เสรีภาพการชุมนุมในร่างรัฐธรรมนูญ: เพราะกว้างขึ้น…จึงแคบลง

*งานเขียนนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดงานเขียนวิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ในหัวข้อ “จาก 2550 สู่ 2559:
อ่านร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ผ่านแว่นตาประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ และความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม” โดย
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)

——————————————————————


ม้ว่าสังคมไทยจะมีทัศนคติ ประสบการณ์ และความทรงจำที่ไม่ค่อยน่าจดจำนักเกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะ แต่ในทางการเมืองภาคประชาชนนั้น การชุมนุมสาธารณะนั้นเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในกิจกรรมหรือช่องทางสำคัญของภาคประชาชนคนธรรมดาที่ต้องการรวมตัวรวมกลุ่มกันใช้สิทธิส่งเสียงและสร้างพื้นที่สื่อสารความเดือดร้อนทั้งในเรื่องทางสิ่งแวดล้อมหรือประเด็นสาธารณะอื่นๆ ไปยังผู้มีอำนาจและผู้คนในสังคมให้หันมารับฟังและให้ความสนใจต่อข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม ที่มักถูกละเลยเพิกเฉยไปไม่ว่าจะเพราะความเป็นคนเล็กคนน้อยที่ไม่มีสถานะพิเศษทางสังคมหรือเพราะรัฐเห็นว่าเป็นข้อเรียกร้องที่ไม่มีความสำคัญและไม่สอดคล้องกับสิ่งที่รัฐตัดสินใจก็ตาม
เสรีภาพการชุมนุมจึงเป็นอีกหนึ่งเสรีภาพสำคัญในฐานะกลไกสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในประเด็นสาธารณะที่รัฐประชาธิปไตยต้องให้การรับรองคุ้มครองให้สามารถกระทำได้อย่างสมดุลกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นที่อาจได้รับผลกระทบจากการจัดการชุมนุม โดยในเรื่องนี้รัฐธรรมนูญ 2550 บัญญัติไว้ในมาตรา 63 ความว่า
                  “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ
                   การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงครามหรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก”   
อันจะเห็นได้ว่าตามหลักการเดิมนั้น ในสภาวะปกติรัฐจะตราและบังคับใช้กฎหมายเพื่อจำกัดเสรีภาพการชุมนุมสาธารณะได้ก็แต่เพียงเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะเท่านั้น เนื่องจากโดยสภาพของกิจกรรมการชุมนุมนั้นย่อมเป็นการรวมตัวของคนจำนวนมากที่ออกมาร่วมกันเรียกร้องสิทธิหรือรณรงค์สื่อสารต่อสาธารณะอันอาจทำให้บุคคลอื่นไม่ได้รับความสะดวกไปบ้างอย่างไรก็ตาม บุคคลที่ต้องการใช้เสรีภาพการชุมนุมก็มีหน้าที่ความรับผิดชอบตามหลักการทั่วไปที่จะต้องไม่ใช้สิทธิเสรีภาพของตนไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น โดยเฉพาะในเรื่องสวัสดิภาพความปลอดภัยในชีวิตร่างกายและทรัพย์สิน
DraftCon-FreedomAssembly
แต่สำหรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามตินั้น มีการกำหนดกรอบการใช้อำนาจที่ทำให้รัฐสามารถตรากฎหมายจำกัดเสรีภาพการชุมนุมได้กว้างขวางขึ้นกว่าเดิม โดยมาตรา 44 บัญญัติว่า
                  “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ
                  การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น
ตามร่างรัฐธรรมนูญนี้จึงมีข้อสังเกตที่น่าห่วงกังวลว่า การบัญญัติเพิ่มอำนาจรัฐด้วยถ้อยคำที่ไม่ชัดเจน เช่น เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน นั้น จะก่อให้เกิดการตีความขยายอำนาจรัฐเพื่อตราหรือแก้ไขกฎหมายจำกัดเสรีภาพการชุมนุมที่เข้มงวดจนทำให้การใช้เสรีภาพของประชาชนในการจัดการชุมนุมสาธารณะนั้นทำได้อย่างยากลำบากและเป็นไปด้วยความหวาดกลัวว่าจะฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือไม่
อนึ่ง ปัจจุบันมีกฎหมายและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพการชุมนุมใช้บังคับอยู่ 2 ฉบับทับซ้อนกัน คือ พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ที่ว่าด้วยการกำหนดเงื่อนไขรายละเอียดเรื่องสถานที่และลักษณะการชุมนุม และขั้นตอนการจัดการชุมนุมสาธารณะ  และอีกฉบับคือ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ข้อ 12 ที่ห้ามการมั่วสุมชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปในทุกกรณี และใช้ศาลทหารในการพิจารณาคดีลงโทษผู้ฝ่าฝืน ดังที่ปรากฏเป็นข่าวเกี่ยวกับปัญหาการตีความบังคับใช้คำสั่งข้อนี้อย่างกว้างขวางในการจับกุมดำเนินคดีกับประชาชนทั้งที่เป็นการใช้เสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งในส่วนของคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 นี้เองจะเป็นคำสั่งที่มีผลใช้บังคับอยู่ต่อไปเรื่อยๆ แม้จะมีรัฐธรรมนูญและรัฐบาลใหม่ จนกว่า คสช. จะมีคำสั่งยกเลิก หรือรัฐสภาออกกฎหมายมายกเลิก ทั้งนี้ เป็นไปตามบทเฉพาะกาล มาตรา 279 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ
 
 

———————————————————————————————

*บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดงานเขียนวิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ในหัวข้อ “จาก 2550 สู่ 2559: อ่านร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ผ่านแว่นตาประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ และความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม” อัน เนื่องมาจากในวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม 2559 ที่จะถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ ประชาชนคนไทยมีวาระทางการเมืองการปกครองครั้งใหญ่ที่จะได้ไปร่วมใช้สิทธิออก เสียงลงประชามติ (Referendum) ว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ยกร่างโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นำโดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ (เผยแพร่เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 ดาวน์โหลดร่างรัฐธรรมนูญฉบับเต็มได้ที่: http://goo.gl/hT6t1j)
ดัง นั้น เพื่อให้การลงประชามติเกิดขึ้นด้วยความเข้าใจในเนื้อหาและผลลัพธ์ของร่างรัฐ ธรรมนูญ และเพื่อสนับสนุนส่งเสริมการศึกษาวิเคราะห์และแสดงความคิดเห็นอย่างเปิด กว้างและรอบด้าน มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ใน ฐานะองค์กรภาคประชาสังคมที่ได้มีโอกาสหยิบยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญขึ้น ใช้ในการทำงานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย และเสริมสร้างศักยภาพของประชาชนในการใช้และเข้าถึงสิทธิเสรีภาพและความ ยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม จึงขอมีส่วนร่วมคิดวิเคราะห์แสดงความคิดเห็น และตั้งข้อสังเกตต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550  (รัฐธรรมนูญฯ 2550) ผ่านมุมมองหลังเลนส์แว่นตาประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ และความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม นำเสนอต่อสาธารณะไว้เพื่อประกอบการคิดตัดสินใจก่อนเข้าคูหาไปใช้สิทธิลง ประชามติกันในวันที่ 7 สิงหาคม 2559
 

บทความที่เกี่ยวข้อง