เครือข่ายประชาชนฯ ร่วมแถลงค้านการแก้ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ ชี้ปัญหา EIA ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง

ข่าวและภาพ: มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)

           เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ยื่นคัดค้านการแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ….  ต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ กรณีปรับแก้กฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่
เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2560 เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน นำโดย ประสิทธิชัย หนูนวล, สมนึก จงมีวศิน, สุภาภรณ์ มาลัยลอย เดินทางไปที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อยื่นข้อเสนอต่อการแก้ไขพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ…ที่กระทรวงฯ กำลังจัดทำและเพิ่งมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเสร็จไปเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2560 และกำลังเตรียมส่งให้คณะรัฐมนตรีในขณะนี้ โดยเน้นย้ำเรื่องการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

และเมื่อเวลาประมาณ 9.30 น. เครือข่ายประชาชนฯ ได้อ่านแถลงการณ์ที่เป็นข้อเสนอของภาคประชาชนต่อการจัดทำร่างกฎหมาย  อันสะท้อนถึง การเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายตามหลักการของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 77 ที่กำหนดให้ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับรัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ต่อประชาชนนั้น ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560 ได้กำหนดแนวทางให้หน่วยงานรัฐดำเนินการตราร่างพระราชบัญญัติตามหลักการที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำ เช่น การเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์อย่างน้อย 15 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาแสดงความคิดเห็นที่สั้น และช่องทางการแสดงความคิดเห็นที่แคบ   (อ่านต่อ : แถลงการณ์เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน)

           ทั้งหมดนี้เป็นการขาดการรับฟังความคิดเห็นก่อนกระบวนการร่างกฎหมาย โดยที่รัฐเป็นผู้ร่างกฎหมายฝ่ายเดียว และนำมารับฟังความคิดเห็นเมื่อร่างกฎหมายทั้งฉบับเสร็จเรียบร้อยแล้ว กระบวนการร่างกฎหมายพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ….จึงสะท้อนถึงความไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลในกระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบในการออกกฎหมาย และไม่เป็นไปตามหลักการของรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ภาคประชาชนจึงมีข้อเสนอในประเด็นที่สำคัญๆ เช่น

  • การอนุญาตให้เอกชนเข้ามาดำเนินการตามโครงการก่อนที่ EIA จะผ่าน (การนำเอาคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 9/2559 มาบัญญัติไว้ในร่างฯ)  อันเป็นการเข้าข่ายละเมิดรัฐธรรมนูญตามมาตรา 58 ที่กำหนดให้รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสียของประชาชนก่อน กลุ่มเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนจึงเสนอให้ตัดมาตรา 53 วรรค 4 ออกจากร่างฯ
  • ต้องมีการแยกองค์กรบริหารจัดการระบบประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานอิสระหรือหน่วยงานกลาง
  • ควรจะมีการออกกฎหมายลูกเพื่อรองรับหลักเกณฑ์ต่างๆ และต้องกำหนดรายละเอียดเงื่อนไข เพื่อกำกับการใช้อำนาจรัฐไว้ เพื่อที่จะสามารถใช้สิทธิกระบวนการทางศาลตรวจสอบได้ อาทิ ต้องกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการพิจารณารายงาน EIAและเปิดเผยรายงานให้ชุมชนได้รับทราบ หรือมาตรการเพื่อป้องกันการหลบเลี่ยงการทำ EIA
  • ด้านระบบของการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ภาคประชาชนเห็นว่าควรมีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment – SEA ) ที่เป็นการประเมินศักยภาพและข้อจำกัดของสิ่งแวดล้อม

(อ่านต่อ : ข้อเสนอภาคประชาชนต่อร่าง พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม พ.ศ. …)
จากนั้นตัวแทนภาคประชาชนเข้าพบนางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพร้อมเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องมาร่วมรับฟังปัญหาและข้อเสนอจากเครือข่ายภาคประชาชน

โดยตัวแทนภาคประชาชนได้อธิบายปัญหาของร่าง พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ยังคงเป็นปัญหามาตลอดระยะเวลา หลายปีที่ผ่านมาในหลายพื้นที่ และกลายเป็นเพียงเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้กับโครงการเท่านั้น เช่น กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ กรณีท่าเรือน้ำลึกปากบารา ภาคประชาชนจึงเห็นว่า ต้องรีบแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่ปรากฏว่าร่าง พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ที่กระทรวงฯ เสนอมานั้นกลับไม่ได้แก้ไขให้ก้าวหน้าขึ้นไป และมีแนวโน้มจะทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้นด้วย

ทั้งนี้จากการพูดคุยปัญหาในช่วงเวลากว่าหนึ่งชั่วโมง  เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้ยื่นเอกสารข้อเสนอต่อรองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  (หนังสือยื่นต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)  ซึ่งตัวแทนของกระทรวงฯได้รับปากว่าจะรับข้อเสนอดังกล่าวไว้พิจารณาว่าจะดำเนินการต่ออย่างไร   ซึ่งหลังจากนี้ ทางกลุ่มจะติดตามต่อว่าข้อเสนอที่ยื่นไป จะได้รับการแก้ไขหรือไม่อย่างไร ซึ่งหากไม่มีการแก้ไขก็จะเดินหน้าคัดค้านต่อไป…

แหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
รวมเอกสารเกี่ยวกับการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ (2560)

ข่าวสารที่เกี่ยวข้อง
ติดตามเราในช่องทาง Social
ข่าวสารล่าสุด