EnLAW x Greenpeace Thailand ยื่นหนังสือเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐเร่งแก้ปัญหามลพิษ PM 2.5

วันจันทร์ที่ 17 มกราคม 2565 มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) และ กรีนพีซ ประเทศไทย ยื่นหนังสือกระทรวงทรัพยากรฯ-กระทรวงอุตสาหกรรมให้เร่งแก้ปัญหา ปรับค่ามาตรฐานมลพิษ PM 2.5 

ภาพ : Greenpeace

โดยมีตัวแทนจากทั้ง 2 องค์กร รวมถึงนักกิจกรรมที่แต่งตัวในชุดมาสคอทมลพิษทางอากาศ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือเรียกร้องให้แก่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะที่เป็นผู้กำหนดนโยบาย มีอำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบโดยตรงต่อการจัดการมลพิษทางอากาศของประเทศ พร้อมเรียกร้องให้ปฏิบัติตามแผน “การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศด้านฝุ่นละออง” ปี 2562 เพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิของประชาชนในการได้รับอากาศสะอาดและดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี

ภาพ : EnLAW

เวลา 10.00 น. ตัวแทนจากทั้ง 2 องค์กร ยื่นหนังสือถึง คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  โดยมีนายพิทยา ปราโมทย์วรพันธุ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (รักษาการ) และนายพันศักดิ์ ถิรมงคล ผู้อำนวยการกองการจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ เป็นตัวแทนมารับหนังสือดังกล่าว

ภาพ : Greenpeace

จากนั้นเวลา 11.30 น. ตัวแทนจากทั้ง 2 องค์กร เดินทางไปยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ณ กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อขอให้หน่วยงานรัฐทั้งสองหน่วนงาน ดำเนินการเร่งแก้ไขปัญหามลพิษ  PM2.5 ที่เข้มงวดขึ้น โดยคำนึงถึงสุขภาพประชาชนเป็นหลัก

ภาพ : Greenpeace

สุรชัย ตรงงาม เลขาธิการ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า

“อากาศสะอาดเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา แม้ว่าจะประกาศแผนการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศเป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว แต่หน่วยงานรัฐกลับแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้ล่าช้ามาก จนทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ทั้งค่ารักษาพยาบาล ค่าอุปกรณ์ป้องกันตนเองจากฝุ่น”

ภาพ : Greenpeace

“เราคาดหวังว่าหน่วยงานรัฐจะมีการชี้แจงอย่างชัดเจน และมีแผนการปฎิบัติอย่างรวดเร็วและตรวจสอบได้ หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังนิ่งเฉย เราจำเป็นต้องดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมายเพื่อให้หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบปฎิบัติตามหน้าที่ของตัวเอง” สุรชัย กล่าว

คนไทยทั่วประเทศกำลังเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศเป็นประจำทุกปี ฝุ่นส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขที่ได้ศึกษาการเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษอากาศของคนไทย ตั้งแต่ปี 2560 – 2563 พบว่าผู้สูงอายุ (อายุมากกว่า 60 ปี) เจ็บป่วยด้วย 4 โรคหลักมากที่สุดอันได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคมะเร็งปอด

อัลลิยา เหมือนอบ ผู้ประสานงานรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า

“ไม่มีมลพิษทางอากาศในระดับใดเลยที่ปลอดภัยต่อสุขภาพของประชาชน เพราะฉะนั้นค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศในปัจจุบันไม่เพียงพอต่อการปกป้องสุขภาพของคน ดังนั้นการปรับค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศของประเทศไทยให้เข้มงวดขึ้นจะช่วยแสดงข้อเท็จจริงของสถานการณ์มลพิษทางอากาศ และยังเป็นการยกระดับการเตือนภัยให้ประชาชนต้องป้องกันตนเองมากขึ้น รวมถึงกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาวิธีลดปริมาณฝุ่นจากแหล่งกำเนิด”

ภาพ : Greenpeace

มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) และกรีนพีซ ประเทศไทย มีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ PM2.5 ดังนี้

1. คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติต้องปรับค่ามาตรฐาน PM2.5 ที่เข้มงวดขึ้น โดยคำนึงถึงสุขภาพประชาชนเป็นหลัก ข้อมูลการวิจัยจากทั่วโลกเกี่ยวกับผลกระทบของ PM2.5 ทำให้พบว่าค่ามาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศของประเทศไทยเดิมยังไม่เพียงพอต่อการคุ้มครองสุขภาพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองได้ โดยควรปรับค่ามาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไป เป็น 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรสำหรับค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง และ 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรสำหรับค่าเฉลี่ยรายปี

2. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงอุตสาหกรรมต้องดำเนินการกำหนดค่ามาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรมและกิจการประเภทอื่น ๆ ที่เป็นแหล่งกำเนิด PM2.5 ให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล และหน่วยงานรัฐจะต้องประกาศการค่ามาตรฐานปลายปล่องของ PM2.5 เพื่อเป็นการจำกัดการปล่อยฝุ่นละอองชนิดที่อันตรายต่อสุขภาพมากที่สุด

