เข้าสู่ปีใหม่ 2565 “มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)” ขอยก 5 เรื่องสำคัญ “สถานการณ์สิ่งแวดล้อม สิทธิ และกฎหมายที่ต้องติดตามในปี 2565”
1.ปัญหาฝุ่นพิษ “PM 2.5” วาระที่รัฐต้องเร่งแก้ไขปีนี้
2.เมื่อไหร่ประเทศไทยจะมี “กฎหมาย PRTR” เครื่องมือปกป้องประชาชนและสิ่งแวดล้อมจากมลพิษและอุบัติภัยสารเคมี ?
3. “เขตพัฒนาพิเศษ” จาก EEC สู่นิคมฯ จะนะ บทเรียนของการพัฒนาที่ทิ้งประชาชนไว้ข้างหลัง ต้องไม่ซ้ำรอยเดิม
4. “เหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย” การต่อสู้และความหวังในการปลดระวางถ่านหินในประเทศไทย
5.”Climate Change” วาระเร่งด่วนของไทยจริงหรือ ?
EnLAW อยากเชิญชวนให้ร่วมติดตาม จับตา เฝ้าระวัง เพื่อความหวังในการมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีของปีใหม่ ที่ต้องช่วยกันทำให้ดีกว่าปีเก่าที่ผ่านไป…
1.ปัญหาฝุ่นพิษ “PM 2.5” วาระที่รัฐต้องเร่งแก้ไขปีนี้ !
ฝุ่น PM2.5 เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกปี และจัดเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ต้องจับตาทุกครั้งที่เริ่มปีต่อ ๆ ไป EnLAW ได้ติดตามสถานการณ์ปัญหานี้มาตั้งแต่ปี 2562 จนถึงตอนนี้ปัญหานี้กลายเป็นการละเมิดสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีประจำฤดูหนาวที่ต่อเนื่องยาวนานจนไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเริ่มขึ้นในปีใด และจะจบลงเมื่อใด
เมื่อปี 2562 รัฐบาลได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” (แผนแก้ปัญหาฝุ่นละออง) โดยได้มีการแบ่งมาตรการออกเป็นมาตรการระยะสั้น (2562-2564) และมาตรการระยะยาว (2565-2567) ในขณะที่ปี 2564 เป็นปีสุดท้ายของการดำเนินการตามมาตรการระยะสั้นได้ผ่านไปแล้ว และการดำเนินการตามมาตรการระยะยาวกำลังจะเริ่มขึ้น จึงต้องมีการตรวจสอบดูว่ารัฐบาลได้มีการดำเนินการตามมาตรการใดไปแล้วบ้าง
ตามแผนแก้ปัญหาฝุ่นละออง มีเป้าหมายมาตรการระยะสั้น (พ.ศ. 2562 – 2564) ในการกำหนดค่ามาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศโดยทั่วไปเฉลี่ยรายปี ให้เป็นไปตามเป้าหมายระยะที่ 3 ขององค์การอนามัยโลก (WHO IT-3) คือต้องควบคุมให้ไม่เกิน 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรต่อปี และมีมาตรการระยะยาว (พ.ศ. 2565 – 2567) ในการพิจารณากำหนดค่ามาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ให้เป็นไปตามเป้าหมายระยะที่ 3 ของ องค์การอนามัยโลก (WHO IT-3) คือต้องควบคุมให้ไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ในปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไปตามแผนดังกล่าวแต่อย่างใด
แม้จะมีการอ้างว่าปัญหาฝุ่น PM2.5 ไม่ได้มาจากภาคอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ แต่เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีการวัดPM2.5 จากภาคอุตสาหกรรม ข้อมูลปัจจุบันจึงมาจากการคาดการณ์จากฝุ่นละอองรวม ทำให้การวัดปริมาณฝุ่น PM2.5 ไม่ได้สะท้อนถึงปริมาณฝุ่นที่แท้จริง ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ต้องมีการวัดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ที่มาจากภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะด้วย
ทั้งนี้ การแก้ปัญหา PM2.5 ในภาคอุตสาหกรรม ตามแผนแก้ปัญหาฝุ่นละอองยังมีมาตรการระยะสั้น ดังต่อไปนี้ ด้วย
