แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว เครือข่ายร่วมพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะแนวใหม่ ร่วมกับ โรงพยาบาลทองผาภูมิลงสำรวจสุขภาวะชาวบ้านคลิตี้ล่าง

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว เครือข่ายร่วมพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะแนวใหม่

 ร่วมกับ โรงพยาบาลทองผาภูมิลงสำรวจสุขภาวะชาวบ้านคลิตี้ล่าง

 

8 กันยายน 2556

รายงานโดย มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

เมื่อวันที่ 6-8 ก.ย. มูลนิติธรรมสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมกับ เครือข่ายพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะ  คณะแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว  โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทย์จากโรงพยาบาลทองผาภูมิ กลุ่มดินสอสี  และกรีนพีช เอเชียตะวันออกเฉียงใต้  เพื่อลงหมู่บ้านคลิตี้ล่าง ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี 
การลงหมู่บ้านในครั้งนี้เกิดขึ้นเนื่องจาก พญ.ฉันทนา ผดุงทศ จากสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม   พญ.สายพิณ หัตถีรัตน์ จากโรงพยาบาลรามาธิบดี  และมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม เห็นร่วมกันว่า จากปัญหาการปนเปื้อนของสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ ที่หมู่บ้านคลิตี้ล่าง ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ราว พ.ศ. 2540 และได้นำไปสู่ความเจ็บป่วยทั้งคนและสัตว์ เป็นกรณีตัวอย่างของปัญหาสุขภาพในพื้นที่สิ่งแวดล้อมปนเปื้อนสารพิษ ที่ชัดเจน และจนถึงปัจจุบัน ยังคงมีตะกั่วอยู่ในลำห้วยคลิตี้ ดังตามที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษา ให้กรมควบคุมมลพิษ เข้าไปฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้และติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 56
และแม้ทางด้านสาธารณสุขแม้จะยังไม่เกิดกลไกใหม่ๆที่จะแก้ไขปัญหาสุขภาพในพื้นที่สิ่งแวดล้อมปนเปื้อนมลพิษ แต่การเข้าไปถอดบทเรียนเพื่อให้รู้ว่าอะไรคือปัจจัยความเสี่ยงต่อสุขภาพชาวบ้านในปัจจุบันก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการขับเคลื่อนงานการแก้ไขปัญหา หรือเยียวยาฟื้นฟูสุขภาพ ของชาวบ้านคลิตี้ได้ต่อไป
และนั่นจึงเป็นแนวคิดที่ทำให้เกิดการความร่วมมือและการลงหมู่บ้านคลิตี้ล่างร่วมกันในครั้งนี้
 
พวกเรามาทำอะไรกัน
วันที่ 6 ก.ย. เครือข่ายพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กลุ่มดินสอสี  และกรีนพีช เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เดินทางเข้าถึงหมู่บ้านในช่วงเย็น หลังจากรับประทานอาหารเย็นร่วมกัน เราจึงล้อมวงพูดคุย เพื่อทำความรู้จักกัน และถ่ายทอดประสบการณ์ของแต่ละท่านที่เคยรับรู้หรือเกี่ยวข้องกับปัญหาคลิตี้ นอกจากนี้เราได้ร่วมกันวางแผนกิจกรรมของวันต่อไป
 

25570610_3       25570610_4

จะเยี่ยมบ้านอย่างไรให้ครอบคลุมทั้งหมู่บ้าน 
วันที่ 7 ก.ย.   ช่วงเช้าในระหว่างที่รอ ทีมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และโรงพยาบาลทองผาภูมิเดินทางเข้ามาสมทบ  เราได้ล้อมวงคุยร่วมกับชาวบ้าน ที่ศาลาวัดคลิตี้ล่าง เพื่อแนะนำตัวให้ชาวบ้านได้รู้จักและชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ของการเดินทางมาครั้งนี้   หลังจากนั้นทางมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมได้รายงานความคืบหน้าของการติดตามการบังคับคดี ว่า กรมควบคุมมลพิษกำลังจัดทำโครงการเพื่อจัดจ้างนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อให้เข้ามาศึกษาเรื่องการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ นอกจากนี้เราได้วางแผนร่วมกับชาวบ้านว่าจะเดินทางเยี่ยมชาวบ้านได้อย่างไรจึงจะครอบคลุมมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยได้ใช้แผนที่หมู่บ้านที่คุณจีรนันท์ บรรเทาทุกข์ นักศึกษาปริญญาโทได้ทำไว้เมื่อปี 2547 มาประกอบการวางแผน จนสุดท้ายเราจึงได้ข้อสรุปว่า การเดินทางเยี่ยมชาวบ้านจะแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม   หลังจากนั้นเราจึงออกเดินทางสำรวจตามพื้นที่ที่ได้จัดแบ่งไว้
 
