4 องค์กรประชาสังคม เรียกร้องกฤษฎีกา ขยายเวลารับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ

4 องค์กรภาคประชาสังคมขับเคลื่อนความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม
ส่งหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเรียกร้องให้ขยายเวลาพร้อมทั้งต้องมีข้อมูลประกอบการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. …

ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เผยแพร่ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. …. โดยได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ของหน่วยงาน ตั้งแต่วันที่
22 กันยายน 2565 ถึงวันที่  7 ตุลาคม 2565 นั้น

มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) กรีนพีซ ประเทศไทย (Greenpeace Thailand) และ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในฐานะองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานร่วมกันเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม

มีความเห็นร่วมกันว่ากระบวนการยกร่างและการรับฟังความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. …. ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งเป็นกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับสำคัญที่เกี่ยวข้องกับประชาชนและประโยชน์สาธารณะในวงกว้าง แต่ไม่มีการเผยแพร่ให้ข้อมูลข่าวสารที่ครบถ้วนเพียงพอ ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างมีความหมาย อันขัดต่อหลักการตามปฏิญญาริโอว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (The Rio Declaration on the Environment and Development, 1992) มาตรฐานสากลใกระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบในการออกกฎหมาย (Regulatory Impact Assessment: RIA) และไม่เป็นไปตามหลักการมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562

ประเทศไทยได้รับรองปฏิญญาริโอว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา หรือ “ปฏิญญาริโอ”รับรองหลักการสำคัญเกี่ยวกับการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและการเคารพต่อสิทธิมนุษยชน โดยเน้นย้ำถึงสิทธิในการเข้าถึงข้อมูล (Right to access to environmental information) สิทธิในการมีส่วนร่วม (Right to participation) สิทธิในการได้รับการเยียวยาทางยุติธรรมและทางปกครองในประเด็นที่เกี่ยวกับด้านสิ่งแวดล้อม(Right to access to judicial and administrative proceeding and effective redress and remedy in environmental matters) เพราะประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมจะได้รับการจัดการได้อย่างดีที่สุดโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 10 ว่า

“การจัดการประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด คือ การให้ประชาชน
ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดมีส่วนร่วมในทุกระดับ ในระดับชาตินั้น ประชาชนแต่ละคนจะต้องมีช่องทางที่เหมาะสมในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับวัตถุและกิจกรรมอันตรายในชุมชนของเขา และจะต้องมีโอกาสในการเข้าร่วมในกระบวนการตัดสินใจ รัฐจะต้องอำนวยความสะดวกและส่งเสริมการสร้างความตระหนักและการมีส่วนร่วมของสาธารณชนด้วยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารอย่างทั่วถึง จะต้องจัดให้มีการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและการปกครองที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งรวมถึงการแก้ไขและเยียวยาความเสียหายด้วย”

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 77 และพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 มาตรา 5 ยังกำหนดให้

ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน

แต่กระบวนการจัดทำร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. …. มีข้อบกพร่องในส่วนที่เป็นสาระสำคัญและขัดต่อหลักการข้างต้นและหลักการสำคัญของ
การมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างมีความหมาย (Meaningful Public Participation) ดังนี้

  1. การจัดทำร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. …. เป็นการดำเนินการโดยที่หน่วยงานรัฐเป็นผู้ร่างกฎหมายอยู่ฝ่ายเดียว และนำมารับฟังความคิดเห็นเมื่อร่างกฎหมายทั้งฉบับเสร็จเรียบร้อยแล้ว ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียไม่ได้มีส่วนร่วมตั้งแต่กระบวนการยกร่างกฎหมาย และไม่ทราบถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ
  2. การเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. …. ผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพียงช่องทางเดียวนั้น เป็นช่องทางการแสดงความคิดเห็นที่แคบและขาดการประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวางเพื่อให้ประชาชนผู้เกี่ยวข้องได้ล่วงรู้และเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ ทำให้มีผู้ทราบถึงโอกาสในการให้ความคิดเห็นดังกล่าวจำนวนน้อย อีกทั้งการแสดงความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก จะต้องลงทะเบียนเพื่อรับรหัส จึงจะเข้าไปแสดงความคิดเห็นได้ ขั้นตอนดังกล่าวนี้เป็นการสร้างภาระให้แก่ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียเกินความจำเป็น
  3. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลเพื่อประกอบการรับฟังความคิดเห็นในด้านต่างๆ เช่น หลักการอันเป็นสาระสำคัญของกฎหมาย สภาพปัญหา ความจำเป็นที่ต้องตรากฎหมาย ประเด็นที่จะรับฟังความคิดเห็น ข้อมูลการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากร่างกฎหมายทำให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียไม่สามารถศึกษาและทำความเข้าใจเนื้อหาร่างกฎหมายทั้งฉบับได้อย่างละเอียดรอบคอบ
  4. การกำหนดกรอบเวลาเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. …. เพียง 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน 2565 ถึงวันที่ 7 ตุลาคม 2565 นั้น ถือว่าเป็นการกำหนดกรอบเวลาขั้นต่ำ และมีระยะเวลาที่สั้นเกินไปมากไม่เพียงพอต่อการศึกษาและทำความเข้าใจเนื้อหาร่างกฎหมายทั้งฉบับเพื่อแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายดังกล่าว ทั้งนี้ร่างกฎหมายฉบับนี้มีความสำคัญมากและจะส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนทั้งประเทศ

มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) กรีนพีซ ประเทศไทย (Greenpeace Thailand) และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ขอเรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาขยายเวลาการรับฟังความคิดเห็นออกไปอีก และต้องให้ข้อมูลประกอบการรับฟังความคิดเห็นอย่างครบถ้วนรอบด้าน เพื่อไม่ให้เป็นการเร่งรีบดำเนินการเสนอร่างกฎหมาย โดยไม่คำนึงถึงเนื้อหาและเจตนารมณ์ของกฎหมายที่อาจไม่นำไปสู่การปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ สุขภาพความปลอดภัยของประชาชน และการรับรองสิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง

โดยมีความเห็นเบื้องต้นต่อเนื้อหาของร่างกฎหมายฉบับนี้ ดังต่อไปนี้

  1. ความเห็นเบื้องต้นเกี่ยวกับเนื้อหาส่วนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
  • การนำคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 9/2559 ที่ออกโดยอาศัยมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มากำหนดเป็นเนื้อหามาตรา 44 วรรค 4 ซึ่งเป็นการลดทอนความสำคัญกระบวนการขั้นตอนการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและขัดต่อหลักการป้องกันไว้ก่อน (Precautionary Principle) และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 58 ที่กำหนดให้รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  รวมถึงรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียก่อน

2. ความเห็นเบื้องต้นเกี่ยวกับเนื้อหาส่วนมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมและการควบคุมมลพิษ

  • การปรับแก้วัตถุประสงค์ของการกำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม ตามมาตรา 33 จาก “เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม” เป็น “เพื่อเป็นเกณฑ์ทั่วไปสำหรับการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม” ซึ่งจะทำให้การกำหนดคุณภาพสิ่งแวดล้อมเป็นเพียงหลักเกณฑ์ที่มีขึ้นทั่วไป ไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของสิ่งแวดล้อมและคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างแท้จริง
  • การกำหนดมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด มีการตัดทิ้งส่วนที่กำหนดให้ “มาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดต้องสอดคล้องกับมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่กำหนด” ทำให้การกำหนดมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการป้องกันและลดผลกระทบจากภาวะมลพิษเท่านั้น อาจทำให้ความผูกพันระหว่างค่ามาตรฐานแหล่งกำเนิดกับมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมไม่สอดคล้องกัน อีกทั้งยังไม่ผูกพันให้หน่วยงานต้องกำหนดค่ามาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดให้ไม่เกินค่าคุณภาพสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้มาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมอาจแย่ลงและไม่แก้ปัญหามลพิษในระยะยาว
  • การจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ ที่กำหนดเป็น “ส่วนที่ 2 การป้องกันและควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด” ควรปรับปรุงให้เป็น “หมวด…. การจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ”  ที่แยกเป็นการเฉพาะ เพื่อสามารถกำหนดข้อมูลรายละเอียดได้ชัดเจน นอกจากนี้ ร่างกฎหมายยังกำหนดเพียงว่า “รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมมลพิษมีอำนาจประกาศกำหนดประเภทของแหล่งกำเนิดมลพิษที่ต้องจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ”  (มาตรา 60 (3)) เท่านั้น ไม่ได้กล่าวถึงการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวแก่สาธารณะ อันเป็นเป้าประสงค์สำคัญในการจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ ที่ต้องการให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารของการปลดปล่อยมลพิษจากแหล่งต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน ต่างสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ในการตัดสินใจดำเนินนโยบายทางสิ่งแวดล้อม หรือวิเคราะห์ความเสี่ยง และผลกระทบต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นได้

3. ความเห็นเบื้องต้นเกี่ยวกับเนื้อหาส่วนว่าด้วยบทกำหนดโทษ

  • บทกำหนดโทษตามมาตรา 116 มีการกำหนดโทษที่สูง แต่อาจมีการตีความกระทบต่อสิทธิในการแสดงความคิดเห็นด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญฯหรือการป้องกันสิทธิตามครองธรรม ของประชาชนหรือชุมชนที่ได้รับหรืออาจได้รับผลกระทบจากโครงการ กิจการที่จะเกิดขึ้น หรือการที่กลุ่มชาวบ้านหรือองค์กรพัฒนาเอกชนรณรงค์ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม
  • บทกำหนดว่าด้วยการยินยอมให้มีการเปรียบเทียบปรับตามมาตรา 131 ควรมีการเพิ่มเติมข้อบัญญัติว่าด้วย
    การกระทำผิดซ้ำ และความผิดนั้นส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม ให้เจ้าพนักงานด้านสิ่งแวดล้อมและ
    ด้านสุขภาพ และประชาชนผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงคัดค้านและอุทธรณ์การเปรียบเทียบปรับของคณะกรรมการเปรียบเทียบ

👉 ตารางเปรียบเทียบร่างกฎหมาย

👉 อ่านร่างกฎหมายฉบับเต็ม

ข่าวสารที่เกี่ยวข้อง
ติดตามเราในช่องทาง Social
ข่าวสารล่าสุด