อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต 3 ทศวรรษ ดงมะไฟ กับความทรงจำที่ไม่เคยได้หยุดพัก

อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต 3 ทศวรรษ ดงมะไฟกับความทรงจำที่ไม่เคยได้หยุดพัก ผ่านการเล่าเรื่องราวในแต่ละช่วงวัยของกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได

เกือบ 30 ปีแล้วที่ชาวบ้านดงมะไฟได้ร่วมกันต่อสู้กับเหมือง
เกิดอะไรขึ้นทำไมชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรที่พวกเขาช่วยกันดูแล ทำไมรัฐไม่ลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรหรืออยู่เคียงข้างประชาชน นี่เป็นคำถามที่ยังคงค้างคาอยู่ในใจของชุมชน หากจะหวังพึ่งเพียงรัฐหรือหวังว่ากระบวนการยุติธรรมจะมาปกป้องคุ้มครองพวกเขาเพียงอย่างเดียวนั้นคงเป็นไปได้ยาก ชาวบ้านต้องร่วมกันขับเคลื่อน ผ่านรอยเลือดและคราบน้ำตาของการสูญเสียจากคนยุคหนึ่งไปสู่อีกยุคหนึ่ง เพียงเพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิต

เรื่องราวต่างๆเหล่านี้ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านการพูดคุยของพวกเขา
ว่ายุคเปลี่ยนผ่านแต่ละช่วงเป็นอย่างไร ความหวังหรือความความศรัทธาต่อรัฐหรือต่อกระบวนการยุติธรรมยังหลงเหลืออยู่หรือไม่ และผลของคำพิพากษาศาลปกครองสูดสุดในเร็ววันนี้ จะรับรองในสิ่งที่ชุมชนต่อสู้มา 20 กว่าปีได้หรือไม่พวกเขาวางแผนจะขับเคลื่อนอย่างไรต่อไป ติดตามได้จากบทความชุดนี้

ร่องรอยระเบิดเหมืองหินกับ 28 ปี ความทรงจำอันเจ็บปวดของแสวง ศรีบุญเรือง

จุดเริ่มต้นของการต่อสู้กับเหมืองดงมะไฟผ่านการบอกเล่าของแสวง ศรีบุญเรือง หรือพ่อแสวง อายุ 79 ปี ชาวบ้านดงมะไฟ ปัจจุบันเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มอนุรักษ์เขาเหล่าใหญ่-ผาจันได และเป็นศูนย์รวมจิตใจในการต่อสู้ของคนในกลุ่มฯ ได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเข้ามาสู่ขบวนต่อสู้กลุ่มอนุรักษ์ฯ นั้น

เดิมทีนั้นตนอาศัยอยู่ที่อุดรธานีช่วงนั้นได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน และได้มีกลุ่มนักศึกษาฯ เข้ามาให้ความรู้เรื่องสิทธิของชุมชน ทำให้เรากล้าลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตนเอง แต่พอเริ่มสู้ไม่ไหว จึงได้มาซื้อที่ดินที่อยู่อาศัยและผืนนาที่บ้านดงมะไฟในปี 2517 และย้ายเข้ามาอยู่จริงๆตอนปี 2531 ไม่นานนักก็มาเจอกับปัญหาเรื่องเหมืองที่ดงมะไฟอีกครั้ง

“เมื่อก่อนตอนเข้ามาอยู่ใหม่ๆ พ่อหรือชาวบ้านคนอื่นๆ ก็เข้าไปหาเห็ด หน่อฮวก หน่อไร่ สมุนไพร แถวภูผาฮวกนั่นแหละ เพราะสมุนไพรบางชนิดขึ้นเฉพาะที่นี่ ประกอบกับพื้นนี้ยังมีความอุดมสมบูรณ์อยู่ แต่พอมีเหมืองเข้ามา เริ่มมีการปักหลักเขตปิดกั้นไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปในบริเวณนี้อีก พ่อไม่อยากย้ายออกไปอยู่ที่ไหนอีกแล้ว ตอนนั้นก็พอมีความรู้เรื่องสิทธิอยู่บ้าง ก็เลยเริ่มต้นปลุกระดมมวลชนชาวบ้านเพื่อไปร่วมฟ้อง เรียกร้องสิทธิของตัวเอง ซึ่งมีชาวบ้านร่วมฟ้องด้วย 393 คน พวกเราเดินทางไปฟ้องที่ศาลปกครองโคราช” พ่อแสวงกล่าว

