สถานการณ์การเคลื่อนไหวการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนในด้านสิ่งแวดล้อม รอบเดือนธันวาคม ปีพุทธศักราช 2560

แม้ว่าสังคมไทยจะมีทัศนคติ ประสบการณ์ และความทรงจำที่ไม่ค่อยน่าจดจำนักเกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะ แต่ในทางการเมืองภาคประชาชนนั้น การชุมนุมสาธารณะนั้นเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในกิจกรรมหรือช่องทางสำคัญของภาคประชาชนคนธรรมดาที่ต้องการรวมตัวรวมกลุ่มกันใช้สิทธิส่งเสียงและสร้างพื้นที่สื่อสารความเดือดร้อนทั้งในเรื่องทางสิ่งแวดล้อมหรือประเด็นสาธารณะอื่นๆ ไปยังผู้มีอำนาจและผู้คนในสังคมให้หันมารับฟังและให้ความสนใจต่อข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม ที่มักถูกละเลยเพิกเฉยไปไม่ว่าจะเพราะความเป็นคนเล็กคนน้อยที่ไม่มีสถานะพิเศษทางสังคมหรือเพราะรัฐเห็นว่าเป็นข้อเรียกร้องที่ไม่มีความสำคัญซึ่งรัฐมองข้ามและไม่สอดคล้องกับสิ่งที่รัฐตัดสินใจไม่ว่าจะเป็นการเสนอโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐหรือออกกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนก็ตาม

เสรีภาพในการชุมนุมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในประเด็นสาธารณะที่สังคมประชาธิปไตยรับรองและคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 44 บัญญัติว่า
“บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ
การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น”
การบัญญัติให้อำนาจรัฐด้วยถ้อยคำที่ไม่ชัดเจน เช่น เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้น ก่อให้เกิดการตีความขยายอำนาจรัฐเพื่อตราหรือแก้ไขกฎหมายจำกัดเสรีภาพการชุมนุมที่เข้มงวดจนทำให้การใช้เสรีภาพของประชาชนในการจัดการชุมนุมสาธารณะนั้นทำได้อย่างยากลำบากและเป็นไปด้วยความหวาดกลัวว่าบุคคลที่ใช้เสรีภาพในการชุมนุมนั้นจะกระทำฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือไม่
จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาในช่วงเดือนพฤศจิกายนต่อเนื่องมาถึงเดือนธันวาคมสถานการณ์การใช้เสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน มีความเคลื่อนไหวในหลายๆประเด็นในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายใต้รัฐบาล คสช. ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมคัดค้านร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. …. หรือการสลายการชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาหรือกรณีที่ภาคประชาชนยื่นเรื่องคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ว่าคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2558 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนต่อเนื่องมาถึงเดือนธันวาคม ผู้เขียนจึงขอสรุปเหตุการณ์การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนและตั้งข้อสังเกตประมวลเหตุการณ์ในรอบเดือนที่ผ่านมา

         การสลายการชุมนุมโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา
วันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 ตำรวจใช้กำลังเข้าสลายกิจกรรมเดินเท้าของเครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน และจับกุมแกนนำไปอย่างน้อย 16 คน หลังเดินขบวนจากอ.เทพาตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 เพื่อเตรียมเข้ายื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่นำคณะรัฐมนตรีลงพื้นที่ภาคใต้ เพื่อการประชุม ครม. สัญจร จากการที่คณะรัฐมนตรี มีกำหนดประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย อำเภอเมืองสงขลา ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 ชาวเทพาและเครือข่ายจึงจัดกิจกรรมเดินเท้าจากพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าไปหานายกรัฐมนตรีในวันประชุม เพื่อสื่อสารต่อสาธารณะถึงความไม่เป็นธรรมที่ชาวบ้านได้รับจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่อ.เทพา จ.สงขลา และยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีถึงเหตุผลของชาวบ้านที่ไม่ต้องการโรงไฟฟ้าถ่านหิน  ทางตำรวจใช้กำลังเข้าจับกุม มีการทุบตี ทำให้ชาวบ้านได้รับบาดเจ็บหลายคน และมีผู้ถูกควบคุมตัวขึ้นรถตำรวจไปยัง สถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลา อย่างน้อย 16 คน[1] ทั้งที่มีการขออนุญาตชุมนุมแล้วอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีหลายองค์กรออกแถลงการณ์และข้อเรียกร้องไม่เห็นด้วยต่อการกระทำของรัฐในการใช้ความรุนแรงเพื่อสลายการชุมนุมต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจำนวนมาก

          การชุมนุมคัดค้านและเข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยุติร่าง พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ….
เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2560 เวลาประมาณ 10.00 น. ที่หน้าสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กลุ่มเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากกระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ประมาณ 20 คน รวมตัวกันอ่านแถลงการณ์ เรื่อง “ขอให้ยุติการเดินหน้าร่างกฎหมายสิ่งแวดล้อม” ที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. …. ฉบับดังกล่าว ที่ร่างโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อย่างช้าที่สุดวันที่ 2 ธันวาคม 2560
การรวมตัวแถลงการณ์ในวันนี้ของเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากทางเครือข่ายมองว่า ร่างนี้ไม่เอื้อประโยชน์ให้กับประชาชน โดยเฉพาะหมวดที่เกี่ยวกับการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA) และการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)
ร่างกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ส่งไปยัง สนช. มีเนื้อหาหลายข้อที่ถ้าผ่านเป็นกฎหมายจะเอื้อต่อการลงทุนมากเกินไปและทำให้มาตรการการป้องกัน แก้ไข ควบคุม ตรวจสอบ กำกับ ติดตามคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่จะส่งผลต่อชีวิตประจำวันของผู้คนเลวร้ายลง จึงเป็นเหตุให้ภาคประชาชนไม่สามารถยอมรับร่างกฎหมายฉบับนี้ได้[2]
ประเด็นสำคัญของร่างกฎหมายนี้ คือ การนำหลักการจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2559 ที่ออกตามมาตรา 44 ที่ระบุว่า ให้เจ้าของโครงการสามารถเปิดประมูลโครงการก่อนการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมได้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนจากภาคเอกชน นอกจากนี้ การร่างกฎหมายนี้ยังขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นเจ้าของปัญหา[3]
ต่อมาในวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2560 ที่ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล กลุ่มเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยุติร่าง พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. …. ฉบับ คสช. ที่คณะรัฐมนตรีส่งให้ สนช. เป็นร่างกฎหมายที่ไม่ผ่านการจัดทำตามมาตรา 77[4]  คือขาดการมีส่วนร่วมในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียอย่างครอบคลุมตั้งแต่เริ่มกระบวนการ และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 58[5]  ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ในการปฏิรูปรายงานการ EIA และรายงาน EHIA และยังมีการบรรจุเนื้อหาตามคำสั่งคสช.ที่ 9/2559 ออกโดยอาศัยมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญในเนื้อหาของหมวดประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
ภาคประชาชนได้ได้มีความพยายามยื่นข้อเสนอต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำร่างกฎหมาย คือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด แต่ไม่ได้ถูกบรรจุเป็นเนื้อหาในร่างกฎหมายแต่อย่างใด จึงมีข้อเสนอคือต้องมีการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อยกร่างกฎหมายใหม่ ที่มีตัวแทนภาครัฐและประชาชนในสัดส่วนที่เท่ากันรวมถึงหลักการใดๆจะต้องผ่านการเห็นชอบร่วมกันทั้งสองฝ่าย[6]

         ภาคประชาชนยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยคำสั่งหัวคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 ข้อ 6 และข้อ 12  รวมถึงการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยตามคำสั่งดังกล่าว ว่าละเมิดสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของประชาชนหรือไม่
เครือข่ายนักกิจกรรมและภาคประชาชน จำนวนกว่า 20 คน ได้รวมตัวกันเดินทางเข้ายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2560 ให้วินิจฉัยคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 6 และข้อ 12[7] รวมถึงการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยตามคำสั่งดังกล่าวว่าละเมิดสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของประชาชนหรือไม่ โดยเป็นการยื่นคำร้องตามช่องทางในมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เปิดโอกาสให้บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง
เนื้อหาส่วนหนึ่งในการยื่นคำร้องของทางเครือข่ายระบุว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวบุคคลโดยที่ไม่จำเป็นต้องมีหมายศาล อันเป็นการจำกัดสิทธิในชีวิตและร่างกายของบุคคลโดยผิดเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งสร้างภาระให้กับการใช้สิทธิในการชุมนุนของบุคคลมากเกินไป เพราะในปัจจุบันมีกฎหมายที่จำกัดสิทธิดังกล่าวจำนวนมากอยู่แล้ว[8]การยื่นคำร้องขอยกเลิก ขอให้ศาลวินิจฉัยว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นคำสั่งที่กระทบเสรีภาพในการชุมนุม ซึ่งเป็นหนึ่งในเสรีภาพที่สำคัญที่ประชาชนพึงมีเพื่อลุกขึ้นเรียกร้องผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้ในวันที่รัฐไม่ตอบสนองเจตนารมณ์ประชาชนและกลายเป็นผู้กดขี่ประชาชนแล้ว เสรีภาพในการชุมนุมยังเป็นหลักยืนยันอำนาจในการจัดการตนเองของประชาชน[9] ตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 44 รับรองไว้
คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 กลายเป็นเครื่องมือสำคัญของเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงในการปราบปรามประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจรัฐที่ออกมาแสดงการคัดค้านหรือโต้แย้ง แม้ว่าพวกเขาเหล่านั้นจะชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธก็ตาม[10] การที่รัฐธรรมนูญจะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพหรือไม่นั้น เพียงตัวบทบัญญัติไม่อาจก่อให้เกิดการคุ้มครองเสรีภาพได้ในทางปฏิบัติ หากแต่ต้องอาศัยองค์กรตามรัฐธรรมนูญในการบังคับใช้บทบัญญัติให้เป็นไปในทางที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพด้วย ดังนั้นการยื่นคำร้องครั้งนี้จะเป็นการพิสูจน์ว่าองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ จะปฏิบัติหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้เป็นไปตามที่รัฐรรมนูญบัญญัติไว้ได้จริงหรือไม่[11]
การมายื่นคำร้องในครั้งนี้เพื่อพิสูจน์ด้วยว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และองค์กรตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวนั้นพร้อมที่จะพิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชน หรือเอื้อผลประโยชน์แก่คณะรัฐประหารและพวกพ้องมากกว่ากัน ซึ่งหากเป็นอย่างหลัง ก็เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้สมควรต้องถูกเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกไปเสีย[12]

          ข้อสังเกตต่อเหตุการณ์ทั้งสามกรณี
จากกรณีดังกล่าวจะเห็นได้ว่าภาคประชาชนได้ใช้เสรีภาพในการชุมนุมเคลื่อนไหวประเด็นด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่การใช้เสรีภาพดังกล่าวกลับถูกรัฐบาลเข้ามาจำกัดการใช้เสรีภาพดังกล่าว อีกทั้งการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ ไม่ได้รับความเป็นธรรมในหลายเรื่อง เช่นกรณีสลายการชุมนุมโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา หรือการชุมนุมจากกิจกรรมรำลึก 1 ปีรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2558 ที่บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร มีการใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ในการห้ามดำเนินกิจกรรมและก็ใช้ตำรวจทหารมาสกัดกั้น ใช้กำลังจับกุมบุคคลไปกักขังโดยไม่ได้มีหมายศาล โดยประชาชนมีสิทธิลุกขึ้นมาเรียกร้องปกป้องสิทธิของตัวเอง[13]
เสรีภาพในการชุมนุมมีความสําคัญยิ่ง เพราะเป็นเสรีภาพที่ยืนยันถึงอํานาจของประชาชนในการกําหนดชะตากรรมตนเอง โดยปกติประชาชนไม่จำเป็นต้องใช้เสรีภาพนี้เนื่องจากรัฐได้ทำหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และตอบสนองเจตนารมณ์ของประชาชนอย่างที่ควรเป็นอยู่แล้ว แต่หากเมื่อใดที่รัฐไม่ยอมทําหน้าที่ของตน เปลี่ยนสถานะจากผู้รับใช้เป็นผู้กดขี่แล้ว ประชาชนย่อมต้องสามารถลุกขึ้นมาเรียกร้องผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้ของตัวเองได้  นั่นคือสาเหตุที่ประชาชนจําเป็นต้องมีเสรีภาพในการชุมนุมเพื่อเป็นหลักประกันว่าประชาชนจะยังคงสามารถดําเนินการ ให้เป็นไปตามสิทธิของตนได้[14]
