จับตา! 5 เรื่องเด่น สถานการณ์ สิทธิเสรีภาพ กฎหมาย คดีสิ่งแวดล้อม ปี 2566

มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ชวนร่วมกันติดตาม จับตา เฝ้าระวังสถานการณ์ สิทธิเสรีภาพ กฎหมาย คดีสิ่งแวดล้อมที่น่าจะเกิดขึ้นในปี 2566 เพื่อความหวังในการมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีของปีใหม่ ที่ต้องช่วยกันทำให้ดีกว่าปีเก่าที่ผ่านไป…

  1. การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง PM 2.5

2. การแก้ไข ร่างพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ และร่างกฎหมายวิธีพิจารณคดีสิ่งแวดล้อม

3. แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2 (2565-2570)

4. ทางทางออกแก้ปัญหาโลกร้อนด้วย ‘คาร์บอนเครดิต’ กับความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม ?

5. เลือกตั้ง 66 พรรคการเมืองมีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ?

1.การแก้ปัญหา PM 2.5 กับการกำหนดค่ามาตรฐานใหม่ จะทำให้คุณภาพอากาศดีขึ้นหรือไม่

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหาที่เราชวนทุกท่านร่วมจับตาทุกปี ตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปี 2566 เป็นระยะเวลากว่า 5 ปี ที่ปัญหาฝุ่น PM 2.5 อยู่กับประเทศไทยและรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี โดยไม่มีท่าทีว่าการแก้ปัญหาจะดีขึ้นแต่อย่างใด ซ้ำร้ายฤดูหนาวนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังได้แจ้งว่าสถานการณ์ฝุ่นอาจมีแนวโน้มสูงกว่าทุกปีด้วย

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ไม่ได้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเพียงบางพื้นที่อย่างเชียงใหม่หรือกรุงเทพมหานครเท่านั้น แต่เกิดขึ้นทุกภูมิภาคในประเทศไทย ในภาคอีสานปัญหาฝุ่น PM 2.5 จากการเผาอ้อยรุนแรงถึงขั้นมองเห็นท้องฟ้าเป็นสีเหลือง และมีเศษอ้อยสีดำที่มาจากการเผาไหม้ลอยอยู่ในอากาศ

ช่วงที่ PM 2.5 มีปริมาณพุ่งสูงขึ้นนี้ ไม่ได้นำมาเพียงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ เช่น ภูมิแพ้ หรือหอบหืดเท่านั้น แต่เป็นสาเหตุหนึ่งของโรคมะเร็งปอดด้วย ล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน ที่ผ่านมาได้มีนักวิจัยค้นพบว่ามลพิษทางอากาศโดยเฉพาะ PM 2.5 นำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งปอดได้จริง แม้ไม่เคยสูบบุหรี่ โดยในไทยมีกรณีที่เชื่อมโยงกับงานวิจัยนี้ คือ กรณี รศ.ดร.ภาณุวรรณ จันทวรรณกูร อาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอด และ คุณหมอกฤตไท ธนสมบัติกุล ที่เป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย ทั้งสองล้วนใช้ชีวิตอยู่ที่เชียงใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในจังหวัดที่คุณภาพอากาสแย่ที่สุด และจากสถิติผู้ป่วยมะเร็งปอด ภาคเหนือยังเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการป่วยเป็นมะเร็งปอดมากที่สุดเมื่อเทียบกับภาคอื่นด้วย

จากความรุนแรงและสถานการณ์ฝุ่นPM2.5 ที่ยาวนานต่อเนื่องในทุกปี วันที่ 22 มีนาคม 2565 ภาคประชาชน จึงร่วมกันฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติปรับปรุงค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 ให้เป็นไปตามค่าเป้าหมายระยะที่ 3 (Interim Target-3) ที่องค์การอนามัยโลกกำหนด ได้แก่ ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยรายปี 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร รวมถึงขอให้รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม กำหนดค่ามาตรฐานฝุ่นPM2.5 จากแหล่งกำเนิดมลพิษและโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อคุ้มครองสิทธิการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและปลอดภัยต่อสุขภาพของประชาชน

