“การเข้า (ไม่) ถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะ : สิทธิทางสิ่งแวดล้อม
ที่ประชาชนต้องจ่ายเงินซื้อ”
สิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารราชการเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งกำหนดให้ประชาชนมีสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของราชการจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะทราบถึงการดำเนินการของหน่วยงานรัฐที่อาจจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนได้ ประกอบกับพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารราชการ พ.ศ. 2540 เป็นกฎหมายที่รองรับสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเพื่อประชาชนจะได้ใช้สิทธิในการตรวจสอบการดำเนินการต่างๆของรัฐ และทำให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นกระบวนการที่มีความสำคัญที่ประชาชนจะสามารถแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมกับรัฐในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้
อย่างไรก็ตาม การใช้สิทธิเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการโดยประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อม พบว่า มีปัญหาอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารหลายประการ เช่น กรณีหน่วยงานของรัฐเพิกเฉยหรือดำเนินการล่าช้าในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้ตามคำขอ, กรณีหน่วยงานของรัฐปฏิเสธไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการตามคำขอ และต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ซึ่งปัญหาเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า การที่ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงสิทธิการขอข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมได้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารราชการ พ.ศ. 2540 หากชุมชนต้องนำข้อมูลไปศึกษาหรือตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อใช้ประกอบการแสดงความคิดเห็นหรือคัดค้านโครงการที่อาจจะเกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมอาจจะไม่ทันต่อสถานการณ์ที่มีความเร่งด่วนหรืออาจได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว
กรณีตัวอย่างการใช้สิทธิเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการโดยประชาชน
ที่สะท้อนให้เห็นว่าแม้สิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของราชการจากหน่วยงานรัฐจะได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 และพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 แต่ในทางปฏิบัติยังพบว่าการใช้สิทธิเพื่อเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการด้านสิ่งแวดล้อมยังมีปัญหาและอุปสรรคอย่างมาก และส่งผลกระทบต่อการมีส่วนร่วมกับรัฐในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและสามารถปกป้องประชาชนจากผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น
การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารการพิจารณาอนุญาตโครงการผันน้ำยวม จ.แม่ฮ่องสอน
เนื่องจากกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีการดำเนินโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล หรือ “โครงการผันน้ำยวม” ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับประชาชนผู้ใช้น้ำทั้งด้านการเกษตรและอุปโภคบริโภค เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้เห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการต่อไป
โดยที่ผ่านมาประชาชนในพื้นที่ เช่น เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน เห็นว่าโครงการนี้อาจส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนผู้อาศัยในเขตพื้นที่โครงการ และอาจเกิดความสูญเสียต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างมาก เนื่องจากพื้นที่ตั้งโครงการนั้นเป็นบริเวณที่แม่น้ำยวมและแม่น้ำเงาไหลมาบรรจบกัน ซึ่งแม่น้ำยวมต้นกำเนิดที่อำเภอขุนยวม ไหลผ่านอำเภอแม่ลาน้อย อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน มาบรรจบกับแม่น้ำเงา ที่บ้านสบเงา ตำบลแม่สอด อำเภอสบเมย และไหลไปบรรจบกับแม่น้ำเมยที่บ้านสบยวม ตำบลแม่สามแลบ ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำสาละวิน อีกทั้งกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ยังมีข้อกังขาจากประชาชนในพื้นที่และนักวิชาการหลายฝ่าย โดยเฉพาะประเด็นการไม่มีการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง
