ก่อนจะผ่านปีเก่า ก้าวสู่ปีใหม่ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ชวนย้อนมองปี 2562 ผ่าน “5 เรื่องเด่นแห่งปี 2562” ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพ กฎหมายและคดีสิ่งแวดล้อม อันได้แก่
1.เครือข่ายประชาชนยื่น 13,409 รายชื่อ เสนอกฎหมายยกเลิกประกาศ คำสั่ง และคำสั่งหัวหน้า คสช. 35 ฉบับ ที่ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย
เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2562 เครือข่ายภาคประชาชน 23 กลุ่ม ได้รวบรวมรายชื่อประชาชน โดยครอบคลุม 4 ประเด็น คือ เสรีภาพการแสดงออก เสรีภาพสื่อ สิทธิกระบวนการยุติธรรม รวมถึงสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม
ผลงาน ส่งเสริมทุน-ลดทอนสิ่งแวดล้อม ภายใต้เงา คสช. เช่น
+เดินหน้าโรงไฟฟ้าขยะ ด้วยการยกเว้น EIA-กฎหมายผังเมือง ด้วยการใช้อำนาจอย่าง ‘มาตรา 44’ ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท
+เดินหน้าเศรษฐกิจพิเศษ ยกเว้นกฎหมายผังเมือง แย่งยึดที่ดินชาวบ้าน ได้แก่ คำสั่งคสช. ที่ 72/2557 คำสั่งคสช. ที่ 3/2558 คำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2559 คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 2/2560 คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 28/2560 คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 47/2560
+แก้ไขกฎหมายสิ่งแวดล้อม อำนวยความสะดวกนักลงทุน โดยคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2559 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยให้หน่วยงานรัฐสามารถเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติให้มีการจัดหาประมูลโครงการหรือผู้รับเหมาได้ ก่อนที่รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะผ่านความเห็นชอบ
ส่วนหนึ่งของประกาศ คำสั่ง และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ภาคประชาชนร่วมกันเข้าชื่อเสนอกฎหมายเพื่อยกเลิก
อ่านเพิ่มเติมที่ :
https://ilaw.or.th/node/5206
https://ilaw.or.th/10000sign
https://www.prachachat.net/politics/news-101398
2.“คดีคลิตี้” บทเรียนสำคัญการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและหลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย
เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2562 ศาลจังหวัดกาญจนบุรีมีคำสั่งยืนยันหลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย เอกชนต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายฟื้นฟูการปนเปื้อนมลพิษในลำห้วยคลิตี้ โดยให้กรมควบคุมมลพิษดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี อันเกิดจากการปนเปื้อนของสารตะกั่วให้กลับมามีสภาพที่สามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ตามมาตรฐานของทางราชการแทนจำเลยทั้งสองตามคำพิพากษาศาลฎีกาโดยให้ถือว่าค่าใช้จ่ายที่เสียไปเป็นหนี้ตามคำพิพากษาที่จะบังคับคดีเอาแก่จำเลยทั้งสองต่อไป โดยให้กรมควบคุมมลพิษจัดทำหลักฐานการใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ในการบังคับคดีในส่วนค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไป คำสั่งของศาลในคดีนี้ถือเป็นบรรทัดฐานคดีแรกในการยืนยันหลักการ “ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย” และเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาการฟื้นฟูการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อมว่าหากผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ชุมชนผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์ในคดีสามารถร้องขอต่อศาล เพื่อให้หน่วยงานรัฐที่มีอำนาจหน้าที่และมีความเชี่ยวชาญเข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหาและเรียกค่าใช้จ่ายทั้งหมดจากผู้ประกอบการได้ โดยไม่ต้องไปฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นคดีใหม่ซึ่งต้องใช้ระยะเวลานาน
อ่านเพิ่มเติมที่ :
https://bit.ly/2PUVQe2
https://bit.ly/39icaxh
https://www.sarakadee.com/2019/07/02/klity-case
3.การประกาศบังคับใช้ พ.ร.บ.โรงงาน ฉบับที่ลดทอนมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม ท่ามกลางเสียงคัดค้านของภาคประชาชน
เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2562 ภาคประชาชนยื่นคัดค้านร่าง พ.ร.บ.โรงงาน”ฉบับลดทอนมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและประชาชน” ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช. พร้อมเรียกร้องให้ สนช. ถอนร่าง พ.ร.บ.โรงงาน ออกจากการพิจารณาโดยทันที
เพราะเห็นว่าจะมีผลกระทบต่อการลดทอนมาตรการสำคัญในการกำกับดูแลการประกอบกิจการโรงงาน การป้องกัน และการแก้ไขผลกระทบจากการประกอบกิจการของโรงงานต่างๆ ทั่วประเทศ และมุ่งเน้นแต่เพียงการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรม ซึ่งจะก่อความเสียหายรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และความปลอดภัยของประชาชนอย่างกว้างขวางตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แม้ว่าที่ผ่านมาภาคประชาชนจะข้อสังเกตและข้อท้วงติงต่อการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ แต่ก็ไม่ได้ถูกนำไปพิจารณาแก้ไขแต่อย่างใด จนกระทั่ง พ.ร.บ.โรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562 มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 27 ต.ค. 2562 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตามภาคประชาชนจะต้องช่วยกันติดตามตรวจการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้
ว่าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนมากน้อยเพียงใด
อ่านเพิ่มเติมที่ :
https://enlawfoundation.org//?p=4906
https://enlawfoundation.org//?p=4434
https://enlawfoundation.org//?p=4443
4.การยกเลิกผังเมืองเดิม เดินหน้าบังคับใช้ผังเมือง EEC ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและระบบนิเวศน์ ท่ามกลางเสียงคัดค้านของประชาชน
เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2562 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2562 โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.2562 โดยผังเมือง EEC มีผลบังคับใช้ในท้องที่ ฉะเชิงเทรา กทม. สมุทรปราการ ชลบุรี และระยอง
.
