คำนำผู้แปล
โดยทั่วไปแล้วเมื่อกล่าวถึงหน้าที่ในการปกป้อง เคารพและเยียวยาการละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้ว คนทั่วไปมักมุ่งความสนใจไปยังเจ้าหน้าที่รัฐ ในฐานะที่เป็นผู้มีหน้าที่โดยตรงตามทั้งกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายภายในในการต้องเคารพ ปกป้องและเยียวยาความเสียหายที่เกิดจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะที่รัฐเป็นผู้ก่อหรือมีส่วนก่อให้เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าในโลกปัจจุบันที่ถูกครอบงำด้วยระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมนั้น ภาคธุรกิจเป็นอีกภาคส่วนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญ ดังจะเห็นตัวอย่าง การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากภาคธุรกิจหรือเกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจเกิดขึ้นมากมาย กล่าวเฉพาะในประเทศไทยการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยภาคธุรกิจก็มีให้เห็นกันอยู่เสมอ เช่น กรณีลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรมส่งผลให้มีการปนเปื้อนมลพิษในแหล่งน้ำใต้ดิน ในพื้นที่ ต.หนองแหน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา กรณีเหมืองแร่ตะกั่วปล่อยสารตะกั่วลงในลำห้วยคลิตี้ จนส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี หรือกรณีล่าสุดกรณีชายฉกรรจ์กว่า ๓๐๐ คน บุกเข้าไปควบคุมตัวและทำร้ายประชาชนที่คัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำ ในพื้นที่ จ.เลย เป็นต้น
การไม่มีกฎหมายกำหนดเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของภาคธุรกิจเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนไว้อย่างชัดเจนนี้เอง เป็นช่องว่างให้ภาคธุรกิจแสวงหากำไรโดยไม่คำถึงสิทธิมนุษยชนของประชาชนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของตน หลักการแนวทางปฏิบัติว่าด้วยการดำเนินธุรกิจและสิทธิมนุษยชน : การดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบขององค์การสหประชาชาติว่าด้วย “การป้องกัน การเคารพและการเยียวยา” เป็นความพยายามในระดับระหว่างประเทศที่จะอุดช่องว่างเหล่านี้ ผู้แปลเห็นว่าเอกสารชิ้นนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจและภาคประชาชน ที่จำต้องสัมพันธ์กันในความสัมพันธ์ทางสังคมเศรษฐกิจ จึงได้แปลเอกสารชิ้นนี้ออกมาเผยแพร่
สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
อ่านต่อ