สถานการณ์สิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติภายใต้รัฐบาล คสช.

มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
มีนาคม 2562

(*อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ไฟล์ PDF ด้านล่าง)

          สถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2550 เป็นต้นมา มีการเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการพัฒนาต่างๆในพื้นที่ชุมชน และคัดค้านนโยบายที่มีผลกระทบด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จนทำให้เกิดการเคลื่อนไหวภาคประชาชนหลากหลายพื้นที่ในประเทศอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็เกิดความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงและเกิดการชุมนุมเรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบการเมืองจนนำไปสู่การรัฐประหารในเวลาต่อมา
          ในช่วงรัฐประหารปี 2557 ที่ผ่านมาจนถึงช่วงก่อนการเลือกตั้งในปี 2562 ได้มีปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ฝ่ายความมั่นคง รวมถึงหน่วยงานรัฐต่างๆ รวมถึงการออกประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช. และการเสนอกฎหมายที่มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. อย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมชาวบ้านที่ใช้สิทธิชุมชนหรือสร้างมาตรการที่เป็นการบังคับหรือยกเว้นบางเรื่อง ทำให้คำสั่งที่ประกาศโดย คสช. และพระราชบัญญัติต่างๆ เป็นเครื่องมือในการลิดรอนและเพิ่มระดับของความขัดแย้งในพื้นที่ของชุมชนหลายชุมชน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญและเป็นเงื่อนไขทางการเมืองที่มีผลต่อการต่อสู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างต่อเนื่อง
          มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ในฐานะองค์กรให้ความช่วยเหลือและให้คำปรึกษาด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมแก่ชุมชนได้ทบทวนและประมวลเนื้อหาของประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช. อย่างน้อย 17 ฉบับ และตัวอย่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาเห็นชอบของ สนช. อย่างน้อย 4 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงผลกระทบต่อการใช้สิทธิและเสรีภาพของชุมชนและข้อจำกัดของขบวนการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นภายใต้การปกครองของ คสช. ในช่วงระยะเวลาเกือบ 5 ปี หลังการรัฐประหารและก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง พบว่า
          ตลอดระยะเวลาการปกครองภายใต้รัฐบาล คสช. ที่ผ่านมา มีการผลักดันนโยบายที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติอย่างรวดเร็ว อาทิเช่น การจัดการปัญหาขยะ โดยการส่งเสริมให้มีโครงการโรงไฟฟ้าขยะ ซึ่งได้รับยกเว้นการทำรายงาน EIA หรือการผลักดันให้ภาคตะวันออกกลายเป็นพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ รวมถึงนโยบายทวงคืนผืนป่า ซึ่งมีการปราบปรามผู้กระทำความผิดโดยเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่และใช้มาตรการที่รุนแรงเข้าดำเนินการ ทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนผู้อาศัยอยู่ในเขตป่าและกำลังอยู่ในกระบวนการแก้ไขปัญหากับภาครัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
          ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากนโยบายต่างๆ ทำให้ประชาชนและชุมชนต่างคัดค้านและใช้สิทธิเรียกร้องให้หยุดหรือชะลอ เนื่องจากนโยบายต่างๆนั้นขาดการมีส่วนร่วมสาธารณะ ซึ่งประชาชนในชุมชนไม่ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความห่วงกังวลใดๆที่จะเกิดขึ้นต่อไป ทั้งการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการชุมนุมตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก็ถูกปิดกั้นและถูกคุกคามจนกลุ่มชาวบ้าน/ชุมชน ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมได้ โดยทหารใช้วิธีการเข้าเยี่ยมบ้านเพื่อพูดคุยและปรับทัศนคติ ซึ่งไม่ได้อ้างอำนาจตามกฎหมาย รวมถึงการเรียกตัวแกนนำชุมชนเข้าไปพูดคุยกับทหารเพื่อห้ามปรามการเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการพัฒนาต่างๆ และดำเนินคดีในข้อหาที่เกี่ยวกับการชุมนุม เช่น ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 หรือการดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ เป็นต้น
          ขณะเดียวกันรัฐบาลยังเสนอกฎหมายที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. และเร่งพิจารณาเห็นชอบร่างกฎหมายโดยไม่ได้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติโรงงาน พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 หรือพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 เป็นต้น ท่ามกลางข้อถกเถียงในเรื่องปัญหาหลายประการ ทั้งเนื้อหาสาระของกฎหมายและการตีความบังคับใช้ของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงการออกคำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ในเรื่องต่างๆนั้นก็มีผลกระทบทั้งกับประชาชนโดยทั่วไป ในชุมชนเฉพาะพื้นที่ที่กำหนด หรือเฉพาะประเด็นที่รัฐบาลต้องการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย โดยปราศจากการตรวจสอบเนื้อหาและกระบวนการออกคำสั่ง
          ในปัจจุบันหลังการใช้บังคับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ยังพบว่าสิทธิเสรีภาพด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญได้หายไป อาทิ สิทธิในการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี และสิทธิในการมีส่วนร่วมด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีจุดอ่อนในเรื่องการรับรองสิทธิประชาชนและลดทอนกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นปรากฏการณ์ดังรายละเอียดข้างต้นเป็นสถานการณ์สิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติภายใต้รัฐบาล คสช. ที่ผ่านมา นอกจากเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนหรือกลุ่มชุมชนอย่างแพร่หลายจากทหาร ฝ่ายความมั่นคง หรือเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายต่างๆแล้ว ยังไม่สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจหรือการดำเนินการต่างๆของรัฐบาลในทางที่กระทบสิทธิของประชาชนได้
       
ดาวน์โหลดบทความฉบับเต็ม:
https://enlawfoundation.org/wp-content/uploads/2019/03/5years-NCPO-EnviLawPolicy.pdf
5years-NCPO-EnviLawPolicy

บทความที่เกี่ยวข้อง