คำนำผู้แปล
โดยทั่วไปแล้วเมื่อกล่าวถึงหน้าที่ในการปกป้อง เคารพและเยียวยาการละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้ว คนทั่วไปมักมุ่งความสนใจไปยังเจ้าหน้าที่รัฐ ในฐานะที่เป็นผู้มีหน้าที่โดยตรงตามทั้งกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายภายในในการต้องเคารพ ปกป้องและเยียวยาความเสียหายที่เกิดจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะที่รัฐเป็นผู้ก่อหรือมีส่วนก่อให้เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าในโลกปัจจุบันที่ถูกครอบงำด้วยระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมนั้น ภาคธุรกิจเป็นอีกภาคส่วนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญ ดังจะเห็นตัวอย่าง การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากภาคธุรกิจหรือเกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจเกิดขึ้นมากมาย กล่าวเฉพาะในประเทศไทยการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยภาคธุรกิจก็มีให้เห็นกันอยู่เสมอ เช่น กรณีลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรมส่งผลให้มีการปนเปื้อนมลพิษในแหล่งน้ำใต้ดิน ในพื้นที่ ต.หนองแหน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา กรณีเหมืองแร่ตะกั่วปล่อยสารตะกั่วลงในลำห้วยคลิตี้ จนส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี หรือกรณีล่าสุดกรณีชายฉกรรจ์กว่า ๓๐๐ คน บุกเข้าไปควบคุมตัวและทำร้ายประชาชนที่คัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำ ในพื้นที่ จ.เลย เป็นต้น
การไม่มีกฎหมายกำหนดเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของภาคธุรกิจเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนไว้อย่างชัดเจนนี้เอง เป็นช่องว่างให้ภาคธุรกิจแสวงหากำไรโดยไม่คำถึงสิทธิมนุษยชนของประชาชนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของตน หลักการแนวทางปฏิบัติว่าด้วยการดำเนินธุรกิจและสิทธิมนุษยชน : การดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบขององค์การสหประชาชาติว่าด้วย “การป้องกัน การเคารพและการเยียวยา” เป็นความพยายามในระดับระหว่างประเทศที่จะอุดช่องว่างเหล่านี้ ผู้แปลเห็นว่าเอกสารชิ้นนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจและภาคประชาชน ที่จำต้องสัมพันธ์กันในความสัมพันธ์ทางสังคมเศรษฐกิจ จึงได้แปลเอกสารชิ้นนี้ออกมาเผยแพร่
สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
หมายเหตุ:
1. เอกสารคำแปลนี้แปลอย่างไม่เป็นทางการจากต้นฉบับภาษาอังกฤษของเอกสาร ‘Guiding Principles on Business and Human Rights: Implementing the United Nations “Protect, Respect and Remedy” Framework’ ของ United Nations Human Rights Council และไม่รวมถึงคำอธิบายขยายความ (Commentary) โปรดดูและยึดถือตามเอกสารต้นฉบับภาษาอังกฤษสำหรับคำอธิบายและการอ้างอิงในทางกฎหมายและทางวิชาการ
2. คำแปลนี้ยังอาจมีการปรับแก้ให้ถูกต้องเหมาะสมได้ตลอด โดยผู้แปลยินดีรับฟังคำแนะนำติชมสำหรับคำแปลข้างต้นเพื่อนำไปแก้ไขปรับปรุงคำแปลให้ถูกต้องสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
เครดิตรูปภาพ: http://www.ihrb.org/images/image-links/Guiding_Principles.png
