หมายเหตุ: ถอดเทปจากบันทึกการเสวนาสาธารณะ “คำสั่ง คสช. มาตรา 44 … อำนาจที่ศาลไม่ (อาจ) ตรวจสอบ: กรณีศึกษาคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 เรื่องยกเว้นการบังคับใช้ผังเมืองฯ” เมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 13.00-17.00 น. ณ ห้องประชุมจิ๊ด เศรษฐบุตร (LT.1) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ตอนที่ 5 : คุณพิชัย อุทัยเชฏฐ์ อดีตรองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง
เวลาที่ผมไปอยู่ในกระบวนการทำงานการมีส่วนร่วมในการจัดทำผังเมือง ค่อนข้างจะวังเวงมาก เคยไปประชุมเรื่องผังเมืองในภาคใต้ มีคนมาร่วมเพียง 12 คน นี่เป็นเรื่องสำคัญที่ท่านพูดกัน สาเหตุที่มีคำสั่งที่ 4/2559 เพราะ เมื่อก่อนเราออกกฎกระทรวงผังเมืองรวมไม่ค่อยกระทบกับส่วนราชการและประชาชนมากเท่าไหร่ เพราะว่าเมื่อก่อนเราออกกฎกระทรวงมีขอบเขตเฉพาะในเขตเมือง เดิมทำพื้นที่เมือง พื้นที่จะไม่กว้างขวางนัก เขตจะไม่เยอะ แต่เมื่อมีมติคณะรัฐมนตรี กำหนด ให้กรมโยธาธิการและผังเมือง วางผังเต็มพื้นที่ทั้งประเทศ ก็เลยทำให้ต้องมีการจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดให้ครบทั้งประเทศตามนโยบาย
สิ่งที่เกิดขึ้น ตอนแรกอาจไม่มีใครรู้ เราสามารถออกกฎกระทรวงก่อนมีคำสั่งคสช.ที่4/2559 ได้33 จังหวัด ในกฎกระทรวงที่ออกมา มันช้านานแค่ไหน กระบวนการเริ่มเมื่อตอนปี 47 ออกได้ 33 จังหวัด จนมาถึงวันที่ 20 มกราคม 2558 ทำไป 10 กว่าปี นี่คือกระบวนการออกกฎกระทรวง แล้วก็พอคำสั่งที่ 4/2559 ออกมาแล้ว ก็มีผลทำให้ 33 จังหวัด ถูกยกเว้นบังคับกิจการ 5 ลำดับ ซึ่งเป็นโรงงานอุตสาหกรรมทั้งสิ้น แล้วก็ยังมีผลต่อไปว่า หลังจากออกคำสั่งนี้แล้ว ถ้ามีกฎกระทรวงออกมาอีกภายใน 1 ปี กิจการ 5 ลำดับก็จะได้รับการยกเว้นด้วย ก็แสดงว่ายกเว้นถึง 19 มกราคม 2560 ปรากฎว่าในรอบปีที่ผ่านมาก็ออกไปอีก 11 จังหวัดกลายเป็น 44 จังหวัด ณ วันนี้ ถึงแม้ว่าจะเลยวันที่ 19 มกราคม 2560 ไปแล้ว มันก็ยังมีผลยกเว้นไปเรื่อย ก็มาดูว่าจะแก้ได้อย่างไร ผมในฐานะคนปฏิบัติก็มีข้อเสนออยู่สามข้อด้วยกันคือ
1 ให้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งยกเลิก คำสั่งของตนเอง
2 ให้มีองค์กรกลาง(ซึ่งก็คือศาล)สั่งให้เลิก ซึ่งผลก็ออกมาแล้ว คือศาลก็มีคำสั่งไม่รับฟ้อง
3 ต้องออกกฎกระทรวงฉบับใหม่มาแทนที่ ผลก็คือมันก็จะเลิกไป เพราะฉะนั้นถ้าท่านออกกฎกระทรวง คำสั่งที่ 4/2559 นั้นจะหมดสภาพการใช้บังคับไปโดยปริยาย ฝากทุกท่านที่มีเครือข่ายภาคประชาชน ทางกรมโยธาฯเองก็พยายามรีบดำเนินการใหม่ทั้งประเทศเช่นกัน ทุกครั้งที่มีการรับฟังความคิดเห็นประชาชน หรือ ไม่พอใจในกระบวนการจัดทำผัง ให้เขียนคำร้อง พยายามเข้าไปมีส่วนร่วมเยอะๆ และก็ผลักดันให้ส่วนราชการออกกฎกระทรวงฉบับใหม่ออกมาแทนก็จะทำให้คำสั่งที่ 4/2559 ยกเลิกไปโดยปริยาย
