เมื่อรัฐขยายอำนาจให้ทุน กรณี มาตรา 44 ร่าง พ.ร.บ.อีอีซี

นายสุวิทย์  กุหลาบวงษ์
ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพอีสาน

เจตนารมณ์ของกฎหมายผังเมือง ที่เกิดขึ้นก็เพื่อดูแลการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินและสิทธิอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องของประชาชนและควบคุมอำนาจรัฐและทุนไม่ให้รุกล้ำพื้นที่ของประชาชน อาทิ การกำหนดโซนนิ่งพื้นที่อยู่อาศัย การกำหนดพื้นที่อุตสาหกรรม การกำหนดพื้นที่ทำเกษตรกรรมและการกำหนดพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การห้ามก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมที่จะส่งผลกระทบต่อชุมชน เป็นต้น   ในการจัดทำผังเมืองรวมปัจจุบัน   ได้มีการจัดทำขึ้นโดยผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ แม้ว่ากระบวนการจัดทำผังเมืองรวมจะออกมาไม่สมบูรณ์แบบตามที่ประชาชนต้องการก็ตาม  แต่ก็ถือว่ากฎหมายผังเมืองประชาชนยังสามารถใช้คุ้มครองสิทธิของตนเองได้
เมื่อวันที่ 25 ต.ค. ที่ผ่านมา พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ได้ประกาศใช้มาตรา 44 ออกคําสั่ง ยกเลิกการบังคับใช้ผังเมืองของจังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจด้านตะวันออกหรือ Eastern Economic Corridor : EEC และให้หน่วยงานของรัฐจัดทำแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคขึ้นใหม่ เท่ากับทำให้ความคุ้มครองพื้นที่เหล่านี้หมดไป และโรงงานอุตสาหกรรมสามารถก่อสร้างได้ในเขตพื้นที่อาศัยของประชาชนได้ทันที
แม้ว่ารัฐบาลจะมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออกให้เป็นเขตอุตสาหกรรมที่ทันสมัย ใช้เทคโนโลยีระดับสูง แต่สิ่งที่ประชาชนกังวลก็คืออุตสาหกรรมจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนได้จริงหรือไม่ ตามที่รัฐบาลได้พยายามบอกกับสื่อเพื่อให้สังคมเชื่อในสิ่งที่รัฐบาลประกาศไป  แต่บทเรียนในสังคมไทยกลับพบว่ากิจกรรมของโรงงานอุตอุตสาหกรรมจะส่งผลกระทบด้านมลพิษต่อชุมชนและภาครัฐมัก ละเลย ไม่สามารถที่จะจัดการแก้ไขปัญหาได้ จนประชาชนต้องพึ่งตัวเองโดยการ ประท้วง ชุมนุม หรือใช้กระบวนการยุติธรรมฟ้องต่อศาลปกครองให้คุ้มครองผลกระทบที่เกิดขึ้น เช่น กรณีนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุต จังหวัดระยอง กรณีเหมืองแร่ทองคำ จังหวัดเลย และพิจิตร กรณีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เป็นต้น  ปัญหาจึงอยู่ที่การกำหนดนโยบายสาธารณะของรัฐ ที่ประชาชนขาดสิทธิ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือรัฐบาลไม่รับฟังเสียงประชาชน
รูปธรรมพื้นที่เศรษฐกิจด้านตะวันออก รัฐบาลได้เน้นการลงทุนโดยลดเงื่อนไขให้กับกลุ่มทุน และออกคำสั่ง คสช. เพื่อดำเนินการ ดังนี้

  1. คำสั่ง คสช.ที่ 2/2560 เรื่อง การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สาระสำคัญเกี่ยวกับโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายและคณะกรรมการพัฒนาเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก) บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2560
  2. คำสั่ง คสช.ที่ 28/2560 เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สาระสำคัญเกี่ยวกับเรื่องการกำหนดกระบวนการจัดทำและพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการหรือกิจการในเขตอีอีซีเป็นการเฉพาะ) บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2560
  3. คำสั่ง คสช.ที่ 47/2560 เรื่อง ข้อกําหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และมีผลบังคับใช้ทันทีตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2560

สาระสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมพื้นที่เศรษฐกิจด้านตะวันออกที่รัฐบาลลดเงื่อนไขให้  คือ การทำโรงงานอุตสาหกรรมไม่จำเป็นต้องจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ( EIA) บทเรียนที่สังไทยพบคือ การจัดการรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ เป็นแค่เวทีรับฟังความคิดเห็นจอมปลอม  เอาเฉพาะผู้สนับสนุนโครงการเข้าร่วมเวทีและกีดกันประชาชนกลุ่มคัดค้านออกไป และมีทหาร ตำรวจ เฝ้าล้อมเวทีรักษาความปลอดภัยให้กับเจ้าของโครงการฯ
ถ้าจะให้การพัฒนาอุตสาหกรรมในเขตพื้นชุมชนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รัฐบาลจะต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นในการกำหนดนโยบายสาธารณะและรัฐบาลต้องส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนออกแบบการพัฒนาในพื้นที่ของตนเองโดยเอาพื้นที่นิเวศน์และความต้องการของประชาชน เป็นตัวตั้ง จึงจะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และจะไม่นำไปสู่ความขัดแย้งการแย้งชิงทรัพยากรระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับภาคเกษตรกรรมในอนาคต
รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ประกาศยกเลิกการบังคับใช้ผังเมือง จังหวัดระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ต้องตอบคำถามกับสังคมและประชาชนในพื้นที่ให้ได้ว่า

  1. การออกคำสั่ง ม. 44 ประกาศยกเลิกการบังคับใช้ผังเมือง สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ได้จริงหรือไม่
  2. ประชนชนในพื้นที่มีสิทธิในการปกป้องคุ้มครองชุมชน บนพื้นฐานประชาธิไตย สิทธิในการพัฒนาและสิทธิมนุษยชน ได้หรือไม่อย่างไร
  3. รัฐมีกระบวนการคุ้มครองสิทธิประชาชนอย่างไรบ้าง

ในขณะเดียวกันร่าง พ.ร.บ.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช. มีประเด็นสำคัญ คือ การให้อำนาจจัดทำแผนนโยบายและแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินขึ้นใหม่ในพื้นที่เขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งมีพื้นที่หลัก 3 จังหวัดคือ ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และ ใช้บังคับแทนที่ผังเมืองเดิม
หากมองความคุ้มค่าในเรื่องการลงทุนด้านเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รัฐบาลย่อมมองเห็นตัวเลขการลงทุนจากต่างชาติ  มากกว่าคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ที่ต้องทนทุกข์อยู่ใกล้มลพิษโรงงานอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อมจะถูกทำลายเพราะกิจกรรมของอุตสาหกรรมอย่างแน่นอน
ในขณะเดียวกันประชาชนได้ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในการออกมาคัดค้านโครงการต่างๆหรือเรียกร้องขอความเป็นธรรมเพื่อยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลนั้นไม่สามารถกระทำได้  เนื่องจากอำนาจรัฐบาลทหาร ด้วย คำสั่ง ประกาศ ของ คสช .หรือ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะพ.ศ. 2558  จึงเป็นคำถามที่คนในสังคมอดจะสงสัยไม่ได้ว่าการใช้ ม.44  โดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ในครั้งนี้ใครได้ประโยชน์และการใช้คำสั่ง ม.44 มีความชอบธรรมกับประชาชนในพื้นที่จังหวัด ระยอง ชลบุรีและฉะเชิงเทราหรือไม่ หรือเป็นคำสั่งที่ เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนบางกลุ่มโดยละเลยสิทธิชุมชนของคนในพื้นที่ไป

บทความที่เกี่ยวข้อง