ภายหลังการฟ้องคดีข้างต้น คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้ออกประกาศ เรื่อง กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศโดยทั่วไป ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2565 ปรับค่าฝุ่น PM 2.5 ในบรรยากาศใหม่หลังจากไม่มีการปรับปรุงมาเป็นเวลา 10 ปี โดยปรับให้เป็นไปตามค่าเป้าหมายระยะที่ 3 (Interim Target-3) ตามที่มีการฟ้องคดี แต่กรณีค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงนั้นได้กำหนดให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2566 หรือหนึ่งปีข้างหน้า ซึ่งถือเป็นพัฒนาการที่ดีขึ้นของมาตรฐานคุณภาพประเทศไทย

อย่างไรก็ดี แม้จะมีการประกาศค่ามาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศแล้วก็ตาม แต่การจะทำให้คุณภาพอากาศบรรลุเป้าหมายที่กำหนด หน่วยงานรัฐต้องมีแผนการจัดการแหล่งกำเนิดมลพิษที่ชัดเจน แม้จะมีแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ที่จัดทำขึ้นเพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ตั้งแต่ปี 2562 แต่การดำเนินการตามแผนข้างต้นก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก โดยเฉพาะการกำหนดค่ามาตรฐาน PM2.5 จากแหล่งกำเนิด ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้คุณภาพอากาศเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดได้ ที่ปัจจุบันก็ยังไม่ได้มีการกำหนด หรือวางระบบควบคุมPM2.5ไว้แต่อย่างใด

อ่านเพิ่มเติม :

สถานการณ์ฝุ่นปีนี้ รุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา

PM 2.5 ปอด ปากท้อง คนปลูกอ้อย

มลพิษทางอากาศนำไปสู่โรคมะเร็งปอด

2.การแก้ไขกฎหมายสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม จะปกป้องสิ่งแวดล้อมและสิทธิของประชาชนได้จริงหรือไม่

ปี 2565 ที่ผ่านมามีการแก้ไขกฎหมายสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม อย่าง พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม หรือ ‘พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ’ และก็ได้มีการผลักดันให้มีการแก้ไขวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมมาหลายปี โดยปี 2565 ที่ผ่านมามีการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว

๐ ร่างกฎหมายวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม

หลังจากมีการผลักดันให้มีการแก้ไขวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมมาหลายปี เนื่องจากคดีสิ่งแวดล้อมเป็นคดีที่ซับซ้อนกว่าคดีทั่วไป ทำให้เมื่อใช้วิธีการพิจารณาคดีทั่วไปพบปัญหาในการพิจารณาคดีจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นความทับซ้อนของอำนาจศาล การตีความเรื่องผู้มีสิทธิฟ้องคดี ภาระการพิสูจน์ การกำหนดค่าเสียหาย หรือแม้กระทั่งปัญหาเกี่ยวกับพยานผู้เชี่ยวชาญ ที่คดีสิ่งแวดล้อมต้องอาศัยวิธีพิจารณาที่พิเศษกว่าวิธีการพิจารณาคดีทั่วไป เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนและสิ่งแวดล้อมได้อย่างครบถ้วน ครอบคลุมมากขึ้น

หลังจากผ่านการเรียกร้อง และพิจารณากันมาอย่างยาวนาน ล่าสุดศาลยุติธรรมและศาลปกครองจึงได้มีการปรับปรุงแก้ไขวิธีพิจารณาคดีในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคดีสิ่งแวดล้อมขึ้น โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นในปี 2565 ที่ผ่านมา

โดยศาลปกครองได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับคดีปกครองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม) รับฟังความคิดเห็นตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม ถึง 24 มีนาคม 2565 และศาลยุติธรรมได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม พ.ศ. …. รับฟังความคิดเห็นตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม ถึง 4 กันยายน 2565 ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับล้วนมีการระบุถึงหลักกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ เช่น หลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน หลักป้องกัน หลักระมัดระวังไว้ก่อน และยังได้แก้ไขกระบวนการพิจารณาคดีให้มีความเหมาะสมกับคดีสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย แต่เนื่องจากคดีสิ่งแวดล้อม เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ ส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมาก การรับฟังความคิดเห็นจึงควรรับฟังอย่างครบถ้วน กว้างขวาง มีการให้ข้อมูลและระยะเวลาการรับฟังความคิดเห็นที่เหมาะสม

ทั้งนี้ การรับฟังความคิดเห็นของร่างกฎหมายวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมทั้งสองฉบับ มีระยะเวลาการรับฟังความคิดเห็นที่สั้นเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น โดยประชาสัมพันธ์เฉพาะในเว็บไซต์ของหน่วยงานที่มีผู้เข้าถึงน้อย และยังไม่ได้เปิดให้ข้อมูลเกี่ยวกับร่างอย่างครบถ้วนแต่อย่างใด ทำให้การทำความเข้าใจร่างกฎหมายมีความไม่ชัดเจน และอาจเกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกันได้ ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับนี้จึงยังคงขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอยู่มาก