———————————————
หลักการแนวทางปฏิบัติว่าด้วยการดำเนินธุรกิจและสิทธิมนุษยชน: การดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบขององค์การสหประชาชาติว่าด้วย “การปกป้อง การเคารพ และการเยียวยา”
แปลและเรียบเรียงโดย นายสงกรานต์ ป้องบุญจันทร์
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
หลักการทั่วไป
หลักการที่เป็นแนวปฏิบัติเหล่านี้วางอยู่บนพื้นฐานการยอมรับในเรื่องดังต่อไปนี้ คือ
(a) พันธกรณีที่ดำรงอยู่ของรัฐต่อการเคารพ ปกป้องและการทำให้สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานบรรลุผลจริง
(b) บทบาทของผู้ประกอบการทางธุรกิจในฐานะที่เป็นองคาพยพของสังคม ที่มีหน้าที่พิเศษที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ทั้งหมดและเคารพสิทธิมนุษยชน
(c) ความจำเป็นสำหรับสิทธิและหน้าที่ที่สอดคล้องกันเพื่อการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมในกรณีที่มีการละเมิด
หลักการที่เป็นแนวทางปฏิบัติเหล่านี้ปรับใช้กับทุกรัฐและภาคธุรกิจทั้งหมดทั้งธุรกิจข้ามชาติและอื่นๆ ไม่ว่าจะมีขนาด ภาคส่วน ที่ตั้ง ความเป็นเจ้าของและโครงสร้างอย่างไร
หลักการที่เป็นแนวทางปฏิบัติเหล่านี้ต้องถูกทำความเข้าใจอย่างเป็นเอกภาพทั้งหมดและต้องถูกอ่านไม่ว่าจะโดยแยกส่วน หรือโดยรวม ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการส่งเสริมมาตรฐานและการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจและสิทธิมนุษยชน เพื่อให้บรรลุถึงผลที่เป็นรูปธรรมต่อประชาชนและชุมชนที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงประโยชน์ที่จะมีต่อโลกาภิวัฒน์ที่ยั่งยืนทางสังคม
ไม่มีส่วนใด ๆ ในหลักการที่เป็นแนวทางปฏิบัติเหล่านี้ที่จะถูกอ่านในฐานะที่เป็นการสร้างภาระผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศขึ้นใหม่ หรือจำกัดหรือบ่อนทำลายหน้าที่ทางกฎหมายต่าง ๆ ที่รัฐมีความผูกพันหรืออยู่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
หลักการที่เป็นแนวทางปฏิบัติเหล่านี้ควรถูกนำไปปฏิบัติในลักษณะที่ไม่เลือกปฏิบัติ โดยใส่ใจเป็นพิเศษต่อสิทธิและความจำเป็น เช่นเดียวกับความท้าทายที่ประชาชนจากกลุ่มหรือประชากรที่อาจมีความเสี่ยงสูงที่จะกลายเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือถูกทำให้เป็นคนชายขอบต้องเผชิญ และโดยการพิจารณาถึงความเสี่ยงที่แตกต่างที่อาจเกิดขึ้นกับผู้หญิงและผู้ชาย
I. หน้าที่ของรัฐในการปกป้องสิทธิมนุษยชน
A. หลักการพื้นฐาน
1. รัฐต้องปกป้องสิทธิมนุษยชนจากการถูกละเมิดโดยบุคคลที่สามซึ่งรวมถึงภาคธุรกิจ ที่เกิดขึ้นในดินแดนหรือเขตอำนาจของตน ในการนี้ จำเป็นต้องมีขั้นตอนการดำเนินการที่เหมาะสมเพื่อป้องกัน สืบสวน ลงโทษ และแก้ไขการละเมิดเหล่านั้นผ่านทางนโยบาย กฎหมาย ระเบียบและกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ
2. รัฐควรแสดงความคาดหวังที่ชัดเจนให้ผู้ประกอบการธุรกิจทั้งหมดที่ตั้งอยู่ในดินแดนหรือเขตอำนาจของตนเคารพสิทธิมนุษยชนในทุกกระบวนการประกอบธุรกิจของพวกเขา
B. หลักการในทางปฏิบัติ
อำนาจหน้าที่ทั่วไปของรัฐในการกำกับควบคุมและกำหนดนโยบาย
3. เพื่อให้เป็นไปตามหน้าที่ในการปกป้องสิทธิมนุษยชน รัฐควร:
