ความเห็นทางกฎหมายของมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมต่อร่างกฎหมายควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชน

สืบเนื่องจากที่นายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ได้มีข้อสั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาศึกษาและยกร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน เสนอเข้าสู่การพิจารณาและผ่านความเห็นชอบตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์และคัดค้านจากภาคประชาสังคมทุกภาคส่วนทั้งไทยและต่างประเทศ รวมถึงมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ว่ามีเนื้อหาที่ขัดต่อสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่มและการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังคงเดินหน้าผลักดันร่างกฎหมายนี้ต่อไป โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ปรับแก้ยกร่างกฎหมายขึ้นใหม่ในชื่อ “ร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร” ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 และมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รับผิดชอบจัดทำการวิเคราะห์ผลกระทบของร่างกฎหมาย และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้ โดยมีกำหนดสิ้นสุดการรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 1 เมษายน 2565

มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ในฐานะองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการใช้สิทธิเสรีภาพด้านสิ่งแวดล้อมแก่ประชาชน และเป็นองค์กรเอกชนไม่แสวงหากำไรที่มีส่วนได้เสียและอาจได้รับผลกระทบจากร่างกฎหมายดังกล่าว ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า “ร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร” แม้จะได้มีการปรับแก้ไขเนื้อหาที่เป็นปัญหาจากฉบับแรกและเพิ่มเติมเรื่องการส่งเสริมพัฒนาองค์กรไม่แสวงหากำไรไว้บางประการ แต่โดยรวมแล้วยังคงเป็นร่างกฎหมายที่มีเนื้อหาละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน และกระทบต่อการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในสังคมประชาธิปไตยอย่างกว้างขวางและร้ายแรง จึงมีความเห็นคัดค้านร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

  1. ข้อห้ามการดำเนินงานตามมาตรา 20 อย่างกว้างขวางคลุมเครือไร้ขอบเขต เป็นการแทรกแซงความเป็นอิสระ และปิดกั้นขัดขวางการใช้เสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญในการรวมกลุ่มแสดงออกและการมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะ

    ตามที่ร่างพระราชบัญญัติฯ มาตรา 20 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “องค์กรไม่แสวงหากำไรต้องไม่ดำเนินงานในลักษณะดังต่อไปนี้ (1) กระทบต่อความมั่นคงของรัฐรวมถึงความมั่นคงของรัฐด้านเศรษฐกิจ หรือด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (2) กระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม (3) กระทบต่อประโยชน์สาธารณะรวมทั้งความปลอดภัยสาธารณะ (4) เป็นการกระทำความผิดต่อกฎหมาย (5) เป็นการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่นหรือกระทบต่อความเป็นอยู่โดยปกติสุขของบุคคลอื่น” และมาตรา 21 (4) สำหรับองค์กรที่ได้รับเงินบริจาคจากแหล่งทุนต่างประเทศ ต้องไม่ดำเนินกิจกรรมในลักษณะการแสวงหาอำนาจรัฐหรือเอื้อประโยชน์ต่อพรรคการเมือง นั้น

