มุมมองนักวิชาการในเวทีสาธารณะ EHIA พลังงานมวกเหล็ก ต้นทุนที่ต้องจ่าย?
สืบเนื่องจากการจัดเวทีเสวนาสาธารณะ“EHIA พลังงานมวกเหล็ก ต้นทุนที่ต้องจ่าย?” ซึ่งจัดโดยชมรมอนุรักษ์มวกเหล็ก, ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง, กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2561 ณ อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ผ่านมา
EnLAW ชวนอ่านมุมมองของนักวิชาการต่อการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการ กิจการหรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต ของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง(Environmental and Health Impact Assessment : EHIA) ว่ามีความสำคัญอย่างไรต่อการพัฒนาพื้นที่ภายใต้โครงการขนาดใหญ่ที่อาจส่งผลกระทบรุนแรง
การจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการ กิจการหรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต ของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง(Environmental and Health Impact Assessment : EHIA) มีวัตถุประสงค์ในการจัดทำขึ้นเพื่อคาดการณ์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของพื้นที่และผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เพื่อให้มีการวางมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นอย่างมีระบบและเหมาะสม
โดยจังหวัดสระบุรีถือเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีศักยภาพด้านทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ และมีความหลากหลายทั้งทางด้านสภาพภูมิประเทศและสภาพอากาศ เป็นเป้าหมายในการเข้ามาลงทุนของโครงการขนาดใหญ่ต่าง ๆในภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกำลังการผลิต 150 เมกะวัตต์ โดยเชื่อมเข้ากับสายส่งและขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุด ในอำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ดังนั้นการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบจึงควรให้ความสำคัญอย่างมาก แม้กระนั้น การจัดทำรายงานEHIA ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกำลังการผลิต 150 เมกะวัตต์ ในอำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี เมื่อพิจารณาแล้ว ยังมีหลายประเด็นที่เป็นข้อห่วงกังวลของพื้นที่และยังไม่ได้ถูกศึกษาอย่างครอบคลุม
ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เสนอถึงสิ่งที่ควรอยู่ในรายงาน วิเคราะห์ผลกระทบ EHIA ของอำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ว่าควรมีการทำแบบจำลองการแพร่กระจายมลพิษทางอากาศและกลิ่นที่ครอบคลุมทุกมลพิษ (รวมทั้ง PM 2.5) และครอบคลุมระยะทางอย่างน้อย 50 กม. จากโครงการ (25 กม. จากโครงการในแต่ละทิศ) โดยทำการระบุชุมชนในระยะ 50 กม. ดังกล่าวที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อผลกระทบทางสุขภาพจากมลพิษทางอากาศและกลิ่น ให้มีการประเมินผลกระทบของการตกสะสมของมลพิษทางอากาศต่อโคนม และ เกษตรอินทรีย์ครอบคลุมระยะทางอย่างน้อย 50 กม. จากโครงการ โดยระบุโคนม และ เกษตรอินทรีย์ที่สุ่มเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบของการตกสะสมของมลพิษดังกล่าว และประกันความเสี่ยงแม้จะกำหนดมาตรการลดผลกระทบแล้ว อีกทั้งต้องมีการประเมินผลกระทบโดยรวมจากโรงงานหรือแหล่งกำเนิดมลพิษเดียวกันรอบๆโครงการด้วยเพื่อประเมินศักยภาพในการรับมลพิษของพื้นที่ ที่สำคัญต้องประเมินต้นทุนภาระภายนอกจากโครงการที่ถูกผลักออกจากสังคมโดยใช้ฐานข้อมูลจากงานวิจัยต่างประเทศ และ เปรียบเทียบมูลค่าดังกล่าวกับการตั้งกองทุนรอบโรงไฟฟ้าของโครงการ
การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เพียงประเมินจากโครงการใดโครงการหนึ่งเฉพาะ แต่ยังต้องประเมินด้วยว่าในพื้นที่นั้นๆ มีโครงการหรือกิจกรรมอื่น อีกด้วยหรือไม่ ซึ่งเรียกว่า “การประเมินผลกระทบสะสม” เพื่อดูว่าทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมในพื้นที่จะรับมลพิษได้อีกมากน้อยเพียงใด ซึ่งประเด็นนี้ไม่เคยปรากฏใน รายงานEHIA ฉบับใดในประเทศไทย แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่ใช้ในการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม จะไม่มีความหมาย หากไม่รู้ว่าเป้าหมายสิ่งที่อยากปกป้อง คือ คุณค่าของชุมชนคือเรื่องใด ดังนั้นจึงต้องเริ่มต้นจากการประเมินคุณค่าชุมชน ที่ไม่ใช่เพียงรัศมี 5 กิโลเมตร ต้องมีการประเมินที่กว้างออกไปกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นด้าน คน วัว เกษตรอินทรีย์ การท่องเที่ยว ฯลฯ โดยเหล่าเป็นสิ่งที่คนอำเภอมวกเหล็กเป็นกังวล และ รายงาน EHIA ของอำเภอมวกเหล็ก ต้องให้คุณค่ากับสิ่งเหล่านี้เป็นอันดับแรก
เมื่อประเมินทุกผลกระทบอย่างรอบด้านแล้ว จึงแปรทุกอย่างออกมาเป็นความรับผิดชอบ กรอบการประเมินความเสี่ยงที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบต้องมาจากชุมชน/ประชาชนในพื้นที่ตั้งโครงการ ที่คิดว่าสิ่งใดสำคัญ สิ่งใดที่กังวล หรือที่เรียกว่าเป็นคุณค่าที่ชุมชนต้องการรักษาไว้ เป็นหลักการของการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ หากไม่สามารถรู้ว่าประชาชน/ชุมชน ต้องการสงวนคุณค่าในสิ่งใดไว้ แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ใดๆ ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะไม่สามารถปกป้องหรือป้องกัน สิ่งที่มีคุณค่าเอาไว้ได้ นี่จึงเป็นหลักการสำคัญ
รายงาน EHIA ที่ระบุเนื้อหาเกี่ยวกับอำเภอมวกเหล็ก จ.สระบุรี นั้น อาจารย์ อชิชญา อ๊อตวงษ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้ความเห็นเทียบเคียงเข้ากับข้อกฎหมาย โดยแบ่งเป็น 3 ประเด็น คือ ประเด็นแรก “ทางเลือก”ทางเลือกในการดำเนินโครงการ ให้เหตุผลของการมีโครงการในพื้นที่นั้น ๆหากโครงการไม่เกิดจะส่งผลอย่างไร มีมาตรการป้องกัน แก้ไขผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และจะต้องระบุทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดที่จะดำเนินโครงการ พร้อมแสดงเหตุผลและความจำเป็นประกอบ ประเด็นที่ 2 “ผลกระทบ” การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ให้มีการประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการ ทั้งที่เป็นผลกระทบโดยตรง และผลกระทบทางอ้อม ต่อทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและคุณค่าต่าง ๆ พร้อมทั้งแยกประเภททรัพยากรเป็นชนิดที่สามารถฟื้นฟูได้และฟื้นฟูไม่ได้รวมทั้งให้ประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในทุกทางเลือกของโครงการเปรียบเทียบกัน ประเด็นที่ 3 “ค่ามาตรฐาน” ในรายงานพบว่าไม่ได้มีการระบุค่ามาตรฐานจากแหล่งกำเนิดมลพิษที่ครอบคลุมมลพิษทางอากาศที่เพียงพอ เช่น ฝุ่นขนาดเล็ก (PM2.5) EIA/EHIA มักไม่ศึกษามลพิษที่ไม่อยู่ในค่ามาตรฐาน ไม่มีการทบทวนและกำหนดค่ามาตรฐานให้เหมาะสมกับพื้นที่ (พื้นที่เปราะบาง เช่น พื้นที่ใกล้แหล่งน้ำ พื้นที่ใกล้ชุมชน ฯลฯ ควรกำหนดค่ามาตรฐานต่างจากพื้นที่ทั่วไป)
