอบคุณภาพจาก : Thai PBS

3.ปัญหาการจัดการขยะหนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมที่อยู่คู่กับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน

ในปี 2563 นี้เราเห็นปัญหาอยู่สองกองใหญ่ๆ คือกองของปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้น และกองของการจัดการบริหารขยะที่เพิ่มขึ้นอย่างที่ไม่ได้แสดงประสิทธิภาพให้เรามั่นใจได้ว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง

แม้ปีนี้มีการรณรงค์ให้ลดการใช้พลาสติกอย่างจริงจัง แต่ปริมาณขยะพลาสติกกลับเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการนำเข้าขยะจำนวนมหาศาลจากต่างประเทศเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบสำหรับโรงงานขยะในไทย

เนื่องจากจีนออกประกาศห้ามนำเข้าขยะจากต่างประเทศเป็นการเร่งด่วน ส่งผลให้ขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมหาศาลไหลทะลักไปสู่ประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ใช่แค่ขยะแต่หมายถึงการทำให้โรงงานรีไซเคิลขยะในจีนจำนวนมากต้องปิดตัว และทยอยย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นรวมถึงประเทศไทย การนำเข้าขยะพลาสติกของไทยในปี 2561 มีปริมาณเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่าจาก 69,500 ตันในปีก่อนที่จีนจะห้ามนำเข้าขยะ เป็นกว่า 552,912 ตัน และยังพบการลักลอบนำเข้าขยะอย่างผิดกฎหมาย รวมทั้งการสำแดงบัญชีสินค้าเท็จอีกจำนวนมาก ในบางครั้งมักมีการปะปนขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้มาด้วยจึงฉวยโอกาสช่วงที่เปิดให้นำเข้าลักลอบนำขยะเหล่านั้นเข้ามาในไทย และปริมาณไม่น้อยไม่สามารถผลิตเป็นพลาสติกใหม่ได้ สุดท้ายต้องถูกกำจัดด้วยการฝังกลบ เผา หรือทิ้งลงทะเล

การทะลักเข้ามาของขยะต่างประเทศทำให้รัฐบาลประกาศให้ปัญหาขยะเป็นวาระแห่งชาติเมื่อปี 2561 พร้อมกับกำหนดให้ประเทศไทยยกเลิกการนำเข้าวันที่ 30 ก.ย. 2563 เป็นต้นไป ภายใต้เสียงคัดค้านจากผู้ประกอบการธุรกิจการจัดการขยะโดยให้เหตุผลว่า วัตถุดิบภายในประเทศไม่เพียงพอ มีราคาสูง คุณภาพต่ำและ มีการปนเปื้อนสูง ซึ่งไทยยังไม่มีมาตรการที่เพียงพอในการจัดการขยะที่ดีตั้งแต่ต้นทาง

อย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว สิ่งที่ทะลักเข้ามาจากจีนไม่ใช่เพียงแค่ขยะเท่านั้น แต่ยังมีโรงงานรีไซเคิลขยะและธุรกิจจัดการขยะอื่นๆที่เพิ่มขึ้นมาในไทยด้วยเป็นเงาตามตัว โดยเฉพาะในภาคตะวันออก 5 จังหวัด ชลบุรี ระยอง ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และ สระแก้ว พบว่ามีโรงงานประกอบกิจการจัดการขยะรวม 725 โรง พบว่าแนวโน้มการเพิ่มขึ้นสัมพันธ์กับการนำเข้าขยะจากต่างประเทศ และสูงขึ้นมากหลังมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 4/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท ซึ่งอนุญาตให้สร้างโรงงานประเภทนี้ในพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่สำหรับเกษตรกรรมได้โดยไม่ติดเงื่อนไขของผังเมือง

