5 เรื่องเด่นแห่งปี 2560 ว่าด้วยกฎหมายและคดีสิ่งแวดล้อม

     
         มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ชวนอ่านและติดตาม “5 เรื่องเด่นแห่งปี 2560” ว่าด้วยกฎหมายและคดีสิ่งแวดล้อม อันได้แก่… 1. การแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2. คำสั่งหัวหน้า คสช.กับการผลักดันเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก 3. สิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี : ที่หายไปจากรัฐธรรมนูญ 2560 4. 19 ปี ของชาวบ้านคลิตี้ กว่าจะมีคำพิพากษาคดีประวัติศาสตร์ 5. ศาลปกครองสูงสุดชี้ “มาบตาพุด” ต้องประกาศเป็น “เขตควบคุมมลพิษ” แต่ละเรื่องล้วนมีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงและสะท้อนถึงนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในภาพรวม และเป็นสิ่งที่ประชาชนและคนทำงานด้านสิ่งแวดล้อมอาจต้องติดตามกันต่อไปในปี 2561 …
          1. การแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ พ.ศ. …
          ตามที่รัฐบาลโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เร่งรัดเสนอร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. …. (ร่าง พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ) โดยอ้างว่าต้องดำเนินการแก้ไขกฎหมายในส่วนเกี่ยวกับระบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับเนื้อหาและกรอบเวลาตามรัฐธรรมนูญฯ 2560 นั้น

        ภาคประชาชน/เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน กลับเห็นว่า ร่างฯฉบับใหม่กลับไม่ได้เป็นการแก้ไขเพื่อให้ดีขึ้น และไม่สามารถแก้ปัญหาที่มีอยู่เดิมได้แต่อย่างใด ทั้งยังเป็นร่างกฎหมายที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การเพิ่มเติมเนื้อหาตามคำสั่งหัวหน้า คสช. มาตรา 44 และการกำหนดกรอบเวลาเร่งรัดการพิจารณารายงาน EIA / EHIA เพื่อเอื้อให้สามารถดำเนินการโครงการได้รวดเร็วและง่ายขึ้นกว่าเดิม แทนที่จะเพิ่มระบบการกลั่นกรองโครงการที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและแม้ภาคประชาชนจะพยายามนำเสนอแนวทางการแก้ไขปรับปรุงระบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ ที่จะนำไปสู่การปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนอย่างแท้จริงต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วหลายครั้ง แต่รัฐบาลก็มิได้ตอบสนองรับฟังข้อเสนอของภาคประชาชนเพื่อทบทวนแก้ไข แต่ยังคงเดินหน้าผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้ต่อไป และปัจจุบันร่างฯดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

ติดตามต่อได้ที่…
facebook : เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และ http://enlawfoundation.org/newweb/?cat=357