โดยในมุมมองด้านกฎหมาย คุณสุภาภรณ์ มาลัยลอย จากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม และ คุณบุญเชิด บุญจันทร์ ตัวแทนเครือข่าย ได้ตั้งประเด็นข้อสังเกตการจัดทำรายงาน EHIA ฉบับนี้ ว่ายังขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย เนื่องจากโครงการดังกล่าวไม่ได้ศึกษาหลายประเด็นที่เป็นของห่วงกังวลของพื้นที่ และศึกษาผลกระทบไม่ครอบคลุมในพื้นที่ที่ยังมีความเสี่ยง การทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพนั้นได้กำหนดขอบเขตพื้นที่ศึกษาเพื่อประเมินผลกระทบโครงการ ระบุไว้เบื้องต้นว่าควรมีการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นรอบพื้นที่ตั้งโครงการอย่างน้อย 5 กิโลเมตร แต่หากพบว่าอาจส่งผลกระทบเกินระยะที่กำหนดให้เพิ่มเติมขอบเขตพื้นที่ศึกษา เพื่อให้ครอบคลุมผลกระทบนั้น ๆ
อีกทั้งกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชน ในรายงาน EHIA นี้ยังไม่ได้ศึกษาถึงข้อห่วงกังวลของพื้นที่อย่างแท้จริง ขาดการพิจารณาความเป็นระบบนิเวศเฉพาะของพื้นที่ เนื่องจากเป็นสาระสำคัญของการดำรงอยู่ของชุมชน หากไม่ได้รับการศึกษาอย่างถี่ถ้วนอาจนำมาสู่การล่มสลายของชุมชน และการสูญเสียอาชีพท้องถิ่นของประชาชนในพื้นที่ ดังนั้นต้องมีการเข้ามาพูดคุยกับชุมชนถึงข้อห่วงกังวลหากเกิดโครงการขนาดใหญ่ขึ้นในชุมชนนั้น ๆ และนำข้อคิดเห็นเหล่านั้นมาวิเคราะห์และปรับแก้ตามกระบวนการ เนื่องจากพื้นที่นี้ เป็นพื้นที่ทำเกษตรกรรม ทั้งเลี้ยงโคนม และปลูกพืชอินทรีย์ อีกทั้งมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมากมาย จึงควรมีการวิเคราะห์ให้ถี่ถ้วน และควรมีการประเมินการตกสะสมของมลพิษในพื้นที่ เพื่อประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่นั้นว่าคุ้มค่ากับการให้มีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มเข้ามาในพื้นที่หรือไม่
ตามมาตรา 50 พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม 2535 ที่กล่าวถึงโครงการใดต้องทำรายงาน EHIA จะทำการก่อสร้างหรือดำเนินการก่อนที่รายงาน EHIA จะผ่านความเห็นชอบไม่ได้ ซึ่งมีรายงานระบุว่าอุตสาหกรรมจังหวัด เข้าตรวจสอบพื้นที่แล้ว มีการสั่งปรับ แสดงให้เห็นว่าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 150 เมกะวัตต์ มีการดำเนินการก่อนที่รายงาน EHIA จะผ่านความเห็นชอบของ กกพ. หรือไม่อย่างไร
ดังนั้นประเด็นที่ตั้งไว้เหล่านี้จึงนำมาสู่ข้อเสนอให้ต้องยุติการนำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบEHIA ฉบับนี้ สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อไปประกอบการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน150เมกะวัตต์ ในพื้นที่มวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี และขอยืนยันว่า รายงาน EHIA ฉบับนี้ไม่ครบตามหลักเกณฑ์ที่ต้องดำเนินการ ไม่ครอบคลุมตามหลักวิชาการการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
