ก่อร่างสร้างหมุดหมายความรับผิดชอบต่อสภาพภูมิอากาศ

: กรณีศึกษาร่างพระราชบัญญัติความรับผิดชอบต่อสภาพภูมิอากาศ ประเทศฟิลิปปินส์

  • ในปี ค.ศ. 2013 ประเทศฟิลิปปินส์ต้องเผชิญกับพายุไต้ฝุ่นไห้เยี่ยน (Haiyan) ลูกรุนแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ส่งผลให้เกิดผู้เสียชีวิต 6,000 กว่าคน และปัจจุบันผู้คนยังคงต้องรับมือความเสียหายที่ไม่สามารถเยียวยาฟื้นคืนให้เป็นดังเดิม
  • จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ภาคประชาสังคมร่วมกันตัวยื่นต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฟิลิปปินส์ เพื่อให้สอบสวนกลุ่มบริษัทปล่อยผู้ปล่อยคาร์บอนเมเจอร์ (Carbon Majors) หรือกลุ่มบริษัทน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์จากถ่านหิน และผู้ผลิตซีเมนต์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายงานว่าปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดและส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • บทความชิ้นนี้จะพาผู้อ่านไปสำรวจ หมุดหมายแรกของร่างกฎหมายว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสภาพภูมิอากาศ (The Climate Accountability Act: CLIMA) ของประเทศฟิลิปปินส์ ที่ปักธงว่าภาคธุรกิจควรต้องมีความรับผิดชอบต่อการดำเนินธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นผลให้เกิดความเสียหายทางธรรมชาติ สังคม และส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน ความเป็นอยู่ของประชาชนโดยสงบสุข

          ในปี ค.ศ. 2015 กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Greenpeace Southeast Asia) ร่วมกับภาคประชาสังคมฟิลิปปินส์จำนวน 13 องค์กรและบุคคลธรรมดา 18 คน ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฟิลิปปินส์ขอให้ไต่ส่วนบริษัทจำนวน 47 รายซึ่งประกอบด้วยบริษัทของนักลงทุนที่เป็นเจ้าของน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์จากถ่านหิน และผู้ผลิตซีเมนต์ หรือที่เรียกว่ากลุ่มบริษัทที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ขนาดใหญ่ (Carbon Major) ที่ใช้พลังงานฟอสซิลอันเป็นสาเหตุใหญ่ของการเกิดสภาวะโลกร้อน[1] รวมถึงบทบาทของรัฐต่อการช่วยเหลือส่งเสริมกลุ่มบริษัทเหล่านี้ โดยเรียกร้องให้มีการพิจารณาในเรื่องผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนฟิลิปปินส์ และให้พิจารณาบทบาทของกลุ่มบริษัท Carbon Major ที่เป็นสาเหตุให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศ อุปสรรคที่เกิดขึ้นจาภสภาพภูมิอากาศ และมีส่วนทำให้เกิดอันตรายต่อสภาพภูมิอากาศ[2] เนื่องมาจากในปี ค.ศ. 2013 เคราะห์ร้ายที่ฟิลิปปินส์ต้องเผชิญกับไต้ฝุ่นลูกที่รุนแรงที่สุดนับแต่ที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน (Haiyan) ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดดินถล่มในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงและทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 6,000 คน แม้จนถึงปัจจุบัน ความเสียหายจากกรณีนี้ยังไม่สามารถเยียวยาฟื้นฟูผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว และพวกเขายังคงต้องทุกข์ทนจากการเผชิญกับสถานการณ์สภาพภูมิอากาศที่เลวร้าย[3]