ยังไม่รวมถึงกิจการเกี่ยวกับขยะที่มีขนาดกิจการที่เล็ก จนไม่ถูกนับว่าเป็นโรงงาน ภายหลังจากมีการบังคับใช้พระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562 ที่แก้ไขนิยาม “โรงงาน” ทำให้โรงงานขนาดต่ำกว่า 50 แรงม้า หรือกิจการที่มีคนงานน้อยกว่า 50 คน ไม่ถือเป็น “โรงงาน” ทำให้กิจการขนาดเล็กจำนวนมากหลุดออกจากการควบคุมกำกับดูแลตามกฎหมายโรงงาน ซึ่งแม้จะมีขนาดเครื่องจักรหรือจำนวนคนงานต่ำกว่าแต่หลายกิจการก็ยังสามารถก่อให้เกิดผลกระทบมลพิษร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้การแก้ไขกฎหมายโรงงานยังยกเลิกอายุและการขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ที่เคยเป็นมาตรการสำคัญในการตรวจสอบทบทวนมาตรฐานสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของโรงงาน รวมถึงผลกระทบที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขด้วย

การเพิ่มขึ้นของโรงงานขยะจำนวนมากโดยไม่ได้มีการจัดการแบ่งโซนและมีระบบรองรับไว้ตั้งแต่ต้น ขาดประเมินศักยภาพพื้นที่ในการรองรับมลพิษและการประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นที่ไม่ใช่แค่การประเมินในระดับโครงการแต่หมายถึงการประเมินผลกระทบภาพรวมในระดับยุทธศาสตร์ สิ่งเหล่านี้ทำให้ความเสี่ยงในการก่อมลพิษยิ่งชัดเจนขึ้นตามไปด้วย

ปัญหาขยะจึงเป็นอีกหนึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีความรุนแรงมากในปี 2563 และเป็นเรื่องที่ต้องจับตากันต่อไปทั้งโรงงานจัดการขยะที่เพิ่มขึ้น และยังต้องติดตามความชัดเจนว่าไทยยังต้องนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศหรือไม่ หลังโควตานำเข้าทั้งหมดสิ้นสุดลง รวมถึงมาตรการดูแลของภาครัฐที่ยังไม่มีความชัดเจนในการจัดการการลักลอบนำเข้าขยะ การกำหนดผังเมืองสำหรับการจัดทำโรงงานขยะโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน รวมถึงการควบคุมดูแลผลกระทบจากโรงงานขยะที่ประกอบกิจการอยู่แล้ว จึงเป็นหนึ่งประเด็นที่ร่วมกันติดตามเป็นอย่างยิ่งก่อนที่ปัญหานี้จะขยายใหญ่ขึ้นจนไม่สามารถแก้ไขได้

ที่มา/ข้อมูลเพิ่มเติม :

O สรุปคำสั่งหัวหน้า คสช. 4/2559 ยกเว้นผังเมืองสำหรับกิจการพลังงานและขยะ : https://enlawfoundation.org/newweb/?p=2688

O พ.ร.บ.โรงงานฉบับใหม่บังคับใช้แล้ว: ย้อนฟังเสียงคัดค้านของประชาชน (ที่ สนช. ไม่สนใจรับฟัง) : https://enlawfoundation.org/newweb/?p=4906

O เปิดปม : ยุทธศาสตร์พลาสติก : https://news.thaipbs.or.th/content/298075

Oแถลงการณ์ ข้อเสนอต่อมาตรการห้าม/ควบคุมการนำเข้าเศษพลาสติก และการพัฒนาระบบคัดแยกขยะในประเทศให้ได้คุณภาพดีขึ้น : https://www.greenpeace.org/…/plastic-statement-ban…/

O ขยะพลาสติก: เกิดอะไรขึ้นเมื่อไทยยกเลิกการนำเข้าขยะจากต่างประเทศ : https://www.bbc.com/thai/thailand-54445023

O โควตาขนขยะสิ้น ก.ย.63 จับตา 81 ประเทศจ่อเข้าไทย : https://www.thairath.co.th/news/local/1933941