    บทบัญญัติดังกล่าว หากพิจารณาประกอบกับบทนิยาม “องค์กรไม่แสวงหากำไร” ตามมาตรา 3 ที่ให้หมายความถึง “คณะบุคคลภาคเอกชนซึ่งรวมกลุ่มกันจัดตั้งในรูปแบบใดๆ ที่มีบุคคลร่วมดำเนินงานเพื่อจัดทำกิจกรรมต่างๆ ในสังคม โดยไม่มุ่งแสวงหากำไรมาแบ่งปันกัน…” ซึ่งสามารถถูกตีความให้ครอบคลุมถึงการรวมกลุ่มของประชาชนหลากหลายรูปแบบ เช่น มูลนิธิ สมาคม สมัชชา องค์กรชุมชน เครือข่ายประชาชน สหภาพ ชมรม สหกรณ์ กลุ่มอนุรักษ์ หรือกลุ่มรณรงค์เรียกร้องทางการเมืองและประเด็นสาธารณะต่างๆ ถือเป็นการกำหนดข้อห้ามและฐานความผิดขึ้นมาปิดกั้นจำกัดการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วยถ้อยคำที่เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถใช้ดุลพินิจตีความได้อย่างกว้างขวาง คลุมเครือ ไร้ขอบเขตที่ชัดเจน เช่น กระทบต่อความมั่นคง ศีลธรรมอันดี ก่อให้เกิดความแตกแยก กระทบต่อประโยชน์สาธารณะ หรือเอื้อประโยชน์ต่อพรรคการเมือง ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการบังคับใช้กฎหมายออกคำสั่งให้หยุดการดำเนินกิจกรรมหรือหยุดการดำเนินงานขององค์กรได้ตามอำเภอใจ เพื่อข่มขู่คุกคาม กลั่นแกล้ง และปิดกั้นขัดขวางการทำกิจกรรมของภาคประชาชน โดยเฉพาะกับองค์กรหรือกลุ่มที่ทำงานตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ หรือแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจากรัฐบาลและผู้มีอำนาจ ทำให้ประชาชนที่รวมกลุ่มกันทำกิจกรรมทางสังคมและสิทธิมนุษยชนในประเด็นต่างๆ รวมถึงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศและสร้างความเป็นธรรมในสังคม ไม่สามารถใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทั้งในทางรูปแบบและเนื้อหาได้อย่างเป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซงของรัฐ และในระยะยาวความคลุมเครือดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดบรรยากาศความหวาดกลัวและการเซ็นเซอร์ตัวเอง (self-censorship) ของภาคประชาชนเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจถูกตีความว่าทำกิจกรรมที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และทำให้พื้นที่เสรีภาพการรวมกลุ่มและการแสดงออกภายใต้ระบอบประชาธิปไตยหดแคบลง

  2. การกำหนดให้องค์กรไม่แสวงหากำไรมีหน้าที่ต้องรายงานและเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงาน แหล่งที่มาของเงินทุน และบัญชีรายรับรายจ่าย ต่อหน่วยงานรัฐและสาธารณะ เป็นการสร้างภาระจนเกินสมควรและกระทบสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลเกินจำเป็น

    การที่ร่างพระราชบัญญัติฯ มาตรา 19 กำหนดให้องค์กรไม่แสวงหากำไรมีหน้าที่ต้องรายงานและเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับชื่อขององค์กร วัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง วิธีดำเนินงาน แหล่งที่มาของเงินทุน รายชื่อผู้รับผิดชอบดำเนินงาน ให้หน่วยงานของรัฐและบุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลนั้นได้โดยง่าย และมาตรา 22 กำหนดให้องค์กรไม่แสวงหากำไรที่มีรายได้จากการรับเงินบริจาคจากบุคคลทั่วไปหรือจากแหล่งเงินทุนต่างประเทศ มีหน้าที่จัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายในแต่ละรอบปีปฏิทิน และเปิดเผยบัญชีรายรับรายจ่ายให้บุคคลทั่วไปเข้าถึงได้โดยง่ายนั้น แม้จะมีเจตนาเพื่อให้เกิดความโปร่งใสตรวจสอบได้ในการดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงหากำไร แต่ถือเป็นมาตรการที่สร้างภาระเกินจำเป็นและไม่ได้สัดส่วน โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มประชาชนที่เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรขนาดเล็กซึ่งอาจไม่ได้มีงบประมาณและทรัพยากรเพียงพอในการดำเนินการให้ถูกต้องครบถ้วนได้ตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้เสี่ยงต่อการถูกสั่งให้หยุดการดำเนินงานขององค์กรและอาจได้รับโทษปรับทางอาญาสูงสุด 50,000 บาท หากฝ่าฝืนคำสั่ง โดยมาตรการรายงานและเปิดเผยข้อมูลทางการเงินนั้นควรถูกนำมาใช้อย่างเฉพาะเจาะจงเพื่อตรวจสอบในกรณีที่หน่วยงานรัฐมีหลักฐานเพียงพอหรือมีเหตุอันควรสงสัยที่น่าเชื่อได้ว่าองค์กรไม่แสวงหากำไรได้กระทำผิดต่อกฎหมาย เช่น ฉ้อโกงประชาชน ฟอกเงิน หรือหลบเลี่ยงภาษี ซึ่งสามารถเรียกตรวจสอบได้โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายอื่นที่บังคับใช้อยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องกำหนดให้มีหน้าที่ในการรายงานและเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะเป็นการทั่วไปตามร่างกฎหมายนี้