ช่วงแรกที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ก็ถูกข่มขู่ คุกคามอย่างหนัก เคยมีเหตุการณ์ที่นายทุนเหมืองจะเอาเงินมาให้ แต่ตนไม่รับ ยอมรับว่าเสียความรู้สึกหนักมากเพราะคนที่นำเงินมาให้คือคนที่เคยร่วมอุดมการณ์ต่อสู้มาด้วยกัน แต่ภายหลังไปเข้าร่วมกับนายทุนเหมือง

“เงินเท่าไหร่กูไม่เอา มึงไปกับเขาเลย กูจะสู้ จะอยู่กับพี่น้องอย่างนี้แหละ” พ่อแสวงกล่าว

ตอนนั้น ตนเองไม่เคยถูกดำเนินคดีจากการต่อสู้คัดค้านเหมือง แต่ถ้าถูกดำเนินคดีชาวบ้านก็อาจจะถอย เวลาไปไหนมาไหนก็จะให้ชาวบ้านคนอื่นๆ ตามไปด้วยตลอด แต่ระหว่างที่ต่อสู้นั้นเพื่อนๆ แกนนำหลักๆ หลายคนที่ร่วมต่อสู้ด้วยกันและถูกยิงเสียชีวิต

“เจ็บปวดทุกครั้งที่ต้องแบกศพเพื่อนๆ แล้วแห่ไปยังสถานที่ราชการ เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับเขาเหล่านั้น และตอนนั้นเราคิดไว้เสมอว่าสักวันหนึ่งอาจเป็นตัวเราเองก็ได้” พ่อแสวงกล่าว

ชาวบ้านต่อสู้คัดค้านมาตั้งแต่ปี 2536 ผ่านมาแล้วเกือบ 30 ปี ก่อนที่จะมีศาลปกครองขอนแก่นจนวันนี้มีศาลปกครองขอนแก่น มีศาลปกครองอุดรธานีแล้วการต่อสู้ในชั้นศาลยังไม่จบไม่สิ้นเลย ระยะเวลาในการฟ้องคดีแต่ละครั้งยาวนานมากกว่าศาลจะมีการตัดสิน

“ตอนที่เราฟ้องครั้งแรกมีชาวบ้านที่ฟ้องด้วยกันทั้งหมด 393 คน ตอนนั้นศาลแจ้งว่าผู้ฟ้องจะต้องเสียค่าฟ้องคนละ 30 บาท ซึ่งรวมแล้วประมาณ 30,000 กว่าบาท เราไม่มีเงินขนาดนั้น เขาเลยให้แต่งตั้งตัวแทนและให้คนอื่นเป็นผู้ฟ้องร่วม เขาเรียกให้ไปสอบปากคำตอนแรกบอกว่า 3 เดือนจะสอบปากคำเสร็จ ผ่านมา 1 ปีกว่าแล้วยังไม่เสร็จต้องย้ายมาที่ศาลปกครองขอนแก่นเพราะตอนนั้นที่ขอนแก่นมีศาลปกครองขอนแก่นมาตั้งพอดี”พ่อแสวงกล่าว

ในการฟ้องทุกครั้งก็จะขอให้ศาลมาดูในพื้นที่ว่าเป็นพื้นที่อย่างที่ชาวบ้านได้กล่าวอ้างไปหรือเปล่า หรือเป็นอย่างที่นายทุนอ้างว่าเป็นภูเขาหัวโล้น แบบที่นายทุนกล่าวอ้าง ตอนแรกชาวบ้านชนะคดี แต่ตอนนั้นอีกฝ่ายยื่นอุทธรณ์คดี ศาลกลับคำพิพากษาทำให้อีกฝ่ายชนะคดี แต่ชาวบ้านไม่รู้เลยว่ามีการยื่นอุทธรณ์ของอีกฝ่าย ก็เลยทำให้ชาวบ้านพ่ายแพ้ไปในครั้งนั้น แต่ตอนหลังไม่ได้เป็นคนหลักที่ฟ้องแล้ว แต่ก็ยังเป็นคนที่ร่วมฟ้องอยู่

