สมชาย ปรีชาศิลปกุล : สังคมไทยเป็นผู้ได้รับผลกระทบของการใช้มาตรา 44 ร่วมกัน (คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559)…

หมายเหตุ: ถอดเทปจากบันทึกการเสวนาสาธารณะ “คำสั่ง คสช. มาตรา 44 … อำนาจที่ศาลไม่ (อาจ) ตรวจสอบ: กรณีศึกษาคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 เรื่องยกเว้นการบังคับใช้ผังเมืองฯ” เมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 13.00-17.00 น.  ณ ห้องประชุมจิ๊ด เศรษฐบุตร (LT.1) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ตอนที่ 4 : รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล      หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
          สถานการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวันนี้ คือทุกกลุ่ม อยากใช้อำนาจตามมาตรา 44 แบบไหนก็ได้  เป็นเรื่องใหญ่มาก  เมืองไทยมีปัญหารัฐประหารมาเยอะ  การรัฐประหารไม่ใช่การใช้อำนาจทางกายภาพ เช่น อาวุธ อย่างเดียวแต่มันต้องมีกลไกหรือสถาบันที่มารองรับให้มันอยู่ต่อไปได้เรื่อยๆ ซึ่งศาลและตุลาการมีบทบาทที่สำคัญ  เรามักจะเข้าใจว่าศาลคอยตัดสินเรื่องต่างๆ ไปตามหลักวิชาการ เป็นธรรม ไม่มีทัศนตติใดๆ ทั้งสิ้น แต่ในทศวรรษนี้มันได้พังทลายไปหมดแล้ว


           ผมไปอ่านงานที่ศึกษา ดูบทบาทของศาลในประเทศที่เป็น ประชาธิปไตยใหม่ ปลายๆ ศตวรรษที่ 20  ประเทศเหล่านี้สามารถเปลี่ยนจากประชาธิปไตยใหม่เป็นอำนาจนิยมได้ง่ายๆ  เราอาจจะมีความคาดหวังในเชิงอุดมคติของบทบาทศาลจากประเทศที่ศิวิไลซ์ แต่บทบาทตุลาการในเชิงภาพกว้าง หมายความว่าเราเห็นการขยายตัวของบทบาทตุลาการไปอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ ประเด็นสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน  ประมาณปี พ.ศ.2530-2540 ศาลในโลกนี้ขยายบทบาทออกอย่างสำคัญ ศาลโดดเข้าไปชี้ขาดปัญหาต่างๆ  แต่ปรากฏรูปร่างหน้าตาไม่เหมือนกัน  อย่างประเทศไทย เราเคยได้ยินเพียงแค่ตุลาการภิวัฒน์ ซึ่งดูแล้วงดงาม  แต่การศึกษาพบว่า เราสามารถเห็นบทบาทของศาลหลายด้าน ในประเทศที่ศาลมีอิสระ ศาลสามารถมีบทบาท judicial activism (ตุลการภิวัฒน์) มีบทบาทก้าวหน้า คือ ศาลโดดเข้าไปขยายสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้มากขึ้น  ประเทศที่ศาลไม่ยุ่งเกี่ยวเงียบๆ ก็มี  สำหรับประเทศไทยเขาจัดว่าศาลไทยโดดเข้าไปเล่นการเมืองด้วย Politicization of the Judiciary คือแปลว่าศาลถูกดึงเข้าไปเล่นการเมืองด้วย  