แม้ว่าที่ผ่านมาประชาชนในพื้นที่จะแสดงความคิดเห็นและข้อกังวลต่อผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากโครงการนี้ แต่เสียงของประชาชนไม่ถูกรับฟัง จึงมีการขอข้อมูลข่าวสารรายงานงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อการมีส่วนร่วมและตรวจสอบความถูกต้องของรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งทางหน่วยงานได้มีหนังสือแจ้งค่าธรรมเนียมการขอคัดถ่ายข้อมูลข่าวสาร เอกสารขนาด A4 หน้าละ 1 บาท จำนวน 4,803 หน้า และเอกสารขนาด A3 หน้าละ 3 บาท จำนวน 219 หน้า รวมเป็นเงิน 5,460 บาท และค่ารับรองสำเนา อัตราคำรับรองละ 3 บาท (5,022 หน้า) เป็นเงิน15,066 บาท
รวมเป็นค่าธรรมเนียมในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารโดยรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น 20,526 บาท
———-
อ่านเพิ่มเติม
โครงการผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพล : https://waymagazine.org/the-yuam-river-water-diversion…/
‘EIA ฉบับร้านลาบ’โครงการผันน้ำยวมบานปลาย นักกฎหมายเตรียมฟ้องต่อศาล : https://www.naewna.com/local/602881
จากสาละวินถึงยวม โครงการผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพลฉบับ “EIA ร้านลาบ” : shorturl.asia/TJnXq
———-
การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารการพิจารณาอนุญาตโครงการโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ “โครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล”
เนื่องจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล ครอบคลุมพื้นที่หลายอำเภอใน 4 จังหวัด ได้แก่ อำเภอเชียงคาน อำเภอปากชม อำเภอนาด้วง จังหวัดเลย อำเภอสุวรรณคูหา อำเภอนากลาง อำเภอโนนสัง อำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดหนองบัวลำภู อำเภอน้ำโสม อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี และอำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น รวมระยะทาง 174 กิโลเมตร และได้เสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และคณะผู้ชำนาญการได้พิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ (คชก.) ได้พิจารณารายงานเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2564 โดยมีมติให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และกรมชลประทาน ปรับปรุงแก้ไขและเพิ่มเติมข้อมูลในรายงานฯ ตามแนวทางที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ กำหนด
เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง-อีสาน ซึ่งได้ติดตามการดำเนินโครงการดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยมีข้อห่วงกังวลถึงการจัดการน้ำที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในพื้นที่ เช่น การแย่งชิงทรัพยากรน้ำระหว่างภาคเกษตรกรกับภาคอุตสาหกรรมโดยที่เกษตรกรอาจเข้าไม่ถึงการจัดการน้ำของโครงการนี้ แต่กลายเป็นภาคอุตสาหกรรมสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำมากขึ้น จึงได้มีหนังสือขอข้อมูลรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการดังกล่าวจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งทางหน่วยงานไม่ขัดข้องในการขอเอกสารดังกล่าว แต่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการคัดถ่ายรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ประกอบด้วยเอกสารขนาด A4 หน้าละ 1 บาท จำนวน 5,050 หน้า เป็นเงินจำนวน 5,050 บาท และเอกสารขนาด A3 หน้าละ 3 บาท จำนวน 55 หน้า เป็นเงินจำนวน 165 บาท รวมเป็นเงิน 5,215 บาท และหากให้รับรองสำเนาเอกสารจะมีการคิดค่าธรรมเนียมในอัตราคำรับรองละ 3 บาท ซึ่งเอกสารมีทั้งหมดจำนวน 5,105 หน้า จะมีค่าใช้จ่ายในส่วนการรับรองสำเนาเอกสารรวมเป็นเงิน 15,315 บาท
รวมเป็นค่าธรรมเนียมในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารโดยรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น 20,530 บาท
———-
อ่านเพิ่มเติม
โครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล : https://waymagazine.org/khong-river-water-diversion/
โครงการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการบริหารจัดการน้ำโขง-เลย-ชี-มูล โดยแรงโน้มถ่วง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ https://www.klcm-phase1.com/knows.html
———-
การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารการพิจารณาอนุญาตโครงการโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล จ.สกลนคร
