ข้อกังวลจาก EnLAW ต่อร่าง พ.ร.บ. SEC : เมื่อประชาชนไร้ส่วนร่วมและอำนาจกำหนดอนาคตตนเอง

ข้อกังวลจาก EnLAW ต่อร่าง พ.ร.บ. SEC : เมื่อประชาชนไร้ส่วนร่วมและอำนาจกำหนดอนาคตตนเอง

 

ภูมิหลังความเป็นมาของนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้

แนวคิดระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ เป็นแนวคิดที่เกี่ยวเนื่องจากเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สืบเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2557 – 2566 ที่ต้องการให้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลัก แนวนโยบายดังกล่าวจึงปรากฏผ่านยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พ.ศ. 2561 – 2580  แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2566 – 2580    แผนพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ฉบับที่ 13 พ.ศ. 2566 – 2570  ร่างพระราชบัญญัติระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคใต้ฉบับนี้จึงเกิดขึ้น เพื่อตอบสนองต่อนโยบายของรัฐที่กำหนด ณ ช่วงเวลาดังกล่าว แนวคิดเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมครั้งแรกผ่านโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติเขตพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 กำหนดให้พื้นที่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก อันเป็นพื้นที่เป้าหมายและส่งเสริมอุตสาหกรรมเป็นหลัก แนวคิดเศรษฐกิจดังกล่าวได้ถูกสืบต่อมาสู่แนวคิดระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ที่กำหนดให้พื้นที่จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridors: SEC)

 

ข้อห่วงกังวลต่อร่างพระราชบัญญัติระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้

            เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการกำหนดพื้นที่จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคใต้ โดยร่างพระราชบัญญัติระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ จึงเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อนโยบายของรัฐ รวมถึงโครงการ Land Bridge ซึ่งเป็นหนึ่งในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจในรูปแบบเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone (SEZs)) ที่รัฐวางเป้าหมายการพัฒนาโครงการให้เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้

            ร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคใต้มีผู้เสนอเข้าสู่รัฐสภาเพื่อพิจารณาเห็นชอบจำนวน 2 ฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. … เสนอโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะ และร่างพระราชบัญญัติระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. … เสนอโดยนายสฤษฎ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะ ซึ่งมีเนื้อหาคล้ายคลึงกันต่างกันเพียงหลักการและเหตุผลเล็กน้อยและเป็นร่างกฎหมายที่สร้างขึ้นมาเพื่อกำกับดูแลกิจการที่รัฐได้วางนโยบายไว้  ทางมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมจึงมีข้อสังเกตและข้อห่วงกังวลว่าเนื้อหาตามร่างกฎหมาย 2 ฉบับดังกล่าว จะไม่เป็นไปตามหลักการสากลที่เกี่ยวกับสิทธิในการพัฒนาและการมีส่วนร่วมของประชาชน ดังต่อไปนี้

 

  • ประชาชนไม่มีสิทธิและอำนาจกำหนดอนาคตตนเอง

ตามร่างมาตรา 38 และมาตรา 39 กำหนดเป้าหมายการใช้พื้นที่ว่า “เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาอุตสาหกรรม” การกำหนดนโยบายเช่นนี้มุ่งเน้นทิศทางการพัฒนาทางเศรษฐกิจทางเดียว และรัฐไม่ได้ออกแบบนโยบายทางเลือกอื่นที่สะท้อนการพัฒนาที่เริ่มต้นจากประชาชน ไม่เปิดกว้างให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายในพื้นที่ของตนได้ จึงกระทบต่อสิทธิการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งรัฐควรส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถของประชาชนและชุมชนในการกำหนดเจตจำนงการพัฒนาของตนเอง รวมทั้งกระทบต่อสิทธิการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย เนื่องจากไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานการพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับประชาชนในพื้นที่และชุมชน 

 

  • โครงสร้างคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ประกอบด้วยคณะรัฐมนตรีและภาคธุรกิจ

ตามร่างมาตรา 9 – คณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและรัฐมนตรีจำนวน 16 กระทรวง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการลงทุน ประธานหอการค้าไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสมาคมธนาคารไทย ซึ่งเน้นตำแหน่งที่มาจากรัฐบาลและกลไกภาคธุรกิจเป็นหลัก โดยไม่ได้ระบุให้มีตัวแทนจากภาคประชาชนในพื้นที่เป็นองค์ประกอบของคณะกรรมการ

 

  • เพิ่มอำนาจให้คณะกรรมการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคใต้ให้สามารถถออกกฎ นโยบายที่เอื้อกับนโยบายการลงทุนทางเศรษฐกิจ

            ตามร่างมาตรา 8 มาตรา 28 มาตรา 29 มาตรา 31 มาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 35 และมาตรา 52   ให้อำนาจกับคณะกรรมการฯ ให้การวางนโยบายหรือมาตราการทางกฎหมาย รวมถึงปรับปรุงกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือคำสั่ง หรือออกกฎหมายใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ที่สนับสนุนผู้ประกอบการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ทำให้การเปลี่ยนแปลงสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินและการถือครองที่ดินเอื้อให้เกิดประโยชน์และกำหนดสิทธิพิเศษ เพื่อให้การประกอบกิจการดำเนิน

ไปโดยง่ายและได้สิทธิพิเศษเหนือผู้ใช้ประโยชน์ในที่ดินเดิม จึงเป็นข้อห่วงกังวลว่าการกำหนดเนื้อหาดังกล่าวจะเป็นการรวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ไม่มีการกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่น และไม่มีเสียงของประชาชนในพื้นที่อยู่ในนโยบายหรือมาตรการทางกฎหมาย 