ปัจจุบัน ร่างทั้งสองฉบับยังอยู่ในกระบวนการในการตราเป็นกฎหมาย ซึ่งต้องช่วยกันติดตามต่อไปว่าจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่ อย่างไร และจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม หรือให้ข้อมูลมากขึ้นหรือไม่ และหากมีการบังคับใช้เป็นกฎหมายแล้ว ก็เป็นที่น่าสนใจว่าร่างวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมเหล่านี้จะมีการนำมาใช้เพื่อปกป้องสิทธิของประชาชนและสิ่งแวดล้อมได้จริงหรือไม่ อย่างไร

อ่านเพิ่มเติม :

บทความ “ร่างกม.ก้าวหน้า วิธีรับฟังยังล้าหลัง?” ร่างกม.วิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม

๐ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

กฎหมายสิ่งแวดล้อมหรือ “พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ” มีการบังคับใช้มาแล้วไม่น้อยกว่า 30 ปี นับแต่มีการประกาศใช้ฉบับแรกเมื่อปี 2535 หากจะมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเพื่อสร้างมาตรการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเรื่องที่ดี

แต่หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2560 ภายใต้รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ได้มีการเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ท่ามกลางเสียงคัดค้านของประชาชนที่มีข้อสังเกตว่า การแก้ไขกฎหมายสิ่งแวดล้อมจะถูกทำให้กลายเป็นกฎหมายส่งเสริมการลงทุน เนื่องจากเนื้อหาในร่างกฎหมายมีปัญหาข้อบกพร่องในสาระสำคัญทั้งในทางเนื้อหาและกระบวนการยกร่างกฎหมายในหลายประเด็น เช่น การเพิ่มเติมเนื้อหาตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2559 และการกำหนดกรอบเวลาเร่งรัดการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA/EHIA) เพื่อเอื้อให้สามารถดำเนินการโครงการได้รวดเร็วและง่ายขึ้นกว่าเดิม แทนที่จะเพิ่มระบบการกลั่นกรองโครงการที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ท้ายที่สุดแล้ว แต่เสียงของประชาชนก็ไม่เป็นผลให้มีการทบทวนร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อปี 2560   แม้ว่าจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นผลให้มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561

การแก้ไขกฎหมายสิ่งแวดล้อม วนกลับมาอีกครั้งในปี 2565 เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เผยแพร่ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. …และเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2565 ถึงวันที่ 7 ตุลาคม 2565  โดยมีกรอบเวลาเปิดรับฟังความคิดเห็น เพียง 15 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลที่สั้นมาก และป็นการดำเนินการโดยที่หน่วยงานรัฐเป็นผู้ร่างกฎหมายอยู่ฝ่ายเดียว และนำมารับฟังความคิดเห็นเมื่อร่างกฎหมายทั้งฉบับเสร็จเรียบร้อยแล้ว

แม้ว่าที่ผ่านมาทั้งภาคประชาชน และองค์กรภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมจะมีข้อสังเกตต่อกฎหมายสิ่งแวดล้อมเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับประชาชนและประโยชน์สาธารณะในวงกว้าง  ทั้งในแง่ของกระบวนการยกร่างกฎหมายที่ขัดต่อหลักการกฎหมายระหว่างประเทศอย่าง “ปฏิญญาริโอ”-หลักการ มาตรฐานสากลใกระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบในการออกกฎหมาย (Regulatory Impact Assessment: RIA)ไม่เป็นไปตามหลักการมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญฯ 2560 และ พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 และการรับฟังความคิดเห็นที่มีข้อบกพร่องในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ เนื่องจากไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลเพื่อประกอบการรับฟังความคิดเห็นในด้านต่างๆ ที่เพียงพอต่อการศึกษาและทำความเข้าใจเนื้อหาร่างกฎหมายทั้งฉบับ