- กำหนดให้กำหนดมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศในรูปแบบการระบายอัตรารวม โดยคำนึงถึง ความสามารถหรือศักยภาพ ในการรองรับมลพิษทางอากาศของพื้นที่
- ติดตั้งระบบตรวจสอบการระบายมลพิษทางอากาศ แบบอัตโนมัติต่อเนื่องที่ปล่องของโรงงานอุตสาหกรรม จำพวก 3 เตาเผา เชื้อเพลิง และหม้อไอน้ำที่มีขนาดตามที่กำหนด และรายงานผลผ่านระบบ online ไปยังกระทรวงอุตสาหกรรม
- จัดทำทำเนียบการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register : PRTR)
ซึ่งมาตรการข้างต้น หน่วยงานที่รับผิดชอบยังไม่มีการจัดทำอย่างทั่วถึงครอบคลุมแต่อย่างใด การกำหนดมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศในรูปแบบการระบายอัตรารวมและติดตั้งระบบตรวจสอบการระบายมลพิษทางอากาศ แบบอัตโนมัติต่อเนื่องที่ปล่องของโรงงานอุตสาหกรรมมีการทดลองดำเนินการนำร่องในพื้นที่จังหวัดระยอง แต่ปัจจุบันก็ขาดความต่อเนื่องไป และการจัดทำทำเนียบการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษยังอยู่ในขั้นตอนรับฟังความคิดเห็น รวมถึงยังไม่มีการกำหนดว่าต้องมีการรายงานแต่อย่างใด
ปี 2564 ที่ผ่านมา ศาลปกครองเชียงใหม่มีคำพิพากษากำหนดให้เขตท้องที่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และแม่ฮ่องสอน เป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อดำเนินการควบคุม ลด และขจัดมลพิษให้ประกาศภายใน30 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด เนื่องจากปัญหาจากมลพิษฝุ่นละออง ที่รวมถึงฝุ่น PM2.5 ด้วย โดยพื้นที่ที่เป็นเขตควบคุมมลพิษจะสามารถกำหนดมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่เข้มข้นกว่าพื้นที่อื่น ๆ เป็นการเฉพาะได้ รวมถึงมีมาตรการเฉพาะเพื่อควบคุมมลพิษในพื้นที่ได้ด้วย แต่ยังไม่ปรากฏว่ามีการกำหนดมาตรฐานหรือใช้มาตรการในเขตควบคุมมลพิษเป็นพิเศษแต่อย่างใด
EnLAW เห็นว่าปัญหาฝุ่น PM2.5 นั้น เป็นฝุ่นละอองที่เป็นอันตรายต่อร่างกายอย่างมาก การกำหนดมาตรฐานให้เทียบเท่ามาตรฐานสากลจึงเป็นเครื่องมือสำคัญและเร่งด่วนที่จะช่วยให้หน่วยงานสามารถกำกับดูแล และแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองได้ ทำให้การกำหนดค่ามาตรฐานการระบายมลพิษประเภทฝุ่น PM2.5 นั้น จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลพึงดำเนินการเป็นลำดับต้น ๆ แต่ที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐยังคงล่าช้า และไม่ได้ดำเนินงานตามแผนแก้ปัญหาฝุ่นละออง
EnLAW ร่วมกับกรีนพีซ ประเทศไทย ยื่นหนังสือต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอให้เร่งรัดการดำเนินงานตามแผนดังกล่าว เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 และป้องกันสุขภาพของประชาชน เมื่อวันที่วันที่ 17 มกราคม 2565 แต่ปัจจุบันยังไม่มีการตอบกลับจากหน่วยงานเลย
ในปีนี้จึงต้องร่วมกันติดตามการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ว่ารัฐบาลจะสามารถดำเนินการตามแผนได้หรือไม่ อย่างไร และต้องติดตามว่าการกำหนดเขตควบคุมมลพิษในพื้นที่ข้างต้นจะส่งผลให้รัฐมีการดำเนินงานอย่างไรต่อไปในปี 2565
ข้อมูลเพิ่มเติม
แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง Link
ศาลปกครองเชียงใหม่ สั่ง คกก.สิ่งแวดล้อมฯ ประกาศ 4 จังหวัดเหนือ เป็นเขตควบคุมมลพิษ ใน 30 วัน Link
2.เมื่อไหร่ประเทศไทยจะมี “กฎหมาย PRTR” เครื่องมือปกป้องประชาชนและสิ่งแวดล้อมจากมลพิษและอุบัติภัยสารเคมี ?
เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2564 ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์การระเบิดอย่างรุนแรงของสารเคมีภายในโรงงาน “หมิงตี้เคมีคอล” สร้างความเสียหายทั้งจากแรงระเบิด และจากการที่สารสไตรีนโมโนเมอร์ กระจายออกไปสู่ชุมชนโดยรอบ และเมื่อถูกเผาไหม้จึงกลายเป็นก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) จำนวนมาก มีอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ ถ้าได้รับสารปริมาณสูงจะมีอาการชักและเสียชีวิตได้ และยังจำเป็นต้องใช้วิธีการดับเพลิงที่เหมาะสม คือ ต้องใช้น้ำยาประเภทคาร์บอนไดออกไซด์ หรือโฟมในการปิดคลุมสาร ไม่ใช่การฉีดน้ำตามวิธีการดับเพลิงทั่วไป
ช่วงเวลาหลังจากเกิดเหตุการณ์อุบัติภัยนี้ไม่นานักนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งปัดตก “ร่างกฎหมาย PRTR” (Pollutant Release and Transfer Registers) ที่มีการเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ทั้งที่เป็นกฎหมายที่จะมาช่วยจัดการปัญหาเกี่ยวกับสารมลพิษและสารเคมี ดังเช่นเหตุระเบิดของ “หมิงตี้เคมีคอล” ได้เป็นอย่างดี
ทำไมการมีกฎหมาย PRTR จึงสำคัญ เพราะกฎหมาย PRTR หรือ กฎหมายการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ จะกำหนดให้
- โรงงานอุตสาหกรรม และแหล่งกำหนดมลพิษอื่น ๆ ต้องรายงานต่อหน่วยงานผู้รับผิดชอบว่ามีการครอบครองสารมลพิษใดบ้าง และมีการปล่อยมลพิษปริมาณเท่าใด
- หน่วยงานผู้รับผิดชอบจะต้องเผยแพร่ข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ ต่อสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึง รับรู้ และประเมินความเสี่ยงได้อย่างทันท่วงที
ดังนั้นหากมี กฎหมาย PRTR ประชาชนจะสามารถรู้แหล่งและปริมาณสารมลพิษในพื้นที่ต่างๆ สามารถประเมินความเสี่ยงในชีวิตได้รอบด้านมากขึ้น หน่วยงานของรัฐจะสามารถเตรียมการป้องกันและรับมือเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นจากสารมลพิษต่าง ๆ ได้อย่างเจาะจงและแม่นยำมากขึ้น หน่วยงานด้านสาธารณสุขจะสามารถดูแลและเฝ้าระวังสุขภาพของคนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลก็จะมีข้อมูลในการกำหนดแผนการพัฒนาโดยสามารถประเมินศักยภาพการรองรับมลพิษของพื้นที่ (carrying capacity) ได้
จึงเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งปัดตกร่างกฎหมาย PRTR นี้ ทำให้ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมาย PRTR ในขณะที่ทั่วโลกมีการใช้กฎหมายนี้กว่า 50 ประเทศ เพื่อคุ้มครองสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อม สะท้อนให้เห็นว่านายกฯ ไม่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาการจัดการมลพิษอันจะเป็นทางออกหนึ่งของปัญหาและเป็นการคุ้มครองประชาชนและสิ่งแวดล้อม
แต่นี่ยังไม่ใช่จุดจบของการมีกฎหมาย PRTR ในไทย เพราะแม้ว่าจะถูกปัดตกไปเสียแล้ว แต่มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) และ มูลนิธิบูรณะนิเวศ (Earth) ก็ยังเดินหน้าเตรียมผลักดันกฎหมายฉบับนี้ต่อไป โดยจะทำการเข้าชื่อเสนอกฎหมายร่างพ.ร.บ. PRTR โดยภาคประชาชนและเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป นี่จึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่อยากเชิญชวนให้ทุกท่านร่วมกันติดตามและร่วมกันเข้าชื่อ ผลักดันกฎหมาย PRTR ให้ออกมาเป็นกฎหมายที่สามารถใช้งานได้จริง เพื่อให้ประชาชนได้มีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี
ข้อมูลเพิ่มเติม
นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมเตือนประชาชนรอบ รง.หมิงตี้ หลังเกิดไฟไหม้ อาจได้รับผลกระทบต่อสุขภาพ Link
“ความสำคัญของกฎหมาย PRTR” Link
โรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้ – อีกหนึ่งบทเรียนที่สะท้อนว่า “ประเทศไทยต้องมีกฎหมาย PRTR” Link
รู้จัก “PRTR” กฎหมายส่องความเสี่ยง “ฝุ่นพิษและสารเคมี” ที่คนไทยยังไม่มี Link
จาก’หมิงตี้’รอวันจัดการปัญหาโรงงานกลางชุมชน Link
3. “เขตพัฒนาพิเศษ” จาก EEC สู่นิคมฯ จะนะ บทเรียนของการพัฒนาที่ทิ้งประชาชนไว้ข้างหลัง ต้องไม่ซ้ำรอยเดิม
ในช่วงปีที่ผ่านมา ในประเด็นเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เราอาจได้ยินคำว่า “เขตพัฒนาพิเศษ” อยู่เป็นระยะ ซึ่งหมายถึง เขตพื้นที่ที่จัดตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะตามกฎหมาย เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมสนับสนุน และอำนวยความสะดวก รวมทั้งให้สิทธิพิเศษบางประการในการดำเนินกิจการต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรม
“เขตพัฒนาพิเศษ” เป็นพื้นที่รองรับการลงทุนด้านอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เป็นการดำเนินการของรัฐที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ซึ่งในการดำเนินการต้องมีการจัดสรรพื้นที่ การจัดทำผังเมือง เพื่อการวางแผน และกำหนดประเภทการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ในบริเวณพื้นที่นั้นๆ ให้สอดคล้องและรองรับอุตสาหกรรมต่างๆ
อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กำหนดหน้าที่ให้รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการ (มาตรา 58) อีกทั้งกฎหมายผังเมือง (พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ.2562) ก็กำหนดรับรองสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนและให้คำคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นหลักการพื้นฐานในการวางและจัดทำผังเมือง
แต่สิ่งที่พบอยู่เสมอ คือการส่งเสริมสนับสนุน “เขตพัฒนาพิเศษ” เหล่านั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง ดังจะเห็นได้จากกรณีต่อไปนี้
1) “เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจอำเภอจะนะ” หรือ “โครงการเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมจะนะ” ถือเป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดของภาคใต้ โดยจะมีการสร้างท่าเรือน้ำลึก รางรถไฟเชื่อมโยงท่าเรือ โรงไฟฟ้า และนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยงสูงที่จะสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศอย่างรุนแรง
โครงการนี้จำเป็นที่จะต้องมีการแก้ไขผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา เปลี่ยนพื้นที่สีเขียว หรือ เขตพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม ให้เป็นพื้นที่สีม่วง หรือ เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมเสียก่อน แต่กลับพบว่ามีการแก้ไขผังเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ และขาดการศึกษาข้อมูลที่รอบด้านและครบถ้วนมากพอต่อการตัดสินใจ ส่งผลให้ “เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น” ซึ่งเป็นประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าวออกมาคัดค้านและขอให้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment Guideline) หรือ SEA ก่อนที่จะเดินหน้าดำเนินกระบวนการใดๆต่อไป จนกระทั่งเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติให้มีการจัดทำ SEA ก่อนเดินหน้ากระบวนการใดๆ