 

  • คณะกรรมการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคใต้มีอำนาจเร่งรัดการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

ตามร่างมาตรา 7 ให้อำนาจคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเร่งรัดการกระบวนการให้ความเห็นชอบต่อรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ หรือกิจการที่จะดำเนินการในพื้นที่ ทำให้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ไม่ถูกนำไปพิจารณาประกอบการให้ความเห็นชอบอย่างรอบคอบและครอบคลุมทุกมิติ

 

  • ขาดกลไกการตรวจสอบและการมีส่วนร่วมจากประชาชน

                        เนื้อหาตามร่างพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับนี้ไม่ได้ระบุเกี่ยวกับการให้ประชาชนหรือภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการกำหนดแผนนโยบาย หรือสิทธิในการตัดสินใจกับโครงการที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ของตน และไม่มีกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานของคณะกรรมการฯ

 

ข้อเสนอแนะ

            ในขณะที่มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลไทยในการทบทวนร่างพระราชบัญญัติระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อให้สอดคล้องกับสิทธิในการพัฒนา (Right to Development) ซึ่งถือเป็นสิทธิหนึ่งที่ได้รับการรับรองว่าเป็นสิทธิมนุษยชนสากล รวมถึงเป็นหลักการที่สอดคล้องกับหลักการไม่เลือกปฏิบัติ และเสรีภาพ เพื่อให้สิทธิในการพัฒนาได้รับการปฏิบัติอย่างจริงจัง ควรต้องคำนึงถึงองค์ประกอบ ดังนี้

  1. สิทธิกำหนด “เจตจำนงการพัฒนาของตนเอง” แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้กลับไม่ได้ถูกริเริ่มจากเจตจำนงของประชาชนในพื้นที่ตั้งแต่แรก ดังนั้น รัฐบาลจะต้องเปิดกว้างในทุกด้านและจริงใจต่อการรับฟังเสียงของประชาชน และต้องออกแบบนโยบายให้สอดคล้องกับศักยภาพ ความต้องการ และประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่
  2. สิทธิการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย ร่างพระราชบัญญัตินี้ไม่มีเสียงของประชาชน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นตัวแทนจากประชาชนในพื้นที่เข้าไปมีส่วนร่วมแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะในสัดส่วนของคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ หรืออำนาจหน้าที่ที่เคยมีอยู่เดิมขององค์กรปกครองท้องถิ่น หรือหน่วยงานรัฐในพื้นที่สามารถถูกแก้ไข ปรับ หรือเขียนกฎขึ้นมาใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายที่รัฐส่วนกลางวางไว้ ดังนั้น การทบทวนร่างกฎหมายฉบับนี้จึงควรตั้งอยู่บนพื้นฐานจึงหลักการแบ่งแยกอำนาจและถ่วงดุลตรวจสอบตามหลักการประชาธิปไตย และหลักการพื้นฐานการมีส่วนร่วมของประชาชน
  3. สิทธิการพัฒนาที่ไม่มุ่งเน้นทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่เปิดกว้างและรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียที่หลากหลาย เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มุ่งเน้นการลงทุนเชิงอุตสาหกรรมเป็นหลัก และให้สิทธิประโยชน์แก่บุคคล หรือองค์กรที่จะเข้ามาลงทุนจากต่างชาติ แต่กลับไม่มีพื้นที่ใดในทางกฎหมายที่จะเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ ดังนั้น ร่างกฎหมายฉบับนี้จึงควรมีพื้นที่ที่ภาครัฐจะต้องช่วยกันออกแบบวิธีการที่ทำให้คนในพื้นที่สามารถค้นหาเจตจำนงค์ที่จะกำหนดแนวทางการพัฒนาที่เป็นของคนภาคใต้และยั่งยืนตามวิถีชีวิต วัฒนธรรม บนฐานทรัพยากรที่ยั่งยืนและเป็นธรรมต่อคนทุกคน
  4. สิทธิในการพัฒนาต้องให้ความสำคัญกับ “บุคคลและชุมชน” ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ควรเปิดพื้นที่ให้มีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มสัดส่วนตัวแทนของประชาชน ภาคประชาสังคม หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สามารถเข้าไปเป็นคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ร่วมกับคิดนโยบายและออกกฎหมายกฎหมายที่ตอบสนองกับชุมชนในพื้นที่ ทั้งในโครงการหรือกิจการใด ๆ ก็ตามที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ ควรจะต้องมีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เปิดให้ชุมชนที่อาจจะได้รับผลกระทบเข้าไปมีส่วนร่วมและเข้าใจในทุกขั้นตอน รวมถึงการออกแบบนโยบายทางเลือกที่ไม่มุ่งเน้นแต่การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ แต่เป็นนโยบายที่ตอบสนองความต้องการของชุมชน เพื่อพัฒนาศักยภาพของพวกเขาให้ก้าวสู่การพัฒนายั่งยืนที่พวกเขาเป็นผู้กำหนดทิศทางการพัฒนาด้วยตนเอง

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:

https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/082/T_0001.PDF.   

http://nscr.nesdc.go.th/wp-content/uploads/2023/03/masterplan_updated2023_080363.pdf.

https://www.nesdc.go.th/download/Plan13/Doc/Plan13_Final.pdf

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง
ติดตามเราในช่องทาง Social
บทความล่าสุด