ศาลปกครองระยองพิพากษายกฟ้องคดีชาวบ้านหนองแหน จ.ฉะเชิงเทรา ศาลปกครองชี้กรมโรงงานฯ และกรมควบคุมมลพิษไม่ได้ละเลยล่าช้าในการปฏิบัติหน้าที่ฟื้นฟูจัดการพื้นที่ปนเปื้อนมลพิษกากของเสียอุตสาหกรรมและกำกับดูแลโรงงาน รวมถึงวินิจฉัยว่าหน่วยงานรัฐเท่านั้นมีอำนาจฟ้องไล่เบี้ยค่าเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมจากผู้ก่อมลพิษ ชาวบ้านเตรียมยื่นอุทธรณ์ต่อ ยืนยันพื้นที่ยังมีปัญหาการปนเปื้อนมลพิษหลายจุด พร้อมเป็นห่วงคำวินิจฉัยไม่ส่งเสริมประชาชนมีส่วนร่วมรักษาสิ่งแวดล้อมและประโยชน์ส่วนรวม
เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2562 ศาลปกครองระยองอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ ส.9/2562 ระหว่าง นายจร เนาวโอภาส ที่ 1 กับพวกรวม 39 คน ผู้ฟ้องคดี และกรมโรงงานอุตสาหกรรม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1, กรมควบคุมมลพิษ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ซึ่งเป็นคดีที่ชาวบ้านตำบลหนองแหน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ผู้ได้รับผลกระทบและถูกละเมิดสิทธิการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีจากปัญหาการลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรมและการประกอบกิจการโรงงานรับจัดการของเสียอุตสาหกรรมโดยไม่ได้มาตรฐานก่อให้เกิดมลพิษสารเคมีอันตรายรั่วไหลปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำใต้ดินและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชุมชน ยื่นฟ้องหน่วยงานทั้งสองเมื่อเดือนมีนาคม 2558 ฐานละเลยหรือล่าช้าในการปฏิบัติหน้าที่ฟื้นฟูจัดการพื้นที่ปนเปื้อนมลพิษ การกำกับดูแลการประกอบกิจการโรงงาน และการเรียกเอาค่าใช้จ่ายในการจัดการบำบัดฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและค่าเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลายคืนจากผู้ก่อมลพิษ ()
- คดีนี้ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง
โดยสรุปว่า ภายหลังจากที่มีการร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาการแพร่กระจายมลพิษในพื้นที่ตำบลหนองแหน กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ดำเนินการตรวจสอบและใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 ออกคำสั่งระงับการประกอบกิจการโรงงานที่มีปัญหาไม่ได้มาตรฐานและก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยสั่งให้ทำการแก้ไขปรับปรุงและบำบัดฟื้นฟูจนได้มาตรฐานตามกฎหมายแล้ว กับทั้งยังได้ติดตามดำเนินคดีอาญากับเอกชนที่ลักลอบทิ้งน้ำเสียและกากของเสียอุตสาหกรรมด้วยแล้ว กรมโรงงานอุตสาหกรรมจึงมิได้ละเลยหรือล่าช้าเกินสมควรในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย
สำหรับกรมควบคุมมลพิษนั้น หลังจากที่ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนกรณีปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมในพื้นที่ตำบลหนองแหน ก็ได้เข้าดำเนินการตรวจสอบพื้นที่บ่อดิน 15 ไร่ที่มีปัญหาเพื่อเก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจสอบพบการปนเปื้อนสารฟีนอลสูงเกินค่ามาตรฐาน จึงประสานกับหน่วยงานท้องถิ่นให้แจ้งเตือนประชาชนหลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำจากบ่อน้ำตื้น กับทั้งได้ทำการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำใต้ดินในพื้นที่ตำบลหนองแหนหลายจุดเป็นระยะต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปี 2555 ถึงปี 2557 จนสามารถสรุปเบื้องต้นได้ว่าสถานการณ์ปนเปื้อนในน้ำใต้ดินกลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว กรมควบคุมมลพิษจึงมิได้ละเลยหรือล่าช้าเกินสมควรในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายเช่นกัน
และเมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าหน่วยงานทั้งสองมิได้ละเลยหรือล่าช้าเกินสมควรในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย จึงถือว่าหน่วยงานผู้ถูกฟ้องคดีมิได้มีการกระทำละเมิดและไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดี
- สำหรับในประเด็นว่าหน่วยงานทั้งสองละเลยหรือล่าช้าเกินสมควรในการปฏิบัติหน้าที่เรียกเอาค่าใช้จ่ายในการจัดการบำบัดฟื้นฟูแก้ไขการปนเปื้อนมลพิษที่ทางราชการได้เสียไปและค่าเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลายเสียหายคืนจากเอกชนผู้ก่อมลพิษหรือไม่นั้น
ศาลเห็นว่าเป็นเรื่องความรับผิดทางแพ่งของเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 96 และ 97 ซึ่งรัฐเท่านั้นที่เป็นผู้เสียหายที่สามารถใช้สิทธิเรียกร้องทางแพ่งให้มีการชดใช้คืนแก่รัฐได้ และมิใช่หน้าที่ทางปกครอง หากรัฐไม่ใช่สิทธิเรียกร้อง ศาลก็ไม่อาจพิพากษาบังคับให้รัฐใช้สิทธิเรียกร้องได้ ดังนั้นผู้ฟ้องคดีจึงไม่ใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายที่มีสิทธิฟ้องในประเด็นนี้
ภายหลังจากการฟังผลคำพิพากษา ชาวบ้านผู้ฟ้องคดีร่วมกับทีมนักกฎหมายจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม มีความเห็นว่า
ข้อเท็จจริงสถานการณ์ในพื้นที่ยังมีจุดเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการปนเปื้อนมลพิษจากอุตสาหกรรมลงสู่แหล่งน้ำอีกหลายจุด ซึ่งจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนตำบลหนองแหนโดยที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบและแก้ไข และประเด็นที่สำคัญคือจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการยืนยันรับรองความปลอดภัยในการใช้น้ำจากบ่อน้ำตื้น ซึ่งชุมชนยังต้องการให้มีการศึกษาประเมินและจัดการกับแหล่งกำเนิดมลพิษและพื้นที่ปนเปื้อนให้ครอบคลุมอย่างเป็นระบบตามมาตรฐานทางวิชาการ โดยยืนยันที่จะใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดต่อไป และมีข้อสังเกตในประเด็นที่ศาลวินิจฉัยตัดสิทธิของประชาชนในการเป็นผู้เสียหายกรณีรัฐละเลยไม่ทำหน้าที่เรียกเอาค่าใช้จ่ายในกระบวนการบำบัดฟื้นฟูและค่าเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมคืนจากผู้ก่อมลพิษ ว่าเป็นการตีความผูกขาดอำนาจการจัดการสิ่งแวดล้อมไว้ที่รัฐ และไม่ส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมหวงแหนรักษาสิ่งแวดล้อมและประโยชน์ส่วนรวมของสังคม
อ่านรายละเอียดคำพิพากษาฉบับเต็ม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
16 ม.ค.58 ชาวบ้านหนองแหนยื่นฟ้อง 2 หน่วยงานรัฐละเลยล่าช้าฟื้นฟูขจัดมลพิษ
13 มิ.ย. 62 นัดพิพากษาคดีปกครองชาวบ้านหนองแหน