ตอนนี้เราเชื่อในกระบวนการยุติธรรม 50 /50 ถ้าครั้งนี้แพ้คดีเราก็ต้องสู้ต่อไป แต่ถ้าเราชนะคดีเราก็ต้องเดินต่อไป พวกเราจะปลูกป่าฟื้นฟูพื้นที่และส่งเสริมศิลปะหัตถกรรมให้กับชาวบ้านโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อยู่บ้าน เพราะตอนนี้เรากำลังส่งเสริมการท่องเที่ยวก็จะขายให้กับคนที่มาเที่ยวอย่างน้อยให้ได้วันละ 100-200 บาทก็พอแล้ว

“เราแค่ออกมาปกป้องป่าไม้ ภูผาของเรา เราต้องสูญเสียขนาดนี้เลยหรือ ที่ผ่านมาเราพยายามพูดตลอดว่า การทำประชาพิจารณ์นั้นไม่ถูกต้อง และพื้นที่ป่ามีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งนายทุนอ้างว่าพื้นที่เป็นภูเขาหัวโล้น แต่เจ้าหน้าที่รัฐในตอนนั้นเขาดูเพียงขั้นตอนว่า นายทุนเหมืองทำครบทุกขั้นตอนแล้วแค่นั้นเอง แต่ไม่ได้ดูว่าขั้นตอนนั้นถูกต้องหรือไม่ ” พ่อแสวงกล่าว

เรื่องราวระหว่างการรอคอยคำพิพากษาคดีเหมืองหินฯ ดงมะไฟของเปี่ยม สุวรรณสน

“ช่วงเวลาตั้งแต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจนมาถึงศาลปกครองสูงสุด ใช้ระยะเวลานานมาก นานจนเราลืมไปแล้วว่าเราฟ้องอะไร?”

เส้นทางการต่อสู้ของชาวบ้านกับเหมืองดงมะไฟ ระหว่างที่รอคำพิพากษา ศาลปกครองสูงสุด สู่การตั้งหมู่บ้าน “ผาฮวกพัฒนา ชาวประชาสามัคคี” โดยความเข้มแข็งชุมชน ผ่านการบอกเล่าเรื่องราวของเปี่ยม สุวรรณสน

เปี่ยม สุวรรณสน หรือแม่ต้อย อายุ 59 ปี มีอาชีพเกษตรกร ปลูกสัปปะรด ทำนา ทำสวน และยังเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มอนุรักษ์เขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ซึ่งมีบทบาทเป็นประธานกลุ่มอนุรักษ์ฯ ในสาขาวิชาการ เล่าว่า ตนได้ย้ายจากอุดรธานีเข้ามาอาศัยอยู่ที่บ้านดงมะไฟประมาณ 23 ปีแล้ว ไม่นานนักก็มีโอกาสได้เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เพราะอยากปกป้องทรัพยากร ที่อยู่อาศัย และไม่อยากย้ายที่อยู่ใหม่อีกแล้ว และเริ่มเข้ามาอยู่ในขบวนการต่อสู้คัดค้านเหมืองตอนที่ทางเหมืองได้นำเสาไฟมาลงในปี 2552–2553