25570610_5
เมื่อทีมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และจากโรงพยาบาลทองาภูมิเดินทางมาถึง เราจึงล้อมวงคุยเพื่อรวมทีมและกระจายคนไปตามกลุ่มต่างๆอีกครั้ง
 

25570610_6      25570610_7

และหลังจากแบ่งกลุ่มกันครั้งนี้ เราจึงแยกย้ายกันออกเดินทางเยี่ยมชาวบ้าน และนัดหมายที่จะกลับมารวมตัวกันที่เรือนพักในตอนเย็น
 
25570610_8
ช่วงกลางคืน เราได้ล้อมวงคุยกันเพื่อรายงานข้อมูลที่แต่ละกลุ่มได้จากการเยี่ยมบ้าน  และประมวลเข้าด้วยกันเพื่อประเมินว่าปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพของชาวบ้านในปัจจุบันคืออะไร  และแนวทางป้องกันและแก้ไขคืออะไร พร้อมทั้งวางแผนการพูดคุยกับชาวบ้านในวันรุ่งขึ้นต่อไป
 

25570610_9     25570610_10

คืนข้อมูลให้ชาวบ้าน รู้ภัยความเสี่ยงเพื่อป้องกันตนเอง 
วันที่ 8 ก.ย. เราได้ตั้งวงคุยกับชาวบ้านที่ศาลาวัดคลิตี้ล่าง โดย พญ.สายพิณ หัตถีรัตน์ ได้เป็นตัวแทนในการนำเสนอข้อค้นพบที่ได้จากการออกเยี่ยมชาวบ้านของทีมแพทย์ ว่า ความเสี่ยงที่กำลังคุกคามสุขภาพของชาวบ้านคือ 1. การป่วยเป็นโรคมาลาเรีย เพราะจากการสอบถามจึงพบว่าชาวบ้านเจ็บป่วยด้วยโรคนี้เกือบทุกบ้านและเจ็บป่วยกันหลายครั้งต่อปี 2. อันตรายจากการใช้สารเคมีเพื่อทำการเกษตร เนื่องจากมีการใช้สารเคมีเพื่อทำการเกษตรปริมาณมาก และที่สำคัญชาวบ้านยังมีความเชื่อที่ผิดและไม่ป้องกันตนเองจากสารเคมีอย่างเพียงพอ
ด้าน  นพ. สุทนต์ พิมพ์อ่อน จากโรงพยาบาลทองผาภูมิกล่าวว่า การเดินทางเข้าหมู่บ้านคลิตี้ในครั้งนี้เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการทำงาน เพราะทำให้รู้ว่าควรจะต้องทำอะไรเพิ่มเติมบ้างเพื่อให้ชาวบ้านได้เข้าถึงบริการด้านสุขภาพ โดยหลังจากนี้จะนำเรื่องการจัดรถบริการเคลื่อนที่มาถึงที่ เกริงกระเวียเข้าปรึกษากับผู้บริหารของโรงพยาบาล พร้อมแนะนำให้ชาวบ้านที่มีรถยนต์และมีความพร้อมสมัครเข้าเป็นอาสาสมัครป่อเต็กตึ๊งกับโรงพยาบาล เพราะจะสามารถเบิกค่าเดินทางบางส่วนกับโรงพยาบาลได้ ส่วนเรื่องเครื่องตรวจครรภ์และตรวจโรคมาลาเรียที่ชาวบ้านอยากมีไว้ใช้ในหมู่บ้าน จะนำไปประสานงานกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป
 

25570610_11      25570610_12

หลังจากร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกับชาวบ้านเสร็จเราจึงได้กลับไปเก็บของที่เรือนพักและถ่ายภาพหมู่ร่วมกัน
 
การลงหมู่บ้านคลิตี้ร่วมกันครั้งนี้ เกิดขึ้นได้ เพราะบุคลากรด้านสาธารณสุขที่ทำงานเพื่อปกป้องและรักษาสุขภาพมาอย่างยาวนาน  ได้ยึดมั่นในเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ร่วมกัน ว่าการดูแลและรักษาสุขภาพของประชาชนในพื้นที่สิ่งแวดล้อมปนเปื้อน เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม และถึงแม้แต่ละท่านจะมีความเชี่ยวชาญและเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกัน แต่ความสำเร็จจากการทำงานร่วมกันจนถึงวันสุดท้ายก็สะท้อนให้เห็นว่ามิได้เป็นอุปสรรคแต่อย่างใดเลย  
 

clity6-8august2013

โหลดเอกสารได้ที่นี่

 

ข่าวสารที่เกี่ยวข้อง
ติดตามเราในช่องทาง Social
ข่าวสารล่าสุด