2) “เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก” หรือ อีอีซี (Eastern Economic Corridor – EEC)
เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก” หรือ อีอีซี โครงการพัฒนาเศรษฐกิจขนาดใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา เกิดขึ้นจากอำนาจพิเศษตาม มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.255 และมีการผลักดันให้เกิดเป็นพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 ซึ่งได้กำหนดให้ต้องมีการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือเรียกกันสั้นๆว่า “แผนผังฯ EEC”
จนกระทั่งปลายปี 2562 มีประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ให้จัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินให้สอดคล้องกับการดำเนินโครงการอุตสาหกรรม เปลี่ยนพื้นที่เกษตรกรรม และพื้นที่ชุมชน ให้สามารถประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพได้
ส่งผลให้เครือข่ายชุมชนและประชาชนในพื้นที่ EEC ที่ได้รับผลกระทบ ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2563 ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนประกาศแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และให้จัดทำ SEA ก่อน แต่ในระหว่างกระบวนการของศาลนี้ พื้นที่ EEC ก็ยังคงมีการเดินหน้าโครงการอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงปัญหาการพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมที่ล่าช้าและไม่นำไปสู่การป้องกัน แก้ไข และเยียวยาความเดือดร้อนเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย
จากข้อมูลข้างต้นกลับพบว่าการดำเนินการเขตพัฒนาพิเศษ ทั้ง 2 กรณี ไม่ได้มีการจัดทำ SEA แต่กลับมีกระบวนการที่เร่งรัด และข้ามขั้นตอนตามกฎหมายปกติ ดังเช่นที่เกิดขึ้นในพื้นที่ EEC และกำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งในพื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่ง EnLAW เห็นว่าการกำหนดโครงการพัฒนาพื้นที่ขนาดใหญ่ระดับภูมิภาคเช่นนี้ จำเป็นที่จะต้องจัดให้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment Guideline) หรือ SEA เพื่อประเมินและหาทางเลือกที่เหมาะสมในการออกแบบการพัฒนาในพื้นที่ ให้สอดคล้องกับต้นทุน ฐานทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และวิธีชีวิตของประชาชนในพื้นที่
โครงการ “เขตพัฒนาพิเศษ” ที่ดำเนินการโดยอาศัยอำนาจตาม “กฎหมายพิเศษ” ที่มีวิธีการ “พิเศษ” ที่รวดเร็ว เร่งรัด และไม่มีช่องทางให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริง ประเด็นเหล่านี้จึงเป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญ ที่จะต้องร่วมกันจับตากันอย่างเป็น “พิเศษ” เพื่อให้เท่าทันต่อการดำเนินการของรัฐ ที่นับวัน ประชาชนยิ่งจะตามไม่ทัน ทั้ง ๆ ที่จริงแล้ว รัฐ ควรต้องเป็นฝ่ายเข้าหาและรับฟังประชาชน
ข้อมูลเพิ่มเติม
‘จะนะรักษ์ถิ่น’ เข้าพบนายก อบจ.สงขลา เบรกสอดไส้เปลี่ยนสีผังเมือง Link
ความเห็นทางกฎหมาย: ความไม่ถูกต้องของกระบวนการแก้ไขผังเมืองรวมจังหวัดสงขลาเพื่อรองรับอุตสาหกรรมจะนะ Link
จาก “จะนะ” ถึง “อีอีซี” ฉีกกฎหมายผังเมือง เปลี่ยนสีเขียวเป็นม่วงเพื่อการพัฒนา Link
ข้อมูลเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินภายหลังบังคับใช้ผังเมือง EEC พื้นที่ 3 จังหวัด Link
สิทธิชุมชนและสิทธิการมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย Link
การเดินหน้าโครงการ EEC ที่ทิ้งประชาชนไว้ข้างหลังการพัฒนา Link