(a) บังคับใช้กฎหมายที่มีเป้าหมายเพื่อ หรือที่มีผลต่อการทำให้ภาคธุรกิจเคารพสิทธิมนุษยชน และต้องมีการประเมินอย่างสม่ำเสมอถึงความเพียงพอของกฎหมายดังกล่าวและแก้ไขช่องว่างที่มีอยู่
(b) สร้างหลักประกันว่ากฎหมายและนโยบายอื่นๆ ที่ควบคุมเกี่ยวกับการจัดตั้งและการดำเนินการของภาคธุรกิจ เช่น กฎหมายบรรษัท ไม่ไปจำกัดแต่อำนวยให้ธุรกิจเคารพสิทธิมนุษยชน
(c) จัดให้มีแนวทางปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพแก่ผู้ประกอบการธุรกิจเกี่ยวกับวิธีการเคารพสิทธิมนุษยชนในขั้นตอนกระบวนการดำเนินธุรกิจของพวกเขา
(d) กระตุ้นและกำหนดเท่าที่เหมาะสมให้ภาคธุรกิจสื่อสารว่าพวกเขาแก้ไขผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนอย่างไร
ความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจกับรัฐ
4. รัฐควรมีมาตรการเพิ่มเติมในการป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยธุรกิจที่รัฐเป็นเจ้าของหรือผู้ควบคุม หรือที่ได้รับการสนับสนุนหรือบริการอย่างมีนัยสำคัญจากหน่วยงานรัฐ เช่น หน่วยงานเกี่ยวกับเครดิตเพื่อการส่งออก ประกันภัยการลงทุนอย่างเป็นทางการ หรือหน่วยงานรับประกัน รวมถึงเรียกร้องให้มีการปฏิบัติต่อสิทธิมนุษยชนอย่างระมัดระวัง
5. รัฐควรดำเนินมาตรการเฝ้าระวังอย่างเพียงพอเพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน เมื่อเข้าทำสัญญากับตรากฎหมายเพื่อให้ภาคธุรกิจจัดทำบริการสาธารณะที่อาจกระทบต่อการเข้าถึงสิทธิมนุษยชน
6. รัฐควรส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชนขององค์กรธุรกิจที่รัฐร่วมทำธุรกรรมทางการค้าด้วย
การส่งเสริมธุรกิจให้เคารพสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง
7. เนื่องจากความเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงมีมากขึ้นในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง รัฐควรช่วยสร้างหลักประกันว่าภาคธุรกิจที่ดำเนินการในพื้นที่ดังกล่าวไม่มีส่วนร่วมในการละเมิดดังกล่าว โดย:
(a) เข้าไปมีส่วนร่วมกับภาคธุรกิจตั้งแต่ชั้นแรกเริ่มที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในการช่วยระบุ ป้องกันและลดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนของกิจกรรมต่าง ๆ ของพวกเขาและความสัมพันธ์ทางธุรกิจ
(b) ให้ความช่วยเหลือที่เพียงพอต่อภาคธุรกิจในการประเมินและแก้ไขความเสี่ยงที่มากขึ้นของการละเมิด โดยให้ความใส่ใจเป็นพิเศษต่อเรื่องความรุนแรงทางเพศสภาพและทางเพศ
(c) ปฏิเสธการเข้าถึงการสนับสนุนหรือการบริการสาธารณะ สำหรับภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงและปฏิเสธการให้ความร่วมมือในการจัดการสถานการณ์
(d) ทำให้เกิดความมั่นใจว่านโยบาย กฎหมาย ระเบียบ และมาตรการบังคับใช้กฎหมาย ที่มีอยู่ในปัจจุบันมีประสิทธิภาพในการแก้ไขความเสี่ยงที่ภาคธุรกิจจะเข้ามีส่วนเกี่ยวข้องในการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง
การสร้างหลักประกันความเป็นเอกภาพในทางนโยบาย
8. รัฐควรสร้างหลักประกันว่าหน่วยงาน องค์กรและสถาบันอื่น ๆ ของรัฐที่มีหน้าที่กำหนดแนวปฏิบัติสำหรับภาคธุรกิจได้ตระหนักถึงและปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐในการปฏิบัติหน้าที่ตามพันธกิจของตน ซึ่งรวมถึงการจัดหาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง การจัดอบรมหรือให้การสนับสนุนแก่หน่วยงานองค์กรดังกล่าว