          ความเสียหายที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อความรับผิดชอบของภาคธุรกิจว่าควรต้องมีส่วนในการรับผิดชอบต่อการกระทำที่ก่อให้เกิดสภาวะโลกร้อนและส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ? การยื่นคำร้องในครั้งนี้ยังได้เรียกร้องให้ภาคธุรกิจต้องมีหน้าที่และปฏิบัติตามสิทธิมนุษยชนตามแนวปฏิบัติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (the United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGP) (มาตรฐานที่ธุรกิจต้องประกอบธุรกิจโดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน-ผู้เขียน) ในคำร้องเรียนได้เรียกร้องให้กลุ่มคาร์บอนเมเจอร์ ควรต้องรับผิดชอบจากการกระทำของพวกเขาที่มีส่วนทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน (ตามข้อกล่าวหา) ซึ่งส่งผลกระทบทางลบต่อสิทธิมนุษยชนของประชาชนชาวฟิลิปปินส์[4] แม้ว่าในเดือนพฤษภาคม 2022 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนจะได้เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับการสอบสวนและผลการวิจัยต่าง ๆ  ที่สรุปได้ว่า ภาวะโลกร้อน ภาวะน้ำทะเลเป็นกรด การสูญเสียอุณหภูมิความเย็นของโลก ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และสภาพอากาศที่เลวร้ายเพิ่มขึ้นเป็นผลโดยตรงจากอิทธิพลที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ สภาวะโลกร้อนจึงกลายเป็นภัยคุกคามต่อสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการดำรงชีวิต สิทธิการมีสุขภาพที่ดี สิทธิความมั่นคงทางอาหาร สิทธิในน้ำและแหล่งที่อยู่ สิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี ฯลฯ และรัฐต้องมีหน้าที่ในการออกกฎเกณฑ์มากำกับภัยดังกล่าว แต่การที่รัฐไม่ดำเนินการใดๆ เพื่อป้องกันปัญหาสภาวะโลกร้อนอาจถือเป็นการละเมิดหน้าที่ในการปกป้องสิทธิมนุษยชน ขณะที่หน้าที่ของภาคธุรกิจจะต้องดำเนินการเคารพต่อสิทธิมนุษยชนเช่นกัน[5] แต่รายงานดังกล่าวกลับไม่มีผลผูกผันในทางกฎหมาย จึงทำให้ภาคประชาสังคมผลักดันให้เกิดการร่างกฎหมายฉบับนี้ออกมา

          บทความชิ้นนี้จะพาผู้อ่านไปสำรวจ เนื้อหาในร่างกฎหมายว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสภาพภูมิอากาศ (The Climate Accountability Act: CLIMA) ของประเทศฟิลิปปินส์ ที่ปักธงว่าภาคธุรกิจควรต้องมีความรับผิดชอบต่อการดำเนินธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และกระทบต่อสิทธิมนุษยชน โดยเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2023 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 6 คน ร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคม เช่น Greenpeace Philippines, the Legal Rights and Nature Resources Center (LRC), the Climate Action and Human Rights Institute (CAHRI) จึงได้ยื่นร่างกฎหมาย HB 9609 หรือกฎหมายว่าด้วยความรับผิดชอบทางสภาพภูมิอากาศ (the Climate Accountability (CLIMA) ที่ต้องการกำหนดกรอบทางกฎหมายสำหรับการรับผิดชอบต่อการสูญเสียและความเสียหายต่อสภาพอากาศ[6]

ร่างกฎหมายว่าด้วยความรับผิดชอบทางสภาพภูมิอากาศ (the Climate Accountability (CLIMA)

          เนื้อหาในร่างกฎหมายฉบับนี้ เริ่มต้นด้วยการเน้นย้ำความสำคัญจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และรายงานของคณะกรรมการว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) เรื่อง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ค.ศ. 2022 ผลกระทบ การปรับตัว และความเปราะบาง ที่เกิดจากปัญหาสภาวะโลกร้อนที่สภาพภูมิอากาศมีความถี่และความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้เกิดสภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้ว และผลกระทบต่อระบบนิเวศ ประชาชน การตั้งถิ่นฐาน และโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ซึ่งทุกประเทศจะต้องมุ่งควบคุมอุณหภูมิไม่ให้สูงเกินกว่า 1.5 องศา เพื่อที่จะช่วยลดความสูญเสียและความเสียหายที่คาดการณ์ต่อมนุษย์และระบบนิเวศที่เป็นผลจากสภาวะโลกร้อน ตามความตกลงปารีส (Paris Agreement 2015)