เปิดคำฟ้องเพิกถอน “ผังเมือง EEC” : การพัฒนาของรัฐที่ทิ้งประชาชนไว้ข้างหลัง Link
SEA กับการยุติความขัดแย้งกรณี “จะนะ” | ธีรวัฒน์ ขวัญใจ Link
4. “เหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย” การต่อสู้และความหวังในการปลดระวางถ่านหินในประเทศไทย
หากทุกคนยังจำกันได้เมื่อ ปี 2562 มีการรวมตัวของชาวบ้านอำเภออมก๋อยจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อคัดค้านการสร้างเหมืองแร่ถ่านหิน ในพื้นที่ตำบลอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีการตั้งข้อสงสัยในกระบวนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกว่า รายงาน EIA ของโครงการนี้ ว่ามีข้อบกพร่องหลายประการ เช่น ไม่มีการชี้แจงข้อมูลอย่างครบถ้วน มีการปลอมแปลงลายมือชื่อ และเนื้อหาในรายงาน EIA ไม่ถูกต้องกับสภาพความเป็นจริงในพื้นที่ ทั้งนี้ทางตัวแทนชุมชนได้มีการทำหนังสือ ขอให้สำนักงานนโยบายแผนพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทบทวนรายงาน EIA ฉบับดังกล่าว ซึ่งได้มีการนำวาระดังกล่าวเข้าพิจารณาใหม่อีกครั้งในการประชุมคณะกรรมการผู้ชำนาญการการพิจารณารางานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 36/2563 เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 ซึ่งที่ประชุมได้มีมติยืนตามมติเดิมคือให้ความเห็นชอบรายงาน EIA ฉบับที่มีข้อบกพร่องดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการยังสามารถนำรายงาน EIA ไปใช้ประกอบการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ถ่านหินได้ต่อไป
เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมารัฐบาลไทยโดยพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 หรือ COP26 (Conference of the Parties) ที่น่าสนใจคือ คำประกาศของรัฐบาลไทย ที่ระบุว่า ประเทศไทยจะมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero GHG Emissions) โดยเร็วที่สุดภายในระยะครึ่งหลังของศตวรรษนี้ และมีระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด (Peak GHG Emissions) ใน ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) ซึ่งตามกรอบแผนพลังงานแห่งชาติ ที่รัฐบาลไทยอ้างถึงไว้ ในประเด็นเรื่อง การลด/เลิกโรงไฟฟ้าถ่านหิน ระบุว่า ไทยจะกำหนดนโยบายที่ไม่เพิ่มปริมาณสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน และจะทยอยปลดระวางโรงไฟฟ้าที่ผลิตจากถ่านหิน และคาดว่าจะไม่มีไฟฟ้าที่ผลิตจากถ่านหินเข้าสู่ระบบ ตั้งแต่ พ.ศ. 2593 เป็นต้นไป
การต่อสู้ของคนอมก๋อยครั้งนี้อาจไม่ใช่เพียงการคัดค้านเหมืองแร่ถ่านหิน แต่ยังเป็นการใช้สิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยแท้ในการปกป้องและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการต่อสู้ครั้งนี้ของชุมชนอาจใช้สิทธิในกระบวนการยุติธรรมเพื่อใช้เป็นบทพิสูจน์การตรวจสอบการดำเนินการของหน่วยงานรัฐอีกทางหนึ่ง ขณะเดียวกันก็ยังต้องจับตาว่ารัฐไทยจริงจังกับการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Net-Zero) และจริงจังต่อการปลดระวางถ่านหินได้มากน้อยเพียงใด
อ่านเพิ่มเติม
“ชาวอมก๋อย” บุกเวทีรับฟังความเห็นเหมืองแร่ถ่านหิน Link
เหมืองถ่านหินและสิทธิชุมชนคนอมก๋อย Link
‘กสม.’ จี้ตีกลับ ‘EIA’ เหมืองอมก๋อย พบ ‘กลุ่มชาติพันธุ์’ ถูกสวมสิทธิ์เข้าชื่อหนุน Link
นายกฯ ประกาศต่อ COP26 ไทยพร้อมยกระดับแก้วิกฤตภูมิอากาศ Link
แผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) คืออะไร Link
5. “Climate Change” วาระเร่งด่วนของไทยจริงหรือ ?