4. ศาลจังหวัดสตูล ยกฟ้องตัวแทนชุมชน กรณีชุมนุมคัดค้านโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล โดยเห็นว่าเป็นการชุมชุมโดยสงบและพื้นที่อ่าวปากบาราเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกันและมีการใช้สอยประโยชน์โดยประชาชน และมีทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นประโยชน์สาธารณะจึงไม่สมควรให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือหน่วยงานใดเป็นผู้มาดำเนินการที่ก่อให้เกิดความเสียหาย

คดีนี้สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2560 เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาสตูล – สงขลามีการจัดกิจกรรมบริเวณ ‘ลาน 18 ล้าน’ อ.ละงู จ.สตูล กระทั่งช่วงเย็น มีข้อมูลและภาพถ่ายว่ามีกลุ่มผู้สนับสนุนโครงการท่าเรือน้ำลึกเข้าไปบริเวณสถานที่จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (เวที ค.1) โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา จึงกังวลว่าการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจะไม่โปร่งใส และรวบรัดเฉพาะผู้เห็นด้วยกับโครงการ

โดยทางเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาสตูล – สงขลา จึงเดินทางไปที่โรงเรียนปากบาง สถานที่จัดเวที ค.1 ในคืนวันที่ 15 มี.ค. 2560 เพื่อขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยุติการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นออกไปก่อน โดยเป็นการเดินทางไปอย่างสงบและเปิดเผย และไม่มีการทำลายทรัพย์สินของทางราชการ ขณะที่ภายในโรงเรียนมีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจอยู่ โดยไม่มีการขับไล่หรือบอกให้ออกจากโรงเรียนแต่อย่างใด

กระทั่งต่อมาได้มีการดำเนินคดีกับสมาชิกเครือข่ายฯ จำนวน 9 ราย ได้แก่ ไกรวุฒิ ชูสกุล, เอกชัย อิสระทะ, สมบูรณ์ คำแหง, วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี, ปาฎิหาริย์ บุญรัตน์, เชาวลิต ชูสกุล, เจ๊ะนะ วัฒนพันธุ์, หมัด ระหมัดยะ และ เจะปิ อนันทบริพงษ์ ข้อหา ร่วมกันบุกรุกในเวลากลางคืน และร่วมกันบุกรุก ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดสตูล

ผลคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2563 ทาง Community Resource Centre Foundation – มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ทนายความในคดีและทนายความจากเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนภาคใต้ รายงานว่าศาลจังหวัดสตูล อ่านคำพิพากษาคดีปากบารา ที่พนักงานอัยการจังหวัดสตูล ยื่นฟ้องจำเลยทั้ง 9 กรณีคัดค้านการจัดเวที ค.1 วันที่ 16 มีนาคม 2560
โดยศาลเห็นว่า ผู้เสียหายหรือกรมเจ้าท่า แม้เป็นผู้ครอบครองหอประชุมสถานที่จัดรับฟังความคิดเห็น แต่มีการปิดประตูห้องประชุมโดยมีเจ้าหน้าที่มาดูแลความปลอดภัย โดยที่ผู้ชุมนุมไม่ได้มีการฝ่าแนวและเข้าไปยึดพื้นที่ที่หอประชุม ซึ่งจะมีการจัดประชุมแต่อย่างใด จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิต่อผู้เสียหาย ในการเข้าออกของสถานที่จัดประชุม

พื้นที่อ่าวปากบาราเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกันและมีการใช้สอยประโยชน์โดยประชาชน และมีทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นประโยชน์สาธารณะจึงไม่สมควรให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือหน่วยงานใดเป็นผู้มาดำเนินการที่ก่อให้เกิดความเสียหาย การที่จะจัดโครงการใดที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพไม่ว่าจะเป็นการระเบิดภูเขาหินการมาปิดกั้นทางในทะเล จะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพและก่อให้เกิดผลกระทบอย่างยิ่ง จึงควรมีการศึกษาอย่างรอบด้าน ไม่ใช่มุ่งแต่ประโยชน์ในทางการขนส่งเท่านั้น แต่กลับปรากฏว่าในทางนำสืบโจทก์ไม่อาจนำสืบว่ามีการศึกษาอย่างครบถ้วนรอบด้านแล้ว ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

การเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมและจำเลยทั้ง 9 มีมานานแล้วโดยพยานโจทก์ได้นำสืบมาตั้งแต่ต้นระบุว่ามีการยื่นหนังสือถึงหน่วยงาน ถึงผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ก็ไม่อาจที่จะมีคำสั่งหรือไม่มีอำนาจตัดสินใจในการพิจารณาเกี่ยวกับการประชุมรับฟังความคิดเห็นได้ และเมื่อมีการเรียกร้องก็กลับไม่มีผู้มีอำนาจเข้ามาตัดสินใจและดูแลได้

การเข้าไปของกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นเพียงการเข้าไป ต่อรองให้มีการยกเลิกยกเลิกการรับฟังความคิดเห็นไปก่อนเพื่อให้เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ก็ไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจโครงการแต่อย่างใด
อีกทั้ง การชุมนุมเป็นการดำเนินการโดยสงบและปราศจากอาวุธและสมเหตุสมผลว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นมีอยู่จริงและไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาและและความขัดแย้งดังกล่าวที่เกิดขึ้น จึงเห็นว่ากลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้เข้าไปยึดพื้นที่ในการจัดประชุมจึงถือว่าไม่มีเจตนาในการบุกรุกสถานที่จัดประชุม

ข้อมูลจาก : มูลนิธิมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ :

https://theactive.net/news/20201225/…

O Facebook : Community Resource Centre Foundation – มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน

5. การฟ้องคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ด้านสิ่งแวดล้อม คดีแรกของประเทศไทย ที่ประชาชนในพื้นที่หมู่ที่ 1 ต.น้ำพุ อ.เมืองราชบุรี จ.ราชบุรี ได้ร่วมกันฟ้องร้องต่อศาลว่าได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการโรงงานรีไซเคิลของบริษัทฯ ภายหลังจากที่ได้ร้องเรียนต่อหน่วยงานต่างๆ มาเป็นเวลาเกือบ 20 ปี

สืบเนื่องมาจาก ชาวตำบลน้ำพุ จังหวัดราชบุรี ชนะคดีที่รวมกันฟ้องแพ่ง ต่อโรงงานกำจัดขยะสารเคมีในพื้นที่ ซึ่งชาวบ้านสงสัยมาตลอด 20 ปีว่า ปล่อยสารเคมีรั่วไหลลงลำห้วย กรณีนี้ไม่เพียง นำไปสู่คำพิพากษาให้ชดใช้ เยียวยา และฟื้นฟูเท่านั้น แต่เป็นครั้งแรกของประเทศ ที่มีการรวมกลุ่มฟ้องคดีด้านสิ่งแวดล้อม จากกรณีมีผู้เสียหายหลายคน อันเกิดจาก ผู้ถูกฟ้องรายเดียวกัน

โดยเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2563 มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) องค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งติดตามกรณีนี้มาเป็นเวลานาน และสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม (LEPA) ทนายความคดีนี้ รายงานว่า

ศาลแพ่ง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม พิพากษาคดีกลุ่มด้านสิ่งแวดล้อมหมายเลขดำที่ สว4/2560 ระหว่างนายธนู งามยิ่งยวด โจทก์ที่ 1 และพวก รวม 3 คน กับบริษัทแวกซ์ กาเบจ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด (จำเลยที่ 1) และกรรมการบริษัทแวกซ์ กาเบ็จฯ เป็นผู้มีส่วนรู้เห็น กำกับดูแล (จำเลยที่ 2) ซึ่งคดีดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากกรณีที่ประชาชนในพื้นที่หมู่ที่ 1 ต.น้ำพุ อ.เมืองราชบุรี จ.ราชบุรี