           2. คำสั่งหัวหน้า คสช.กับการผลักดันนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor – EEC)
          ร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ ‘ร่าง พ.ร.บ.อีอีซี’ ถูกผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของสนช. อย่างเร่งรีบและมีการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. หลายฉบับ เพื่อดำเนินการล่วงหน้า ท่ามกลางเสียงคัดค้านของภาคประชาชนจากการที่รัฐบาลมีความพยายามผลักดันพัฒนาเศรษฐกิจระดับประเทศ โดยสร้างฐานการลงทุนเขตพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก 3 จังหวัด ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง โดยมีวัตถุประสงค์สร้างฐานการลงทุน ด้วยการออกคำสั่ง คสช. 3 ฉบับ โดยอาศัย มาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ได้แก่ 
-คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 2/2560 เรื่องการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
-คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 8/2560 เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก 
-คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 47/2560 เรื่อง ข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก 
          โดยการออกคำสั่งเหล่านี้เพื่อตระเตรียมดำเนินการต่างๆไปพลาง และอุดช่องว่างความล่าช้าในการตรากฎหมายปกติ คือ ร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือที่เรียกกันว่า ‘ร่าง พ.ร.บ.อีอีซี’ ที่กำลังถูกผลักดันให้ผ่านกระบวนการพิจารณาด้วยความเร่งรัด เพราะเมื่อ ครม.มีมติอนุมัติหลักการไปเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 เพียงเวลาไม่นาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็ ได้ลงมติเอกฉันท์รับหลักการร่างกฎหมายดังกล่าว เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2560 และขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสนช.
           ทั้งนี้กลุ่มศึกษาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC WATCH) และประชาชนภาคตะวันออกเห็นว่าการผลักดันนโยบายดังกล่าวนั้นใช้กลไก กระบวนการ และรูปแบบโครงการที่ไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและประชาชนในพื้นที่ไม่มีส่วนร่วม ตลอดจนเนื้อหาของร่างกฎหมายดังกล่าวมีหลายประเด็นที่ไม่เหมาะสมและจะมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต จึงได้มีการยื่นข้อเสนอภาคประชาชนต่อนายกรัฐมนตรี,ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ, คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างฯ, และ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2560 พร้อมทั้งออกแถลงการณ์ 3 ฉบับ เพื่อแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาที่ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนและชุมชน โดยยืนยันถึงการพัฒนา EEC ที่ไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีและไม่เป็นไปตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SEP for SDGs) ที่เป็นหัวใจขับเคลื่อน Thailand 4.0 อย่างแท้จริง

 

           3. สิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี : ที่หายไปจากรัฐธรรมนูญฯ 2560
           “สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครองส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสม” (มาตรา 67 วรรคแรก รัฐธรรมนูญฯ 2550)
           สิทธิการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี (Right to Live in Healthy Environment) นั้นแม้จะเป็นสิทธิรุ่นใหม่ที่ยังเป็นที่ถกเถียงเรื่องสถานะและการยอมรับในทางสิทธิมนุษยชน แต่ก็เป็นสิทธิที่มีพัฒนาการและได้รับการยอมรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในทางกฎหมายระหว่างประเทศ อย่างน้อยในฐานะส่วนขยายของสิทธิในชีวิตและร่างกาย โดยมองว่าไม่เพียงแต่การคุ้มครองสิทธิในชีวิตร่างกายมิให้รัฐหรือบุคคลใดมาล่วงละเมิดทำลายหรือพรากเอาไปได้เท่านั้น แต่รัฐพึงต้องคุ้มครองสิทธิในชีวิตร่างกายของประชาชนให้ดำรงอยู่ได้โดยปกติสุขด้วย
          สำหรับรัฐธรรมนูญของไทยที่ผ่านมาแม้จะมิได้มีการบัญญัติถึงสิทธิในการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีไว้อย่างโดยตรงชัดแจ้ง แต่ในรัฐธรรมนูญฯ 2550 (ซึ่งพัฒนาต่อเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญฯ 2540) ก็ได้บัญญัติรับรองเรื่องนี้ไว้ด้วยถ้อยคำที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งในมาตรา 67 วรรคแรกตามที่กล่าวมาข้างต้
          แต่เป็นที่น่าเสียดายว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 สิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีที่เคยบัญญัติไว้กลับถูกตัดทิ้งและไม่ปรากฏว่ามีบทบัญญัติมาตราอื่นใดที่พอจะตีความเทียบเคียงได้ จึงถือเป็นจุดอ่อนอีกประการหนึ่งของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้และเป็นเสมือนการพรากเอาไปซึ่งสิทธิของประชาชนประการสำคัญอันได้รับการรับรองคุ้มครองสืบต่อเนื่องมาในรัฐธรรมนูญ ซึ่งการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนี้จะกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่เคยมีอยู่อย่างไร เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ประชาชนและคนทำงานด้านสิ่งแวดล้อมควรพิจารณากันต่อไป
ติดตามต่อได้ที่…
https://goo.gl/CB5mLB
https://ilaw.or.th/node/4215