9. รัฐควรสงวนไว้ซึ่งพื้นที่ทางนโยบายภายในประเทศที่เพียงพอสำหรับดำเนินการให้เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนในการดำเนินการเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางนโยบายเกี่ยวกับธุรกิจร่วมกับรัฐอื่น ๆ หรือภาคธุรกิจ ตัวอย่างเช่น ผ่านการทำสนธิสัญญาข้อตกลง
ด้านการลงทุนหรือการทำสัญญา
10. เมื่อรัฐกระทำการในฐานะสมาชิกของสถาบันองค์กรพหุภาคีระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางธุรกิจ รัฐควร
(a) พยายามทำให้เกิดความมั่นใจว่าสถาบันเหล่านั้นไม่ไปจำกัดความสามารถของรัฐสมาชิกที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามหน้าที่ในการปกป้องสิทธิมนุษยชน หรือสร้างอุปสรรคให้กับภาคธุรกิจในการเคารพสิทธิมนุษยชน
(b) กระตุ้นสถาบันเหล่านั้น ภายใต้หน้าที่รับผิดชอบและศักยภาพของพวกเขา ให้ส่งเสริมภาคธุรกิจให้เคารพสิทธิมนุษยชน และเมื่อได้รับการร้องขอ ให้ช่วยเหลือรัฐให้บรรลุหน้าที่ในการปกป้องการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยภาคธุรกิจ ซึ่งรวมถึงผ่านการช่วยเหลือทางเทคนิค การสร้างศักยภาพและการเพิ่มความตระหนักรู้
(c) จากหลักการแนวทางปฏิบัติเหล่านี้ สนับสนุนให้เกิดความเข้าใจร่วมกันและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการจัดการกับธุรกิจและความท้าทายในทางสิทธิมนุษยชน
II. ความรับผิดชอบของภาคธุรกิจต่อการเคารพสิทธิมนุษยชน
A. หลักการพื้นฐาน
11. ภาคธุรกิจควรเคารพสิทธิมนุษยชน หมายความว่าพวกเขาควรหลีกเลี่ยงการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้อื่นและควรแก้ไขผลกระทบเสียหายต่อสิทธิมนุษยชนที่พวกเขาเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย
12. ความรับผิดชอบของภาคธุรกิจต่อการเคารพสิทธิมนุษยชนหมายความถึงสิทธิมนุษยชนที่ได้การยอมรับในระดับระหว่างประเทศ อย่างน้อยได้แก่ สิทธิมนุษยชนดังที่ปรากฏในกฎบัตรระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและหลักการเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้เขียนไว้ในปฏิญญาขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศว่าด้วยหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในที่ทำงาน
13. ความรับผิดชอบต่อการเคารพสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้ธุรกิจ
(a) หลีกเลี่ยงการก่อให้เกิดหรือสนับสนุนให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อสิทธิมนุษยชนผ่านทางกิจกรรมต่าง ๆ ของพวกเขา และแก้ไขผลกระทบดังกล่าวเมื่อเกิดมีขึ้น
(b) พยายามป้องกันหรือลดผลกระทบเสียหายต่อสิทธิมนุษยชนที่มีความเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการประกอบกิจการของพวกเขา ผลิตภัณฑ์หรือการบริการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของพวกเขา แม้ว่าพวกเขาไม่ได้มีส่วนสนับสนุนต่อผลกระทบดังกล่าวก็ตาม
14. ความรับผิดชอบของภาคธุรกิจต่อการเคารพสิทธิมนุษยชนปรับใช้กับธุรกิจทั้งหมดโดยไม่พิจารณาถึงขนาด ภาคส่วน บริบทในการประกอบกิจการ ความเป็นเจ้าของ และโครงสร้าง อย่างไรก็ตามขนาดและความซับซ้อนของวิธีการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามความรับผิดชอบของภาคธุรกิจอาจแตกต่างกันไปตามปัจจัยที่กล่าวมาและความร้ายแรงของผลกระทบเสียหายต่อสิทธิมนุษยชนในแต่ละธุรกิจ
