แถลงการณ์ว่าด้วยการกำกับดูแล ความโปร่งใส และภาระรับผิด กรณีวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 สูญหายจากโรงไฟฟ้า จ. ปราจีนบุรี

แถลงการณ์ร่วม 3 องค์กรภาคประชาสังคมขับเคลื่อนความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) และกรีนพีซ ประเทศไทย กรณีวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 สูญหายจากโรงไฟฟ้า จ. ปราจีนบุรี

จากกรณีที่ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีได้รับแจ้งเหตุกรณีวัสดุกัมมันตรังสี “ซีเซียม-137” สูญหายจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนของบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ จำกัด ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 304 อ. ศรีมหาโพธิ จ. ปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 และต่อมา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมประเมินว่า วัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ดังกล่าวถูกหลอมไปหมดแล้ว หลังตรวจพบระดับรังสีซีเซียม-137 ในฝุ่นเหล็ก (หรือมักเรียกกันว่าฝุ่นแดง) ซึ่งเป็นของเหลือใช้ (by-product) จากกระบวนการหลอมโลหะของโรงงานเค พี พี  สตีล ใน อ. กบินทร์บุรี จ. ปราจีนบุรี อย่างไรก็ตาม จากการแถลงข่าวโดยผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี พร้อมด้วยเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติและคณะ ในวันที่ 20 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา กลับระบุยังไม่อาจยืนยันว่า ฝุ่นเหล็กที่ปนเปื้อนรังสีซีเซียม-137 ดังกล่าว มาจากวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่สูญหายอย่างไร้ร่องรอยจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน

สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติระบุในการแถลงข่าวด้วยว่า ไม่พบการปนเปื้อนรังสีซีเซียม-137 ในสิ่งแวดล้อม (ดิน น้ำ อากาศ) จากการตรวจบริเวณโดยรอบพื้นที่โรงงานหลอมโลหะ ไม่พบผู้ป่วยที่สัมผัสรังสีซีเซียม-137 และไม่พบฝุ่นเหล็กปนเปื้อนรังสีซีเซียม-137 ในฝุ่นเหล็กที่ถูกส่งไปรีไซเคิลที่จังหวัดอื่นตามที่มีการรายงานในสื่อบางสำนัก แต่เนื่องจากพบว่ามีการนำฝุ่นเหล็กที่ปนเปื้อนรังสีซีเซียม-137 บางส่วนไปถมที่ดินบริเวณโรงหลอมโลหะ จึงได้ดำเนินการขุดดินปนเปื้อนเหล่านั้นใส่ถุงบรรจุและนำไปวางรวมกันในพื้นที่เก็บฝุ่นผงเหล็กที่ปนเปื้อนพร้อมกับวางแนวเป็นเขตกักกันรังสีไว้โดยรอบแล้ว

มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)  และกรีนพีซ ประเทศไทย (Greenpeace Thailand)  ในฐานะเป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานรณรงค์เพื่อความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม  มีความเห็นต่อเหตุการณ์ฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีข้างต้น ดังนี้