3. กระทรวงอุตสาหกรรมต้องดำเนินการจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register) และเผยแพร่ข้อมูลแก่สาธารณะ ซึ่งจะช่วยให้หน่วยงานรัฐสามารถประเมินปริมาณสารพิษ (รวมถึง PM2.5) ที่ถูกปล่อยสู่บรรยากาศได้อย่างแม่นยำ ดำเนินนโยบายในการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงภาคประชาสังคมและประชาชนจะสามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อมีส่วนร่วมในการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมได้

  • หากภาครัฐยังคงเพิกเฉยต่อการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศของประเทศไทย ประชาชนสามารถร่วมสนับสนุนการฟ้องร้องหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินหน้าที่ตามกฎหมาย และให้แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ PM2.5 อย่างเป็นรูปธรรม หยุดละเมิดสิทธิในการเข้าถึงอากาศสะอาดอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน ได้ที่ https://act.seasia.greenpeace.org/th/right-to-clean-air

การเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐเร่งรัดแก้ไขปัญหาดังกล่าว สืบเนื่องมาจากปัจจุบันประเทศไทยยังคงประสบปัญหาจากฝุ่นละออง PM 2.5 อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล (ช่วงเดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์ของทุกปี) และในพื้นที่ภาคเหนือของไทย (ช่วงเดือนมกราคม – พฤษภาคมของทุกปี) พื้นที่เหล่านี้จะมีค่าฝุ่นละออง PM 2.5 สูงกว่าค่ามาตรฐานฝุ่นละออง PM 2.5 ในบรรยากาศโดยทั่วไป ที่กำหนดโดยประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 36 (พ.ศ. 2553) เรื่อง กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศทั่วไป ซึ่งกำหนดค่ามาตรฐานสูงกว่ามาตรฐานฝุ่นละออง PM 2.5 ในบรรยากาศโดยทั่วไปที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนทั่วโลก ส่งผลให้ประชาชนต้องประสบกับปัญหามลพิษทางอากาศที่กระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรงอย่างน้อยหนึ่งในสามของแต่ละปี

ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ซึ่งมีเป้าหมายมาตรการในการพิจารณากำหนดค่ามาตรฐาน PM 2.5 ให้เป็นไปตามเป้าหมายระยะที่ 3 ขององค์การอนามัยโลก (WHO IT-3) โดยให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็นกลไกหลักร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดําเนินการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติดังกล่าวให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว แต่จนถึงปัจจุบันล่วงเลยเวลาที่แผนดังกล่าวกำหนดมาแล้ว ยังไม่มีการดำเนินการกำหนดค่ามาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายระยะที่ 3 ขององค์การอนามัยโลก (WHO IT-3) แต่อย่างใด

นอกจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งเป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักในการทบทวนและปรับปรุงมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อให้คุณภาพอากาศเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดยังไม่มีการกำหนดค่าปริมาณสารเจือปนในอากาศที่ระบายออกจากโรงงานประเภทฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ชัดเจนโดยเฉพาะ ทำให้การแก้ปัญหาฝุ่นละอองและมลพิษทางอากาศเป็นไปอย่างล่าช้า และเนื่องจากกระทรวงอุตสาหกรรมได้ประกาศใช้กฎกระทรวง ฉบับที่ 27 (พ.ศ. 2563) ข้อ 7 กำหนดให้โรงงานที่มีสารมลพิษหรือสารเคมีตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ไม่ว่าจะเกิดจากการผลิต การครอบครอง หรือการใช้ หรือเกิดขึ้นจากการประกอบกิจการโรงงาน ต้องจัดทำรายงานข้อมูลเกี่ยวกับการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ และเป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักในการจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register) ตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” มาระยะเวลาหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่มีการประกาศกำหนดประเภทสารมลพิษหรือสารเคมีที่โรงงานต้องจัดทำรายงานข้อมูลออกมาแต่อย่างใด ซึ่งการจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง”จะช่วยให้รัฐสามารถทราบปริมาณสารมลพิษที่ปล่อยสู่บรรยากาศได้ครอบคลุม ทั่วถึง และแม่นยำมากขึ้น สามารถนำไปวางแผน กำหนดนโยบาย การดำเนินงาน เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองและทำให้ค่ามาตรฐานฝุ่นละอองเป็นไปตามมาตรฐานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

จากสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในประเทศไทยที่เกิดขึ้นในแต่ละปีมีค่าเกินมาตรฐานในหลายพื้นที่ และช่วงเวลาที่ประสบปัญหาฝุ่นละอองในบรรยากาศเกินค่ามาตรฐานมีแนวโน้มยาวนานขึ้นทุกปี ซึ่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนเป็นอย่างมาก แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังมีความล่าช้าในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ทำให้ประชาชนได้รับอันตรายจากมลพิษทางอากาศมากเกินสมควรแก่เหตุ กระทบต่อสิทธิของประชาชนในการได้รับอากาศสะอาดและดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี

ข่าวสารที่เกี่ยวข้อง
ติดตามเราในช่องทาง Social
ข่าวสารล่าสุด