แม้ว่ารายงาน EHIA ฉบับนี้จะผ่านความเห็นชอบของ คชก.มาแล้ว แต่ขอเรียกร้องต่อ กกพ.ในฐานะหน่วยงานหลักที่อนุมัติอนุญาตโดยตรง ว่าควรคำนึงถึงผลดีผลเสีย ความคุมค่า คุ้มทุนที่จะสร้างโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงถ่านหินโดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นสีเขียวอันเป็นแหล่งผลิตนำนมกระจายไปทั่วประเทศ เป็นพื้นที่เกษตรอินทรีย์ เป็นพื้นที่ที่มีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่สวยงาม และเป็นพื้นที่ที่วิถีชีวิตการประกอบอาชีพต่างเชื่อมโยงกันในทุกภาคส่วน
แนวการพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าที่ยั่งยืน
รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศไทยปัจจุบันว่ามีการผลิตเพื่อเก็บไว้ใช้เป็นจำนวนมาก โดยการเก็บและการขนส่งกระแสไฟฟ้านั้นถือว่ามีการใช้ต้นทุนในการขนย้ายและเก็บรักษาจำนวนมาก และถึงแม้โรงไฟฟ้าถ่านหินจะมีราคาเชื้อเพลิงถูกและมีมลพิษที่ควบคุมได้ แต่ยังต้องนำเข้าเทคโนโลยีในการสร้างและพึ่งพาเชื้อเพลิงนำเข้าจากต่างประเทศ 100 %ทำให้ไม่ถือว่าเป็นเชื้อเพลิงที่ถูก
“หากต้องสร้างโรงไฟฟ้า ค่าความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อม ต้นทุน (Externality)
จะต้องถูก คำนวณ (Internalized) เข้าเป็นส่วนหนึ่งของค่าไฟฟ้า
และจ่ายให้กับผู้เสียหายโดยตรง ซึ่งเมื่อคำนวณแล้วโรงไฟฟ้าถ่านหิน
จะต้องเป็นโรงไฟฟ้าที่แพงที่สุด สุดท้ายจะไม่คุ้มค่าการลงทุน
ยกเว้นจะมีการผลักภาระมาให้ประชาชนและผลกำไรเป็นของบริษัทผู้เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า”
ดังนั้นหากจะให้เกิดการพัฒนาไฟฟ้าที่ยั่งยืนต้องให้ความสำคัญเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในระดับท้องถิ่นและชุมชน (local effects)และผลกระทบด้านโลกร้อน (global warming) ควบคู่กัน เพราะ เศรษฐกิจจะเติบโตต่อไปไม่ได้ ถ้าแผ่นดิน ผืนน้ำ อากาศเต็มด้วยมลพิษ และควรใช้ นโยบาย Climate Policy ในการชี้นำแผนพัฒนากำลังผลิต กล่าวคือ มุ่งเน้นเรื่องป้องกันการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศให้ชี้นำแผนการผลิตไฟฟ้าให้ได้ ต้องคิดว่าหากจะมีโลกที่ไม่ใช่โลกร้อน ที่อุณหภูมิจะไม่เพิ่มขึ้น 1.5 องศา ประเทศไทยจะต้องไม่ผลิตคาร์บอนไดออกไซด์เท่าไหร่ และเรามีข้อจำกัดอยู่เท่านี้ เป็นแนวทางสำหรับการผลิตไฟฟ้าอย่างยั่งยืน
ประเด็นต่าง ๆเหล่านี้ ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน การกำหนดทางเลือกที่แคบ ทำให้เราไม่มีส่วนร่วม ค่ามาตรฐานที่ชุมชนไม่มีโอกาสได้กำหนด EIA / EHIA ไม่ใช่เรื่องเทคนิค ไม่ใช่เรื่องที่นักวิชาการ คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีสิทธิเด็ดขาดจะตัดสินใจได้ เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องต่อรองกัน เป็นเรื่องที่เรามีวิถีชีวิตแบบนี้ เราอยู่ในพื้นที่นี้ เราสามารถต่อรองผลประโยชน์ สามารถต่อรองคุณค่าที่เรามีอยู่ หน่วยงานรัฐ หรือเอกชน ไม่สามารถตัดสินแทนคนในพื้นที่ได้
อ่านข่าวสารที่เกี่ยวข้องได้ที่: https://enlawfoundation.org/newweb/?p=4259