          ทั้งตอกย้ำความสำคัญต่อความยุติธรรมทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Justice) ที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็เป็นภัยคุกคามต่อสิทธิมนุษยชนที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต เช่น การมีน้ำสะอาด ปลอดภัย สุขภาพอนามัย อาหารที่อยู่อาศัย วัฒนธรรม สิทธิในการตัดสินใจและสิทธิในการพัฒนา อันถือเป็นสิทธิมนุษยชน ตามมติสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิในสภาพแวดล้อมที่สะอาด ดีต่อสุขภาพ และยั่งยืน (Right to clean, healthy and sustainable environment) โดยรัฐมีหน้าที่ในการป้องกันและรับมือต่อผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งจะต้องประกันได้ว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีเหล่านี้จะสามารถเข้าถึงการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพ

          ร่างกฎหมายนี้จึงวางเป้าหมายสำคัญที่ต้องการให้รัฐประกาศนโยบายปกป้องและพัฒนาสิทธิของประชาชนให้มีระบบนิเวศสมดุลดีต่อสุขภาพ กลมกลืนไปกับธรรมชาติ และจะต้องปกป้องส่งเสริมสิทธิด้านสุขภาพที่ดีในชีวิตของประชาชน และปกป้องสภาพภูมิอากาศให้แก่คนรุ่นหลัง บนพื้นฐานหลักการระวังไว้ก่อน (Precautionary Principle) หลักความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Justice) หลักความรับผิดชอบร่วมที่แตกต่าง (Common but differentiated responsibility) และหลักความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Just transition) โดยที่รัฐและภาคธุรกิจต้องมีส่วนร่วมในการป้องกันและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งต้องปฏิบัติตามหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (the United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights) ในฐานะเป็นมาตรฐานขั้นต่ำของภาคธุรกิจที่ดำเนินกิจการในฟิลิปปินส์ และทุกดินแดนที่ฟิลิปปินส์มีอำนาจอธิปไตยหรือเขตอำนาจศาล[7]

กรอบความรับผิดชอบทางธุรกิจ (Framework for Business Accountability)

          หมวดที่ว่าด้วยมาตรฐานการดำเนินการของธุรกิจอย่างรอบด้าน (Due Diligence Standard of Care in the Conduct of Business) ที่ธุรกิจควรต้องดำเนินบนฐานความระมัดระวังและรับผิดชอบเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นอย่างรอบด้าน โดยภาคธุรกิจจะต้องดำเนินมาตรการเชิงรุกเพื่อป้องกันและแก้ไขไม่ให้มีผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศ การปรับเปลี่ยนวิธี หรือกิจกรรมเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และในกรณีที่การกระทำของธุรกิจนั้น เกิดจากการประมาทและส่งผลให้เกิดสภาพอากาศแบบสุดขั้ว หรือเป็นสาเหตุให้เกิดเหตุการณ์นั้นอย่างช้า ๆ อันเนื่องมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่าเกินเกณฑ์ที่กำหนด ธุรกิจนั้นต้องรับผิดชอบต่อการกระทำนั้นด้วย[8]

          ในหมวดนี้ ยังได้ระบุเกี่ยวกับหน้าที่ความรับผิดของภาคธุรกิจต้องปรับนโยบายการดำเนินงานให้สอดคล้องกับหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ทั้งกำหนดมาตรการสำคัญ ๆ เช่น การเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดคุณค่าของห่วงโซ่อุปทาน (Value of Supply Chains) การวิเคราะห์ข้อมูลโอกาสและความเสี่ยงจากผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ นโยบายด้านสภาพภูมิอากาศ เทคโนโลยีใหม่ การวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกบนฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์ การป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนตลอดห่วงโซ่คุณค่า ในทุกกิจกรรมของธุรกิจ การประกันการคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชน การติดตามผู้ที่ประสบภัยจากผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เกิดจากกิจกรรมของธุรกิจ หรืออาจเชื่อมโยงโดยตรงจากการดำเนินการธุรกิจ สำหรับธุรกิจที่มีการทำงานร่วมกับชุมชนจะต้องได้รับความยินยอมจากชุมชน และปฏิบัติตามพระราชบัญญัติสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ค.ศ. 1997 การรายงานข้อมูลของภาคธุรกิจเหล่านี้จะต้องยื่นต่อคณะกรรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์[9]

          ในหมวดนี้รับรองสิทธิของผู้ฟ้องคดีและหลักการสำคัญ ๆ ในทางกฎหมายสิ่งแวดล้อม โดยในส่วนของผู้ฟ้องคดีต้องมีสถานะ เป็นสนใจประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เหยื่อ/ผู้รอดชีวิตจากผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน ซึ่งอาจร้องขอให้มีการชดเชยความเสียหายใด ๆ จากการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด หรือกระทำการใดที่ละเมิดต่อกฎหมาย สิ่งที่น่าสนใจคือ ร่างกฎหมายนี้เปิดโอกาสให้ผู้ฟ้องคดีสามารถยื่นฟ้องแทนผู้เยาว์ คนรุ่นต่อไป รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพ ในสถานะของผู้ปกครองตามกฎหมายตัวแทน[10]

          ด้านหลักการสำคัญในทางกฎหมายสิ่งแวดล้อม ถูกนำมาบัญญัติไว้ เช่น หลักการระวังไว้ก่อน (Precautionary Principle) ซึ่งเป็นหลักที่ระบุให้ศาลต้องใช้หลักการนี้พิจารณาเพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศที่สมดุล และดีต่อสุขภาพของประชาชน[11] หลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluter Pay Principle)[12] หลักโอกาสสุดท้ายในการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่น  (The Last Clear Chance Rule) ที่ต้องการให้บุคคลมีหน้าที่พึงระวัง ไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น และการระบุถึงเหตุการณ์ความรุนแรงของสภาพภูมิอากาศนั้นต้องใช้เกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์[13]  ซึ่งการบัญญัติหลักการเหล่านี้ก็เพื่อให้ศาลสามารถหยิบยกนำมาเป็นหลักในการพิจารณาความผิดของภาคธุรกิจ

กองทุน Loss and Damage

          การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสามารถส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนเปราะบาง ร่างกฎหมายฉบับนี้จึงได้กำหนดให้มี “กองทุนชดเชยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” (the Climate Change Reparation Fund) เพื่อให้กระทรวงการคลังจัดหาทุนเพื่อชดเชยจากการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ ซึ่งการเรียกให้มีการจ่ายค่าชดเชย อาจอยู่ในรูปแบบการชดเชยความเสียหายจากการกระทำทางเศรษฐกิจหรือที่ไม่ใช่ทางเศรษฐกิจ การถ่ายทอดเทคโนโลยี การเพิ่มขีดความสามารถ การสนับสนุนทางการเงิน การย้ายถิ่นฐาน และมาตรการการชดเชยและฟื้นฟูหลังวิกฤต[14] ซึ่งการบริหารจัดการกองทุนนี้ได้มีการตั้งให้มีคณะกรรมการฟื้นฟูด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Reparations Board) มีสถานะเป็นองค์กรกึ่งตุลาการ ซึ่งมีอำนาจในการรับข้อร้องเรียน ประเมิน ตรวจสอบ วินิจฉัยข้อพิพาทเบื้องต้นที่เกิดขึ้นภายใต้พระราชบัญญัตินี้[15]