การแก้ไขกฎหมายสิ่งแวดล้อมทั้งในแง่ของกระบวนการจัดทำร่างกฎหมายและเนื้อหาของกฎหมายฉบับนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ต้องร่วมกันติดตามในปี 2566 ว่าจะมีการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงหรือไม่ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะนำข้อเสนอจากภาคประชาชนและภาคประชาสังคมไปพิจารณาประกอบหรือไม่ และท้ายที่สุดแล้วหากกระบวนการยังเดินหน้าต่อไป หน้าตาของกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่จะเป็นอย่างไร และจะนำไปสู่การปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ สุขภาพความปลอดภัยของประชาชน และการรับรองสิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริงหรือไม่

อ่านเพิ่มเติม :

ตารางเปรียบเทียบร่างกฎหมายสิ่งแวดล้อม

4 องค์กรภาคประชาสังคมขับเคลื่อนความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม ส่งหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเรียกร้องให้ขยายเวลาพร้อมทั้งต้องมีข้อมูลประกอบ การรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. …

3.แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2 (2565-2570) ลดความซับซ้อนของขั้นตอนกระบวนการ เอื้อประโยชน์ในการประกอบกิจการเหมืองแร่

๐ แผนแม่บทแร่คืออะไร สำคัญอย่างไร

หลังจากที่พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ใช้บังคับ คณะกรรมการนโยบายบรหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) ได้จัดทำยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี (2561-2580) ขึ้นมาเพื่อบริหารจัดการแร่ในระยะ 20 ปีข้างหน้าและได้วางกรอบแนวคิด หลักการ แนวนโยบายจากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยทุกๆ 5 ปี คนร. ต้องจัดทำหรือปรับปรุงแผนแม่บทบริหารจัดการแร่

ตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติแร่ 2560 กำหนดให้การอนุญาตทำเหมืองให้พิจารณาอนุญาตได้เฉพาะในพื้นที่ที่แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ (เรียกสั้นๆว่าแผนแม่บทแร่) กำหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองเท่านั้น ดังนั้นแผนแม่บทแร่มีความสำคัญคือเป็นตัวกำหนดเขตพื้นที่ทำเหมือง (เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง) ว่าบริเวณพื้นที่ใดที่สามารถประกอบกิจการเหมืองแร่ได้ นอกจากนี้แล้วแผนแม่บทแร่ยังกำหนดนโยบายการบริหารจัดการแร่ การพัฒนากลไกการกำกับดูแล การฟื้นฟู และกำหนดแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนไว้ด้วย

o ผลกระทบจากการบังคับใช้แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2560-2564)

ย้อนไปเมื่อปี 2560 คนร. ได้จัดทำร่างแผนแม่บทแร่ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2560-2564) โดยในขณะนั้น เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับร่างแผนแม่บทแร่ ฉบับดังกล่าว่า น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายตามพระราชบัญญัติแร่ 2560

โดยหลังจากที่มีการบังคับใช้แผนแม่บทแร่ฯ ฉบับที่ 1 แล้ว แผนแม่บทแร่ฯ ฉบับที่ 1 ได้กำหนดเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง ได้แก่ พื้นที่ตามประทานบัตร คำขอต่ออายุ และคำขอประทานบัตร ที่ยื่นก่อน พระราชบัญญัติแร่ 2560 ใช้บังคับ, พื้นที่ตามอาชญาบัตรที่ออกให้ก่อน พระราชบัญญัติแร่ 2560 ใช้บังคับ, พื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมก่อสร้าง และที่ดินกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองเฉพาะกรณีที่ทำเหมืองประเภทที่ 1 หรือเหมืองหินอุตสาหกรรม

โดยพื้นที่ที่ถูกกำหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองตามแผนแม่บทแร่ฯ ฉบับที่ 1 นั้น ล้วนแล้วแต่เป็นพื้นที่โครงการที่กำลังดำเนินการอยู่และส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สุขภาพและวิถีชีวิตของประชาชน

นอกจากนี้ เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองที่ถูกกำหนดจากแผนแม่บทแร่ฯ ฉบับที่ 1 ยังไม่ถูกทบทวนใหม่และตัดพื้นที่หวงห้ามไม่ให้ทำเหมืองออกก่อนตามมาตรา 17 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติแร่ 2560 ได้แก่ พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติ หรือเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า, เขตโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามกฎหมาย, เขตพื้นที่ที่มีกฎหมายห้ามเข้าใช้ประโยชนืโดยเด็ดขาด เช่น พื้นที่ป่าชุมชน, พื้นที่เขตปลอดภัยและความมั่นคงแห่งชาติ และพื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม ซึ่งมีตัวอย่างชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการกำหนดเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองจากแผนแม่บทแร่ฯ ฉบับที่ 1 เช่น

เหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อยจังหวัดเชียงใหม่ บริษัทเอกชนยื่นคำขอประทานบัตรประกอบกิจการเหมืองแร่ถ่านหินเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานปูนซีเมนต์ โดยโครงการมีเนื้อที่กว่า 284 ไร่ และพื้นที่โครงการตั้งทับ “แหล่งน้ำ” ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำที่ชุมชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน

เหมืองหินบะซอลต์ตำบลเขาคอกจังหวัดบุรีรัมย์ บริษัทเอกชนขออาชญาบัตรสำรวจแร่ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาคอก ซึ่งเดิมเคยเป็นพื้นที่ป่าชุมชนตามพระราชบัญญัติป่าชุมชน 2560 แต่ถูกถอนสภาพออกในภายหลัง ซึ่งพื้นที่ในการจุดสำรวจแร่มีเนื้อที่กว่า 3000 ไร่ โดยชุมชนไม่เห็นด้วยและออกมาคัดค้านเนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งภูเขาไฟ 1 ใน 6ลูกของจังหวัดบุรีรัมย์ และนอกจากนั้นยังมีบ่อน้ำตายอ ซึ่งชาวบ้านนับถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิของชุมชนและเป็นแหล่งโบราณสถานของชุมชน

เหมืองแร่ทองคำจังหวัดจันทบุรี บริษัทเอกชนขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำ ในพื้นที่อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรีซึ่งชุมชนมองว่าพื้นที่ที่จะขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำเป็นพื้นที่ต้นน้ำวังโตนดซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญทางตะวันตกของจังหวัดจันทบุรี

เหมืองหินตำบลลิพังจังหวัดตรัง บริษัทเอกชนยื่นคำขอประทานบัตรประกอบกิจการเหมืองหินเพื่อการอุตสาหกรรม บริเวณพื้นที่เขาวังช้างซึ่งเป็นภูเขาแหล่งต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ของชุมชนและนอกจากนี้ยังมีการขุดพบวัตถุโบราณภายในพื้นที่คำขอประทานบัตรโดยชุมชนอยู่ระหว่างติดต่อขอขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งโบราณสถานและโบราณวัตถุตามกฎหมาย

ตัวอย่างพื้นที่ดังกล่าวเป็นเพียงส่วนนึงเท่านั้นที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของแผนแม่บทแร่ ฉบับที่ 1 โดยเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ได้มีการจัดเวทีสาธารณะและมีข้อเสนอให้ทบทวนแผนแม่บทแร่ฉบับดังกล่าว

แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2 จะถูกประกาศใช้ในปี 2566

เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2565 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) พร้อมด้วยคณะกรรมการมีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนแม่บทบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2566-2570) ซึ่งเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ได้รวมตัวกันยื่นหนังสือเพื่อคัดค้านการประกาศบังคับใช้แผนแม่บทฉบับที่ 2 โดยตั้งข้อสังเกตถึงการมีส่วนร่วมในการทบทวนแผนแม่บทแร่ ฉบับที่ 2 และข้อกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เช่น ประเด็นการมีส่วนร่วมที่ไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมและเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนได้ทราบอย่างแท้จริง ไม่ครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสีย และประเด็นการสำรวจทรัพยากรแร่ เพื่อเป็นข้อมูลในการจัดทำแผนแม่บทแร่ฯ ฉบับที่ 2  ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในพื้นที่ โดยไม่มีการสำรวจและกันพื้นที่หวงห้ามตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2560 มาตรา 17 วรรคสี่ ออกก่อน เป็นต้น

ซึ่งหากมีการประกาศใช้บังคับแผนแม่บทแร่ฯ ฉบับที่ 2 ในวันที่ 1 มกราคม 2566 นี้จะส่งผลให้ประชาชนที่อยู่อาศัยในเขตพื้นที่แหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองได้รับผลกระทบจากปัญหาเดิมที่แผนแม่บทแร่ฯ ฉบับที่ 1 อย่างแน่นอน

4.คาร์บอนเครดิต VS สิทธิการมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ทางออกแก้ปัญหาโลกร้อนกับความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม ?