อีกอันหนึ่งคือ ถ้าเป็นเช่นนี้ ถ้าอยากให้ผังเมืองเป็นธรรมนูญท้องที่ สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องสร้างความเข้มแข็งในพื้นที่ ให้ชุมชนมีความรู้เท่าเทียม สิ่งที่ผมพูดไม่ใช่เรื่องง่าย ประเทศไทยเรามีตั้งแต่ บ้าน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ มาถึงจังหวัด ในหมู่บ้านท่านหรือตำบลของท่าน ก็ต้องมีตัวแทน ผ่านระบบตัวแทน ถ้าท่านมีความรักในชุมชน ต้องให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง ตัวอย่างเห็นเยอะในส่วนผู้บริหารท้องถิ่นที่ปรากฎอยู่เป็นยังไง ท่านก็ทราบดี ถ้าชุมชนไม่เข้มแข็งเราก็เอาผังเมืองมาเป็นธรรมนูญชุมชนไม่ได้ งานผังเมืองคือเพื่อส่วนร่วมโดยแท้จริง ถ้ามันเป็นเรื่องส่วนรวมแล้วมันไปกระทบกับส่วนตัวด้วยนี่คือเรื่องสำคัญมันหลีกไม่พ้น งานผังเมืองถามว่าทำไปทำไม ก็ทำให้ประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ปลอดภัยจากทุกข์ภัยต่างๆ มีสวัสดิการที่ดี ได้รับการบริการจากรัฐที่เพียงพอและเท่าเทียม และมีประสิทธิภาพ
ผังเมืองให้เครื่องมือสำคัญอยู่หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน การคมนาคมขนส่ง ประชาชนในพื้นที่ได้รับสาธารณูปโภค สาธารณูปการที่เพียงพอ มีความเป็นอยู่ที่ดี นี่คือเครื่องมือของผังเมือง แต่เมืองเป็นของคนทุกคน ในเรื่องกระบวนการวิชาการผังเมือง กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในการวางในระบบราชการ ยังไม่ถึงจุดหมายปลายทางของผังเมืองอย่างแท้จริง ผังเมืองต้องชี้นำการให้บริการสาธารณะ ท่านดูการไปวางผัง สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือ ผมยังมองไม่เห็นเลยว่าเมืองอยู่ตรงไหน มันไม่มีขอบเขต บริการสาธารณก็ไปอย่าง ท่านปล่อยให้เมืองเป็นอย่างนี้ ท่านบริหารจัดการได้หรือ
สิ่งที่อยากเห็นคือ ให้ชุมชนเข้มแข็ง ท่านต้องมีความรู้ แล้วดีที่สุดคือท่านทำเอง ผมว่าทุกวิถีทางต้องทำให้ชุมชนต้องเข้มแข็งคือคำตอบที่แท้จริงแต่ในวันนี้
แต่สิ่งที่สำคัญคือในขณะที่การพัฒนางานผังเมืองถูกละเลย ในขณะที่ประชาชนให้ความสำคัญ แต่ภาครัฐกลับเห็นเป็นอุปสรรค ถ้าท่านติดตามข่าว ผู้บริหารระดับสูง ผู้ประกอบการหลายกลุ่ม พูดได้เต็มปากเต็มคำว่า ผังเมืองเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ ถ้าคนมีมุมมองแบบนี้ ประเทศนี้พัฒนายาก ผมมองว่าประเทศนี้จะเอาตัวรอดในแง่การประกอบธุรกิจ การค้าเสรีของโลก สุดท้ายคุณต้องเอาผังเมืองเป็นกรอบ ในความเห็นของผมผังเมืองไม่ได้เป็นปัญหาอุปสรรค ขัดขวางการพัฒนา แต่ให้คุณอยู่ในที่ที่เหมาะสม แต่ประเด็นคือ ภาครัฐมองว่ามันไม่พอ มันก็ทำให้เกิดเหตุเหล่านี้ขึ้นมาได้ ในแง่วิชาการผังเมือง ผมว่าในประเทศไทย คงอยู่ในหัวเลี้ยวหัวต่อ ประชาชนให้ความสำคัญ ผู้นำประเทศพูดถึงมากขึ้น ก็ต้องเอามาทบทวนดูว่า สิ่งที่ทำไม่ได้มีปัญหาอุปสรรคอะไรอยู่บ้าง
————————————————
รับชมวิดีโอบันทึกการเสวนาและดาวน์โหลดเอกสารข้อมูลประกอบการเสวนาได้ที่
https://enlawfoundation.org/ncpo42559-public-conference/