          คณะกรรมการชุดนี้งานร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน โดยมีหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนและสอบสวน อำนาจในการออกหมายเรียก ออกคำสั่งระงับหรือลดความเสียหายที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายที่ไม่สามารถแก้ไขได้ต่อเสถียรภาพทางสังคมและเศรษฐกิจ หรือพฤติการณ์ที่ดูหมิ่นบุคคลใด ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม และมีหน้าที่บริหารจัดการกองทุน loss and damage เป็นต้น คณะกรรมการนี้ ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 5 คน และต้องเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจต่อประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กฎหมายสิ่งแวดล้อม และหรือวิทยาศาสตร์ระบบนิเวศ หรือต้องเป็นสมาชิกของเนติบัณฑิตยสภาฟิลิปปินส์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อม หรือสิทธิมนุษยชนเป็นเวลาอย่างน้อย 10 ปี หรือเป็นนักวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศ ตัวแทนจากภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านสิทธิและความยุติธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ[16] มีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี โดยมีเงื่อนไขว่า ประธาน และสมาชิก 2 คน จะต้องดำรงตำแหน่ง 3 ปี กรรมการอีก 2 คน จะดำรงตำแหน่งได้ 2 ปี[17] โดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งประธานกรรมการและคณะกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการต้องมาจากเสนอชื่อองค์กรสิทธิมนุษยชน องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง สิทธิสตรี และเยาวชน องค์กรด้านสิทธิของคนพิการ ที่จะเสนอชื่อให้ประธานผู้แทนภาคประชาสังคม[18]  

บทกำหนดสุดท้าย

          เนื่องจากเป้าหมายของร่างกฎหมายฉบับนี้ต้องการให้ภาคธุรกิจต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อการกระทำใด ๆ ที่ส่งผลให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงกำหนดให้ภาคธุรกิจต้องปฏิบัติตามมาตรา 32 ของกฎหมายแพ่ง ฟิลิปปินส์ ที่บัญญัติถึงหน้าที่ความรับผิดในความเสียหายใดที่เกิดจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ลูกจ้าง หรือบุคคลใด ๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ขัดขวาง เอาชนะ ฝ่าฝืน หรือในลักษณะใดๆ ที่เป็นอุปสรรคหรือทำให้สิทธิและเสรีภาพเสื่อมเสียของบุคคลอื่น การละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อสิ่งแวดล้อมมีสิทธิได้รับผู้เสียหายเพื่อเรียกค่าเสียหายจากผู้กระทำความผิดนั้น[19]

          ความน่าสนใจของร่างกฎหมายฉบับนี้ ได้มีการบัญญัติถึงการฟอกเขียว (Green washing) ที่เป็นวาทกรรมต่อการกระทำของบริษัทกลุ่มคาร์บอนเมจอร์ที่เข้าร่วมโครงการเพื่อลดโลกร้อน (ผ่านการปลูกป่า เงินสนับสนุนชุมชนให้รักษาป่า เป็นต้น แต่ไม่ได้ลดการปล่อยคาร์บอนจากการดำเนินธุรกิจของตน – ผู้เขียน) แท้จริงอาจไม่ได้เป็นการลดโลกร้อนแต่อย่างใด ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้ก็ได้มีการเขียนกำกับ และให้นิยามความหมายของการฟอกเขียวอย่างชัดเจนมากขึ้น เช่น การให้ข้อมูลเท็จเที่แอบอ้างว่าการสินค้า การผลิตสินค้า หรือบริการนั้นเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมล้อม การกระทำนี้ไม่จำกัดอยู่เพียง การให้ข้อมูลที่ผิดพลาด การระบุผลกระทบที่น้อยเกินไป การหลีกเลี่ยงการกล่าวถึงผลด้านลบ การกล่าวอ้างโดยไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน การกล่าวอ้างเกินจริง การรับรองที่เป็นเท็จจากบุคคลที่สาม หรืออื่น ๆ การกระทำใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับฟอกเขียวต้องถูกยับยั้ง และการดำเนินการของภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเขียวจะต้องถูกปรับเป็นจำนวน 15% ของรายได้ซึ่งต้องเปิดเผยและรายงานต่อคณะกรรมการฟื้นฟูฯ[20] รวมไปถึงการกำหนดโทษต่อการปฏิเสธสภาพภูมิอากาศ ที่หมายถึงการกระทำที่จงใจหรือทำให้เข้าใจผิด ใช้ข้อมูลที่เป็นเท็จ ซึ่งขัดต่อหลักการทางวิทยาศาสตร์ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมิได้เกิดจากการกระทำของมนุษย์ บทลงโทษต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกินเกณฑ์มาตรฐาน