ปัจจุบันปัญหาโลกร้อนมีความรุนแรงมากขึ้น จนกลายเป็นปัญหาที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ต้องหาทางยับยั้งไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นเกิน 2 องศานับแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม วิธีการสำคัญที่จะยับยั้งไม่ให้โลกร้อนขึ้น คือ การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อเป้าหมายในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หลังจากพิธีสารเกียวโต ทั่วโลกจึงได้สร้างกลไกทางการตลาดขึ้นมา คือ คาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นการนำปริมาณการใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ที่ต่ำกว่าเป้าหมายในแต่ละประเทศมาเปลี่ยนแปลงให้สามารถซื้อ-ขายได้ เพื่อให้เกิดการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาพรวม โดยทุกประเทศยังคงมีหน้าที่ต้องปล่อยคาร์บอนให้น้อยลงทุกประเทศเช่นเดิม

อย่างไรก็ตาม คาร์บอนเครดิตยังคงมีปัญหาในการคำนวณปริมาณการดูดซับ ว่าปริมาณการดูดซับคาร์บอนที่ซื้อไปนั้นเท่ากับจำนวนคาร์บอนเครดิตที่ซื้อไปเพื่อปลดปล่อยมลพิษเพิ่มหรือไม่ เพราะการดูดซับคาร์บอนยังมีปัจจัยแวดล้อมทางนิเวศวิทยาจำนวนมากที่ต้องคำนึงถึง เช่น การปลูกต้นไม้ ที่หากคำนวณแค่จำนวนต้นไม้ แต่ไม่คำนึงถึงความหลากหลายทางชีวภาพที่จะทำให้เกิดป่าดูดซับคาร์บอนอย่างแท้จริง ก็จะทำให้เกิดปัญหาการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่จะส่งผลเสียต่อดินมากกว่าเดิมด้วย

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาว่าคาร์บอนเครดิตจะทำให้กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ต่างๆ ไม่จำเป็นต้องใส่ใจต่อการลดคาร์บอน เนื่องจากสามารถปล่อยคาร์บอนต่อไปได้เรื่อยๆ ตราบเท่าที่ตนยังสามารถซื้อคาร์บอนเครดิตต่อไปได้ด้วย รวมถึงปัญหาการนิยามพลังงานสะอาดที่ไม่ปล่อยคาร์บอน เช่น พลังงานนิวเคลียร์ หรือพลังงานน้ำจากเขื่อนขนาดใหญ่ ที่แม้จะไม่ปล่อยคาร์บอนแต่ก็ส่งผลเสียต่อพื้นที่และสิ่งแวดล้อมได้ไม่ต่างกัน

กรณีศึกษาปัญหาคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นในประเทศอูกันด้า จากการนำพื้นที่ชุมชนมาเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกป่าสำหรับคาร์บอนเครดิต ทำให้ชุมชนเหล่านั้นต้องย้ายออกจากพื้นที่ กลายเป็นว่า จากที่คนอยู่กับป่า กลับถูกไล่ออกจากป่าที่ตนดูแล ทำให้สิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรของชุมชนลดลง

สำหรับประเทศไทยมีการทำเรื่องคาร์บอนเครดิตมาระยะหนึ่งแล้ว โดยการซื้อขายคาร์บอนเครดิตภายในประเทศไทยเป็นแบบระบบสมัครใจ ภายใต้การดูแลขององค์กรการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) และได้เริ่มมีการซื้อพื้นที่เพื่อปลูกป่าสำหรับซื้อขายคาร์บอนเครดิตแล้ว ข้อมูลจากกรมป่าไม้บอกว่า มีหลายบริษัทที่ได้ซื้อพื้นที่ปลูกป่าจากรัฐสำหรับคาร์บอนเครดิต โดยป่าบกมี 7 โครงการ พื้นที่เกือบ 70,000 ไร่ ขณะป่าชายเลนแจ้งความจำนงมากมากกว่า 550,000 ไร่ และมีแผนจะเพิ่มพื้นที่ป่าบกให้ถึงแสนไร่ด้วย

อย่างไรก็ดี พื้นที่ป่าส่วนใหญ่ของประเทศไทยล้วนทับซ้อนกับพื้นที่ป่าที่มีชุมชนทำกินอยู่ ดังที่เห็นจากการดำเนินคดีกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าหลายคดีในปีที่ผ่านมา เช่น คดีโลกร้อน หรือคดีบางกลอย ดังนั้น การที่ไทยมีเป้าหมายจะขยายพื้นที่ป่าจำนวนมากนี้ ย่อมเป็นการที่รัฐให้สิทธิเอกชนในการใช้พื้นที่ป่าของชุมชนสำหรับสร้างคาร์บอนเครดิต โดยที่ชุมชนผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรแต่เดิมไม่ได้มีส่วนร่วม และแทนที่ชุมชนจะได้ผลประโยชน์ของคาร์บอนเครดิตจากทรัพยากรที่ตนมีอยู่ กลับกลายเป็น ลูกจ้างปลูกป่าแทน สิทธิชุมชนถูกลดความสำคัญลงไป และเกิดความไม่เป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมขึ้น

