ไม่รับฟ้องเพิกถอนคำสั่ง คสช. 4/2559 ยกเว้นผังเมือง ศาลปกครองชี้ไม่มีอำนาจตรวจสอบ รธน. มาตรา 44

ศาลปกครองสูงสุดสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาคดีเครือข่ายภาคประชาชนยื่นฟ้องเพิกถอนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 4/2559 ยกเว้นผังเมืองสำหรับกิจการพลังงานและการจัดการขยะ ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน – ศาลชี้คำสั่งออกโดยอำนาจรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 44 ถือว่าชอบด้วยกฎหมายและเป็นที่สุด ศาลปกครองไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบ – ทนายชวนตั้งคำถาม “เราจะปล่อยให้สังคมไทยมีการใช้อำนาจรัฐที่ตรวจสอบไม่ได้แบบนี้หรือ”

 

สืบเนื่องจากที่ทางเครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัด ร่วมกับมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ได้ยื่นฟ้องหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2559 ขอให้ตรวจสอบทบทวนและเพิกถอนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 4/2559 เรื่องการยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท (กิจการด้านพลังงานและการจัดการขยะ) ด้วยเห็นว่าเป็นการใช้อำนาจออกคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและไม่เคารพต่อเจตจำนงของประชาชนที่แสดงออกผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมในการวางและจัดทำผังเมือง เป็นการเปิดทางให้มีการดำเนินโครงการที่มีความเสี่ยงก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในพื้นที่ไม่เหมาะสมได้ ซึ่งขัดแย้งต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายผังเมืองในการกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินให้สอดคล้องกับความเหมาะสมและศักยภาพของพื้นที่ และแม้คำสั่งดังกล่าวจะออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ซึ่งบัญญัติให้การออกประกาศคำสั่งหรือการใช้อำนาจใดๆ ตามมาตรา 44 ถือว่าชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุดก็ตาม แต่เครือข่ายภาคประชาชนและมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม เห็นว่า “อำนาจรัฐที่ละเมิดสิทธิประชาชนต้องถูกควบคุมและตรวจสอบได้เสมอ” ตามหลักนิติรัฐและการถ่วงดุลตรวจสอบการใช้อำนาจ

 

 

          อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2559 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา โดยศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยโดยสรุปว่า แม้เนื้อหาของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 มีสถานะเป็นกฎที่ออกโดยคณะรัฐมนตรีหรือโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ซึ่งโดยทั่วไปอยู่ในอำนาจของศาลปกครองสูงสุด (ตามมาตรา 3 และมาตรา 11 (2) พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542) แต่เนื่องจากการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ดังกล่าว อาศัยอำนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 44 มิได้ออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง ประกอบกับรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 44 บัญญัติให้คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ออกมาถือว่าชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุด ศาลปกครองสูงสุดจึงไม่อาจรับคำฟ้องไว้พิจารณาเพื่อควบคุมตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งดังกล่าวได้

 
          ต่อกรณีคำสั่งไม่รับฟ้องของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว นายสุรชัย ตรงงาม เลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) และทนายความผู้รับมอบอำนาจผู้ฟ้องคดี มีความเห็นว่า
           1.  หากคำสั่งศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้คือทิศทางคำวินิจฉัย อาจแปลความได้ว่า ศาลปกครองจะไม่ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่ง คสช. ที่ออกตามาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฯ (ชั่วคราว) พ.ศ.2557 ในทุกกรณี แม้คำสั่ง คสช. ตามมาตรา 44 ดังกล่าวอาจจะเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยไม่เป็นธรรม คำถามคือเราจะปล่อยให้สังคมไทยมีการใช้อำนาจรัฐที่ตรวจสอบไม่ได้ และเราจะยอมรับกระบวนการยุติธรรมที่หลับตาให้กับความเป็นธรรมแบบนี้หรือไม่
 
          2.  เมื่อพิจารณาว่า นอกจากศาลปกครอง ศาลใดมีเขตอำนาจตรวจสอบคำสั่ง คสช. ที่ออกโดยอาศัยรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 44  พบว่ามีปัญหาที่รัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 จำกัดการตรวจสอบไว้คือ รัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ภายใต้บังคับมาตรา 5 และ มาตรา 44 ให้ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยปัญหาว่า กฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่ ซึ่งหมายความว่า  ศาลรัฐธรรมนูญถูกตัดอำนาจการตรวจสอบหรือรับฟ้องหากเป็นการออกคำสั่ง คสช. ตามมาตรา 44  นอกจากนี้ หากพิจารณาเฉพาะประเด็นคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 การยกเว้นการบังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองมีสถานะเป็นกฎ ไม่ใช่กฎหมายในระดับพระราชบัญญัติตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ.2550 ข้อ 21 วรรคหนึ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับวินิจฉัยได้
          สำหรับศาลยุติธรรมซึ่งปกติไม่มีอำนาจในการพิจารณาคดีที่ฟ้องเพิกถอนกฎที่ออกโดยหน่วยงานรัฐ หากตีความว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 เป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 44 ศาลยุติธรรมจะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือไม่ ยังเป็นปัญหาและยังไม่เห็นแนวการตีความรับพิจารณาเรื่องนี้มาก่อน
 
           3.  การจะพิจารณาว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุดหรือไม่ ตามคำวินิจฉัยอย่างน้อยควรต้องพิจารณาว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 ออกมาโดยมีเงื่อนไขการใช้อำนาจถูกต้องเพื่อการปฏิรูปความสามัคคีสมานฉันท์ ป้องกันปราบปรามการกระทำทำลายความสงบเรียบร้อยความมั่นคงตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 44 หรือไม่ ซึ่งศาลปกครองสูงสุดก็มิได้วินิจฉัยเงื่อนไขการใช้อำนาจดังกล่าวให้ชัดเจนแต่กลับหยิบยกเหตุดังกล่าวมาเป็นส่วนหนึ่งในการไม่รับฟ้องไว้พิจารณา ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการตีความประหลาดได้ว่า คสช. ออกคำสั่งอะไรก็ได้โดยอาศัยอำนาจรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 44 ถือว่าถูกต้องเสมอ โดยไม่มีขอบเขตจำกัดใดๆ ที่ควรตรวจสอบได้ตามหลักกฎหมาย
 

อ่านข่าวและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

ข่าวสารที่เกี่ยวข้อง
ติดตามเราในช่องทาง Social
ข่าวสารล่าสุด