          อีกด้านหนึ่ง มีงานจำนวนมากที่เกิดขึ้นในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นงานของนักรัฐศาสตร์ Rule by Law the Politics of Courts in Authoritarian Regime เรื่องนี้ดูว่าศาลสนธิกับรัฐประหารอย่างไร  งานแบบนี้น่าจะเหมาะกับประเทศที่มีรัฐประหารบ่อยๆ ส่วนใหญ่เป็นงานศึกษาในประเทศ ลาตินอเมริกา ดูว่าศาลทำอะไรบ้างเวลาเกิดรัฐประหารขึ้น  เขาพบว่าศาลถูกใช้ในระบอบอำนาจนิยมอย่างไร  ศาลถูกใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมสังคม เช่น การให้ความชอบธรรมในการจับกุมโดยไม่ชอบ การถอนประกัน 
      สร้างความชอบธรรม คือ รองรับความชอบธรรมของระบอบอำนาจนิยม คือหมายความว่า ทำให้คำสั่งต่างๆที่เกิดขึ้นกลายเป็นกฎหมายและสืบเนื่องอยู่ต่อไป  หมายความว่าที่คำสั่งที่คณะรัฐประหารออกไปมันเป็นกฎหมาย ใช้ได้ และคงอยู่ต่อไปแม้จะพ้นจากสภาวะรัฐประหารแล้วก็ตาม 
       กำกับหน่วยงานรัฐและสร้างความสมดุลของชนชั้นนำ คือการสร้างความมั่นใจในมิติทางเศรษฐกิจ นโยบายทางเศรษฐกิจหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องทางเศรษฐกิจมันก็จะเป็นส่วนหนึ่ง เห็นได้ว่าคณะรัฐประหารไม่ได้มายุ่งเพื่อจัดให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย แต่จะมีนโยบายเศรษฐกิจด้วย และพอเข้ามาเกี่ยวพันในมิติทางเศรษกิจเราก็จะพบว่าแยกไม่ออกระหว่างผู้ลงทุนกับคณะรัฐประหาร  อำนาจชี้ขาดในภารกิจที่ยุ่งยาก อะไรยุ่งยากก็โยนไปให้ศาลตัดสิน
ในระบบอำนาจนิยม มี 4 มิติ ในการจัดการกับศาล  
1) ศาลจำกัดอำนาจตนเอง คือ ศาลไม่ยุ่งเลย
2) การสร้างระบบความยุติธรรมของตนเองขึ้นมา คือ ประเทศที่ศาลมีอุดมการณ์หัวแข็ง เขาก็จะตั้งศาลของตัวเองขึ้นมาเพื่อไม่ต้องไปยุ่งกับระบบศาลปกติ เช่น ของไทยที่ช่วงแรกๆ ใช้ศาลทหารทั้งหมด แต่หลังๆ มีการใช้ศาลทหารน้อยลง ทำให้คดีขึ้นศาลทหารน้อยลง เพราะบรรดากระบวนการยุติธรรมเห็นตาม ตัดสินคดีไปในทิศทางเดียวกัน
3) ควบคุมการเข้าถึงกระบวนการศาล หลายประเทศที่คณะรัฐประหารพยายามตัดการเข้าถึงศาล แทรกแซงทำให้ประชาชนเข้าถึงศาลยาก ถ้าพบว่าศาลมีแนวที่จะปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน
4) สลายเครือข่ายของศาล งานวิจัยชิ้นนี้มีข้อสรุปว่า สิ่งที่จะปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ใช่เรื่องของบทบัญญัติตามกฎหมายแต่ที่ใหญ่ที่สุดคือเครือข่ายทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตย และสิ่งที่คณะรัฐประหารจะทำคือสลายเครือข่ายเหล่านี้  
      ระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมไทยในภาวะ one system three standards (หนึ่งระบบสามมาตรฐาน) คือ ระบบกฎหมายมีสามระบบ 1) ระบบปกติ ก็กฎหมายแพ่ง อาญา ซึ่งก็ยังถูกใช้อยู่ 2) คำสั่งคสช. ก่อนและหลังประกาศรัฐธรรมนูญ 3) มาตรา 44 ก่อนและหลังประกาศรัฐธรรมนูญถูกใช้ในเรื่องซึ่งกว้างขวางมาก ซึ่งจะพบว่ามีกฎหมายที่ซ้อนๆ กันอยู่  ส่งผลกระทบมากมาย 
       ประเด็นสำคัญ ไม่ได้จำกัดแค่รักษาความสงบ  ความแตกต่างระหว่างระบบกฎหมายปกติกับมาตรา 44 ไม่มีมาตรฐาน  ลักษณะการบังคับใช้กฎหมายในปัจจุบันผมเรียกมันว่า target-based จะใช้กฎหมายอะไร ขึ้นอยู่กับว่าคุณเป็นใคร  ซึ่งผมคิดว่ามีสามกลุ่ม
1) ประชาชนทั่วไป เป็นคดีระหว่างสามัญชนด้วยกัน จะเห็นว่าเป็นการบังคับใช้กฎหมายตามมาตรฐานสากล เป็นธรรม เป็นภารกิจส่วนที่โชว์ให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมมีความเป็นอิสระ 
2)  ผู้ต่อต้านอำนาจรัฐหรือกลุ่มอำนาจดั้งเดิม เช่น ไผ่ดาวดิน เราจะพบการใช้กฎหมายทุกรูปแบบทั้งกฎหมายปกติ คำสั่ง คสช. เวลาใช้กฎหมายก็จะครบทุกรูปแบบ
3) กลุ่มเครือข่ายอำนาจและสนับสนุนอำนาจรัฐ การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างเอื้ออาทร ใครตั้งข้อกล่าวหาอย่างไร จะทำไม่ได้ ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์


