*งานเขียนนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดงานเขียนวิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ในหัวข้อ “จาก 2550 สู่ 2559:
อ่านร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ผ่านแว่นตาประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ และความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม” โดย มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
——————————————————————
สิทธิการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี (Right to Live in Healthy Environment) นั้นแม้จะเป็นสิทธิรุ่นใหม่ที่ยังเป็นที่ถกเถียงเรื่องสถานะและการยอมรับในทางสิทธิมนุษยชน แต่ก็เป็นสิทธิที่มีพัฒนาการและได้รับการยอมรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในทางกฎหมายระหว่างประเทศ อย่างน้อยในฐานะส่วนขยายของสิทธิในชีวิตและร่างกาย โดยมองว่าไม่เพียงแต่การคุ้มครองสิทธิในชีวิตร่างกายมิให้รัฐหรือบุคคลใดมาล่วงละเมิดทำลายหรือพรากเอาไปได้เท่านั้น แต่รัฐพึงต้องคุ้มครองสิทธิในชีวิตร่างกายของประชาชนให้ดำรงอยู่ได้โดยปกติสุขด้วย
สำหรับรัฐธรรมนูญของไทยที่ผ่านมาแม้จะมิได้มีการบัญญัติถึงสิทธิในการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีไว้อย่างโดยตรงชัดแจ้ง แต่ในรัฐธรรมนูญฯ 2550 (ซึ่งพัฒนาต่อเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญฯ 2540) ก็ได้บัญญัติรับรองเรื่องนี้ไว้ด้วยถ้อยคำที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งในมาตรา 67 วรรคแรก ว่า
“สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครองส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสม”
แม้ว่าบทบัญญัติดังกล่าวจะใช้ถ้อยคำรับรองสิทธิอย่างกลืนกันระหว่างสิทธิเชิงกระบวนการและสิทธิเชิงเนื้อหา แต่ก็ชัดเจนเพียงพอที่จะสะท้อนให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญได้ว่า นอกจากการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนแล้ว ยังมีความมุ่งหมายที่จะคุ้มครองให้ประชาชนมีสิทธิดำรงชีวิตอยู่ได้ในสิ่งแวดล้อมที่ดี
กับทั้งปัจจุบันยังมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยอ้างอิงสิทธิตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวว่าเป็นฐานทางกฎหมายให้ประชาชนและชุมชนมีสิทธิฟ้องคดีเรียกร้องให้ผู้ก่อมลพิษหรือความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมกระทำการแก้ไขฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่เสียหายได้ด้วย (ดูคำพิพากษาฎีกาที่ 15219/2558) โดยศาลฎีกาเห็นว่าเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่ได้รับการรับรองคุ้มครองสืบต่อเนื่องมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญฯ 2540 รัฐธรรมนูญฯ 2550 และรัฐธรรมนูญฯ (ชั่วคราว) 2557 มาตรา 4 ในฐานะสิทธิเสรีภาพตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งพัฒนาการที่สำคัญของสิทธิการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี
แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติได้ตัดบทบัญญัติรับรองสิทธิในเรื่องนี้ทิ้งไป และไม่ปรากฏว่ามีบทบัญญัติมาตราอื่นใดที่พอจะตีความเทียบเคียงได้ จึงถือเป็นจุดอ่อนอีกประการหนึ่งของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญฯ 2550 และเป็นเสมือนการพรากเอาไปซึ่งสิทธิของประชาชนประการสำคัญอันได้รับการรับรองคุ้มครองสืบต่อเนื่องมาในรัฐธรรมนูญ
———————————————————————————————
*บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดงานเขียนวิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ในหัวข้อ “จาก 2550 สู่ 2559: อ่านร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ผ่านแว่นตาประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ และความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม” อันเนื่องมาจากในวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม 2559 ที่จะถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ ประชาชนคนไทยมีวาระทางการเมืองการปกครองครั้งใหญ่ที่จะได้ไปร่วมใช้สิทธิออก เสียงลงประชามติ (Referendum) ว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ยกร่างโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นำโดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ (เผยแพร่เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 ดาวน์โหลดร่างรัฐธรรมนูญฉบับเต็มได้ที่: http://goo.gl/hT6t1j)
ดังนั้น เพื่อให้การลงประชามติเกิดขึ้นด้วยความเข้าใจในเนื้อหาและผลลัพธ์ของร่างรัฐ ธรรมนูญ และเพื่อสนับสนุนส่งเสริมการศึกษาวิเคราะห์และแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดกว้างและรอบด้าน มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ในฐานะองค์กรภาคประชาสังคมที่ได้มีโอกาสหยิบยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญขึ้น ใช้ในการทำงานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย และเสริมสร้างศักยภาพของประชาชนในการใช้และเข้าถึงสิทธิเสรีภาพและความ ยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม จึงขอมีส่วนร่วมคิดวิเคราะห์แสดงความคิดเห็น และตั้งข้อสังเกตต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 (รัฐธรรมนูญฯ 2550) ผ่านมุมมองหลังเลนส์แว่นตาประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ และความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม นำเสนอต่อสาธารณะไว้เพื่อประกอบการคิดตัดสินใจก่อนเข้าคูหาไปใช้สิทธิลงประชามติกันในวันที่ 7 สิงหาคม 2559