15. เพื่อให้เป็นไปตามความรับผิดชอบต่อการเคารพสิทธิมนุษยชนภาคธุรกิจควรจัดให้มีนโยบายหรือกระบวนการที่เหมาะสมกับขนาดและสภาพแวดล้อมของธุรกิจ ซึ่งรวมถึง
(a) พันธกิจทางนโยบายที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามความรับผิดชอบต่อการเคารพสิทธิมนุษยชน
(b) กระบวนการประเมินผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนเพื่อหาสาเหตุ ป้องกัน ลดและสนองตอบ ต่อการแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนของพวกเขา
(c) กระบวนการที่ทำให้สามารถแก้ไขเยียวยาผลกระทบเสียหายต่อสิทธิมนุษยชนใด ๆที่พวกเขาสร้างหรือมีส่วนทำให้เกิดขึ้น
B. หลักการทางปฏิบัติ
พันธกิจทางนโยบาย
16. เพื่อเป็นพื้นฐานในการผนวกความรับผิดชอบต่อการเคารพสิทธิมนุษยชนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ ภาคธุรกิจควรแสดงออกถึงความมุ่งมั่นของพวกเขาที่จะทำตามความรับผิดชอบ โดยผ่านทางถ้อยแถลงทางนโยบายซึ่ง
(a) ได้รับการอนุมัติจากเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสสูงสุดขององค์กรธุรกิจ
(b) ได้รับการให้ข้อมูลโดยผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องทั้งจากภายในและหรือจากภายนอก
(c) กำหนดความคาดหวังด้านสิทธิมนุษยชนขององค์กรสำหรับพนักงาน หุ้นส่วนทางธุรกิจและภาคีส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการ ผลิตภัณฑ์หรือบริการขององค์กร
(d) เข้าถึงได้โดยสาธารณะและถูกสื่อสารทั้งภายในและภายนอกองค์กร ต่อพนักงานทั้งหมด หุ้นส่วนธุรกิจและฝ่ายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ
(e) ถูกสะท้อนอยู่ในนโยบายทางปฏิบัติและกระบวนการที่จำเป็นเพื่อให้สิทธิมนุษยชนได้รับการผนวกไว้ในทุกส่วนของธุรกิจ
การตรวจสอบประเมินการปฏิบัติตามความรับผิดชอบด้านสิทธิมนุษยชน
17. เพื่อบ่งชี้ ป้องกัน บรรเทาและให้เหตุผลต่อวิธีการที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาผลกระทบเสียหายต่อสิทธิมนุษยชน ภาคธุรกิจควรดำเนินการให้มีการตรวจสอบประเมินการปฏิบัติตามความรับผิดชอบด้านสิทธิมนุษยชน กระบวนการดังกล่าวควรรวมถึงการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นจริงและที่อาจเกิดขึ้นได้ บูรณาการและปฏิบัติบนข้อค้นพบ การตอบสนองต่อการสืบสวนติดตามและการสื่อสารว่าผลกระทบได้รับการแก้ไขอย่างไร การประเมินผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน
(a) ควรครอบคลุมผลกระทบเสียหายต่อสิทธิมนุษยชนที่ภาคธุรกิจอาจก่อหรือสนับสนุนให้เกิดผ่านทางกิจกรรมของธุรกิจนั้นเอง หรืออาจมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงต่อการประกอบกิจการ ผลิตภัณฑ์หรือบริการโดยความสัมพันธ์ทางธุรกิจ
(b) มีความหลากหลายในด้านความซับซ้อน เกี่ยวกับขนาดของธุรกิจ ความเสี่ยงของความร้ายแรงของผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน รวมถึงธรรมชาติและบริบทของการประกอบกิจการของธุรกิจนั้น
(c) ควรมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยตระหนักว่าความเสี่ยงต่อสิทธิมนุษยชนอาจมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอในขณะที่การประกอบกิจการและบริบทของธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลง
18. เพื่อประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนภาคธุรกิจควรระบุและประเมินผลกระทบเสียหายต่อสิทธิมนุษยชนที่สำคัญหรือที่ชัดเจน ที่พวกเขาอาจเข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะผ่านทางกิจกรรมของธุรกิจเองหรือในเป็นผลของความสัมพันธ์ทางธุรกิจ กระบวนการเหล่านี้ควร
(a) ใช้ประโยชน์จากความรู้ความเชี่ยวชาญพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนทั้งจากภายในและหรือความเชี่ยวชาญพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนที่เป็นอิสระจากภายนอก
(b) จัดให้มีการปรึกษาหารืออย่างแท้จริงกับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างสำคัญและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ ที่สอดคล้องกับขนาดของธุรกิจและธรรมชาติและบริบทของการประกอบกิจการ
19. เพื่อป้องกันและลดผลกระทบเสียหายต่อสิทธิมนุษยชน ภาคธุรกิจควรบูรณาการข้อค้นพบจากการประเมินผลกระทบทั้งหมดของกระบวนการและบทบาทหน้าที่ภายในที่เกี่ยวข้อง และดำเนินการอย่างเหมาะสม
(a) การบูรณาการที่มีประสิทธิภาพเรียกร้องว่า
(i) ความรับผิดชอบต่อการแก้ไขผลกระทบดังกล่าวถูกมอบหมายไปยังผู้มีบทบาทหน้าที่และระดับที่เหมาะสมภายในธุรกิจนั้น
(ii) การตัดสินใจภายใน การจัดสรรงบประมาณ กระบวนการทั้งหมดสามารถทำให้เกิดการตอบสนองอย่างมีประสิทธิภาพต่อผลกระทบเหล่านั้น
(b) การดำเนินการที่เหมาะสมจะมีความหลากหลายตาม
(i) ภาคธุรกิจดังกล่าวเป็นผู้ก่อให้เกิดหรือมีส่วนทำให้เกิดผลกระทบเสียหาย หรือมันเพียงแต่เข้าไปเกี่ยวข้องเพราะผลกระทบมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการหรือผลิตภัณฑ์ของธุรกิจ หรือบริการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ
(ii) ขอบเขตอำนาจของธุรกิจในการแก้ไขผลกระทบเสียหาย
20. เพื่อตรวจสอบว่าผลกระทบเสียหายต่อสิทธิมนุษยชนได้รับการแก้ไข ภาคธุรกิจควรติดตามถึงความมีประสิทธิภาพของการตอบสนองของพวกเขา การติดตามควร
(a) อยู่บนพื้นฐานตัวชี้วัดทางปริมาณและคุณภาพที่เหมาะสม
(b) มีพื้นฐานมาจากผลสะท้อนที่จากทั้งแหล่งข้อมูลภายในและภายนอกรวมถึงผู้เกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบต่าง ๆ
21. เพื่ออธิบายว่าพวกเขาแก้ไขผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนอย่างไร ภาคธุรกิจควรเตรียมการสื่อสารต่อภายนอก โดยเฉพาะเมื่อข้อกังวลถูกเสนอในนามของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบ ภาคธุรกิจที่การประกอบกิจการหรือบริบทของการประกอบกิจการซึ่งมีความเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงควรรายงานอย่างเป็นทางการว่าพวกเขาจัดการอย่างไร ในทุกรณีการสื่อสารควร
(a) มีรูปแบบและมีความสม่ำเสมอ ที่สะท้อนให้เห็นผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนของธุรกิจ และสามารถเข้าถึงได้โดยกลุ่มเป้าหมาย
(b) ให้ข้อมูลที่เพียงพอต่อการประเมินความพอเพียงของการตอบสนองของธุรกิจ ต่อผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนในแต่ละกรณีที่เกี่ยวข้อง
(c) ในทางกลับกันไม่สร้างความเสี่ยงต่อผู้เกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบ พนักงานหรือต่อการเรียกร้องที่ชอบธรรมเกี่ยวกับความลับทางการค้า
