ปลายปี 2553 หลังจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานได้ออกใบอนุญาตให้บริษัท เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น ซัพพลาย จำกัด (ปัจจุบันคือ บริษัท กัลฟ์ เจพีเอ็นเอส จำกัด) สร้างโรงไฟฟ้าหนองแซงในเขตพื้นที่อ.หนองแซง จ.สระบุรี และอ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม ซึ่งประกอบด้วยชาวบ้านจากอ.หนองแซง และอ.ภาชี ได้นำข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่บ่งชี้ว่ากระบวนการออกใบอนุญาตดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลปกครอง ส่วนหนึ่งเพื่อเสนอความจริงให้ปรากฏ ส่วนหนึ่งเพื่อแสดงถึงสิทธิของตนที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐในการคุ้มครอง ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ชุมชนดำรงชีวิตอยู่อย่างปกติในสิ่งแวดล้อมที่ดีบนผืนแผ่นดินเกิด
แต่แล้ว เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2556 หลังสิ้นสุดการอ่านคำพิพากษา สิ่งสำคัญที่ชาวบ้านยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นศาลกลับไม่ได้รับการวินิจฉัยจากตุลาการศาลปกครอง และนี่คือ 2 ประเด็นที่ไม่ปรากฏในคำพิพากษา
ข้อมูลสำคัญ ที่บริษัทฯ ไม่ได้นำเสนอในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)
บริษัทฯ ได้ทราบอยู่แล้วก่อนการประมูลโครงการว่า อ.หนองแซง อยู่ระหว่างการจัดทำร่างผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรี ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม มีข้อกำหนดห้ามสร้างโรงไฟฟ้า และได้ผ่านมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2545 อันเป็นขั้นตอนที่เป็นสาระสำคัญแล้ว เหลือเพียงการลงนามของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นขั้นตอนสุดท้ายเท่านั้น อีกทั้งสภาพพื้นที่ยังมีลักษณะเฉพาะและประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เหมาะสมต่อการปลูกข้าว โดยผลการศึกษาพบว่าอ.หนองแซงมีการใช้ประโยชน์เพื่อเกษตรกรรมถึงร้อยละ 49.05 ของพื้นที่จังหวัด
นอกจากนี้ ที่ผ่านมา อ.หนองแซง และอ.ภาชีต่างประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มาตลอด โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง แนวโน้มปริมาณน้ำมีจำนวนจำกัดมาก หากมีการประกอบกิจการโรงไฟฟ้า ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบจากการแย่งชิงน้ำระหว่างโรงไฟฟ้ากับภาคเกษตรกรรม
แต่บริษัทฯ กลับไม่นำเสนอข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญตามหลักวิชาการผังเมืองนี้ขึ้นสู่การพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ การพิจารณารายงานEIA ของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ จึงอาศัยข้อมูลที่ผิดพลาดและไม่ครบถ้วนในสาระสำคัญ ส่งผลให้คำสั่งเห็นชอบรายงาน EIA ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และต่อมาเมื่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานนำมติเห็นชอบรายงาน EIA ของคณะกรรมการผู้ชำนาญการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนี้ไปใช้ประกอบการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงไฟฟ้า จึงทำให้การออกใบอนุญาตดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย (โปรดดู แผนผังการพิจารณารายงาน EIA ประกอบ)
ทั้งนี้ สอดคล้องกับหนังสือสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2552 ที่มีคำวินิจฉัยเสนอแนะต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรีสรุปสาระสำคัญได้ว่าไม่สมควรให้มีการดำเนินกิจการโรงงานไฟฟ้าในพื้นที่อ.หนองแซง ซึ่งจะเป็นการขัดต่อร่างกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรี
ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงไฟฟ้า ขัดต่อกฎกระทรวงฉบับที่ 2
ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่และระบบนิเวศที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของสัตว์และการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ได้ทำให้การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ส่วนใหญ่มุ่งเน้นทางด้านเกษตรกรรมมาช้านาน ทั้งทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์ และการอยู่อาศัยของประชาชน อันแสดงให้เห็นว่าโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ในทำเลและสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ซึ่งขัดต่อกฎกระทรวงฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535 ข้อ 4 ดังต่อไปนี้
1) ที่ดินบริเวณที่ตั้งโรงไฟฟ้าและบริเวณโดยรอบเหมาะสมต่อการเกษตรและการอยู่อาศัย ซึ่งมีระบบชลประทานคลองระพีพัฒน์วางโครงสร้างรองรับอย่างสมบูรณ์ มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 อีกทั้งคุณภาพดินเหมาะแก่การทำการเกษตรโดยเฉพาะการทำนาปลูกข้าว โดยสามารถทำนาได้ 5 ครั้งใน 2 ปี และได้ผลผลิตมากกว่า 800 กิโลกรัมต่อไร่ ทำให้อาชีพดังกล่าวสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ จนเป็นวิถีชีวิตชุมชนคนชนบท อ.หนองแซง จ.สระบุรี และพื้นที่ อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา
2) ประชาชนที่ประกอบอาชีพอื่น ๆ เช่น เพาะเห็ดฟางต่างได้ใช้ประโยชน์จากน้ำในคลองห้วยบ่าอันเป็นคลองสาขาของคลองชลประทานระพีพัฒน์เป็นวัตถุดิบที่สำคัญในการเพาะเลี้ยง บางส่วนเลี้ยงไก่ไข่เพราะสภาพพื้นที่เงียบสงบเหมาะแก่การเจริญเติบโตของไก่ หากมีการปล่อยน้ำเสียและมีเสียงดังจากการก่อสร้างหรือการประกอบการโรงไฟฟ้าก็จะส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพเหล่านี้
3) พื้นที่ชุมชนรอบโครงการโรงไฟฟ้ายังมีระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์หลากหลายชนิดตามธรรมชาติ และช่วงฤดูหนาวจะมีนกอพยพเข้ามาอีกมากมาย และด้วยระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ จึงเหมาะเป็นแหล่งดูนกทุ่งนกน้ำที่น่าสนใจ
4) พื้นที่โครงการโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ห่างจากโรงเรียนและวัด ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อเสียงรบกวน แรงสั่นสะเทือน ตลอดจนเหตุเดือดร้อนรำคาญอื่นๆ เพียง 300 – 600 เมตร
ดังนั้น จากข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าที่ตั้งโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงอยู่ในทำเลและสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมต่อการสร้างโรงไฟฟ้า อันเป็นการขัดต่อกฎกระทรวงฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535 ข้อ 4 การออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงไฟฟ้าของกกพ.จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ทั้งนี้ 2 ประเด็นข้างต้น ถือเป็นสาระสำคัญที่เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรมยกขึ้นกล่าวอ้างเพื่อขอให้ศาลปกครองวินิจฉัย แต่ศาลปกครองกลับวินิจฉัยเพียงว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงไฟฟ้าครบถ้วนตามกระบวนการทางกฎหมายแล้ว โดยไม่ได้ชี้ชัดว่า คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณาข้อมูลข้อเท็จจริงครบถ้วนหรือไม่ และ พื้นที่อ.หนองแซงเหมาะสมกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เช่นนี้หรือไม่ อันจะเป็นประเด็นที่ผู้ฟ้องคดีคงต้องอุทธรณ์ให้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยชี้ขาดต่อไป
——————————————————————————
กฎกระทรวงฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535 ออกตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ข้อ 4 “โรงงานจำพวกที่ 3 นอกจากห้ามตั้งในบริเวณตามข้อ 2 แล้ว ต้องตั้งอยู่ในทำเลและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีบริเวณเพียงพอที่จะประกอบกิจการอตุสาหกรรมตามขนาด และประเภทหรือชนิดของโรงงาน โดยไม่อาจก่อให้เกิดอันตราย เหตุรำคาญ หรือความเสียหายต่อบุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น”