กลุ่มรักษ์น้ำอูน จังหวัดสกลนคร ยื่นขอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการจัดตั้งโครงการโรงงานผลิตน้ำตาลทรายและโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล เนื่องจากโครงการนี้มีพื้นที่ตั้งอยู่ที่ตำบลอุ่มจาน อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร อีกทั้งในบริเวณเดียวกันกับโครงการโรงงานผลิตน้ำตาลทรายนี้จะมีโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล กำลังกำลังการผลิต 48 เมกะวัตต์ในระยะแรก และขยายเป็น 114 เมกะวัตต์ในระยะสองด้วย ซึ่งการเปลี่ยนแลงสภาพพื้นที่โครงการนั้นจะส่งผลกระทบและความเสียหายแก่พื้นที่สาธารณะ เช่น ลำห้วยสาธารณะ หนองน้ำสาธารณะ และระบบนิเวศในพื้นที่
โดยยื่นขอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกบโครงการดังกล่าว จากอุตสาหกรรมจังหวัดสกลนคร แต่หน่วยงานฎิเสธไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร จึงได้ดำเนินการยื่นหนังสืออุทธรณ์คำสั่งไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารไปยังคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ซึ่งคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมายได้มีคำวินิจฉัยให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารแก่กลุ่มอนุรักษ์น้ำอูน
ทางอุตสาหกรรมจังหวัดสกลนครจึงได้แจ้งค่าธรรมเนียมการคัดถ่ายข้อมูลข่าวสารตามคำขอแก่คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร จำนวน 1 ชุด รวมเป็นเงิน 7,621 บาท และคิดค่าธรรมเนียมการให้การรับรองถูกต้องของข้อมูลข่าวสารในอัตราคำรับรองละไม่เกิน 5 บาท ซึ่งหากคิดในอัตรานี้ จะรวมเป็นการรับรองเอกสารทั้งสิ้น 1,683 หน้า รวมเป็นเงิน 8,415 บาท
รวมเป็นค่าธรรมเนียมในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสกลนครทั้งสิ้น 16,036 บาท
นอกจากนียังได้ยื่นขอข้อมูลข่าวสารรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแจ้งว่าได้รับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับเดือนกันยายน 2560 สามารถคัดถ่ายข้อมูลข่าวสารได้โดยมีค่าธรรมเนียมเฉพาะในส่วนการคัดถ่ายรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เอกสารขนาด A4 หน้าละ 1 บาท จำนวน 3,300 หน้า และเอกสารขนาด A3 หน้าละ 3 บาท จำนวน 180 หน้า รวมเป็นเงิน 3,840 บาท และในกรณีที่ขอรับรองถูกต้องของข้อมูลข่าวสาร คิดค่าธรรมเนียมในอัตราคำรับรองละ 5 บาท ซึ่งต่อมาต่อมากลุ่มรักษ์นํ้าอูน มีหนังสือขอคัดถ่ายรายงานชี้แจงเพิ่มเติม (ครั้งที่ 1) รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับเดือนตุลาคม 2560 มีจำนวนเอกสารขนาด A4 จำนวน 1,700 หน้า และเอกสารขนาด A3 จำนวน 140 หน้า รวมเป็นเงิน 2,120 บาท
รวมเป็นค่าธรรมเนียมในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารโดยรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น 5,960 บาท
รวมเป็นค่าธรรมเนียมในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทั้งหมด 21,996 บาท
———-
อ่านเพิ่มเติม
ปัญหาการเข้าถึงรายงาน EIA / EHIA ที่สร้างภาระให้แก่ประชาชน “ราคาที่ต้องจ่ายกับการปกป้องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม” กรณีกลุ่มรักษ์น้ำอูน : shorturl.asia/0bNCG
กลุ่มรักษ์น้ำอูนได้เฮ! EIA ‘โรงน้ำตาลพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวล’ สกลนคร ไม่ผ่าน คชก.รอบ 2 : https://thecitizen.plus/node/20545
ชาวบ้านกลุ่มรักษ์น้ำอูนยื่นฟ้องต่อศาลปกครองอุดรธานี: ขอเพิกถอนใบอนุญาตและรายงาน EIA โรงงานน้ำตาลสกลนคร : shorturl.asia/l3y8p
———-
การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารการพิจารณาอนุญาตโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขนาด 9.9 เมกะวัตต์
กลุ่มคนรักษ์โพกรวม เป็นประชาชนในพื้นที่ตำบลโพกรวม อำเภอเมืองสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งของโครงการผลิตกระดาษหนังสือพิมพ์และหน่วยผลิตไฟฟ้า (เชื้อเพลิงถ่านหิน) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 9.9 เมกะวัตต์ มีข้อห่วงกังวลว่าพื้นที่ตั้งของโครงการดังกล่าวอยู่ในแหล่งชุมชนที่มีประชาชนพักอาศัยอยู่หนาแน่นและเป็นพื้นที่การเกษตรของประชาชน หากมีโครงการดังกล่าวอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ สุขภาพอนามัย และการดำเนินวิถีชีวิตชุมชน