อีกทั้งจะถือว่าเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกันกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในเมื่อมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้บุคคลมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ แต่คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ห้ามมิให้ผู้ใดมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป เว้นแต่จะได้รับอนุญาต จากกรณีจะสามารถสรุปได้ว่า การชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษ และความเสียหายแก่ชุมชน ทรัพยากรธรรมชาตินั้น เป็นเรื่องที่ถือว่าเป็นการชุมนุมทางการเมือง หรือเป็นกรณีที่ถึงขั้นเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐขนาดนั้นเลยหรือ
ทั้งนี้ตามหลักนิติรัฐไม่มีอำนาจใดที่ถูกตรวจสอบไม่ได้ภายใต้นิติรัฐ ตามหลักนิติรัฐนั้นหมายถึงการปกครองภายใต้กฎหมาย โดยผู้อยู่ภายใต้หรือผู้ปกครองจะต้องเคารพกฎหมาย มิใช่แล้วแต่อำเภอใจของผู้ใช้อำนาจหรือ “ผู้ปกครอง”และอย่างไรก็ดีกฎหมายนั้นจะต้องไม่ขัดต่อกฎหมายสูงสุด
บรรดากฎหมายทั้งหลายที่องค์กรของรัฐ ฝ่ายนิติบัญญัติได้ตราขึ้นจะต้องชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายที่ให้อำนาจแก่องค์กรของรัฐฝ่ายบริหารล่วงล้ำเข้าไปในแดนแห่งสิทธิและเสรีภาพของราษฎรนั้นจะต้องมีข้อความระบุไว้อย่างชัดเจนพอสมควรว่าให้องค์กรของรัฐฝ่ายบริหาร องค์กรใดมีอำนาจล่วงล้ำเข้าไปในแดนแห่งสิทธิเสรีภาพของราษฎรได้ในกรณีใดและภายในขอบเขตอย่างไร และกฎหมายดังกล่าวจะต้องไม่ให้อำนาจแก่องค์กรของรัฐฝ่ายบริหารล่วงล้ำเข้าไปในแดนแห่งสิทธิเสรีภาพของราษฎรเกินขอบเขตแห่งความจำเป็นเพื่อธำรงรักษาผลประโยชน์สาธารณะ[15] การควบคุมไม่ให้การกระทำของฝ่ายบริหารขัดต่อกฎหมาย การควบคุมไม่ให้กฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญ จะต้องเป็นหน้าที่ของฝ่ายตุลาการซึ่งมีความเป็นอิสระ
ดังนั้นจากเหตุการณ์ดังกล่าวการที่ภาคประชาชนได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยกรณีดังกล่าวนั้นจึงเป็นการใช้สิทธิของประชาชนเพื่อยืนยันว่าศาลรัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็นองค์กรตุลาการ ย่อมมีอำนาจในการตรวจสอบการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญรวมถึงบรรดาคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพื่อดำรงไว้ซึ่งหลักนิติรัฐ
จากการประมวลเหตุการณ์ที่ผ่านมาในรอบเดือนธันวาคม จะเห็นได้ว่าในสถานการณ์ที่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดด้านเสรีภาพในการชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นการกระทำของรัฐที่อาศัยอำนาจตาม คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม เข้ามาจำกัดการใช้เสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน เหตุการณ์เหล่านี้ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และน่าติดตามว่าบุคคลหรือชุมชนจะถูกจำกัดสิทธิหรือจะมีการใช้สิทธิตามกลไกไหนบ้าง
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นต่อจากนี้จะเป็นอย่างไรรัฐบาลจะมีท่าทีต่อการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนในเรื่องอื่นๆที่จะเกิดขึ้นในภายภาคหน้าอย่างไร ทางภาคประชาชนต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
โปรดติดตามอ่านบทความสถานการณ์การเคลื่อนไหวการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนในด้านสิ่งแวดล้อมรอบเดือนมกราคมในปีพุทธศักราช 2561 ต่อไปในบทความหน้าที่จะถึงนี้

อ้างอิง
[1] อ้างอิงจาก facebook “ilaw” สืบค้นจากเว็บไซต์ : https://www.facebook.com/iLawClub/posts/10159731945865551?hc_location=uf , สืบค้นเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2561
[2] อ้างอิงจากสำนักข่าวประชาไท สืบค้นจากเว็บไซต์ : https://prachatai.com/journal/2017/12/74464 , สืบค้นเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2561
[3] อ้างอิงจาก facebook “ilaw” สืบค้นจากเว็บไซต์ https://www.facebook.com/iLawClub/posts/10159668987660551?hc_location=ufi , สืบค้นเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2561