ในปัจจุบัน Climate Change เป็นหนึ่งในวาระเร่งด่วนของมนุษยชาติ ที่จะต้องช่วยกันรับมือและแก้ไข เพื่อรักษาให้โลกใบนี้เป็นที่ที่เราสามารถอาศัยอยู่ได้ต่อไป แต่คำถามคือ Climate Change คืออะไรกันแน่ และไทยอยู่ตรงไหนในปัญหาและการแก้ไขวิกฤตการณ์ครั้งสำคัญนี้
Climate Change หรือที่มีชื่อเรียกใหม่ว่า ภาวะโลกรวน คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้การปรับตัวของสิ่งมีชีวิตบนโลกเป็นไปอย่างยากลำบาก ทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมเฉียบพลัน ภัยแล้ง ไฟป่า หรือพายุ โดยสาเหตุหลักที่ทำให้เกิภาวะโลกรวนเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ผลิตก๊าซเรือนกระจก (Green House Gases : GHG) เมื่อก๊าซเหล่านี้อยู่ในชั้นบรรยากาศจะทำให้ความร้อนอยู่ในพื้นผิวโลกมากขึ้น ทำให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น เมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้นอย่างรวดเร็วก็จะก่อให้เกิดภาวะโลกรวน ซึ่งตามมาด้วยผลกระทบที่รุนแรงมากมาย
ก๊าซเรือนกระจกส่วนใหญ่ที่อยู่ในชั้นบรรยากาศ คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการที่มนุษย์ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ไม่ว่าจะเป็นก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน หรือถ่านหิน ในการอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน เช่น การคมนาคมขนส่ง อุตสาหกรรมต่างๆ หรือแม้แต่การเกษตรกรรม เรียกได้ว่ากิจกรรมแทบทุกอย่างของมนุษย์ล้วนเกี่ยวข้องกับการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งสิ้น
เมื่อสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะโลกรวนส่วนใหญ่มาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศ วิธีที่จะหยุดปรากฏการณ์นี้ก็คือการลดหรือหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จนอุณหภูมิโลกกลับมาเสถียรและสภาพภูมิอากาศกลับมาสมดุลดังเดิม
จากกิจกรรมทั้งหลายของมนุษย์เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะโลกรวน องค์การสหประชาชาติจึงได้มีการจัดทำอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (The United Nations Framework Convention on Climate Change หรือ UNFCCC) เพื่อเป็นแนวทางในการยับยั้งภาวะโลกรวน และป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับมนุษย์ โดยมีประเทศต่าง ๆ ให้สัตยาบันกว่า 150 ประเทศทั่วโลกรวมถึงไทยและจากอนุสัญญาดังกล่าวได้มีการจัดทำความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งเป็นความตกลงที่เป็นส่วนขยายของUNFCCC โดยมีเป้าหมายในการหยุดยั้งอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส หรืออยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเปรียบเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งประเทศไทยก็ได้ให้สัตยาบันในความตกลงปารีสนี้ด้วยกล่าวคือ ไทยมีข้อผูกพันที่ต้องปฏิบัติตามความตกลงปารีสนั่นเอง
เพื่อให้การแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นไปอย่างต่อเนื่อง จึงได้มีการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขึ้นทุกปีในช่วง 26 ปีที่ผ่านมา เพื่อวางกรอบการทำงานให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ เรียกว่า Conference of Parties : COPs ซึ่งในวันที่ 1 ถึง 12 พฤศจิกายน 2564 ได้มีการประชุมครั้งที่ 26 (COP26) โดยในการประชุมดังกล่าวได้มีข้อตกลงขอให้ประเทศต่าง ๆ ตีพิมพ์แผนปฏิบัติการภายในสิ้นปี พ.ศ. 2565 โดยตั้งเป้าหมายที่สูงขึ้นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2030 และเน้นย้ำเรื่องที่ประเทศพัฒนาแล้วจะต้องให้เงินช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น เพื่อช่วยให้ประเทศเหล่านั้นปรับตัวและรับมือได้ รวมถึงการลดการใช้ถ่านหิน
