(ร่าง) แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า PDP 2024 กับการรับฟังความคิดเห็นที่ประชาชนยังไม่เห็นข้อมูล

แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan หรือ PDP) คือ แผนแม่บทในการผลิตไฟฟ้าของประเทศว่าด้วยการจัดหาพลังงานไฟฟ้าในระยะยาว 15 – 20 ปี ทั้งนี้ แผน PDP เป็นหนึ่งใน 5 แผนพลังงานภายใต้กรอบแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) ซึ่งเป็นแผนร่มใหญ่ที่ใช้กำกับทิศทางการพัฒนานโยบายพลังงานของประเทศ โดยปัจจุบันกระทรวงพลังงานกำลังเร่งผลักดันแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยฉบับใหม่ พ.ศ. 2567-2580 (PDP 2024) [2]

เมื่อแผน PDP เป็นแผนแม่บทที่ใช้สำหรับการออกแบบทิศทางของการผลิตไฟฟ้าของประเทศในระยะยาว แผนแม่บทฉบับนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะแผนฉบับนี้จะเป็นตัวกำหนดว่า ภายใต้การคาดการณ์ปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าในแต่ละปี ประเทศไทยควรจะมีการผลิตและสำรองไฟฟ้าเท่าไหร่ ควรจะต้องสร้างโรงไฟฟ้าหรือแหล่งผลิตไฟฟ้าประเภทใด จำนวนเท่าใด และใครจะเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตบ้าง ทั้งนี้ ภายใต้บริบทสถานการณ์โลกและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้แผน PDP เป็นนโยบายพลังงานของประเทศที่ต้องคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นคงและความเพียงพอของกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศด้วย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม การกระจายการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน หรือการออกแบบนโยบายส่งเสริมการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน โดยแผน PDP จะมีการทบทวนเป็นระยะทุก 2 – 3 ปี [3]

ผลจากการจัดทำแผนระดับชาติฉบับนี้จึงเป็นแผนที่เกิดขึ้นจากภาครัฐแต่จะส่งผลต่อคนไทยโดยตรง เพราะจะเป็นตัวกำหนดปัจจัยที่ส่งผลต่ออัตราค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่ายร่วมกัน ทั้งปริมาณการผลิตและสำรองไฟฟ้า และสัดส่วนประเภทของแหล่งกำเนิดไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในประเทศ กระบวนการจัดทำแผนดังกล่าวจึงมีความสำคัญอย่างมากที่จะต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรับรู้ รับทราบและที่มาของข้อมูลที่จะถูกระบุไว้ในแผน PDP และมีส่วนร่วมนำเสนอข้อมูลและข้อคิดเห็นประกอบในการตัดสินใจ เพื่อให้แผนดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้การรับฟังข้อมูลอย่างรอบด้านจากทุกภาคส่วน แต่จากการสืบค้น พบว่า นับตั้งแต่มีการจัดทำแผน PDP นับตั้งแต่ฉบับ 2007 เป็นต้นมา มีระยะเวลาการรับฟังความคิดเห็นที่สั้นมาก และไม่มีการจัดเวทีสาธารณะในทุกภาค รวมถึงไม่เคยมีการเผยแพร่ร่างแผน PDP ล่วงหน้าเพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อมูลในแผนมาก่อนแต่อย่างใด [4]

เช่นเดียวกันกับแผน PDP 2024 ที่ สำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) หนึ่งในหน่วยงานภายใต้กระทรวงพลังงานที่ทำหน้าที่และมีอำนาจในการเสนอแนะนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาการพลังงานของประเทศ ได้ออกมาประกาศตั้งเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อ ‘แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567 – 2580 หรือ PDP 2024’ โดยกำหนดรับฟังความคิดเห็นผ่านระบบออนไลน์ www.eppo.go.th และ Facebook page: EPPO Thailand ในวันที่ 17 มิถุนายน 2567 สำหรับภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และวันที่ 19 มิถุนายน 2567 สำหรับภาคใต้และภาคเหนือ เพื่อที่จะนำความเห็นทั้งหมดมาปรับปรุง และนำมารวมกันอยู่ภายใต้แผนหลัก คือแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติ ซึ่งถูกคาดการณ์ว่าแผนทั้งหมดภายใต้แผนพลังงานชาติจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน พ.ศ. 2567 [5]

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเวลาได้ล่วงเข้าสู่เดือนมิถุนายน แต่ สนพ. ยังไม่เคยเปิดเผยเนื้อหาเกี่ยวกับร่าง PDP 2024 ให้แก่สาธารณชนรับรู้ หรือรับทราบแต่อย่างใด ทำให้ยังไม่มีใครที่ได้เห็นแผนดังกล่าวก่อนที่จะถึงวันรับฟังความคิดเห็น ทั้ง ๆ ที่แผน PDP ถือเป็นแผนระดับชาติของรัฐที่มีการกำหนดทิศทางการผลิตไฟฟ้าภายในประเทศ และส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงค่าไฟของคนภายในประเทศ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ สนพ. จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ถูกบัญญัติรับรองไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 58 บัญญัติว่า

          “การดำเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการ ถ้าการนั้นอาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณดำเนินการหรืออนุญาตตามที่กฎหมายบัญญัติ

          บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐก่อนการดำเนินการหรืออนุญาตตามวรรคหนึ่ง

          ในการดำเนินหรืออนุญาตตามวรรคหนึ่ง รัฐต้องระมัดระวังให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ชุมชน สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพน้อยที่สุด และต้องดำเนินการให้มีการเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายให้แก่ประชาชนหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรมและโดยไม่ชักช้า”

สิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นหลักการพื้นฐานที่ได้รับการรับรองมานับตั้งแต่ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.​2540 จนถึงรัฐธรรมนูญ พ.ศ.​2560 การบัญญัติรับรองสิทธิดังกล่าวก็เพื่อยืนยันถึง “สิทธิอันชอบธรรมที่จะมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น การคัดค้าน การวิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงการกดดันทางการเมืองในนโยบายของรัฐบาลหรือของหน่วยงานราชการ อันก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน” [6] ส่งผลให้การดำเนินใดของรัฐหรือที่รัฐอนุญาตให้ดำเนินการจึงควรต้องมีหน้าที่ดำเนินการเปิดเผยข้อมูลล่วงหน้า จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน มีระยะเวลาที่เพียงพอ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าใจและแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่

ทั้งนี้ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 สำหรับการดำเนินโครงการของรัฐอันเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจหรือสังคมที่จะมีผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย วิถีชีวิต หรือส่วนได้เสียเกี่ยวข้องกับชุมชนท้องถิ่น กำหนดว่า

           ข้อ 11 “ในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน หน่วยงานของรัฐต้องประกาศให้ประชาชนทราบถึงวิธีการรับฟังความคิดเห็น ระยะเวลา สถานที่ ตลอดจนรายละเอียดอื่นที่เพียงพอแก่การที่ประชาชนจะเข้าไปและสามารถแสดงความคิดเห็นได้

          ประกาศตามวรรคหนึ่ง ให้ปิดไว้โดยเปิดเผย ณ สถานที่ปิดประกาศของหน่วยงานของรัฐและสถานที่ที่จะดำเนินโครงการของรัฐนั้นเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนเริ่มดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และให้ประกาศในระบบเครือข่ายสารสนเทศที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจัดให้มีขึ้นตามระเบียบนี้ด้วย”

ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าวถือเป็นกฎเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำและเป็นแนวปฏิบัติพื้นฐานของรัฐในการจัดทำกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ดังนั้น สนพ. จึงมีหน้าที่ต้องเคารพและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ดำเนินกระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผน PDP จากประชาชนและทุกภาคส่วนให้เป็นไปตามเงื่อนไขกฎหมายและบรรลุตามเจตนารมณ์และหลักการการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างมีความหมาย (Meaningful Public Participation)

โดย สนพ. ต้องเผยแพร่ร่างแผน PDP 2024 และข้อมูลที่ประชาชนจำเป็นต้องรับทราบเพื่อประกอบการแสดงความคิดเห็น ให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงได้โดยสะดวก ทั้งโดยการปิดประกาศไว้ ณ สถานที่ทำการของหน่วยงานรัฐ และเผยแพร่บนช่องทางสื่อสารออนไลน์ ก่อนเริ่มการจัดกระบวนรับฟังความคิดเห็นล่วงหน้าเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน เพื่อให้ประชาชนภาคส่วนต่างๆ มีเวลาเพียงพอต่อการศึกษาข้อมูลทำความเข้าใจร่างแผน PDP 2024 ทำกระบวนการปรึกษาหารือ และสามารถแสดงความคิดเห็นต่อร่างแผน PDP ได้อย่างเต็มที่ เพื่อให้ สนพ. เก็บรวบรวมความคิดเห็นของประชาชนเพื่อนำไปปรับปรุง และควรต้องรายงานสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นให้ประชาชนรับทราบด้วยก่อนที่จะนำไปดำเนินการต่อในขั้นตอนถัดไป เพื่อให้แผน PDP 2024 มีข้อมูลที่ครบถ้วน รอบด้าน และคำนึงถึงผลกระทบและทางเลือกอย่างรอบด้าน เพื่อป้องกันไม่ให้แผน PDP ถูกผูกขาดไว้โดยรัฐหรือเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มบุคคลใด และเพื่อรักษาประโยชน์สูงสุดของประชาชนและสิ่งแวดล้อมไม่ให้ต้องแบกรับภาระและเกิดผลกระทบความเสียหายโดยไม่จำเป็น

———————–

[1] การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, แผนพัฒนากำลังไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Revision 1), https://www.egat.co.th/home/egat-development-plan/

[2] The Standard, เปิด (ร่าง) แผน PDP เวอร์ชัน 2024 ปรับเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเป็น 51% บรรจุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR สำคัญอย่างไร ทำไมคนไทยต้องรู้?, https://thestandard.co/pdp-plan-2024-draft/

[3] JustPOW, แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) คืออะไร, เผยแพร่เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567, https://justpow.co/article-pdp/  

[4] โปรดดู ตารางการเปรียบเทียบจำนวนการเปิดรับผังความคิดเห็นจากสาธารณะต่อแผน PDP ตั้งแต่ฉบับ 2007 – 2024 ที่ JustPOW, แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) คืออะไร.

[5] ศูนย์ข่าวพลังงาน, สนพ.เปิดไทม์ไบน์เวทีรับฟังความคิดเห็นแผน PDP 2024 และแผนก๊าซ ระหว่าง 12-13 มิ.ย. 2567 ชี้ค่าไฟไม่เกิน 4 บาทต่อหน่วย, เผยแพร่เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2567, https://www.energynewscenter.com/สนพ-เปิดไทม์ไลน์เวทีรับ/

[6] ลิขิ ธีรเวคิน, การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ, https://www.kpi.ac.th/media/pdf/M7_85.pdf.

บทความที่เกี่ยวข้อง