          นอกจากนี้ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิได้อย่างเต็มที่ ร่างกฎหมายฉบับนี้จึงได้กำหนดบทลงโทษต่อการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน (Strategic Litigation Against Public Participation : SLAPP) ทั้งคดีทางแพ่ง อาญา หรือปกครอง ต่อบุคคล สถาบันใด ๆ หรือส่วนราชการ หน่วยงานราชการ ที่กระทำการด้วยเจตนาที่ไม่สุจริต หรือก่อกวน เพื่อให้เกิดแรงกดดันเกินสมควร หรือขัดขวางความช่วยเหลือทางกฎหมายใด ๆ ที่จะเป็นการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม หรือยืนยันสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม พระราชบัญญัติฉบับนี้ห้ามการฟ้องคดี SLAPP และหากพบว่าผู้ใดจงใจกลั่นแกล้งฟ้องคดี จะต้องเสียค่าปรับ 15% ของรายได้ของผู้ฟ้องและนิติบุคคลที่ได้ยื่นฟ้องคดี SLAPP เพื่อประโยชน์ของตนเอง[21] การระบุหลักประกันดังกล่าวจึงเป็นเกราะป้องกันให้กับภาคประชาชน เจ้าหน้าที่ ที่สามารถตรวจสอบการทำงานของภาคธุรกิจได้อย่างเต็มที่

บทสรุป : ความรับผิดชอบของภาคธุรกิจต่อสภาวะโลกร้อน

ร่างพระราชบัญญัติความรับผิดชอบต่อสภาพภูมิอากาศของประเทศฟิลิปปินส์ ปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติ ถือว่าเป็นร่างกฎหมายที่มีความน่าสนใจอย่างมากท่ามกลางกระแสภัยพิบัติของสภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง จึงเป็นหน้าที่โดยตรงของรัฐในการสร้างกฎหมาย กฎเกณฑ์เพื่อป้องกัน รับมือ และบรรเทาผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี และดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนที่ต้องเผชิญหน้าต่อภัยพิบัติโลกร้อน ขณะที่ความรับผิดชอบของภาคธุรกิจเองก็เป็นประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทคาร์บอนเมเจอร์ ซึ่งใช้เชื้อพลิงฟอสซิลมาเป็นระยะเวลานานอันเป็นสาเหตุหลักของสภาวะโลกร้อน ดังนั้น ในร่างกฎหมายฉบับนี้มุ่งที่จะบังคับใช้กับภาคธุรกิจกลุ่มบริษัทคาร์บอนเมจอร์ เพราะมีความสามารถในการก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อนมากกว่าบุคคลทั่วไป จึงควรต้องมีส่วนในการรับผิดชอบต่อผลกระทบดังกล่าว ร่างกฎหมายฉบับนี้จึงเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการวางหมุดหมายทางกฎหมายเพื่อให้ภาคธุรกิจต้องมีหน้าที่รับผิดชอบจากผลประโยชน์ที่ได้ตักตวงและมีส่วนในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จนกระทบต่อสิทธิมนุษยชนของพวกเราทุกคน

อ่านพระราชบัญญัติความรับผิดชอบต่อสภาพภูมิอากาศ ประเทศฟิลิปปินส์ ฉบับเต็ม

CLA-ACT Philippine

 

[1] เมื่อเดือนกันยายน 2015 กลุ่ม Greenpeace Southeast Asia ร่วมกับภาคประชาสังคมฟิลิปปินส์จำนวน 13 องค์กรและบุคคลธรรมดา 18 คน ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฟิลิปปินส์ขอให้ไต่ส่วนบริษัทจำนวน 47 รายซึ่งประกอบด้วยบริษัทของนักลงทุนที่เป็นเจ้าของน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์จากถ่านหิน และผู้ผลิตซีเมนต์ ซึ่งมีรายงานการศึกษาในปี 2013 ว่าเป็นกลุ่มปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มากที่สุดตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม อ่านเพิ่มเติม อริศรา เหล็กคำ, ความรับผิดชอบของรัฐและธุรกิจต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในบริบทของสิทธิมนุษยชน, วารสารนิติศาสตร์ สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปีที่ 11 ฉบับที่ 1 (มิถุนายน 2561), https://so01.tci-thaijo.org/index.php/CMUJLSS/article/view/109657/97421 , หน้า 48. และอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริษัท Carbon Majors ได้ที่ ธารา บัวคำศรี, ต่อกรกับ Carbon Majors ตัวการวิกฤตโลกเดือด, https://www.greenpeace.org/thailand/story/53214/climate-crisis-carbon-majors/?fbclid=IwZXh0bgNhZW0CMTEAAR2z9f6A6KZl0TAc6IjauxvJKpazXPa0lpJkyvzq37uSK22dHS4Sv9dAFfE_aem_kN6rmnqtF6EdElPvItLfXw