“เดิมทีภูผาฮวกมีต้นไม้ขนาดใหญ่เยอะและแน่นมาก โดยเฉพาะต้นมะไฟ (ทำให้ที่แห่งนี้ถูกเรียกว่าบ้านดงมะไฟ) ต้นมะแงว ต้นกล้วยป่า ฯลฯ ทีนี้พอเหมืองเข้ามาก็มาแผ้วถางและตัดต้นไม้ใหญ่ๆ เหล่านี้ออกไป ตอนนั้นที่นี่เละหมดเลย เคยมีนักข่าวเข้ามาทำข่าวในพื้นที่ตอนที่ชาวบ้านเดินขบวนต่อต้านเหมือง แต่ภาพข่าวที่ถูกนำเสนอออกไป มีเพียงตอนที่พระขับรถ ซิ่งทำให้ประเด็นดังกล่าวกลายเป็นเรื่องตลก (เนื่องจากชาวบ้านที่สูงอายุอยากมาร่วมด้วยแต่เดินไม่ไหว พระจึงขับรถไปขนชาวบ้าน) แต่ไม่ได้นำเสนอปัญหาของชาวบ้านที่ต้องมาเดินขบวนคัดค้านเหมืองเลย” แม่ต้อยกล่าว

ช่วงที่เริ่มต้นต่อสู้ตอนนั้นตนไม่ได้เข้ามาร่วมด้วยเนื่องจากตอนนั้นมีสถานะเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เวลาที่นายทุนเหมืองเข้ามาก็จะเข้ามาผ่านทางผู้ใหญ่บ้าน แม้ว่าจะยังไม่ได้เข้าร่วมในขบวนแต่ก็คอยส่งข่าวให้ พอเริ่ม ทราบว่าอยู่ฝั่งเดียวกับชาวบ้านก็จะไล่ออก ตนเลยรีบชิงลาออกก่อน และเข้ามาร่วมในขบวนเต็มตัว หลังจากเสียงานแล้วตอนนั้นทางครอบครัวก็ไม่ได้สนับสนุนที่เราลุกขึ้นมาต่อสู้ มีปัญหากับครอบครัวและญาติที่เห็นด้วย กับการมีเหมือง

เคยโดนคนฝั่งเหมืองกล่าวหาและฟ้องคดี ว่าพวกชาวบ้าน แจ้งความเท็จและให้จ่ายเงินคนละ 2,000,000 บาท แต่เราก็ต่อสู้คดี ช่วงนั้นต้อง ไปขอยืมเงินกองทุนยุติธรรมเพื่อเป็นหลักประกันให้ก่อน คนละ 70,000 บาท หลังจากนั้นมีการข่มขู่ว่าอย่าให้เราเคลื่อนไหวมาก กลัวเราจะตาย ภายหลังฝั่งเหมืองมีการยอมรับว่ามีการทำเอกสารปลอมจริงและได้ถอนฟ้องพวกเราไป

ตั้งแต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจนมาถึงชั้นอุทธรณ์ใช้ระยะเวลานานมาก นานจนเราลืมไปแล้วว่าเราฟ้องอะไรไปบ้าง และเราเองก็ไม่ได้กังวลว่าครั้งนี้ศาลจะพิพากษาให้แพ้หรือชนะคดี

“ปี 2561 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าชาวบ้านชนะ ตอนนั้นชาวบ้านก็ไม่ได้แสดงความรู้สึกอะไร จนกระทั่งคุณทนายความหันมาถามเราว่า ศาลพิพากษาให้ชนะแล้วไม่ดีใจหรอ พวกเราก็เฉย ไม่รู้จะเฮไปทำไมเพราะเราไม่มั่นใจอยู่ดีว่าจะชนะหรือเปล่า (หัวเราะ)” แม่ต้อยกล่าว

ระหว่างที่รอคำพิพากษาจากศาลปกครองสูงสุดทางกลุ่มได้ยื่นหนังสือไปยังหน่วยงานต่างๆ และทำกิจกรรมต่างๆ ควบคู่กันไปเพื่อให้เรื่องที่พวกเรากำลังต่อสู้อยู่กระจายไปสู่การรับรู้ของผู้คนให้มากที่สุด ภายหลังจากที่ใบอนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่าหมดอายุลงพวกเราก็เข้าไปยึดพื้นที่ทันทีไม่เช่นนั้นภูเขาอาจถูกระเบิดเพื่อทำเหมืองหินอีก หลังจากที่พวกเราร่วมกันปักหลักปิดกั้นเส้นทางการเข้าเหมืองแล้ว จึงตั้งเป็นหมู่บ้านขึ้นมาชื่อว่า “ผาฮวกพัฒนา ชาวประชาสามัคคี” และมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ ข้อหนึ่ง ปิดเหมืองหินและโรงโม่ ข้อสอง ฟื้นฟูภูผาป่าไม้ และข้อสาม พัฒนาตำบลดงมะไฟเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมและอารยธรรมโบราณคดี

ถ้าศาลพิพากษาให้เราแพ้ก็ต้องทำการท่องเที่ยวให้เด่นชัดกว่านี้อีก และคิดกันต่อว่าจะทำอย่างไรให้คนรู้เรื่องราวของเรามากที่สุด แต่ถ้าชนะจะเดินเรื่องขอจดทะเบียนให้เป็นป่าชุมชน ถ้าสำเร็จหมดทุกอย่างหลังจากนั้นแล้วแต่ใครจะอยู่ใครจะไป หลังจากนี้ก็เป็นหน้าที่ของลูกหลานต่อไปที่จะรักษากันต่อไป เราได้มาแค่นี้ก็ดีแล้ว

“ตอนนี้เราไม่เชื่อกระบวนการยุติธรรมแล้ว แต่เราเชื่อในพลังของชาวบ้าน เชื่อมั่นว่าเราจะชนะคดี เชื่อมั่นว่าเราทำเพื่อธรรมชาติ เรากำลังปกป้อง เราไม่ได้ทำลาย” แม่ต้อยกล่าว

จังหวะและการขับเคลื่อนของดงมะไฟผ่านคนรุ่นใหม่ : มณีนุด อุทัยเรือง

“ตั้งแต่อายุ 10 ขวบกว่า ก็รับรู้เรื่องราวการต่อสู้เหมืองของพ่อแม่ ปู่ย่ามาโดยตลอด…ศาลหยุดนิ่งไปนานแล้ว เราคิดว่าเขาอยู่ในอดีต และเรากำลังจะก้าวไปสู่อนาคตแล้ว จากวันนั้น 10 กว่าปีแล้วที่ศาลไม่ได้ตัดสินอะไร ศาลเลือกที่จะอยู่ตรงนั้น เราผ่านการเติบโตอะไรมาเยอะแยะมากแล้ว”

คนรุ่นใหม่ถือว่าเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ทำให้หลายประเด็นค่อยๆ มีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะประเด็นสิ่งแวดล้อมในชุมชนดงมะไฟของมณีนุด อุทัยเรือง

มุมมองและการขับเคลื่อนคลื่นลูกใหม่ของมณีนุด อุทัยเรือง หรืออร อายุ 33 ปี นิยามตนเองว่าเป็น “ลูกหลานของดงมะไฟ” เดิมทีนั้นอรทำงานอยู่ต่างประเทศ แต่เนื่องด้วยสถานการณ์โควิดทำให้ต้องกลับมาใช้ชีวิตอยู่ที่บ้าน หลังจากนั้นได้ต่อยอดอาชีพเกษตรกรของครอบครัว โดยทำสวนปลูกสตอเบอร์รี่และค้าขาย ช่วงเวลาระหว่างนี้เองทำให้อรเริ่มเข้าสู่ขบวนการต่อสู้อย่างเต็มตัว และเข้ามาเป็นอาสาสมัครทำงานให้กับชุมชน โดยมีบทบาทในการช่วยงานด้านเอกสาร ติดต่อประสานงาน และทำงานด้านการสื่อสาร ของกลุ่มอนุรักษ์เขาเหล่าใหญ่-ผาจันได