กลุ่มคนรักษ์โพกรวม จึงได้ติดตามการดำเนินโครงการดังกล่าวโดยมีการขอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการอนุญาตก่อสร้างอาคารโรงงานจากองค์การบริหารส่วนตำบลโพกรวม จังหวัดสิงห์บุรี แต่ได้รับการตอบกลับจากหน่วยงานว่าไม่สามารถดำเนินการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารได้ตามที่มีคำขอ โดยอ้างว่าเป็นข้อมูลข่าวสารของบุคคลอื่นในความครอบครองดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบลโพกรวม ตามมาตรา 15(5) พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ทางกลุ่มคนรักษ์โพกรวมจึงได้อุทธรณ์คำสั่งไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ซึ่งคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมายได้วินิจฉัยให้องค์การบริหารส่วนตำบลโพกรวมเปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามคำขอ
(คำวินิจฉัยคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ซึ่งคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมายที่ สค 242/2563)
นอกจากนี้ในการดำเนินโครงการผลิตกระดาษหนังสือพิมพ์และหน่วยผลิตไฟฟ้า (เชื้อเพลิงถ่านหิน) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 9.9 เมกะวัตต์ จะต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งปัจจุบันคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานได้พิจารณาออกใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าให้กับผู้ประกอบกิจการโครงการดังกล่าวแล้ว
กลุ่มคนรักษ์โพกรวมจึงใช้สิทธิขอข้อมูลข่าวสารจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเพื่อนำมาประกอบการมีส่วนร่วมติดตามตรวจสอบการดำเนินการโครงการฯ เนื่องจากประชาชนนพื้นที่ไม่ได้รับรู้รับทราบข้อมูลประกอบการตัดสินใจและแสดงความคิดเห็นต่อมาตรการประกอบการอนุญาตโครงการฯ โดยเฉพาะการติดตามตรวจสอบกระบวนการจัดทำรายงานประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice) ซึ่งเป็นมาตรการป้องกันและติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ สำหรับโครงการที่ไม่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)
โดยทางกลุ่มคนรักษ์โพกรวมได้รับการตอบกลับเป็นหนังสือจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานว่าข้อมูลข่าวสารตามคำขออยู่ในความครอบครองของสำนักงานฯ โดยได้เตรียมสำเนาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าโครงการดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ให้กลุ่มคนรักษ์โพกรวมมารับเอกสารพร้อมชำระค่าธรรมเนียมในการทำสำเนาข้อมูลข่าวสาร
ประกอบด้วย เอกสารขนาด A4 หน้าละ 1 บาท จำนวน 1,246 หน้า และค่าธรรมเนียมการรับรองถูกต้องของข้อมูลข่าวสาร จำนวน 1,246 หน้า หน้าละ 5 บาท จำนวน รวมเป็นเงินจำนวน 7,476 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 จำนวน 523.32 บาท
รวมเป็นค่าธรรมเนียมในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารการออกใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า(เชื้อเพลิงถ่านหิน) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 9.9 เมกะวัตต์ จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานทั้งสิ้น 7,999.32 บาท
———-
อ่านเพิ่มเติม
คำวินิจฉัยคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ซึ่งคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมายที่ สค 242/2563 กรณีกลุ่มคนรักษ์โพกรวม : http://www.oic.go.th/web2017/iwebform_viewer.asp?i=31111%2E42914708118112138111211
กลุ่มคนรักษ์โพกรวม เข้ายื่นหนังสือคัดค้านการตั้งโรงงานประกอบกิจการพลังงาน โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 9.9 เมกะวัตต์ ต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ : shorturl.asia/V5wgI
———-
ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลและข้อคิดเห็นโดย
บำเพ็ญ ไชยรักษ์ – กลุ่มรักษ์น้ำอูน จ.สกลนคร
สิริศักดิ์ สะดวก – เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง-อีสาน
สะท้าน ชีวะวิชัยพงศ์ – เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน
ส.รัตนมณี พลกล้า – มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน
อัมรินทร์ สายจันทร์ – มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
ดร.ทศพร แสนสวัสดิ์ – คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ดำเนินรายการ โดย สุภาภรณ์ มาลัยลอย
จัดโดย
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม – EnLAW
Community Resource Centre Foundation – มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน