เครือข่ายประชาชนยื่นฟ้องเพิกถอนคำสั่ง คสช. 4/2559 กรณียกเว้นผังเมือง

เครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัด ร่วมกับมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)

ยื่นฟ้องหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ต่อศาลปกครองสูงสุด

ขอให้เพิกถอนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 4/2559

กรณียกเว้นผังเมืองทั่วประเทศสำหรับกิจการด้านพลังงานและขยะซึ่งมีความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอันเป็นการเปิดทางให้มีกิจการอันตรายตั้งในพื้นที่ไม่เหมาะสมได้

วันจันทร์ที่ 18 เมษายน 2559 เวลา 13.30 น. ณ ศาลปกครองสูงสุด ถนนแจ้งวัฒนะ

 “อำนาจรัฐที่ละเมิดสิทธิประชาชนต้องถูกควบคุมและตรวจสอบได้”

  ncpo459-003            *English translation please see below

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2559 ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 4/2559 เรื่องการยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท ที่มีผลเป็นการยกเว้นผังเมืองทั่วประเทศอันเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเชิงพื้นที่ของประชาชน และเป็นกรอบกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละบริเวณให้มีความยั่งยืนเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ โดยมีกิจการที่ได้รับการยกเว้นผังเมืองตามคำสั่ง คสช. ที่ 4/2559 นี้ประกอบด้วยกิจการโรงไฟฟ้า กิจการด้านพลังงาน และกิจการกำจัดและจัดการขยะจำนวนหลายร้อยโครงการทั่วประเทศตามแผนงานที่หน่วยงานรัฐวางไว้

ncpo459-001

เครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 4/2559เห็นว่า คำสั่งดังกล่าวซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 จะก่อให้เกิดผลกระทบความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และวิถีชีวิตของประชาชนในระยะยาวอย่างร้ายแรงอันเนื่องมาจากการปล่อยให้โครงการด้านพลังงานและขยะสามารถเปิดดำเนินการในพื้นที่ใดก็ได้โดยไม่คำนึงถึงการอนุรักษ์และควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการ กล่าวคือ
1) เป็นการออกคำสั่งโดยปราศจากฐานอำนาจตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญที่ชอบธรรม เนื่องจากรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 44 ขัดต่อหลักนิติรัฐ หลักการแบ่งแยกอำนาจ การตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจและระบอบประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง
2) การออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 มิได้เป็นไปตามกรอบเงื่อนไขการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 44 และนอกจากจะไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์ได้ตามที่อ้างไว้ในคำสั่งแล้ว ยังเป็นมาตรการที่สร้างความเดือดร้อนเสียหายให้แก่ประชาชนเกินความจำเป็นด้วย
3) เป็นการละเมิดต่อสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนในการวางและจัดทำผังเมือง และกระทบต่อสิทธิในสุขภาพและการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ที่มีบัญญัติรับรองไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญและกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง
ncpo459-004
และด้วยเหตุที่ว่าหลักการวางและจัดทำผังเมืองเป็นการตรากฎกระทรวงซึ่งเกิดจากข้อตกลงร่วมกันของหลายฝ่ายในสังคมเกี่ยวกับประโยชน์อันหลากหลายที่แตกต่างกันบนพื้นที่และการยอมรับถึงการจำกัดสิทธิของตนเองในแต่ละกลุ่มที่ได้กระทำอย่างเปิดเผยต่อสาธารณะตามวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้ ดังนั้นทุกฝ่ายต้องเคารพต่อข้อตกลงของสังคมดังกล่าวและต้องดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์นั้นเพื่อยังให้เกิดความสมดุลของสิทธิต่างๆ เช่น สิทธิในชีวิต สิทธิในธรรมชาติ สิทธิในการพัฒนา สิทธิในทรัพย์สินดังนั้นการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 จึงเป็นการกระทำทางปกครองที่ขัดต่อวัตถุประสงค์และหัวใจของการผังเมืองและการจัดทำผังเมืองรวม และเป็นการละเมิดข้อตกลงร่วมกันของทุกฝ่ายในสังคมไทยเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์อันหลากหลายที่แตกต่างกันบนพื้นที่ตามวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยในปัจจุบันพบว่ามีผังเมืองรวมที่มีกฎกระทรวงประกาศใช้บังคับจำนวน 176 ผัง จำแนกเป็นผังเมืองรวมจังหวัด 33 ผัง และผังเมืองรวมเมือง/ชุมชน จำนวน 143 ผัง
ดังนั้นเพื่อให้เกิดการตรวจสอบและทบทวนการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 44ออกคำสั่งที่ 4/2559 ของ คสช. อันมีลักษณะเป็นการใช้อำนาจทางปกครองออกกฎที่มีสถานะเทียบเท่ากฎกระทรวงและย่อมอยู่ภายใต้ขอบเขตอำนาจศาลปกครองสูงสุดในการทำหน้าที่ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งดังกล่าวได้ตามหลักนิติรัฐ เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากคำสั่ง คสช. ที่ 4/2559 จึงมอบอำนาจให้มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมยื่นฟ้องหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 4/2559 เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ประโยชน์สาธารณะ และแก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีและประชาชนทุกคน และเพื่อเป็นบรรทัดฐานในการยืนหยัดธำรงไว้ซึ่งหลักนิติรัฐ นิติธรรม ความศักดิ์สิทธิ์แห่งกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมต่อไป ดังวิสัยทัศน์ของศาลปกครองที่ว่า “ศาลปกครองเป็นสถาบันหลักที่ใช้อำนาจตุลาการในการอำนวยความยุติธรรมทางปกครองตามหลักนิติธรรม อย่างมีประสิทธิภาพ และมีมาตรฐานในระดับสากล ก่อให้เกิดบรรทัดฐานการบริหารราชการแผ่นดินและสร้างความสมดุลระหว่างสิทธิและเสรีภาพของประชาชนกับประโยชน์สาธารณะ
ncpo459-002    ncpo459-005
ดาวน์โหลด

 

ข่าวสารที่เกี่ยวข้อง