อรเล่าว่า ตนเริ่มรับรู้และเข้าสู่ขบวนเมื่ออายุ 10 ขวบ เนื่องจากทั้งครอบครัวออกมาร่วมคัดค้านเหมือง ระหว่างที่ชุมนุมอยู่ มีความชุลมุนเกิดขึ้นตนเคยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตี ตอนนั้นยอมรับเลยว่าเกลียดตำรวจมาก “ระยะเวลาการต่อสู้ในกระบวนยุติธรรมมีความยาวนานมากเกือบทั้งชีวิตของเราเลย เราไม่เคยศรัทธาในกระบวนการยุติธรรมเลย คิดว่ากฎหมายหรือระบบราชการ ในประเทศนี้ไม่ได้มีไว้เพื่อรัฐธรรมนูญเองก็ไม่ได้มีไว้เพื่อประชาชน” อรกล่าว

“จุดเริ่มต้นของเรามาจากมุมมืดเป็นชุมชนที่ใครไม่รู้จัก ไม่มีใครมาหา แม้กระทั่งเสียงของเราที่ตะโกนออกไปก็ไม่เคยมีใครได้ยิน หรือแม้แต่ตอนที่เกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมของชาวบ้านที่ไปคัดค้านกับกลุ่มนายทุนเหมือง ชาวบ้านได้รับบาดเจ็บ และโดนทำร้ายหลายคนมากทั้งเด็กและคนผู้สูงอายุ แต่ข่าวที่ถูกนำเสนอออกไปคือ ตำรวจโดนทำร้าย ทำให้เราหมดศรัทธาและด้วยความที่ตอนนั้นมันมืดจริงๆ แต่ตอนนี้ยุคสมัยมันเปลี่ยนแสงสว่างเริ่มเข้ามา ตอนนั้นชาวบ้านอ่านหนังสือไม่ออก แม้แต่ชื่อตัวเองยังเขียนไม่ได้เลย ทุกวันนี้ชาวบ้านได้รับประสบการณ์และเข้มแข็งจนเติบโตขึ้น ทุกวันนี้ทุกคนที่อยู่ในพื้นที่สามารถพูดเรื่องราวของตัวเองได้ สามารถเรียกร้องสิทธิของตัวเองได้ รู้ว่าตัวเองมีสิทธิเสรีภาพสามารถทำอะไรได้บ้าง สามารถพูดประเด็นปัญหาและบอกเล่าเรื่องราว และกล้าที่จะยืนหยัดในสิทธิของตนเอง อันนี้คือการเติบโตของชุมชน ที่ดีมาก” อรกล่าว

คิดว่าชาวบ้านก้าวข้ามตรงนี้ไปนานแล้ว และคิดว่าศาลหยุดนิ่งไปนานแล้วเช่นกัน

“ศาลยังอยู่ในอดีต ส่วนเราก้าวมาสู่อนาคตและกำลังจะก้าวไปสู่อนาคตอีกขั้นหนึ่งแล้ว เรามาไกลมากจากวันนั้น 10 กว่าปีแล้วที่ศาลไม่ได้ตัดสินอะไร ศาลเลือกที่จะหยุดอยู่ตรงนั้น แต่กลับกันในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านผ่านการเติบโตอะไรมาเยอะมาก ไม่ว่าศาลคำจะตัดสินจะออกมาเป็นยังไงก็ตาม ก็ไม่มีผลอะไรแล้ว ไม่มีผลต่อความรู้สึก หรือต่อกระบวนการต่อสู้อะไรเลย เพราะจุดที่ตัดสินนั้นมันคืออดีต เรื่องต่างๆ ผ่านมานานแล้ว และไม่สามารถมาทำลายปัจจุบันได้ ต่อให้เราแพ้เราก็จะก้าวต่อไปข้างหน้า หรือถ้าชนะก็ถือว่าเป็นกำไรของเรา คำตัดสินไม่ทำให้การต่อสู้ของเราหยุดลง” อรกล่าว

“ข้อ 3 มันเกิดจากจินตนาการของชาวบ้านทุกคน ที่ร่วมต่อสู้ด้วยกัน วาดฝันขึ้นมา ว่าอยากเห็นพื้นที่ตรงนี้เป็นอย่างไร ตอนนี้วาดโครงไว้แล้ว และกำลังช่วยกันหยิบสีคนละแท่งเพื่อแต่งเติมเข้าไป” อรกล่าว