[4] มาตรา 77    รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จําเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจําเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดํารงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และดําเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่าง ๆได้โดยสะดวกและสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่ายเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง
ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนํามาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอนเมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว รัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกรอบระยะเวลาที่กําหนดโดยรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย เพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป
รัฐพึงใช้ระบบอนุญาตและระบบคณะกรรมการในกฎหมายเฉพาะกรณีที่จําเป็น พึงกําหนดหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐและระยะเวลาในการดําเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายให้ชัดเจน และพึงกําหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง
[5] มาตรา 58 การดําเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดําเนินการ ถ้าการนั้นอาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสําคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง รัฐต้องดําเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อนํามาประกอบการพิจารณาดําเนินการหรืออนุญาตตามที่กฎหมายบัญญัติ
บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คําชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐก่อนการดําเนินการหรืออนุญาตตามวรรคหนึ่ง
ในการดําเนินการหรืออนุญาตตามวรรคหนึ่ง รัฐต้องระมัดระวังให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ชุมชน สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพน้อยที่สุด และต้องดําเนินการให้มีการเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายให้แก่ประชาชนหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรมและโดยไม่ชักช้า
[6] อ้างอิงจากสำนักข่าวมติชน สืบค้นจากเว็บไซต์ : https://www.matichon.co.th/news/756681 , สืบค้นเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2561
[7] สำหรับข้อ 6 ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารเรียกตัวบุคคลมาสอบปากคำและควบคุมตัวไว้ได้นานสุดถึง 7 วันโดยไม่ต้องมีคำสั่งหรือหมายของศาล
ส่วนข้อ 12 ได้กำหนดห้ามการชุมนุมทางการเมืองเป็นจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป มีระวางโทษจำคุกสูงสุด 6 เดือน ปรับสูงสุด 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[8] อ้างอิงจากสำนักข่าว green news สืบค้นจากเว็บไซต์ : https://greennews.agency/?p=16103 , สืบค้นเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2561
[9] อ้างอิงจากสำนักข่าว ประชาไท สืบค้นจากเว็บไซต์ : https://prachatai.com/journal/2017/12/74634 , สืบค้นเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2561
[10]อ้างอิงจากสำนักข่าว voicetv สืบค้นจากเว็บไซต์ : https://voicetv.co.th/read/SJj0MG8zz , สืบค้นเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2561
[11]อ้างอิงจากสำนักข่าว voicetv สืบค้นจากเว็บไซต์ : https://voicetv.co.th/read/SJj0MG8zz , สืบค้นเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2561
[12] อ้างอิงจาก The Standard สืบค้นจากเว็บไซต์ : https://www.facebook.com/thestandardth/photos/a.1725541161072102.1073741828.1683658098593742/1806596149633269/?type=3&theater , สืบค้นเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2561
[13] อ้างอิงจากสำนักข่าว เดลินิวส์ สืบค้าจากเว็บไซต์ : https://www.dailynews.co.th/politics/616808 , สืบค้นเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2561
[14] อ้างอิงจากสำนักข่าว ประชาไท สืบค้นจากเว็บไซต์ : https://prachatai.com/journal/2017/12/74634 , สืบค้นเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2561
[15] อ้างอิงจาก Wikipedia สืบค้นจากเว็บไซต์ : https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90 , สืบค้นเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2561

บทความที่เกี่ยวข้อง