ความเห็นทางกฎหมาย :
การขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำจังหวัดจันทบุรี
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
30 ตุลาคม 2563
สถานการณ์เหมืองแร่ทองคำในประเทศไทยตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 72/2559 มีผลให้พื้นที่ที่ทำเหมืองแร่ทองคำถูกระงับการประกอบกิจการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 และมีผลให้ระงับการออกอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำและประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำด้วยและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำให้คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) ซึ่งเหมืองแร่ที่ประกอบกิจการในขณะนั้นมีอยู่ 2 แห่ง คือ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ที่จังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ และอีกแห่งคือบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ที่จังหวัดเลย
ในปัจจุบัน จังหวัดจันทบุรี เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่กำลังดำเนินการขอสำรวจแร่ทองคำ ตามคำขออาชญาบัตรพิเศษที่ 8/2549 และ 9/2549 ของบริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง จำกัด รวมเนื้อที่ 14,650 ไร่ ซึ่งได้จดทะเบียนคำขอไว้ก่อนพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ใช้บังคับ โดยกำลังเริ่มกระบวนการตามคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ภายใต้พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ซึ่งสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรีได้ปิดประกาศคำขออาชญาบัตรพิเศษให้ประชาชนในพื้นที่ทราบเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2563 และได้มีประชาชนในพื้นที่ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนแสดงความคิดเห็นและลงชื่อคัดค้านคำขอดังกล่าวเป็นจำนวนมาก
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม เห็นว่า การดำเนินการคำขออาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่ทองคำ กรณีพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ภายใต้พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ซึ่งใช้บังคับในปัจจุบันดังนี้
- พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ประกาศใช้บังคับและได้กำหนดหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ทำเหมืองขึ้นใหม่ ตามมาตรา 19 ได้กำหนดให้พื้นที่ที่จะอนุญาตให้ทำเหมือง ให้พิจารณาอนุญาตได้เฉพาะในพื้นที่ที่แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่กำหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง และตามมาตรา 17 กำหนดให้การจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ต้องประกอบไปด้วย ข้อมูลการสำรวจแร่ แหล่งแร่สำรอง การจำแนกเขตพื้นที่ศักยภาพแร่ พื้นที่หรือชนิดแร่ที่สมควรสงวนหวงห้ามหรืออนุรักษ์ไว้ และพื้นที่ที่มีแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์และมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงจะกำหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง การกำหนดเช่นนี้ เพื่อให้การบริหารจัดการแร่มีความเหมาะสมภายใต้ดุลยภาพด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน โดยการจัดทำแผนแม่บทต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมและเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนทราบเป็นระยะและให้ปรับปรุงทุก 5 ปี
แต่การกำหนดเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง นอกจากหลักเกณฑ์ข้างต้นแล้ว ต้องไม่ใช่พื้นที่ดังต่อไปนี้
ตามมาตรา 17 วรรคสี่
- พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ
- เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า
- เขตโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ
- เขตพื้นที่ที่มีกฎหมายห้ามการเข้าใช้ประโยชน์โดยเด็ดขาด
- พื้นที่เขตปลอดภัยและความมั่นคงแห่งชาติ
- พื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม
ปัจจุบันคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ ได้จัดทำแผนนโยบายบริหารจัดการแร่ ในระยะเริ่มแรก พ.ศ. 2560-2564 กำหนดให้เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง เป็นพื้นที่ที่เปิดดำเนินการหรือได้รับอนุญาตอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับและมีความจำเป็นเร่งด่วนบนหลักการพื้นฐานด้านศักยภาพแร่และการอนุรักษ์ การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆอย่างเหมาะสมและยั่งยืน แต่หน่วยงานรัฐยังไม่ได้ทำการสำรวจรวบรวมข้อมูลและจำแนกพื้นที่ที่ถูกห้ามไม่ให้กำหนดเป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองตามมาตรา 17 วรรคสี่ออกไปก่อนขั้นตอนการขออาชญาบัตรเพื่อสำรวจแร่ ดังนั้น คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ จึงยังไม่ได้กำหนดเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560
- กรอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำได้กำหนดให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนและผู้มีส่วนได้เสียทุกขั้นตอน ทั้งในด้านการอนุญาต ตรวจสอบกำกับดูแล ทั้งนี้ การมีส่วนร่วมของประชาชนที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการแร่ทองคำจะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญพ.ศ.2560รวมถึงในการขออนุญาตสำรวจแร่หรือประทานบัตรเหมืองแร่ จะต้องมีการแจ้งให้ประชาชนในพื้นที่ทราบล่วงหน้า ปัจจุบันกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้ออกประกาศกำหนดให้มีขั้นตอนการปิดประกาศคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำเพื่อแจ้งให้ประชาชนในพื้นที่ทราบเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน ไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ ที่ว่าการกำนัน ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน และที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาล แต่ไม่มีหลักเกณฑ์การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในขั้นตอนการขออาชญาบัตร
การปิดประกาศคำขอเพื่อสำรวจแร่ดังกล่าว เป็นการกำหนดเพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบล่วงหน้า ตามกรอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำ ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์สำคัญในการดำเนินการตามคำขออาชญาบัตรพิเศษที่มีเฉพาะการขอสำรวจแร่ทองคำ และมีขั้นตอนในการพิจารณาของหน่วยงานรัฐ ดังนี้
เมื่อเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่ตรวจสอบเอกสารหลักฐานและรับจดทะเบียนคำขอแล้ว จะส่งแผนงานการสำรวจแร่และเอกสารประกอบคำขอ ให้สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เขตตรวจสอบ เมื่อดำเนินการตรวจสอบเสร็จสิ้น เจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่ จะส่งเรื่องคำขอพร้อมความเห็นของผู้ว่าราชการจังหวัดให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เพื่อจัดประชุมคณะกรรมการแร่พิจารณาคำขออาชญาบัตรพิเศษต่อไป (ดูรายละเอียดเพิ่มเติม : แผนผังขั้นตอนการขออาชญาบัตรพิเศษ)
ผลของการใช้บังคับกฎหมายใหม่ที่กำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติม ทำให้ผู้ยื่นคำขอต้องดำเนินการปรับปรุงคำขอที่เคยยื่นตั้งแต่ปี 2549 เพิ่มเติม เพื่อให้สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เขตตรวจสอบคำขออาชญาบัตรพิเศษและเอกสารประกอบคำขอเพิ่มเติ่มให้ถูกต้องครบถ้วน และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรีต้องดำเนินการปิดประกาศให้ประชาชนทราบ หากประชาชนในพื้นที่ร้องเรียนคัดค้านคำขอดังกล่าว สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรีก็ต้องรวบรวมข้อคัดค้านนั้นไปที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการแร่ ทั้งนี้ เนื่องจากคำขออาชญาบัตรพิเศษดังกล่าวได้ยื่นไว้เมื่อปี 2549 หากผู้ว่าราชการจังหวัดเคยมีความเห็นเกี่ยวกับคำขอไว้แล้ว หลังจากมีการใช้บังคับกฎหมายใหม่ และผู้ขอต้องดำเนินการปรับปรุงรายละเอียดของคำขอใหม่ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ใหม่ด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดก็ควรต้องมีการทบทวนความเห็นเกี่ยวกับคำขอ โดยคำนึงถึงศักยภาพการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ในสภาวการณ์ปัจจุบัน เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สุขภาพและความคิดเห็นของประชาชนหลายมิติประกอบกัน
กรณีการขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีดังกล่าว ย่อมเป็นไปตามกรอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำที่กำหนดให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนและผู้มีส่วนได้เสียทุกขั้นตอนในการบริหารจัดการแร่นั้น ต้องหมายความรวมถึงขั้นตอนการขออาชญาบัตรในการสำรวจแร่ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตามข้อเท็จจริงที่มีประชาชนในพื้นที่ร้องเรียนคัดค้านคำขออาชญาบัตรนั้น ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 43 (3) บัญญัติรับรองบุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิเข้าชื่อกันเพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการใดอันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนหรือชุมชน หรืองดเว้นการดำเนินการใดอันจะกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนหรือชุมชนและได้รับแจ้งผลการพิจารณาโดยรวดเร็ว
ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องนำเหตุผลในการร้องเรียนคัดค้านของประชาชนมาประกอบการพิจารณาและทบทวนความเห็น เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการตรากฎหมายใหม่ที่เป็นไปตามสภาพพื้นที่ เศรษฐกิจสังคม สิ่งแวดล้อมในปัจจุบันและบรรลุผลในเรื่องการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดแร่และทรัพยากรธรรมชาติควบคู่กันไปอย่างแท้จริง
อ้างอิง
– รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
– พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560
– แผนแม่บทบริหารจัดการแร่ พ.ศ. 2560 – 2564 คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่ มิถุนายน 2563
– ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาตตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 พ.ศ. 2561
– ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กรอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำ 1 กันยายน 2560
– ประกาศกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการในการแจ้งให้ประชาชนทราบเกี่ยวกับการสำรวนแร่ทองคำตามกรอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำ 14 กันยายน 2560
– https://thecitizen.plus/node/34841