[2] Commission on Human Rights of the Philippines, National Inquiry on Climate Change report, 2022, https://www.ciel.org/wp-content/uploads/2023/02/CHRP-NICC-Report-2022.pdf. P.1

[3] Commission on Human Rights of the Philippines, National Inquiry on Climate Change report, 2022, https://www.ciel.org/wp-content/uploads/2023/02/CHRP-NICC-Report-2022.pdf. P.2.

[4] Commission on Human Rights of the Philippines, National Inquiry on Climate Change report, 2022, https://www.ciel.org/wp-content/uploads/2023/02/CHRP-NICC-Report-2022.pdf. P.3.

[5] ESCR-Net, Phillipines National Inquiry on Climate Change, https://www.escr-net.org/caselaw/2023/philippines-national-inquiry-climate-change/.

[6] Greenpeace, Philippine congress files world’s first climate, https://www.greenpeace.org/philippines/press/63109/philippine-congress-files-worlds-first-climate-accountability-bill/#:~:text=MANILA%2C%20Philippines%20(23%20November%202023,the%20Philippine%20Congress%20on%20Wednesday.

[7] รายละเอียดปรากฏตาม Republic of the Philippines House of Representative Quezon City, House Bill No. 9609, มาตรา 2.

[8] รายละเอียดปรากฏตาม Republic of the Philippines House of Representative Quezon City, House Bill No. 9609, มาตรา 4.

[9] รายละเอียดปรากฏตาม Republic of the Philippines House of Representative Quezon City, House Bill No. 9609, มาตรา 5.

[10] รายละเอียดปรากฏตาม Republic of the Philippines House of Representative Quezon City, House Bill No. 9609, มาตรา 8

[11] รายละเอียดปรากฏตาม Republic of the Philippines House of Representative Quezon City, House Bill No. 9609, มาตรา 6.

[12] รายละเอียดปรากฏตาม Republic of the Philippines House of Representative Quezon City, House Bill No. 9609, มาตรา 10

[13] รายละเอียดปรากฏตาม Republic of the Philippines House of Representative Quezon City, House Bill No. 9609, มาตรา 6, 10, 11, 12.

[14] รายละเอียดปรากฏตาม Republic of the Philippines House of Representative Quezon City, House Bill No. 9609, มาตรา 13.

[15] รายละเอียดปรากฏตาม Republic of the Philippines House of Representative Quezon City, House Bill No. 9609, มาตรา 17

[16] รายละเอียดปรากฏตาม Republic of the Philippines House of Representative Quezon City, House Bill No. 9609, มาตรา 14

[17] รายละเอียดปรากฏตาม Republic of the Philippines House of Representative Quezon City, House Bill No. 9609, มาตรา 16

[18] รายละเอียดปรากฏตาม Republic of the Philippines House of Representative Quezon City, House Bill No. 9609, มาตรา 15

[19] รายละเอียดปรากฏตาม Republic of the Philippines House of Representative Quezon City, House Bill No. 9609, มาตรา 21

[20] รายละเอียดปรากฏตาม Republic of the Philippines House of Representative Quezon City, House Bill No. 9609, มาตรา 21

[21] รายละเอียดปรากฏตาม Republic of the Philippines House of Representative Quezon City, House Bill No. 9609, มาตรา 21

บทความที่เกี่ยวข้อง