ส่งผลให้ผังเมืองเดิมที่ใช้บังคับในท้องที่ฉะเชิงเทรา กทม. สมุทรปราการ ชลบุรี และระยอง ตามกฎหมายผังเมืองเป็นอันยกเลิกไป และให้มีการดำเนินการจัดทำผังเมืองขึ้นใหม่ให้สอดคล้องกับผังเมือง EEC โดยในระหว่างที่ยังจัดทำผังเมืองใหม่ไม่เสร็จ ให้ถือว่าผังเมือง EEC เป็นผังเมืองรวมตามกฎหมายผังเมืองด้วย
.
ทั้งนี้เป็นผลมาจากคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและอนุมัติผังเมือง EEC ดังกล่าวเมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2562
และการจัดทำผังเมือง EEC เป็นการดำเนินการตามมาตรา 29 และมาตรา 30 ของพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 หรือ ‘พ.ร.บ.อีอีซี.’ ที่มีผลบังคับใช้วันที่ 15 พ.ค.62 โดยมีการกำหนดให้จัดทำผังเมือง EEC ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่คณะกรรมการนโยบายฯ ให้ความเห็นชอบแผนนั้น
.
แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการคัดค้านจากชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงผังเมือง อันกระทบต่อวิถีชีวิต ระบบนิเวศน์ และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ตลอดจนกระบวนการจัดที่ก็ไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงแล้วก็ตาม
.
อ่านเพิ่มเติมที่ :
EEC Watch กลุ่มศึกษาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
https://bit.ly/39icaxh
https://bit.ly/2F2RR91
https://bit.ly/2rGm4HY
https://bit.ly/2QGUcfp
https://bit.ly/367Mpxy
.
5.กิจกรรม“เดิน-ปิด-เหมือง” จากภูผาฮวกสู่ศาลากลางจังหวัดหนองบัวลำภู ผลกระทบจากเหมืองหินและความสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
ตั้งแต่วันที่ 7-12 ธ.ค. 2562 รวม 6 วัน 5 คืน ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู พร้อมด้วยเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ทั่วประเทศออกเดินรณรงค์ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวการต่อสู้ของกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู ตลอดระยะเวลากว่า 25 ปีที่ผ่านมา
เนื่องจากปัจจุบันบริษัทเอกชนที่ทำเหมืองหินมีใบอนุญาตใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าสงวนฯ และถือประทานบัตรในช่วงปี 2553-2563 ซึ่งจะมีการต่ออายุใหม่ในปีหน้า ทำให้บริษัทยังคงสามารถทำเหมืองได้ต่อไป ท่ามกลางความกังวลของชาวดงมะไฟที่คัดค้านเรื่อยมาถึงปัจจุบันว่าการทำเหมืองจะยืดไปอีก 10 ปี
โดยปัจจุบันยังคงมีการระเบิดหินอย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะยังมีคดีเพิกถอนใบอนุญาตต่ออายุประทานบัตรอยู่ที่ศาลปกครองสูงสุด และส่งผลกระทบต่อชาวบ้านและชุมชนในด้านวิถีชีวิตความเป็นอยู่และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางธรรมชาติ
ทางกลุ่มฯ จึงริเริ่มกิจกรรมเดินรณรงค์ เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนนอกพื้นที่ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำเหมืองหิน ให้รับรู้รับทราบปัญหาและความสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรมหนองบัวลำภู
อ่านเพิ่มเติมที่ :
เหมืองแร่หนองบัว
https://youtu.be/o8orUvj_mPA
https://www.youtube.com/watch?v=zve-iowctZM
https://youtu.be/-sWC1xS6XEQ
https://isaanrecord.com/2019/12/09/rock-mining-isaan-1/
https://www.the101.world/dong-mafai-quarry/
ทั้ง 5 เรื่องนี้ ล้วนมีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงและสะท้อนถึงนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในภาพรวม และเป็นสิ่งที่ประชาชนและคนทำงานด้านสิ่งแวดล้อมอาจต้องติดตามกันต่อไปในปี 2563 …