สิทธิชุมชนและสิทธิการมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย

สิทธิชุมชนและสิทธิการมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการเมืองเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เพราะมีหลายครั้งที่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายและโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมต่าง ๆ จากภาครัฐ เช่น โครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา, โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก #EEC และโครงการอื่นๆ ออกมาส่งเสียงเพื่อให้เราได้มีสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีและส่งต่อสิ่งแวดล้อมที่ดีเหล่านี้ให้คนรุ่นหลัง แต่ก็บ่อยครั้งที่เสียงเหล่านี้ดูเหมือนจะไม่ดังพอ อีกทั้งยังถูกคุกคามและจำกัดสิทธิจากรัฐด้วย

เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC

การดำเนินนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ส่วนหนึ่งมาจากคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 2/2560 คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 28/2560 คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 47/2560 และต่อมาได้มีการออกกฎหมาย พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่ยกเว้นกฎหมายผังเมือง แย่งยึดที่ดินชาวบ้าน ให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ กับนักลงทุนในพื้นที่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ภายใต้การบังคับใช้ผังเมือง EEC ที่กำหนดประเภทการใช้ประโยชน์ในที่ดิน โดยในหลายกรณีเป็นการเปลี่ยนจากพื้นที่เกษตรกรรมให้กลายเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม นำมาสู่ข้อกังวลเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่จะตามมาส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและระบบนิเวศน์ เช่น ความเสี่ยงที่จะทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากมลพิษจากอุตสาหกรรม มลพิษจากปัญหาขยะอุตสาหกรรมที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น และกระทบถึงการจัดสรรทรัพยากรน้ำที่ต้องหนุนภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น แม้จะมีเสียงคัดค้านของประชาชนภาคตะวันออกให้ #หยุดEEC เพื่อปกป้องคุ้มครองพื้นที่อันอุดสมบูรณ์ไว้แต่ก็ไม่สามารถหยุดโครงการนี้ได้

โครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ จ.สงขลา การรุกคืบโครงการขนาดใหญ่ ที่ทำลายความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศอย่างทะเลจะนะ

เมื่อพื้นที่ความอุดมสมบูรณ์ทางระบบนิเวศ แหล่งผลิตอาหารทะเลที่สำคัญของภาคใต้ แหล่งความมั่นคงทางอาหารเชื่อมเส้นทางเศรษฐกิจไปถึงประเทศอาเซียน กำลังถูกเปลี่ยนให้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โครงการนี้ถือเป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดของภาคใต้ โดยจะมีการสร้างท่าเรือน้ำลึก รางรถไฟเชื่อมโยงท่าเรือ โรงไฟฟ้า และนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยงสูงที่จะสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศอย่างรุนแรงอย่างที่ไม่อาจเอาคืนกลับมาได้ ไม่ว่าจะใช้เวลาฟื้นฟูอีกกี่ปีก็ตาม ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับประชาชนในพื้นที่ในหลายมิติ เช่น การกัดเซาะชายฝั่งทะเล มลพิษ สูญเสียแหล่งจับสัตว์น้ำของชาวประมงพื้นบ้าน เสียพื้นที่เพาะปลูก รวมถึงสังคมวัฒนธรรมของชุมชนมุสลิมที่จะต้องเปลี่ยนแปลง ทั้งยังขาดความเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งส่วนมากประกอบอาชีพเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ การเกษตร และการประมง ประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการนี้จึงออกมารวมตัวกันคัค้านในนาม “เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น” จนเกิด #SaveChana

กฎหมายส่งเสริมทุน-ลดทอนการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม

ตัวอย่างกฎหมายที่ผลักดันนโยบายส่งเสริมการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมและโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่อาจก่อให้เกิดการแย่งชิงและสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงผลกระทบต่อสุขภาพและวิถีชีวิตของประชาชนอย่างกว้างขวาง ทั้งโครงการเหมืองแร่ โรงไฟฟ้า เขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น

เดินหน้าโรงไฟฟ้าขยะ ด้วยการยกเว้น EIA-กฎหมายผังเมือง ด้วยการใช้อำนาจอย่าง ‘มาตรา 44’ ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท

เดินหน้าเศรษฐกิจพิเศษ ยกเว้นกฎหมายผังเมือง แย่งยึดที่ดินชาวบ้าน ได้แก่ คำสั่งคสช. ที่ 72/2557 คำสั่งคสช. ที่ 3/2558 คำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2559 คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 2/2560 คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 28/2560 คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 47/2560

แก้ไขกฎหมายสิ่งแวดล้อม อำนวยความสะดวกนักลงทุน โดยคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2559 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยให้หน่วยงานรัฐสามารถเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติให้มีการจัดหาประมูลโครงการหรือผู้รับเหมาได้ ก่อนที่รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะผ่านความเห็นชอบ

แก้ไขกฎหมายโรงงาน ลดทอนมาตรการสำคัญในการกำกับดูแลการประกอบกิจการโรงงาน การป้องกัน และการแก้ไขผลกระทบจากการประกอบกิจการของโรงงานต่างๆ ทั่วประเทศ และมุ่งเน้นแต่เพียงการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรม ซึ่งจะก่อความเสียหายรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และความปลอดภัยของประชาชน

นอกจากนี้การใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตยเพื่อมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น ตัดสินใจ และเรียกร้องการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของประชาชนก็ยัง ถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขข้ออ้างทางกฎหมายต่าง ๆ ที่รัฐสร้างขึ้นโดยเฉพาะพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ที่เป็นอุปสรรคทำให้การออกมารวมตัวรวมกลุ่มของประชาชนกลุ่มต่างๆ เพื่อเคลื่อนไหวเรียกร้องทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมและประเด็นสาธารณะอื่น ๆ ทำได้อย่างยากลำบาก หลายกรณีมีการกดดันข่มขู่ผู้เข้าร่วม หลายกรณีตามมาด้วยการถูกดำเนินคดี

เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่สะท้อนว่า การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมทั้งหมด คือการเมือง คือการจัดการทรัพยากรร่วม ซึ่งรัฐบาลมีหน้าที่ออกนโยบายเพื่อจัดการทรัพยากรร่วมเหล่านี้ ให้มีการใช้และกระจายทรัพยากรอย่างเป็นธรรม เพื่อให้ทุกๆคนสามารถเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างเท่าเทียมกัน มีการแก้ไขผลกระทบและการจัดการสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรม

เพราะฉะนั้น หากประเทศมีระบบการเมืองที่ดี เราจะมี #สิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี

———-
อ่านเพิ่มเติม
๐ เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจะนะ : https://www.facebook.com/Enlawthai2001/photos/4815851185154641

๐ EEC : https://www.facebook.com/Enlawthai2001/photos/4753652934707800

๐ กฎหมายใหม่ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม : https://www.facebook.com/Enlawthai2001/photos/3355139907892450

๐ การคุกคามจำกัดการใช้สิทธิเสรีภาพด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในปี 2560 ภายใต้การปกครองของรัฐบาล คสช.
https://www.facebook.com/Enlawthai2001/photos/2542044662535316

บทความที่เกี่ยวข้อง