       ผมคิดว่าสิ่งที่เราเห็น การบังคับใช้กฎหมายอยู่ในสามระนาบ ที่มันไม่เหมือนกัน ศาลไทยยอมรับอำนาจคณะรัฐประหารมาเนิ่นนานแล้ว ประเด็นที่ว่ากฎหมายจะถูกตรวจสอบความชอบด้วยหรือไม่ ยังมีข้อโต้แย้งกันอยู่
       ในส่วนประเด็นศาลปกครอง ที่ออกคำสั่งนี้มา ผมคิดว่า เราไม่น่าจะไปถึงจุดตกต่ำที่มากกว่านี้อีกแล้วคือคล้ายๆกับ เราเดินมาถึงเที่ยงคืน มันมืดที่สุดแล้วมันไม่สามารถมืดไปได้กว่านี้  บัดนี้กระบวนการยุติธรรมและระบบกฎหมายของเรา ผมคิดว่าสมัครสมานพร้อมเพียงในการยอมรับอำนาจรัฐประหาร ไม่ต้องแปลกใจกระบวนการยุติธรรมจะเป็นปัญหา
        ปัญหาผังเมือง ที่ออกมาตามมาตรา 44 เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่สังคมไทยโดยรวมเผชิญอยู่ สังคมไทยเป็นผู้ได้รับผลกระทบของการใช้มาตรา 44 ร่วมกัน เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ เราคงไม่สามารถสู้แค่เรื่องปัญหาผังเมืองอย่างเดียว ทำอย่างไรที่เราจะกลับไปสู่สังคมที่มีระบบกฎหมายที่ยุติธรรมต่อกัน เราจะกลับไปสู่สังคมที่มีขื่อมีแปได้อย่างไร การชี้อันตรายจากระบอบที่ไร้ระบบ หลายๆคนตกอยู่ในสถานการณ์ที่คิดว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก ผมคิดว่าระยะยาว คงต้องทำอะไรเพิ่มมากขึ้น ต้องทำให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความจำเป็นของการสร้างระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ผมคิดว่าสังคมไทยตอนนี้ติดหล่มอำนาจนิยม สิ่งที่ต้องทำกันต่อ ในแวดวงนักวิชาการ นักกฎหมาย เราจะปฏิเสธอำนาจ คสช.เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องออกแรงผลักกัน ยุคหลัง คสช. สถาบันวิชาการ นักกฎหมาย ต้องคิดถึงสังคมไทยที่จะไม่ติดหล่มนี้อีกต่อไป ผมคิดว่าเราคงไม่น่าจะกลับไปสู่จุดที่ตกต่ำไปมากกว่านี้อีกแล้ว

————————————————

ตอนที่ 1 สุรชัย ตรงงาม: ถ้าศาลปกครองสูงสุดตรวจสอบ (คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559) ไม่ได้…แล้วศาลไหนล่ะ

ตอนที่ 2 จันทจิรา เอี่ยมมยุรา : หลักนิติรัฐไม่อนุญาตให้กฎหมายและคำสั่งทางปกครองขัดต่อรัฐธรรมนูญ (คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559)

ตอนที่ 3 สฤณี อาชวานันทกุล : เมื่อมาตรา 44 ตัดช่องทางในการรับผิด ก็ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของการพัฒนาที่ยั่งยืน (คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559)

ตอนที่ 4 สมชาย ปรีชาศิลปกุล : สังคมไทยเป็นผู้ได้รับผลกระทบของการใช้มาตรา 44 ร่วมกัน (คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559)

ตอนที่ 5 คุณพิชัย อุทัยเชฏฐ์ : ในขณะที่ประชาชนให้ความสำคัญ แต่ภาครัฐกลับเห็นเป็นอุปสรรค (คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559)

 

รับชมวิดีโอบันทึกการเสวนาและดาวน์โหลดเอกสารข้อมูลประกอบการเสวนาได้ที่
https://enlawfoundation.org/ncpo42559-public-conference/

บทความที่เกี่ยวข้อง
ติดตามเราในช่องทาง Social
บทความล่าสุด