เวทีให้ความรู้เรื่องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมของชุมชน ณ ตำบลโพกรวม

ในวันที่ 6 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา ทางมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ได้ลงพื้นที่ให้ความรู้ เรื่องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมของชุมชน กับชาวบ้าน ต.โพกรวม อ.เมืองสิงห์บุรี จ.สิงห์บุรี เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวกำลังจะมีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 9.9 เมกะวัตต์

หลังจากชาวบ้านตำบลโพกรวมได้ทราบข่าวว่า บริษัท ซี.เอ.เอส.เปเปอร์ มิลล์ จำกัด ผู้ประกอบกิจการผลิตกระดาษหนังสือพิมพ์ ได้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 9.9 เมกกะวัตต์ เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตภายในโรงงาน จึงได้ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิในถิ่นฐานของตัวเอง เนื่องจากชาวบ้าน ตำบลโพกรวม มีอาชีพหลักคือการทำเกษตรกรรม ทำให้การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่นี้เป็นการก่อให้เกิดผลกระทบต่ออาชีพหลักของชุมชนและคนในพื้นที่

ตัวแทนชาวบ้านตำบลโพกรวมจึงได้ประสานไปยัง มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ให้เข้ามาให้ความรู้เรื่องกระบวนการใช้สิทธิของคนในชุมชนเกี่ยวกับการปกป้องสิทธิของชุมชนและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากทางมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมร่วมกับนักวิชาการเคยได้ลงไปให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการก่อตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ว่าจะเกิดผลกระทบอย่างไรบ้างหากโรงไฟฟ้านี้ได้เริ่มดำเนินการ

คุณสุภาภรณ์ มาลัยลอย บรรยายเกี่ยวกับการใช้สิทธิชุมชนด้านสิ่งแวดล้อม

นางสาวสุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม จึงได้ลงพื้นที่และให้ความรู้กับชุมชนด้านสิทธิตามกระบวนการทางกฎหมาย โดยกล่าวว่าชุมชนมีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ จากหน่วยงานของรัฐ และการดำเนินการใดๆ หรือการอนุญาตให้ประกอบกิจการใดๆ ของภาครัฐ  ต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในชุมชนด้วย และต้องมีมาตรการไม่ให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ และหากเกิดผลกระทบก็ต้องมีการเยียวยาความเสียหายอย่างเป็นธรรม โดยไม่ชักช้า ชุมชนมีสิทธิที่จะได้รับการชี้แจงถึงผลกระทบหรือสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนของพวกเขา

การให้ความรู้ครั้งนี้จะสามารถทำให้ชุมชนสามารถเข้าใจถึงสิทธิของตัวเองและสามารถใช้สิทธิอย่างถูกต้องตามกระบวนการทางกฎหมาย โดยไม่ถูกละเมิดจากหน่วยงานหรือนายทุน ตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 43 “ บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิ (1) อนุรักษ์ ฟื้นฟู หรือส่งเสริมภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงามทั้งของท้องถิ่นและของชาติ (2) จัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ

ทั้งนี้หลังจากการให้ความรู้และให้ข้อมูลเสร็จปรากฏว่าในหมู่บ้านอื่นๆ ซึ่งอยู่โดยรอบโรงไฟฟ้าถ่านหิน 9.9 เมกะวัตต์นี้ ได้สะท้อนว่าไม่เคยได้รับรู้ข้อมูลมาก่อนหน้านี้เลย จึงมีการเสนอว่าอยากให้มีการจัดเวทีให้ความรู้แบบนี้อีกในหมู่บ้านอื่นๆ ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากโครงการนี้ด้วย โดยทางมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมก็พร้อมในการลงไปให้ความรู้กับชุมชนและร่วมสนับสนุนการใช้สิทธิชุมชนในการปกป้องสิ่งแวดล้อม สุขภาพ วิถีชีวิตของชุมชน รวมถึงการติดตามการดำเนินการของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องซึ่งมีตัวแทนกลุ่มคนรักษ์โพกรวมได้ยื่นหนังสือขอข้อมูลข่าวสาร และคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินไว้แล้วเมื่อเดือนธันวาคม 2561 รวมถึงการตรวจสอบการละเมิดสิทธิของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งได้รับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มคนรักษ์โพกรวม

ติดตามเพิ่มเติมได้ที่ 

กลุ่มคนรักษ์โพกรวม จัดเวทีให้ความรู้ผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน เนื่องจากมีการตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 9.9 เมกะวัตต์ใกล้แหล่งชุมชน

กลุ่มคนรักษ์โพกรวม เข้ายื่นหนังสือคัดค้านการตั้งโรงงานประกอบกิจการพลังงาน โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 9.9 เมกะวัตต์ ต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ชาวบ้านสิงห์บุรีค้านเอกชน สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน

บทความที่เกี่ยวข้อง
ติดตามเราในช่องทาง Social
บทความล่าสุด