  • แท่งซีเซียม-137 ที่ใช้ในโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนของบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ จำกัด จัดเป็นวัสดุกัมมันตรังสีอันตรายประเภทที่ 3 ตามการจำแนกของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ IAEA (International Atomic Energy Agency) ซึ่งเอกสารจากกรมควบคุมโรคระบุว่า เป็นแหล่งกำเนิดประเภทที่เป็นอันตราย หากไม่จัดการได้อย่างปลอดภัย อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บถาวรไปยังผู้ที่จัดการ หรือผู้ดูแล หรือผู้ที่เกี่ยวข้องที่อยู่ใกล้เคียงเป็นระยะเวลาหลายชั่วโมง 
  • กรณีการสูญหายอย่างไร้ร่องรอยของแท่งซีเซียม-137 ชี้ให้เห็นถึงความไม่รัดกุมในระบบการจัดการวัตถุอันตรายของบริษัทฯ เจ้าของโรงไฟฟ้า รวมถึงหน่วยงานราชการที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแล ทั้งยังแสดงถึงพฤติกรรมการปกปิดข้อมูลของบริษัทฯ ทั้งในประเด็นเรื่องการแจ้งล่าช้าตามที่ได้มีการแจ้งความบริษัทในข้อหา “ไม่แจ้งโดยพลันแล้ว” แต่ที่ยิ่งกว่านั้นก็คือการปล่อยปละละเลยและละเมิดกฎหมายตามมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติในฐานะผู้ครอบครองวัสดุกัมมันตรังสีอันตราย จนเป็นเหตุให้หน่วยงานรัฐไม่อาจรับมือสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งสาธารณชนต้องตกอยู่ในความหวาดหวั่นและเสี่ยงภัย ทั้งยังไม่ได้รับข้อมูลและคำแนะนำที่ถูกต้องและกระจ่างแจ้ง ตอกย้ำถึงปัญหาความไม่รู้และความมืดบอดทางข้อมูลมลพิษและวัตถุอันตรายของหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแล ตลอดจนถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายและขาดความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างอุกอาจ
  • คำอธิบายเกี่ยวกับเส้นทางการสูญหายของแท่งซีเซียม-137 ที่ว่า อุปกรณ์ที่ใช้ตรวจวัดค่าทางอุตสาหกรรมชิ้นนี้มีตำแหน่งติดตั้งอยู่บนที่สูง แต่ได้ร่วงตกลงมา และมีบุคคลนำออกไปจากพื้นที่ มีความไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากโรงไฟฟ้าเป็นพื้นที่ปิด แม้แต่ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่รัฐต่างระบุว่า เมื่อแรกลงตรวจสอบหลังจากได้รับแจ้งวัตถุอันตรายสูญหาย ก็ยังไม่อาจเข้าไปในพื้นที่ได้ นอกจากนั้น การที่แท่งซีเซียม-137 เป็นอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในกระบวนการผลิต จึงไม่ควรที่จะหล่นหายหรือสูญไปอย่างชนิดไร้ร่องรอย ประกอบกับจากรายงานข่าวที่ระบุว่า อาจมีคนพบเห็นความผิดปกติของระดับเถ้าลอยในไซโลของโรงไฟฟ้า มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ แต่เหตุใดทางบริษัทฯ โรงไฟฟ้ากลับรายงานการสูญหายของแท่งซีเซียม-137 ต่อสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ในวันที่ 10 มีนาคม 2566 ทั้งนี้ ยังไม่นับว่า สำหรับวัสดุกัมมันตรังสีอันตราย ตามกฎหมายแล้วย่อมต้องมีการควบคุมดูแลอย่างเข้มงวด มีการติดตามสถานะ มีการตรวจจับตาและรายงานการคงสภาพเป็นระยะ การปล่อยปละให้ไม่ได้รับการดูแลย่อมเป็นความผิดมหันต์ของผู้ครอบครองรวมถึงหน่วยงานมีหน้าที่กำกับดูแลด้วย เรื่องราวที่น่าเคลือบแคลงนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการสืบสวนสอบสวนให้ได้ข้อเท็จจริงและเปิดเผยต่อสาธารณะอย่างโปร่งใส
  • การแถลงข่าวของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติที่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า ฝุ่นเหล็กที่พบปนเปื้อนซีเซียม-137 นั้นมาจากแท่งซีเซียม-137 จากโรงไฟฟ้าหรือไม่ ยิ่งตอกย้ำว่าปัจจุบันยังไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าสารมลพิษที่อาจเกิดจากวัตถุรังสีอันตรายนี้ได้แพร่กระจายไปถึงไหนแล้ว และทำให้สังคมยังอยู่ในสภาวะความไม่รู้ และความมืดบอดทางข้อมูลมลพิษกรณีนี้ต่อไป ขณะเดียวกัน การไม่ยืนยันในประเด็นดังกล่าวกลับเปิดประเด็นขึ้นมาใหม่ ว่าแล้วอะไรคือแหล่งที่ก่อให้เกิดการปนเปื้อนของฝุ่นเหล็ก ซึ่งเท่ากับมีเรื่องที่ต้องสืบสวนสอบสวนเพิ่มเติมอีกด้วย

เหตุการณ์คล้ายกับกรณีซีเซียม-137 เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อปี 2543 นั่นคือกรณีโคบอลต์-60 เหตุการณ์เกิดขึ้นจากที่มีการนำวัตถุส่วนหัวของเครื่องโคบอลต์-60 ซึ่งเป็นเครื่องฉายรังสีทางการแพทย์ที่ไม่ใช้แล้ว ออกมาจากสถานที่เก็บที่ไม่มีการควบคุมดูแล นำไปเก็บในลานจอดรถร้าง จนมีคนเก็บของเก่ามาพบ และได้นำไปแยกชิ้นส่วนเพื่อนำไปขายแก่ร้านรับซื้อของเก่า ทำให้รังสีแผ่ออกมาตลอดเวลา จนมีผู้ป่วยรุนแรง 10 ราย ในจำนวนนี้มี 3 รายเป็นผู้ทำงานในร้านรับซื้อของเก่า นอกจากนั้นยังมีชาวบ้านในรัศมี 50-100 เมตร รวม 1,614 คน ต้องเฝ้าระวังและตรวจสุขภาพทุก 6 เดือน

