มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ร่วมจัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการส่งเสริม สนับสนุนองค์กรชุมชนฯ ครั้งที่7

        เมื่อวันที่ 30 – 31 กรกฎาคม 2560 มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ได้รับเชิญจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ในการเป็นองค์กรร่วมจัดและเป็นทีมวิทยากรในงานเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการส่งเสริม สนับสนุนองค์กรชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน ในการฟื้นฟูและปกป้องทรัพยากร กับการรับมือศูนย์กลางพัฒนาอาเซียน (เขตอุตสาหกรรมชีวภาพ จังหวัดขอนแก่น) ณ ริศาปาร์ค แอนด์รีสอร์ท อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น

         โดยในการจัดเวทีได้มีผู้แทนสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่นและตัวแทนสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น โดยนายวิฑูรย์ กมลนฤเมธ เข้าร่วมบรรยายในประเด็นเรื่อง นโยบายการพัฒนาจังหวัดขอนแก่นสู่จังหวัดเขตเศรษฐกิจพิเศษชีวภาพ Bioeconomy นำร่องเทียบ EEC (Eastern Economic Corridor) เนื่องจากแนวนโยบายของรัฐที่ต้องการผลักดันพื้นที่ต่างๆ เข้าสู่โครงการระเบียงเศรษฐกิจ โดยมีเหตุผลประการสำคัญต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • ด้วยจังหวัดขอนแก่นเป็นจังหวัดใจกลางภาคอีสาน ทำให้มีผลต่อเศรษฐกิจในการค้าขายของประเทศในอนาคตข้างหน้า
  • เป็นศูนย์กลางการประชุมระดับชาติ ด้วยศักยภาพของจังหวัดขอนแก่น สามารถจัดการประชุมระดับโลกได้
  • จังหวัดขอนแก่นมีโรงงานอุตสาหกรรม ประมาณ 4,000 แห่ง เช่น โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับน้ำตาล โรงงานผลิตรองเท้า โรงงานผลิตเรือ อีกทั้งยังมีโรงงานชีวภาพอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านชีวภาพได้
  • จังหวัดขอนแก่นมีสำนักงานอุทยานวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงถือเป็นแหล่งการศึกษาและวิจัย ที่จะสามารถทำการศึกษาวิจัย ให้ความรู้ และพัฒนาต่อยอดด้านอุตสาหกรรมต่อไปได้


         หลังจากที่ได้กล่าวถึงนโยบายการพัฒนาจังหวัดขอนแก่นสู่จังหวัดเขตเศรษฐกิจพิเศษชีวภาพแล้วนั้น ได้มีการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนและซักถาม ซึ่งได้มีผู้แสดงความคิดเห็นและซักถาม แสดงข้อห่วงกังวล ถึงผลกระทบของการจะจัดตั้งอุตสาหกรรมชีวภาพ ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ในประเด็นต่างๆดังต่อไปนี้
         ประเด็นด้านการใช้สิทธิ เมื่อจะมีการตั้งโรงงานในพื้นที่ ซึ่งตามกฎหมายจะต้องมีการขออนุญาตจัดตั้งโรงงานประกอบกับการขออนุญาตก่อสร้างอาคารนั้น โดยต้องมีการจัดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ จึงห่วงกังวลว่าหากมีการขออนุญาตจัดตั้งโรงงานแล้ว จะมีการจัดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นหรือไม่อย่างไร
         ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม โดยประชาชนในพื้นที่ที่จะมีการตั้งโรงงาน ห่วงกังวลถึงผลเสียที่อาจจะเกิดผลกระทบต่อชุมชนในการจัดตั้งโรงงานทั้งด้านการแย่งชิงน้ำจากการเกษตร  มลพิษน้ำเสีย มลพิษอากาศเสีย และหากในการประกอบกิจการของโรงงานมีกรณีที่วัตถุดิบที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงไม่เพียงพอต่อการดำเนินกิจการของโรงงาน จะมีการใช้พลังงานถ่านหินหรือไม่
        ประเด็นการเยียวยาความเสียหาย ถ้ามีการจัดตั้งโรงงานแล้ว หากเกิดผลกระทบต่อชุมชน องค์กรภาครัฐจะแก้ไขปัญหาอย่างไร
         นอกจากนั้น ในเวทีได้มีการนำเสนอบทเรียนในประเด็นเรื่องสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมกับการมีส่วนร่วมในการปกป้องทรัพยากรชุมชน โดยมี อ.สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะ ภาคตะวันออก นำเสนอบทเรียนของภาคตะวันออกจากแนวนโยบายระเบียงเศรษฐกิจของภาครัฐ  โดยเป็นการแลกเปลี่ยนเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งอาจนำไปสู่การขับเคลื่อนให้เกิดการสร้างเครือข่ายในการติดตามสถานการณ์และประเด็นในพื้นที่ของจังหวัดขอนแก่น
        นอกจากนี้ได้มีกระบวนการปฏิบัติการในรูปแบบการแสดงบทบาทสมมติ (Role playing) โดยมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ( EnLAW ) เพื่อทำความเข้าใจและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในประเด็นสิทธิชุมชนกับการมีส่วนร่วมในการปกป้องทรัพยากร โดยมีบทบาทสมมติของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาตจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งประกอบไปด้วย 1.บริษัทผู้ประกอบการ  2.เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัด และ 3.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น เทศบาล อบต. ในขั้นตอนกระบวนการจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เข้าใจถึงขั้นตอนกระบวนการการอนุญาตจัดตั้งโรงงาน และสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนในขั้นตอนต่างๆ โดยเฉพาะสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร สิทธิในการร้องเรียนร้องทุกข์ เพื่อที่จะสามารถนำกลับไปใช้ได้จริงในพื้นที่ตนเองต่อไป
 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง
ติดตามเราในช่องทาง Social
บทความล่าสุด