โดยพิพากษาให้บริษัทแวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด และกรรมการบริษัท ร่วมกันรับผิดชอบค่าเสียหายด้านสุขภาพ และค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม

โดยศาลได้มีคำพิพากษาว่า จากพยานหลักฐานของโจทก์ในทางนำสืบ จากผู้เชี่ยวชาญและส่วนราชการเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ก่อให้เกิดมลพิษและการปนเปื้อนของสารเคมีในพื้นที่หมู่ที่ 1 ตำบลน้ำพุจริงโดยจำเลยที่2 ในฐานะกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 ถือว่าเป็นผู้มีส่วนรู้เห็นกำกับดูแลและ ได้รับประโยชน์จากกิจการของจำเลยที่1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย

ในส่วนของค่าชดเชยความเสียหาย ศาลได้พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นจำนวน 666,425 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นจำนวน 508,500 บาท และโจทก์ที่ 3 เป็นจำนวน 135,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม

สำหรับสมาชิกกลุ่ม คือประชาชนในพื้นที่หมู่ที่ 1 ต.น้ำพุ อ.เมืองราชบุรี จ.ราชบุรี ประมาณ 1,000 คน ศาลได้กำหนดค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสองต้องร่วมรับผิด ดังนี้ ค่ารักษาพยาบาลต่อสมาชิกกลุ่มศาลได้กำหนดจากเกณฑ์โดยแบ่งสมาชิกกลุ่มออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกันคือ

1.สมาชิกกลุ่มที่ตรวจไม่พบสารโลหะหนัก ให้ได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลรายละ 5,000 บาทต่อปี ในปี 2559 และ 2560 รวม 2 ปี เป็นเงิน 10,000 บาท และค่ารักษาพยาบาลนับตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปี 2565 ปีละ 5,000 บาท รวม 5 ปี เป็นเงิน 25,000 บาท

2. สมาชิกกลุ่มที่ตรวจพบสารโลหะหนักในร่างกาย ให้ได้รับเงินค่ารักษาพยาบาล รายละ 10,000 บาทต่อปี ในปี 2559 และ 2560 รวม 2 ปี เป็นเงิน 20,000 บาท และค่ารักษาพยาบาลนับตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปี 2565 ปีละ 10,000 บาท รวม 5 ปี เป็นเงิน 50,000 บาท

3. สมาชิกกลุ่มที่พบสารโลหะหนักในร่างกายเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ให้ได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลรายละ 15,000 บาทต่อปี ในปี 2559 และปี 2560 รวม 2 ปี เป็นเงิน รวม 30,000 บาท และค่ารักษาพยาบาลนับตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปี 2565 ปีละ15,000 บาท รวม 5 ปี เป็นเงิน 75,000 บาท
ในส่วนของค่าเสียหายต่อสุขภาพและอนามัย ศาลกำหนดให้เฉพาะสมาชิกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการมีสารโลหะหนักในร่างกายเกินกว่าค่าที่กฎหมายกำหนดโดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มที่มีอายุเกินกว่า 15 ปี รายละ 30,000 บาท และ 2. กลุ่มที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี รายละ100,000 บาท ทั้งนี้ จะต้องมีผลการตรวจและรับรองโดยแพทย์มาแสดง

ในส่วนของค่าเสียหายต่อพื้นที่การเกษตร ศาลได้กำหนดค่าเสียหายให้แก่สมาชิกกลุ่มต่อครัวเรือนในจำนวนเนื้อที่ไม่เกิน 30 ไร่ ไร่ละ 1,690 บาทต่อปีสำหรับพืชสวน และไร่ละ 1,148 บาทต่อปีสำหรับพืชไร่ เป็นเวลา 2 ปี นอกจากนั้นยังกำหนดให้ชำระค่าเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตรตามจริง แต่ไม่เกิน 30 ไร่ต่อครัวเรือน โดยพืชจำพวกลำไยให้ชำระเป็นเงินไร่ละ 19,945 บาท มะม่วงไร่ละ 11,966 บาท มะนาวไร่ละ 7,274 บาทต่อไร่ มะละกอ 12,175 บาทต่อไร่ มันสัปปะหลัง 4,610 บาทต่อไร่ พืชผักต่างๆ 7,760 บาทต่อไร่ และเห็ด 44,510 บาทต่อโรงเรือน ทั้งนี้ ในการขอรับชำระหนี้จะต้องมีผลตรวจสอบมายืนยัน
สำหรับคำขอของโจทก์ ที่ขอให้จำเลยชำระเงินเข้ากองทุนเพื่อฟื้นฟู ของประชาชนในพื้นที่หมู่ที่ 1 ต.น้ำพุ นั้น ศาลพิจารณาว่าประชาชนหมู่ที่ 1 ยังไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลหรือกลุ่มบุคคลตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม จึงไม่อาจให้ได้ แต่ไม่ตัดสิทธิหากจะมีการดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลและฟ้องเรียกร้องในภายหลัง

ในส่วนที่โจทก์ขอให้มีการฟื้นฟูความเสียหายของสภาพแวดล้อมนั้น ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันฟื้นฟูสภาพแวดล้อมของดินและน้ำ ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ให้กลับมาเป็นสภาพปกติและเป็นไปตามมาตรฐาน ด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสอง หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติ ให้โจทก์ดำเนินการจัดหาบุคคลเข้ามาพื้นฟูและให้จำเลยทั้งสองชำระค่าใช้จ่าย

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณารายละเอียดของการดำเนินการแล้ว จะเห็นว่ายังคงอยู่ในขั้นคำตัดสินของศาล ผู้ได้รับผลกระทบทุกคนยังต้องรวบรวมหลักฐานความเสียหายทางสุขภาพและด้านอื่นๆ มาประกอบการยื่นขอรับเงินเยียวยา ซึ่งตนมองว่าเป็นเรื่องที่ยากลำบาก เนื่องจากปัญหามลพิษและความเดือดร้อนนั้นเริ่มเกิดขึ้นมาตั้งแต่ 19 ปีที่แล้ว ทำให้ยากต่อการหาหลักฐาน การบังคับคดีให้เกิดความเป็นธรรมจึงเป็นเรื่องยากมาก

คดีนี้ถือเป็นกรณีตัวอย่างที่ดีให้แก่ประชาชนในอีกหลายพื้น ผู้ที่กำลังต่อสู้เพื่อรักษาท้องถิ่น ทั้งด้านสภาพแวดล้อมและวิถีชุมชนควรศึกษาเป็นกรณีตัวอย่าง โดยเฉพาะพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรม เพราะปัจจุบันอุตสาหกรรมรีไซเคิล ทั้งของเสียอันตราย ของเสียทั่วไป กำลังขยายตัวมากในหลายพื้นที่ของประเทศไทย จึงเป็นเรื่องต้องช่วยกันระวังและตรวจสอบ ยิ่งภายใต้ยุคของ พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2562 ที่เอื้อต่อการลงทุนโดยมองไม่เห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อม และภายใต้การไร้วิสัยทัศน์ของผู้นำผู้บริหารของกระทรวงอุตสาหกรรม และกรมโรงงานอุตสาหกรรมที่มีกำกับดูแลภายใต้ประโยชน์และอำนาจที่ทับซ้อนมาตั้งแต่เริ่มมีหน่วยงานนี้เกิดขึ้น หากกรมโรงงานอุตสาหกรรมกระทำหน้าที่ของตนเองได้ดี ไม่มีประโยชน์เคลือบแฝง ปัญหาอย่างที่ชาวบ้านน้ำพุและทุกๆ พื้นที่ที่เดือดร้อนกันอยู่ก็จะไม่เกิดขึ้นแน่นอน

ข้อมูลจาก : มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH)สมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม (LEPA)
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ :
https://www.facebook.com/…/a.26006649…/3536468786402960/

บทความที่เกี่ยวข้อง