กฎหมายควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชน
“จดแจ้ง – รายงาน – ควบคุม – ตรวจค้น”
ข้อมูล ณ วันที่ 29 พฤษภาคม 2564
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ชวนจับตา ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ. …. ที่จะส่งผลให้การตั้งองค์กรหรือรวมกลุ่มทำกิจกรรมของภาคประชาชนไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ที่มาของร่างกฎหมาย
ร่างกฎหมายฉบับนี้เกิดขึ้นจากนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) มีข้อสั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาศึกษากฎหมายของต่างประเทศเพื่อหาหลักการมาใช้ยกร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เลือกศึกษากฎหมายของประเทศญี่ปุ่น อังกฤษ ฝรั่งเศส อินเดีย สาธารณรัฐประชาชนจีน กัมพูชา อิหร่าน เคนย่า และรัสเซีย ซึ่งหากพิจารณาจากคะแนนเสรีภาพโดยรวมของประเทศต่างๆ (Global Freedom Scores) โดย Freedom House พบว่าประเทศที่เลือกศึกษานั้นส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน
ต่อมารองนายกรัฐมนตรี (วิษณุ เครืองาม) เป็นประธานจัดประชุมส่วนราชการและมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจัดทำและนำเสนอหลักการของร่างกฎหมายต่อคณะรัฐมนตรี และเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการของร่างกฎหมายดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงดำเนินการยกร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ. …. และเผยแพร่บนเว็บไซต์เพื่อรับฟังความคิดเห็นระหว่างวันที่ 12-31 มีนาคม 2564
ใครอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายฉบับนี้บ้าง
องค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน ตามนิยามในร่างกฎหมายนี้ มีความหมายครอบคลุมถึง “คณะบุคคลหรือกลุ่มของประชาชนทุกประเภทที่รวมตัวกันดำเนินกิจกรรมโดยไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน” (มาตรา 4) เช่น มูลนิธิ สมาคม กลุ่มอนุรักษ์ เครือข่ายภาคประชาชน ฯลฯ
หน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย
กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้ องค์กร คณะบุคคล หรือกลุ่มของประชาชนทุกประเภทที่รวมตัวกันดำเนินกิจกรรมโดยไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน “ทุกกลุ่มต้องปฏิบัติ” ดังนี้
- ต้องจดแจ้งต่ออธิบดีกรมการปกครองก่อนจึงจะสามารถดำเนินกิจกรรมได้ หากดำเนินกิจกรรมโดยไม่จดแจ้งถือว่ามีความผิดทางอาญา (มาตรา 5)
- ต้องเปิดเผยแหล่งที่มาและจำนวนเงินหรือทรัพย์สินที่จะใช้ดำเนินกิจกรรมในแต่ละปีต่อผู้รับจดแจ้งตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนด (มาตรา 6 วรรคหนึ่ง)
- ต้องยื่นแบบรายการภาษีเงินได้ต่อสรรพากรทุกปี (มาตรา 6 วรรคหนึ่ง) และต้องเสนอรายงานการสอบบัญชีโดยผู้สอบบัญชีต่อผู้รับจดแจ้งภายใน 60 วัน และให้ผู้รับจดแจ้งเผยแพร่รายงานการสอบบัญชีในระบบสารสนเทศของกรมการปกครอง (มาตรา 8 )
อำนาจควบคุมตรวจสอบองค์กรที่รับเงินจากต่างประเทศ
กรณีที่มีการรับเงินหรือทรัพย์สินจากบุคคลธรรมดา นิติบุคคล หรือคณะบุคคล ซึ่งไม่มีสัญชาติไทยหรือมิได้จดทะเบียนจัดตั้งในราชอาณาจักรไทยมาใช้ในการดำเนินกิจกรรม “รัฐมีอำนาจเข้ามาควบคุม” เพิ่มเติมดังนี้
- ดำเนินกิจกรรมได้เฉพาะกิจกรรมที่รัฐมนตรีกำหนด (มาตรา 6 วรรคสอง)
- ผู้รับจดแจ้งมีอำนาจเข้าไปในสถานประกอบการขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน เพื่อตรวจสอบการดำเนินการใช้จ่ายเงินหรือทรัพย์สิน หรือการดำเนินกิจกรรม รวมทั้งมีอำนาจตรวจสอบและทำสำเนาข้อมูลจราจรทางอิเล็กทรอนิกส์ขององค์กรได้ด้วย (มาตรา 6 วรรคสาม)
หากไม่ทำตามกฎหมาย มีบทลงโทษรุนแรง
- หากดำเนินกิจการโดยไม่จดแจ้งต่ออธิบดีกรมการปกครอง มีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,00 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 10)
- หากฝ่าฝืนไม่ดำเนินการตามเงื่อนไขและหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด อธิบดีกรมการปกครองในฐานะผู้รับจดแจ้งมีอำนาจเพิกถอนการจดแจ้งขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน อันจะมีผลทำให้องค์กรที่ถูกเพิกถอนการจดแจ้งไม่สามารถดำเนินกิจกรรมต่อไปได้ (มาตรา 9)
อ่านเพิ่มเติม :