    นอกจากนี้การบังคับให้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวต่อสาธารณะยังเป็นการรุกล้ำสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลจนเกินสมควรและเกินจำเป็น กระทบต่อความเป็นอิสระของการบริหารจัดการการดำเนินงานภายในองค์กร และกระทบต่อความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของผู้บริจาคที่ต้องการสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมขององค์กรหรือกลุ่มภาคประชาชนในประเด็นสาธารณะต่างๆ ตามความประสงค์ส่วนบุคคล อันเป็นอุปสรรคต่อโอกาสในการได้รับสนับสนุนทุนหรือทรัพยากรในการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไรด้วย

  3. มาตรการบังคับและบทลงโทษหากไม่ปฏิบัติตามกฎหมายมีความรุนแรง เป็นการให้อำนาจกึ่งตุลาการแก่ฝ่ายปกครอง และอาจถูกใช้แบบเลือกปฏิบัติเพื่อคุกคามองค์กรไม่แสวงหากำไร

    ตามที่ร่างกฎหมายฉบับนี้บัญญัติให้นายทะเบียน คือ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์หรือข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้ง มีอำนาจสั่งให้องค์กรไม่แสวงหากำไรหยุดหรือแก้ไขการกระทำที่ถูกตีความว่าเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 20 หรือมาตรา 21 หากไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง มีอำนาจสั่งให้หยุดการดำเนินงานขององค์กรทั้งหมด รวมถึงมีโทษปรับทางอาญาตามมาตรา 26 สูงสุด 500,000 บาท และปรับเพิ่มอีกวันละ 10,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน หรือในกรณีที่องค์กรไม่แสวงหากำไรไม่ได้รายงานและเปิดเผยข้อมูลให้ถูกต้องครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 19 และมาตรา 22 นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้หยุดการดำเนินงานขององค์กรทั้งหมด และมีโทษปรับทางอาญาตามมาตรา 25 สูงสุด 50,000 บาท และปรับเพิ่มอีกวันละ 1,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง และตามมาตรา 27 บัญญัติให้ผู้รับผิดชอบดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงหากำไรต้องรับโทษเช่นเดียวกับองค์กรด้วย นั้น

    มาตรการบังคับและบทลงโทษดังกล่าว เป็นการกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงเกินสมควรแก่เหตุและไม่ได้สัดส่วนต่อข้อหาความผิดซึ่งเป็นเรื่องการใช้เสรีภาพในการรวมกลุ่มและการแสดงออกที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้ ทั้งยังเป็นบทบัญญัติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 วรรคสาม ที่บัญญัติให้รัฐพึงกำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรงเท่านั้นด้วย บทลงโทษดังกล่าวยังสุ่มเสี่ยงที่จะถูกนำมาบังคับใช้แบบเลือกปฏิบัติตามอำเภอใจของหน่วยงานเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาประกอบกับข้อห้ามหรือฐานความผิดที่มีความกำกวมคลุมเครือตามมาตรา 20 และ 21 ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ซึ่งกำหนดให้นายทะเบียนมีอำนาจกึ่งตุลาการเสมือนเป็นผู้พิพากษาตัดสินตีความได้ว่า การกระทำหรือกิจกรรมใดเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามมาตรา 20 หรือ 21 ที่สามารถออกคำสั่งให้หยุดการดำเนินการได้ทันที

    บทลงโทษที่รุนแรงเช่นนี้ยิ่งเป็นการซ้ำเติมให้การรวมกลุ่มของประชาชนเพื่อดำเนินกิจกรรมโดยไม่แสวงหากำไรต้องตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวและบั่นทอนให้เกิดความอ่อนแอ สร้างภาระความรับผิดชอบที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับบุคคลที่จะเสียสละเป็นผู้นำของกลุ่มหรือองค์กร และแม้ตามร่างกฎหมายจะกำหนดให้องค์กรที่ได้รับคำสั่งให้หยุดดำเนินการมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้ตามมาตรา 23 แต่การใช้สิทธิอุทธรณ์ดังกล่าวก็ไม่ได้มีผลเป็นการทุเลาให้องค์กรไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนในระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์ ทำให้องค์กรไม่แสวงหากำไรนั้นต้องหยุดดำเนินการทั้งหมดโดยทันที ซึ่งถือเป็นความเสียหายที่รุนแรงต่อองค์กร โดยเฉพาะหากผลการพิจารณาอุทธรณ์ของรัฐมนตรี หรือคำพิพากษาของศาลตัดสินว่าไม่ใช่การดำเนินกิจกรรมที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย

    นอกจากนี้ตามมาตรา 24 ยังให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่เรียกให้บุคคลมาชี้แจงหรือนำส่งเอกสารพยานหลักฐานใดๆ เพื่อตรวจสอบได้ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าองค์กรไม่แสวงหากำไรใดอาจจะกระทำผิดตามร่างพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งแม้อำนาจดังกล่าวจะไม่ใช่การตัดสินความผิดเพื่อออกคำสั่งบังคับหรือลงโทษในทันที แต่ถือเป็นมาตรการที่สร้างภาระแก่องค์กรไม่แสวงหากำไรในการต้องจัดเตรียมข้อมูลไปชี้แจงต่อเจ้าหน้าที่ในเรื่องที่ยังเป็นเพียงข้อสงสัย ทั้งยังสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการเลือกปฏิบัติเรียกตรวจสอบตามอำเภอใจเพื่อคุกคามกลั่นแกล้งองค์กร กลุ่มประชาชน รวมถึงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่มีความเห็นแตกต่างจากรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจได้ด้ว

ดังเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น ร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไรฉบับนี้จึงขัดแย้งและละเมิดต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก (Freedom of Expression) และเสรีภาพในการรวมกลุ่ม (Freedom of Association) อันเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่สำคัญในสังคมประชาธิปไตยที่ได้รับการรับรองไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญมาตรา 34 และมาตรา 42 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) มาตรา 19 และมาตรา 22 ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธะที่ต้องให้การรับรองคุ้มครอง และขัดต่อหลักการประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (Participatory democracy) ที่รัฐพึงส่งเสริมให้ภาคประชาชนมีบทบาทในการมีส่วนร่วมสนับสนุนและตรวจสอบการทำงานของภาครัฐด้วย

การตรากฎหมายฉบับนี้ยังขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 ซึ่งบัญญัติว่า “การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย” และรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ที่บัญญัติว่า “รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น…” และ “…ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ” และตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 มาตรา 12 ที่บัญญัติว่า “เมื่อมีกรณีจำเป็นต้องเสนอให้มีการตรากฎหมาย ให้หน่วยงานของรัฐแสดงเหตุผลความจำเป็นในการตรากฎหมายและต้องวิเคราะห์โดยมีข้อมูลและเอกสารหลักฐานประกอบชัดเจนว่าไม่เป็นการสร้างภาระแก่ประชาชนเกินความจำเป็น คุ้มค่ากับภาระที่เกิดขึ้นแก่รัฐและประชาชน รวมทั้งไม่สามารถใช้มาตรการหรือวิธีการอื่นใดนอกจากการตราเป็นกฎหมาย” โดยปรากฏตามข้อเท็จจริงว่าร่างกฎหมายฉบับนี้เกิดขึ้นจากข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) โดยที่นายกรัฐมนตรีหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้มีการแสดงข้อมูลหลักฐานที่เป็นรูปธรรมประกอบเหตุผลความจำเป็นที่ชัดเจนในการตรากฎหมาย กับทั้งเป็นการยกร่างกฎหมายขึ้นโดยที่ยังไม่มีการศึกษาวิเคราะห์และเปิดเผยผลการศึกษาความคุ้มค่าและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการตรากฎหมาย ซึ่งถือเป็นข้อมูลอันเป็นสาระสำคัญเพื่อประกอบการทำความเข้าใจและพิจารณาให้ความเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายด้วย

มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม จึงเห็นว่า “ร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. ….” ที่ยกร่างโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา และนำมาดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นการตรากฎหมายที่มีเนื้อหาและกระบวนการที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่รัฐไทยเป็นภาคีอย่างชัดแจ้ง และจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อบทบาทของภาคประชาชนในการมีส่วนร่วมสนับสนุนและตรวจสอบการทำงานของภาครัฐภายใต้ระบอบประชาธิปไตย โดยมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมมีความเห็นว่า รัฐบาล คณะกรรมการกฤษฎีกา และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ควรยุติการเสนอและผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้โดยทันที

มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
1 เมษายน 2565

ข่าวสารที่เกี่ยวข้อง
ติดตามเราในช่องทาง Social
ข่าวสารล่าสุด