ปัจจุบันทางกลุ่มกำลังขับเคลื่อนมาถึงข้อเรียกร้องที่ 3 แล้ว ซึ่งกำลัง คือ การพัฒนาดงมะไฟให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว และกำลังสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่

“เพราะการจะพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ต้องได้รับความร่วมมือกับหลายกลุ่ม หลายฝ่าย แม้แต่ผู้ใหญ่บ้าน อบต. หรือท้องถิ่น เขาก็ต้องรับรู้ร่วมกับเราด้วย เพราะเรามองว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันอยู่แล้ว จะแยกออกจากกันไม่ได้ต้องค่อยๆขยับไป”

ปัจจุบันเอกสาร การต่ออายุประทานบัตรยังคงค้างอยู่ที่หน่วยงานส่วนท้องถิ่น ซึ่งขาดเอกสารเพียงแค่ตัวเดียวคือมติจาก อบต. ทางกลุ่มฯ พยายามเข้าไปร่วมการประชุมตลอด และทุกครั้งที่ไปเข้าร่วมการประชุมทางก็พยายามไปเสนอถึงสิ่งที่ กำลังทำอยู่ อย่างน้อยๆทำให้เขาได้รับรู้ว่าเราทำอะไรอยู่ เช่นบอกว่า ตอนนี้กำลังพัฒนาดงมะไฟให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว พยายามปรับภูมิทัศน์ กำลังประชาสัมพันธ์ กำลังจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา  

“แม้ว่าตอนนี้เขายังไม่เปิดใจให้เรา และเราหวังว่าสักวันสิ่งที่เราจะได้ยิน คืออบต.จะเข้ามาช่วยกลุ่มของเรา สภาท้องถิ่นซึ่งเราเป็นคนเลือกเขาเข้าไปเป็นตัวแทนเรา เขาควรจะอยู่กับเรามากกว่า”  อรกล่าว

ความคาดหวังและแผนพัฒนาชุมชน

เรื่องที่อยู่ในแผนพัฒนาของกลุ่มฯ คือ “ทำให้ดงมะไฟเป็นแหล่งท่องเที่ยว” และคาดหวังถึง “การหันเข้าหากันระหว่างชาวบ้านกับท้องถิ่น”

เดิมทีชาวบ้านกับท้องถิ่นเป็นปรปักษ์ต่อกัน ต่อสู้กันมานานมากแล้ว ในอนาคตเรามีความหวังเล็กๆ ว่าอยากให้เขามาอยู่ข้างประชาชน มาเป็นส่วนหนึ่งของเราและร่วมสนับสนุนสิ่งที่เราอยากจะทำ หากเป็นไปได้จะทำให้พื้นที่นี้เข้มแข็ง และจะไม่หยุดแค่พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับตำบลเท่านั้น แต่จะก้าวเข้าไปสู่ระดับจังหวัด และระดับประเทศต่อไป ถ้ามันเข้มแข็งมันจะถูกส่งต่อรุ่นสู่รุ่นจะทำให้หลายๆ อย่างเปลี่ยนแปลงไป ปัญหาหรือความขัดแย้งต่างๆ จะไม่กลับมาอีก กี่รุ่นแล้วที่ต้องเผชิญกับปัญหามาตั้งแต่รุ่นตา รุ่นแม่ และรุ่นเรา ผ่านมา 20 กว่าปีแล้ว ควรจะเปลี่ยนและพัฒนาได้แล้ว หรือถ้าจะเกิดปัญหาในอนาคตก็ขอให้เป็นปัญหาอย่างอื่นที่ไม่ใช่เรื่องนี้อีก” อรกล่าว

ขอเชิญร่วมติดตาม

ศาลปกครองอุดรธานี นัดฟังคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด

กรณีกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได

ฟ้องเพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้เอกชนเข้าทำเหมืองแร่หิน

ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู

วันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 10.00 น. ณ ห้องพิจารณาคดี 4 ศาลปกครองอุดรธานี

ข่าวสารที่เกี่ยวข้อง
ติดตามเราในช่องทาง Social
ข่าวสารล่าสุด