 

            4. 19 ปี ของชาวบ้านคลิตี้ กว่าจะมีคำพิพากษาคดีประวัติศาสตร์
 
           คดีคลิตี้ : เป็นคดีด้านสิ่งแวดล้อมคดีแรกในประเทศไทย ที่ศาลสูงมีคำพิพากษาวางบรรทัดฐานการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ เรื่อง “ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม” และรับรองสิทธิของชาวบ้านที่ร่วมฟ้องในฐานะ “ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม”  เป็นระยะเวลากว่า 19 ปี ที่ลำห้วยคลิตี้ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ถูกตรวจพบว่ามีการปนเปื้อนสารตะกั่วปริมาณมหาศาลที่รั่วไหลมาจากโรงแต่งแร่ ส่งผลให้ชาวกะเหรี่ยงหมู่บ้านคลิตี้ล่างได้รับสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายจากการดื่มน้ำและกินสัตว์น้ำในลำห้วย ทำให้ชาวบ้านเจ็บป่วยพิการและเสียชีวิต วิถีชีวิตที่เคยได้พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติจากลำห้วยคลิตี้ที่สะอาดบริสุทธิ์ต้องเปลี่ยนแปลงไป แต่แล้วปัญหานั้นก็ยังคงไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยาอย่างจริงจังทั้งจากบริษัทเอกชนเจ้าของโรงแต่งแร่ผู้ก่อมลพิษ และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อ
          คดีสารตะกั่วปนเปื้อนลำห้วยคลิตี้ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่ชาวกะเหรี่ยงลุกขึ้นมาฟ้องหน่วยงานรัฐเพื่อปกป้องสิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี และสิทธิในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ตามรัฐธรรมนูญ จากกรณีโรงแต่งแร่ปล่อยสารตะกั่วลงลำห้วยที่ชุมชนใช้ประโยชน์มาอย่างยาวนาน ซึ่งหลังจากใช้เวลาพิจารณาคดียาวนานกว่า 9 ปี ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2556 ให้กรมควบคุมมลพิษดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้และชดใช้ค่าเสียหายให้กับชาวบ้านคลิตี้ล่าง ทำให้คดีนี้กลายเป็นคดีด้านสิ่งแวดล้อมคดีแรกในประเทศไทยที่มีคำพิพากษาศาลสูงวางบรรทัดฐานการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐในเรื่องฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม รวมทั้งชี้ให้เห็น “จุดอ่อน” ในการแก้ปัญหาการปนเปื้อนมลพิษของประเทศไทย
          นอกจากนี้ยังมีการฟ้องคดีแพ่งที่ชาวบ้านฟ้องบริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด จ่ายค่าชดเชยให้ชาวบ้านคลิตี้ล่าง 151 คน ฐานละเมิดพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 เนื่องจากปล่อยปละเลยให้สารตะกั่วปนเปื้อนในลำห้วยคลิตี้ และกระทบต่อสุขภาพของชาวบ้านและสิ่งแวดล้อม และในวันจันทร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ.2560 ศาลจังหวัดกาญจนบุรีอ่านคำพิพากษาศาลฏีกา (คดีแพ่ง หมายเลขดำที่ 2659/2550 หมายเลขแดงที่ 