นอกจากนี้ ในการประชุมยังมีข้อตกลงเพิ่มเติมอื่นๆ ที่น่าสนใจ คือ ข้อตกลงยุติการตัดไม้ทำลายป่าภายในปี พ.ศ 2573 ข้อตกลงลดการปล่อยก๊าซมีเทนลงร้อยละ 30 ภายในปี พ.ศ 2573 ข้อตกลงยกเลิกการใช้ถ่านหินภายในปี พ.ศ. 2573 สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว และภายในปี พ.ศ. 2583 สำหรับประเทศกำลังพัฒนาซึ่งข้อตกลงเหล่านี้ไทยไม่ได้ลงนามเข้าร่วมแต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี ข้อมูลจาก Climate Action tracker แจ้งว่า หากเป็นไปตามเป้าหมายใน COP26 ของแต่ละประเทศ ในปี พ.ศ. 2573 โลกจะมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 2.4 องศา และหากยังเป็นไปตามนโยบายปัจจุบันโลกจะมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 2.7 องศา จะเห็นได้ว่า เป้าหมายที่นานาประเทศได้ตั้งไว้นั้นยังไม่เพียงพอที่จะหยุดวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้
สำหรับประเทศไทยได้มีการตั้งเป้าหมายที่จะเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี พ.ศ. 2593 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี พ.ศ. 2608 และด้วยการสนับสนุนจากความร่วมมือระหว่างประเทศ และกลไกภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ ไทยจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ภายในปี พ.ศ. 2593
แต่เมื่อพิจารณาจากเป้าหมายที่ให้ไว้ใน COP26 นอกจากประเทศไทยจะไม่เข้าร่วมข้อตกลงเพิ่มเติมด้านการลดการตัดไม้ทำลายป่า ลดก๊าซมีเทน และหยุดการใช้ถ่านหินข้างต้นแล้ว ไทยยังไม่มีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ให้ไว้แต่อย่างใด แต่กลับมีเป้าหมายในการส่งเสริมและพัฒนาโครงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) หรือ โครงการ “เมืองต้นแบบ สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” (หนึ่งในนั้น คือ นิคมอุตสาหกรรมจะนะ) ซึ่งโครงการอุตสาหกรรมเหล่านี้ล้วนมีการรองรับอุตสาหกรรมพลังงานปิโตรเลียม ที่เป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะโลกรวน รวมถึงการให้สัมปทานเหมืองถ่านหินเพิ่มเติม เช่น โครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย จะเห็นได้ว่าแม้ไทยจะตั้งเป้าหมายปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ไว้แล้ว แต่การดำเนินการในปัจจุบันยังคงมีการสนับสนุนโครงการที่ก่อให้เกิดการปล่อยคาร์บอนจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง
ในปี 2565 นี้ต้องร่วมกันติดตามว่าประเทศไทยจะมีแผนและการดำเนินงานอย่างไรให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ในการประชุม COP 26 และต้องติดตามการประชุม COP27 ที่จะจัดขึ้นในปีนี้ ว่าไทยจะเข้าร่วมข้อตกลงใดเพิ่มเติมเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาภาวะโลกรวนที่หลายประเทศกำลังให้ความสำคัญ
อ่านเพิ่มเติม
“What is climate change? A really simple guide” Link
กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ (UNFCCC) Link
“The Paris Agreement” Link
“สรุป COP26 ตั้งแต่ความรู้เบื้องต้น จนถึงโอกาสเศรษฐกิจสีเขียว Green Economy” Link
นายกฯ กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมระดับผู้นำ COP26 ประกาศเจตนารมณ์ไทยพร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ด้วยทุกวิถีทาง Link
โลกร้อน: การประชุม COP26 ในกลาสโกว์ตกลงอะไรกันได้บ้าง Link
Glasgow’s one degree 2030 credibility gap: net zero’s lip service to climate action Link