คาร์บอนเครดิตเป็นกลไกชั่วคราวที่ใช้จูงใจให้เกิดการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ แต่จากปัญหาที่กล่าวมาจึงเป็นที่น่าสนใจว่าสังคมโลก รวมถึงไทยจะนำกลไกคาร์บอนเครดิตมาใช้ได้จริงเพียงใด และที่สำคัญที่มาของคาร์บอนเครดิตเหล่านั้นยั่งยืน และเป็นธรรมหรือไม่ด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

บทความ ‘ฟอกเขียว’ ในตลาดคาร์บอนเครดิต ควักเงินจ่ายเพื่อมีสิทธิ์สร้างมลภาวะเพิ่ม?

5.จับตานโยบายพรรคการเมืองกับการเลือกตั้ง 66 เลือกตั้งปีนี้  พรรคการเมืองมีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ?

ห้วงเวลาการนับถอยหลังเข้าสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดให้วันที่ 7 พฤษภาคม 2566 เป็นวันหย่อนบัตรเลือกตั้ง หากสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน (ชุดที่ 25) ครบวาระสี่ปีในวันที่ 24 มีนาคม 2566 การเลือกตั้งครั้งใหม่จะเกิดขึ้นเร็วๆนี้ และก่อนที่จะถึงวันหย่อนบัตรเลือกตั้งจึงเป็นช่วงเวลาหาเสียงของพรรคการเมือง

ย้อนไปการเลือกตั้งเมื่อปี 62  หลายพรรคหยิบยกนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมมาหาเสียงกับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาผลกระทบจากฝุ่นละออง PM 2.5 และปัญหาจากการเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโครงการพัฒนาขนาดใหญ่อย่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC และนโยบายการจัดการขยะในรูปแบบการผลักดันให้เกิดโรงไฟฟ้าขยะ .

ผ่านมาเกือบสี่ปี ปัญหาเหล่านี้ยังคงอยู่และมีแนวโน้มว่านับวันจะทวีความรุนแรงขึ้น การกำหนดกฎหมายหรือนโยบายเพื่อแก้ปัญหาอย่างตรงจุดเพื่อปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้ออมและคุณภาพชีวิตของประชาชนยังคงดำเนินไปอย่างล่าช้า และแม้ที่ผ่านมาพรรคก้าวไกล ได้เสนอกฎหมาย PRTR หรือ ร่างกฎหมายการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ เพื่อเป็นทางออกของการจัดการปัญหามลพิษ รวมถึงมลพิษทางอากาศอย่าง ฝุ่นละออง PM 2.5 ด้วย แต่ท่ามกลางปัญหามลพิษที่รุนแรงขึ้น นายกรัฐมนตรี (ประยุทธ์ จันทร์โอชา) กลับปัดตกร่างกฎหมายดังกล่าว

ห้วงเวลานับถอยหลังสู่การเลือกตั้งปี 2566 เริ่มมีพรรคการเมืองออกมนำเสนอนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมให้เห็นกันอยู่บ้าง โดยในเวทีเสวนานโยบายพรรคการเมือง ‘EEC กับลุ่มน้ำบางปะกง’ มีตัวแทนจากพรรคก้าวไกล, เพื่อไทย และประชาธิปัตย์ ร่วมพูดคุยเพื่อหาทางออกเกี่ยวกับปัญหาอุตสาหกรรมรุกล้ำพื้นที่ทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

การเลือกตั้งในปี 2566 ที่จะถึงนี้ อยากชวนฃทุกคนร่วมกันติดตามว่าจะมีพรรคการเมืองใดบ้างที่หยิบยกนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่คำนึงถึงสิทธิการมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี มาเป็นประเด็นสำคัญในการหาเสียงที่สามารถทำได้จริง ไม่ใช่เพียงนโยบายสวยหรูที่หาเสียงกับประชาชนก่อนการเลือกตั้งเท่านั้น

ข่าวสารที่เกี่ยวข้อง