การเยียวยา
22. เมื่อภาคธุรกิจรู้ว่าพวกเขาเป็นผู้ก่อหรือมีส่วนก่อให้เกิดผลกระทบเสียหาย พวกเขาควรจัดให้หรือให้ความร่วมมือในการเยียวยาผ่านกระบวนการที่ชอบธรรม
ประเด็นเรื่องบริบท
23. ในทุกบริบทภาคธุรกิจควร
(a) ปฏิบัติตามกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ทั้งหมดและเคารพสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการยอมรับในทางระหว่างประเทศ เมื่อพวกเขาประกอบการ
(b) พยายามหาหนทางที่เคารพต่อหลักการสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการยอมรับในทางระหว่างประเทศในกรณีที่เผชิญกับข้อเรียกร้องที่ขัดแย้งกัน
(c) ปฏิบัติต่อความเสี่ยงของการก่อให้เกิดหรือมีส่วนก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงเช่นเดียวกับการปฏิบัติตามกฎหมาย เมื่อพวกเขาประกอบการ
24. เมื่อมีความจำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญของการดำเนินการในการแก้ไขผลกระทบเสียหายที่สำคัญและชัดเจน ภาคธุรกิจควรให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกที่จะป้องกันและลดผลกระทบที่รุนแรงมากหรือถ้าดำเนินการล่าช้าจะทำให้ไม่อาจแก้ไขเยียวยาได้
III. การเข้าถึงการเยียวยา
A. หลักการพื้นฐาน
25. ในฐานะที่มีหน้าที่ปกป้องไม่ให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวพันกับธุรกิจ รัฐต้องมีการดำเนินดำเนินการต่าง ๆ ที่เหมาะสมเพื่อสร้างหลักประกัน ผ่านทางฝ่ายตุลาการ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติหรือวิธีการที่เหมาะสมอื่น ๆ ว่าเมื่อมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าวเกิดขึ้นภายในเขตแดนและหรือเขตอำนาจของรัฐแล้ว ผู้ได้รับผลกระทบเหล่านั้นได้เข้าถึงการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพ
B. หลักการทางปฏิบัติ
กลไกทางตุลาการที่เป็นพื้นฐานของรัฐ
26. รัฐควรดำเนินการมาตรการต่าง ๆ เพื่อสร้างหลักประกันความมีประสิทธิภาพของกลไกตุลาการภายในประเทศ เมื่อแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวพันกับธุรกิจ รวมถึงพิจารณาถึงวิธีการลดอุปสรรคทางกฎหมาย ทางการปฏิบัติและอุปสรรคอื่นๆ ที่อาจนำไปสู่การปฏิเสธการเข้าถึงการเยียวยา
กลไกแก้ไขความเดือนร้อนของรัฐที่ไม่ใช่องค์กรศาล
27. รัฐควรจัดให้มีกลไกแก้ไขความเดือนร้อนที่ไม่ใช่องค์กรศาลที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสม ควบคู่ไปกับกลไกที่เป็นศาล ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบที่รอบคอบรัดกุมของรัฐเพื่อเยียวยาการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยภาคธุรกิจ
กลไกแก้ไขความเดือนร้อนที่ไม่ใช่ของรัฐ
28. รัฐควรพิจารณาถึงวิธีการที่จะทำให้มีความสะดวกขึ้นในการเข้าถึงกลไกแก้ไขความเดือดร้อนที่ไม่ใช่ของรัฐ ที่เกี่ยวกับการการจัดการกับความเสียหายต่อสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจ
29. เพื่อให้เป็นไปได้ที่ความเดือดร้อนจะถูกแก้ไขอย่างรวดเร็วและมีการเยียวยาโดยตรง ภาคธุรกิจควรสร้างหรือมีส่วนร่วมในกลไกแก้ไขความเดือดร้อนในระดับปฏิบัติการอย่างมีประสิทธิภาพสำหรับปัจเจกชนหรือชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบเสียหาย
30. อุตสาหกรรม ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องฝ่ายต่าง ๆ และโครงการความร่วมมืออื่น ๆ ที่มีพื้นฐานในการเคารพมาตรฐานที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนควรสร้างหลักประกันว่ากลไกแก้ไขความเดือดร้อนที่มีประสิทธิภาพสามารถเข้าถึงได้
หลักเกณฑ์ที่มีประสิทธิภาพสำหรับกลไกแก้ไขความเดือดร้อนที่ไม่ใช่องค์กรศาล
31. เพื่อเป็นหลักประกันความมีประสิทธิภาพของกลไกแก้ไขความเดือดร้อนที่ไม่ใช่องค์กรศาลทั้งที่เป็นและไม่ใช่ของรัฐ ควร
(a) มีความชอบธรรม : สร้างความไว้วางใจจากกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่าง ๆ ต่อกลุ่มเป้าหมาย และมีความรับผิดชอบต่อการปฏิบัติที่เป็นธรรมของกระบวนการแก้ไขความเดือดร้อน
(b) สามารถเข้าถึงได้ : เป็นที่รู้จักของกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด สำหรับกลุ่มเป้าหมาย และให้ความช่วยเหลือที่เพียงพอสำหรับผู้ที่เผชิญกับอุปสรรคในการเข้าถึง
(c) คาดหมายได้ : จัดให้มีกระบวนการที่ชัดเจนและรู้ได้ โดยมีกรอบเวลาในแต่ละขั้นตอน และมีความชัดเจนเกี่ยวกับประเภทของกระบวนการและผลลัพธ์ที่เป็นไปได้ รวมถึงวิธีการในการติดตามการปฏิบัติ
(d) มีความเป็นธรรม : พยายามสร้างหลักประกันว่าฝ่ายที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถเข้าถึงได้อย่าง สมเหตุสมผล ในข้อมูลข่าวสาร คำแนะนำ ความเชี่ยวชาญที่จำเป็น เพื่อเข้ามีส่วนในกระบวนการแก้ไขความเดือดร้อน อย่างเป็นธรรม โดยได้รับข้อมูลและได้รับความใส่ใจ
(e) มีความโปร่งใส : ทำให้ฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขความเดือดร้อนได้รับข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการและให้ข้อมูลที่เพียงพอเกี่ยวกับการดำเนินการของกลไกเหล่านั้น เพื่อสร้างความมั่นใจในความมีประสิทธิภาพของและเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสาธารณะที่เกี่ยวข้องนั้น
(f) มีความสอดคล้องกับสิทธิต่าง ๆ : ประกันว่าผลลัพธ์และการเยียวยาเป็นไปตามสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการยอมรับในทางระหว่างประเทศ
(g) เป็นแหล่งการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง : ใช้ประโยชน์จากมาตรการที่เกี่ยวข้องเพื่อบ่งชี้ถึงบทเรียนเพื่อปรับปรุงกลไกและป้องกันความไม่เป็นธรรมและความเสียหายในอนาคต
กลไกระดับปฏิบัติการควร:
(h) มีฐานอยู่บนการเข้ามีส่วนร่วมและการพูดคุย : ปรึกษาหารือกลุ่มที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ สำหรับกลุ่มเป้าหมาย เกี่ยวกับการออกแบบและการดำเนินการและให้ความสำคัญกับการพูดคุยในฐานะที่เป็นเครื่องมือปรับปรุงและแก้ไขความเดือดร้อน
———————————————————
หมายเหตุ:
1. เอกสารคำแปลนี้แปลอย่างไม่เป็นทางการจากต้นฉบับภาษาอังกฤษของเอกสาร ‘Guiding Principles on Business and Human Rights: Implementing the United Nations “Protect, Respect and Remedy” Framework’ ของ United Nations Human Rights Council และไม่รวมถึงคำอธิบายขยายความ (Commentary) โปรดดูและยึดถือตามเอกสารต้นฉบับภาษาอังกฤษสำหรับคำอธิบายและการอ้างอิงในทางกฎหมายและทางวิชาการ
2. คำแปลนี้ยังอาจมีการปรับแก้ให้ถูกต้องเหมาะสมได้ตลอด โดยผู้แปลยินดีรับฟังคำแนะนำติชมสำหรับคำแปลข้างต้นเพื่อนำไปแก้ไขปรับปรุงคำแปลให้ถูกต้องสมบูรณ์ยิ่งขึ้น