จากโคบอลต์-60 ถึงซีเซียม-137 นับว่าเป็นเหตุการณ์ซ้ำรอยเดิมของการที่วัสดุกัมมันตรังสีหลุดรอดออกจากการควบคุมดูแล เหตุการณ์ทั้งสองนี้เกิดขึ้นห่างกันกว่า 20 ปี แต่ยังคงสะท้อนปัญหาในลักษณะเดียวกัน ทั้งนี้ สำหรับเหตุการณ์ครั้งหลังนี้นับว่ายังไม่จบ ถึงแม้ว่าจากการแถลงของหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบหลักอย่างสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติจะสื่อกับสังคมไปในท่วงทำนองว่าไม่มีสิ่งใดต้องห่วงใยแล้วก็ตาม ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)  และกรีนพีซ ประเทศไทย (Greenpeace Thailand) ขอเรียกร้องให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดดำเนินการดังนี้

1.สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการตรวจสอบการปนเปื้อนกัมมันตรังสีในสถานที่ที่มีเบาะแสว่าอาจได้รับซีเซียม-137 โดยตรวจสอบการปนเปื้อนทั้งในสิ่งแวดล้อมและของเสีย เช่น ฝุ่นเหล็กและผลิตภัณฑ์จากโรงหลอม เพื่อประเมินความเสี่ยงและมีมาตรการในการแก้ไขผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนที่ชัดเจน โดยรัฐต้องสนับสนุนมาตรการป้องกันและเยียวยาความเสียหาย เช่น การประกาศพื้นที่เสี่ยงภัย กำหนดรัศมีพื้นที่ที่ต้องมีการตรวจสอบผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และต้องให้ประชาชนที่มีความเสี่ยงได้รับการตรวจสุขภาพโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย พร้อมทั้งจัดทำข้อมูลสื่อสารความเสี่ยงเพื่อความเข้าใจและการเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการดำเนินการอื่นใดเพื่อป้องกันไม่ให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน โดยไม่ผลักภาระให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบต้องรับผิดชอบเอง นอกจากนั้นจะต้องกำหนดแผนการดำเนินการกับฝุ่นเหล็กและวัสดุต่างๆ ที่ปนเปื้อนรังสีซีเซียม-137 ให้ปลอดภัยและชัดเจนรวมทั้งมีการดำเนินการอย่างโปร่งใส

2.กรณีนี้เป็นสถานการณ์อุบัติภัยร้ายแรงซึ่งอยู่ในความสนใจของประชาชนและเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยสาธารณะ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจึงต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างจริงจังและรอบด้าน แล้วเปิดเผยความจริงต่อสาธารณะอย่างโปร่งใส โดยจะต้องมีการสืบสวนและตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด นับตั้งแต่ก่อนการสูญหาย ว่าระบบการเก็บรักษาวัตถุกัมมันตรังสีและการกำกับดูแลระบบความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าที่เป็นผู้ครอบครองวัตถุอันตรายร้ายแรงดังกล่าวเป็นอย่างไร การสูญหายเกิดขึ้นได้อย่างไร มีช่องว่างหรือช่องโหว่อะไรบ้าง เป็นต้น รวมทั้งสืบสวนและตรวจสอบเหตุการณ์ภายหลังจากการสูญหายด้วย โดยควรที่จะต้องมีการสอบย้อนให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเส้นทาง

3.หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องต้องมีการสรุปบทเรียน จากเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น และทบทวนช่องว่างในการบังคับใช้กฎหมายควบคุมกำกับดูแลความปลอดภัย เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ซ้ำรอยขึ้นอีก

4.เมื่อมีการตรวจสอบและพบว่ามีการกระทำความผิด หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำผิดหรือละเมิดกฎหมายอย่างเคร่งครัด และดำเนินการให้เกิดการรับผิดชอบต่อความเสียหายและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ไม่ควรที่จะต้องใช้งบประมาณของรัฐซึ่งคือภาษีของประชาชนไปกับการดำเนินการทั้งหมดของเรื่องนี้ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างและเป็นการป้องปรามเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ:

ปุณญธร จึงสมาน ฝ่ายข้อมูลและสื่อสาร มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH)
โทร: 0909816336 อีเมล: punyathorn.j@earththailand.org

ชนะจิต รอนใหม่ ฝ่ายข้อมูลและสื่อสาร มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw)
โทร: 0868730484 อีเมล: chanajit.enlaw@gmail.com

สมฤดี ปานะศุทธะ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน กรีนพีซ ประเทศไทย
โทร: 081 929 5747 อีเมล: spanasud@greenpeace.org

ข่าวสารที่เกี่ยวข้อง
ติดตามเราในช่องทาง Social
ข่าวสารล่าสุด