1290/2553 ศาลจังหวัดกาญจนบุรี ระหว่าง นายยะเสอะ นาสวนสุวรรณ ที่ 1 กับพวกรวม 151 คน (โจทก์) กับ บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ 1 กับพวกรวม 7 คน (จำเลย) ในข้อหาหรือฐานความผิด ละเมิดตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2550 เรียกค่าเสียหายทั้งสิ้น 1,041,952,000 บาท และขอให้จำเลยรับผิดชอบในการฟื้นฟูขจัดมลพิษในลำห้วยคลิตี้) – อ่านความเป็นมาของคดีได้ที่ https://goo.gl/DYKpJL
          โดยมีคำพิพากษาของศาลฏีกายืนตามศาลอุทธรณ์คือให้จำเลยทั้ง 7 คนจ่ายเงินชดเชยให้แก่ชาวบ้านผู้เสียหาย 150 คน เป็นเงินรวม 36,050,000 บาท นอกจากนี้ศาลฎีกายังตัดสินให้กรรมการของบริษัทตะกั่ว คอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) รวมทั้งผู้จัดการมรดกต้องรับผิดชอบต่อการปนเปื้อนเป็นการส่วนตัว และที่สำคัญก็คือศาลรับรองสิทธิ์ของชาวบ้าน 150 คนที่ร่วมฟ้องร้องในฐานะที่ “ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม” ตามที่ระบุในรัฐธรรมนูญปี 2550 อันเป็นการรับรองสิทธิของชุมชนให้สามารถฟ้องร้องให้มีการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ได้ โดยชาวบ้านเป็นชุมชนท้องถิ่นมีอำนาจในการฟ้องให้จำเลยฟื้นฟูแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งเป็นไปตามหลักของผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้จ่ายเนื่องจากในคำพิพากษาระบุว่าให้จำเลยต้องแก้ไขฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยเอง ทำให้คดีที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี พ.ศ 2550 ยุติลงด้วยชัยชนะของชาวบ้านคลิตี้ล่างที่เรียกร้องสิทธิ์ในฐานะที่เป็น ” ชุมชนดั้งเดิม “
          ซึ่งมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม(EnLAW) ในฐานะเป็นผู้รับผิดชอบคดีนี้โดยตรง ผ่านคณะทำงานช่วยเหลือชุมชนคลิตี้ สภาทนายความ ได้ทำการถอดสรุปประสบการณ์การต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมทั้งขั้นเตรียมฟ้อง การดำเนินการในคดี และเผยแพร่ให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันของสังคม ด้วยเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ในการปรับใช้กับการทำคดีด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ รวมทั้งการขับเคลื่อนให้เกิดการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อมซึ่งกำลังลุกลามไปในหลายพื้นที่และมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นต่อไป
ติดตามต่อได้ที่…
http://enlawfoundation.org/newweb/?p=792
http://enlawfoundation.org/newweb/?cat=106
อ่านคำพิพากษาคดีสิ่งแวดล้อมอื่นๆที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ : http://enlawfoundation.org/newweb/?page_id=860
 
 
              5. ศาลปกครองสูงสุดชี้ “มาบตาพุด” มลพิษร้ายแรงจริง คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติละเลยต่อหน้าที่ ต้องประกาศเป็น “เขตควบคุมมลพิษ” 
               เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา ตัวแทนกลุ่มชาวบ้านมาบตาพุด ผู้ได้รับผลกระทบมลพิษจากหลายนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เทศบาลตำบลมาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียง เดินทางไปศาลปกครองระยองเพื่อฟังการอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีที่ชาวบ้านได้ร่วมกันยื่นฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เมื่อเดือนตุลาคม 2550 กรณีการละเลยต่อหน้าที่ในการประกาศให้พื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ และศาลปกครองระยองมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2552 เห็นว่า พื้นที่มาบตาพุดมีปัญหามลพิษร้ายแรงจริงในระดับที่ กก.วล. ต้องประกาศให้เป็นเขตควบคุมมลพิษแต่กลับละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า โดยพิพากษาให้ กก.วล. ดำเนินการประกาศเขตควบคุมมลพิษให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา แต่ กก.วล. ได้ใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุด
              ผ่านไปกว่า 8 ปี ศาลปกครองสูงสุดมีคำวินิจฉัยเห็นพ้องด้วยกับศาลชั้นต้นว่า จากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเรื่องข้อมูลการตรวจวัดระดับการปนเปื้อนมลพิษ โดยเฉพาะสารโลหะหนักและสารอินทรีย์ระเหยที่เป็นสารก่อมะเร็ง ในสิ่งแวดล้อมทั้งในอากาศ ดิน น้ำ สัตวน้ำ และข้อมูลผลกระทบทางสุขภาพของประชาชนในพื้นที่เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุดและพื้นที่ข้างเคียง รับฟังได้ว่ามีปัญหามลพิษในระดับร้ายแรงถึงขนาดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เข้าหลักเกณฑ์ที่ กก.วล. ต้องปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ประกาศให้เป็นเขตควบคุมมลพิษเพื่อดำเนินมาตรการควบคุม ลด และขจัดมลพิษ   โดยศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยวางบรรทัดฐานที่สำคัญว่า เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหามลพิษที่มีแนวโน้มร้ายแรงที่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 59 แล้ว กก.วล. ก็มีหน้าที่ต้องประกาศให้เป็นเขตควบคุมมลพิษตามที่กฎหมายกำหนด โดยไม่อาจอ้างว่าจะประกาศเขตควบคุมมลพิษหรือไม่นั้นเป็นดุลพินิจโดยแท้ของ กก.วล. ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักกฎหมายสิ่งแวดล้อมเรื่อง “ การป้องกันไว้ก่อน ” (Precautionary Principle) ที่ระบุอยู่ในข้อ 15 ของ ปฏิญญาริโอว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (Rio Declaration on Environment and Development) ที่มีสาระสำคัญว่า “ในกรณีที่มีความน่ากลัวว่าจะเกิดความเสียหายอย่างรุนแรงและไม่สามารถแก้ไขให้กลับคืนดีได้ รัฐจะต้องใช้แนวทางระวังไว้ก่อนอย่างแพร่หลายตามความสามารถของตนเพื่อการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม การขาดหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อย่างชัดเจนแน่นอนจะต้องไม่ถูกใช้เป็นเหตุผลในการผัดผ่อนการดำเนินมาตรการโดยยึดหลักการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันความเสื่อมโทรมด้านสิ่งแวดล้อม”
           อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า เนื่องจากในระหว่างการพิจารณาคดี กก.วล.ได้มีประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 32 (พ.ศ. 2552) ลงวันที่ 30 เมษายน 2552 กำหนดให้ท้องที่เขตเทศบาลตำบลมาบตาพุดและพื้นที่ข้างเคียงรวมทั้งพื้นที่ทะเลภายในแนวเขต เป็นเขตควบคุมมลพิษ อันเป็นการปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว ทำให้เหตุแห่งการฟ้องคดีหมดสิ้นไปโดยที่ศาลไม่จำเป็นต้องออกคำบังคับอีก จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
          อนึ่ง แม้ในที่สุดแล้วการฟ้องคดีนี้จะส่งผลให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติต้องประกาศให้พื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษมาตั้งแต่ปี 2552 แต่ตัวแทนชาวบ้านที่เดินทางมาศาลได้สะท้อนถึงสถานการณ์ปัญหามลพิษจากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จำนวนมากในมาบตาพุดที่ยังคงเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง และยิ่งมีความห่วงกังวลมากขึ้นถึงนโยบายของรัฐที่กำลังผลักดันแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่น่าเชื่อว่าจะเข้ามาซ้ำเติมปัญหามลพิษในพื้นที่ให้หนักขึ้นอีก ในขณะที่ปัญหาเดิมยังไม่ได้รับการแก้ไข
ติดตามต่อได้ที่…
คำสั่งศาลปกครองสูงสุดฉบับเต็ม:https://goo.gl/8hrZSX
คำพิพากษาศาลปกครองระยองฉบับเต็ม:https://goo.gl/ryLGmw
สรุปคำพิพากษาศาลปกครองระยอง:https://goo.gl/RHSCkU
อ่านคำพิพากษาคดีสิ่งแวดล้อมอื่นๆที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ : http://enlawfoundation.org/newweb/?page_id=860
บทความที่เกี่ยวข้อง
ติดตามเราในช่องทาง Social
บทความล่าสุด